ในที่สุด AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ก็ถูกนำมาใช้ในโรงเพาะฟักลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ที่รู้จักกันในนาม “เครื่องนับลูกกุ้ง” หรือ ลูกปลา หรือ เครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ที่มีความแม่นยำถึง 97%
“ผมทำธุรกิจในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ผมเชื่อในสัตว์น้ำ เชื่อในศักยภาพของทะเล โลกเรามีน้ำทะเล 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดจากทะเลจะเพียงพอ และคุณภาพกินอาหารทะเลให้เหมาะสม ผมเชื่อว่าสัตว์น้ำให้โปรตีนที่ดี ไขมันดี โอเมก้า3 แค่นี้ก็ 2 ใน 5 ของอาหาร 5 หมู่”
การผลิตเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ
คุณกันย์ กังวานสายชล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลจีบา จำกัด ผู้ผลิตเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ โดยใช้ AI ประมวลผล ได้เปิดเผยถึงแรงจูงใจในธุรกิจ คุณกันย์ได้เปรียบเทียบเกษตรกรไทย กับเกษตรกรจากประเทศที่พัฒนาแล้ว แตกต่างกันมาก เพราะความก้าวหน้าด้านเครื่องจักร และเทคโนโลยี ที่ต่างกัน ต้นทุนของไทยแพงกว่าประเทศอื่นเกือบ 2 เท่า ดังนั้นคุณกันย์จึงตัดสินใจผลิตเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ อัจฉริยะ ซึ่งเป็นธุรกิจ “ต้นน้ำ” ที่มีความสำคัญ
ในฐานะที่บริษัทเป็นสตาร์ทอัพ จึงต้องขอแรงสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช. หรือ NIA) ได้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท แต่บริษัทต้องหักคืนส่วนหนึ่งตามระเบียบ ซึ่งเงินจำนวนนี้ทำให้เครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำเกิดได้ในตลาดอย่างเป็นทางการ
แต่กว่าจะสำเร็จ ทีมงานของคุณกันย์ต้องเรียนผิดเรียนถูกหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การเขียนโปรแกรม การออกแบบเชิงหลักการ จากนั้นจึงจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้อง หลอดไฟ จอ และ ตัวคอมพิวเตอร์ เป็นต้น บางตัวต้องนำเข้า โดยเฉพาะ CPU และ ตัวคอมพิวเตอร์ ได้จ้างบริษัทที่มีฝีมือประกอบ ส่วน “ซอฟท์แวร์” บริษัทเป็นผู้พัฒนาเอง ทั้ง ฮาร์ดแวร์ และ ซอฟท์แวร์ ถูกปรับจนได้ “ประสิทธิภาพ” การใช้งาน ได้มากถึง 15 ลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งครอบคลุมสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
หมายความว่า ถ้ามีผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำหลายๆ ชนิด ก็สามารถใช้เครื่องนับได้ทั้งหมด เป็นการออกแบบไว้ล่วงหน้านั่นเอง
ประโยชน์ของเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ
ความแม่นยำในการนับด้วยเครื่องนับ AI หรือ อัจฉริยะ มันอยู่ที่จะต้องทำให้มันเก่งเฉพาะเรื่องนั้นๆ ให้มันฉลาดเฉพาะในเรื่องแคบ กุ้งตัวเล็ก กุ้งตัวใหญ่ ปลาตัวเล็ก ปลาตัวใหญ่ ต้องตัวละโมเดล “เรายอมเสียเวลาในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ AI สร้างแต่ละโมเดลให้เก่งแต่ละเรื่อง ทุกอย่างเราแยกหมด ใน 1 เครื่อง เราลงโปรแกรม 16 ตัว 16 สัตว์น้ำ เหมือนลงแอพในมือถือ” คุณกันย์ให้ความเห็นถึงประสิทธิภาพของเครื่องนับอัจฉริยะ
แต่กว่าจะได้เครื่องนับ AI ก็ผ่านการเรียนผิดมาหลายเดือน เพราะเครื่องที่ทดลองไม่เวิร์ค ลูกค้าไม่ประทับใจ แต่ก็ยังใช้ได้กับการนับลูกปลา ซึ่งวันนี้มีบางฟาร์มนำไปใช้
อย่างไรก็ดี เครื่องนับ AI ในเรื่องลูกกุ้ง แม้จะนับได้แม่นยำ แต่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะไซซ์ลูกกุ้งไม่เท่ากัน เช่น ลูกกุ้ง P 10 ควรใส่กะละมังไม่เกิน 2,500 ตัว แต่ถ้า PL 5 นับครั้งละ 3,000 ตัว ยังพอไหว เพราะเวลาที่ลูกกุ้งเบียดกันมากๆ จะทับกัน จนไม่เห็นตัว และถ้าลูกกุ้งดิ้น ทางแก้ คือ นับ 1-3 ครั้ง ยึดครั้งที่นับได้มากสุดเป็นเกณฑ์ เพราะเครื่องจะนับขาด ไม่นับเกิน พอนับเสร็จ ประมวลผลแล้ว ก็กดฟังก์ชั่นที่เครื่องให้ส่งข้อมูลเข้ากลุ่มไลน์ได้เลย
เมื่อย้ำถึงความแม่นยำของเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ คุณกันย์ให้ความเห็นด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “เครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำของผมการันตีความแม่น 97% ในกุ้งขาว 98.5%ในไข่ปลานิล ส่วน กุ้งกุลาดำ มี 2 โมเดล คือ P10 กับ P20 เพราะรูปร่างของกุ้งแตกต่างกัน ส่วนกุ้งก้ามกราม มีโมเดลเดียว คือ กุ้งคว่ำ และกำลังจะเพิ่มโมเดลกุ้งไม่คว่ำ สำหรับโรงเพาะฟักโดยเฉพาะ เพื่อเช็คว่าในแฮชเชอรี่มีกำลังผลิตเท่าไหร่ ก่อนบอกขาย
ปลานิล มี 4 โมเดล ตั้งแต่ไข่ยันลูกปลา ปลาทับทิม มี 1 โมเดล ระยะไข่เหมือนปลานิล ไม่ต้องทำเพิ่ม ปลากะพงมี 2 ระยะ คือ ออกจากไข่วันแรก และเริ่มเป็นตัว ส่วนปลาสวยงาม มี 2 ชนิด ขายในต่างประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมี ฟังก์ชั่นสำหรับนับ ลูกปู ขนาด 0.5-2 ซม. นับได้หมดทั้ง ปูม้า ปูทะเล ปูดำ และให้ความแม่นถึง 94% อีกด้วย เพราะรูปร่างใกล้เคียงกัน”
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ลูกกุ้ง
เมื่อสรุปถึง “ประโยชน์” ของเครื่องนับลูกกุ้งอัจฉริยะ ในห่วงโซ่การผลิตลูกกุ้งเชิงธุรกิจ ซึ่งมีผู้เล่นหลายกลุ่ม ตั้งแต่เจ้าของฟาร์มเพาะ ฟาร์มอนุบาล มือเพาะ มืออนุบาล มือ QC และ ผู้ซื้อ ล้วนได้ประโยชน์ร่วมกัน ตั้งแต่เรื่องประหยัดเวลา ไม่ว่าจะนับลงถุง หรือ ลงถัง จะเร็วขึ้น ปกติการนับลูกกุ้ง 1 ครั้ง ใช้เวลา 20-30 นาที แต่เครื่องนับใช้เวลาเพียงไม่เกิน 12 วินาทีเท่านั้น และนับได้บ่อยครั้ง ไม่ต้องเถียงกันเรื่องนับผิด นับถูก เพราะทุกคนมีข้อมูลเดียวกัน เจ้าของฟาร์มไม่เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการแถมลูกพันธุ์ที่แถมพอสมควร ไม่มาก ไม่น้อย เกินไป มือเพาะได้ค่าคอมฯ เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมือ QC ไม่ถูกหักค่าคอมฯ
“เครื่องนับ คือ มาตรฐานกลาง มันจะได้จุดที่ลงตัวของทุกคน ตั้งขาย 1 ล้านตัว ก็ได้ขาย 1 ล้านตัว จริงๆ ไม่ใช่ 8 แสนตัว เกษตรกรมั่นใจได้ว่าได้รับสัตว์น้ำครบจำนวน การวางแผนจัดการน้ำ และอาหาร จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ใช่ได้น้อยไป หรือได้มากเกินไป ประโยชน์ คือ ทุกคนวินๆ” คุณกันย์ให้ความเห็น
นอกจากนี้เครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ยังประหยัดแรงงานในฟาร์ม ยกตัวอย่าง ฟาร์มเล็กๆ มี 2 คน ได้สั่งเครื่องนับไปใช้ เพราะ 2 คน นับไม่ทัน ไม่งั้นจะเสียลูกค้า แสดงว่ามันคุ้มค่าจริงๆ หรือฟาร์มใหญ่ เมื่อใช้เครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ก็สามารถนำคนในฟาร์มไปทำงานอย่างอื่นที่ให้ประโยชน์มากกว่า
แนวโน้มทางการตลาด
เมื่อถามถึงทิศทางการตลาด คุณกันย์กล่าวว่า ปี 2564 นี้ บริษัทขายเครื่องไปแล้วกว่า 30 ชุด ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีกำลังการผลิตเครื่องได้มากถึง 30 ชุด / เดือน แต่บริษัทจะสต็อกเพียงเดือนละ 10 ชุด เท่านั้น คือ เครื่อง ไซส์ M และ ไซส์ L ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าใช้ไซซ์ M มากกว่า ส่วนไซซ์ L จะเป็นต่างประเทศ และบริษัทยักษ์ใหญ่ และในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทจะทำตลาดบุกโรงเพาะฟักแถบตะวันออกให้มากที่สุด “ผมเชื่อว่าเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำเครื่องนี้ เมื่อเจ้าของฟาร์มได้ทดลองใช้แล้วจะต้องประทับใจ และอยากมีสักเครื่องติดไว้ที่ฟาร์มแน่นอน ที่เรามั่นใจขนาดนี้เพราะฟาร์มใหญ่ๆ ระดับประเทศใช้เครื่องของเราแล้ว และค่อนข้างประทับใจ ดังนั้นมันคุ้มค่า คุ้มราคา แน่นอน โดยเราจะบุกแฮชเชอรี่กุ้งเป็นหลัก
หลักบริการหลังการขาย
สำหรับฟาร์มที่ซื้อเครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำไปใช้แล้ว ทางบริษัทมีบริการหลังการขาย คือ รับประกันเครื่องนาน 1 ปีเต็ม สามารถเปลี่ยน / ซ่อม ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และให้คำปรึกษาตลอดการใช้งาน นอกจากนี้หากใช้เครื่องเกิน 1 ปีไปแล้ว เครื่องปีปัญหา บริษัทยังรับซ่อม / เปลี่ยน ในราคาประหยัดอีกด้วย
ขั้นตอนการใช้เครื่อง
-เปิดเครื่อง เซ็ดระบบ เชื่อมต่อ WiFi
-กดตัวเลือกฟังก์ชั่นสัตว์น้ำ
-เตรียมลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ในปริมาณน้ำที่แนะนำ
-เมื่อเครื่องพร้อม นำลูกพันธุ์สัตว์น้ำเข้าไปในตู้
-กดนับ ซึ่งใช้เวลา 10-15 วินาที ในการถ่ายภาพ และนับจำนวนสัตว์น้ำ
-เมื่อนับจำนวนสัตว์น้ำเสร็จแล้ว กดส่งข้อมูลทางไลน์ที่หน้าจอบนเครื่อง
สนใจสั่งซื้อ หรือ สอบถามข้อมูล เครื่องนับลูกพันธุ์สัตว์น้ำ สามารถติดต่อได้ที่ คุณกันย์ กังวานสายชล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลจีบา จำกัด สายด่วนโทร : 081-904-2166