“เกษตรกร” เป็นอาชีพที่ใครหลายคนมองข้าม เพราะการเป็นเกษตรกรนั้นต้องใช้ความอดทนสูง ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น กับชนิดพืช หรือสัตว์ ที่ตนเลี้ยงดูอยู่ ดังนั้นอาชีพนี้จึงไม่ใช่อาชีพที่ใครหลายคนต้องการทำ แต่อีกด้านหนึ่งของอาชีพเกษตรกรนั้นเป็นอาชีพที่ท้าทาย เพราะการที่เกษตรกรจะผลิตผลผลิตออกมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคนั้นจะต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถพอตัว จึงจะประสบความสำเร็จได้ และสามารถเกิดในวงการภาคเกษตรนั้นๆ ได้
เช่นเดียวกับ คุณธัญญธร ทับเจริญ หรือคุณกร เกษตรกรหญิงแกร่ง เจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามคุณภาพ “ชโลทรฟาร์ม” ที่ผันตัวเองจากพื้นฐานครอบครัวที่เป็นเกษตรกรชาวสวนทำสวนทุเรียนอยู่เมืองจันท์ แต่เส้นทางจากชาวสวนทุเรียนก็ได้ขยายกิจการมาสู่เจ้าของฟาร์ม เพาะกุ้งก้ามกราม อย่างทุกวันนี้นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ล้มลุกคลุกคลาน ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานับประการ จนประสบความสำเร็จถึงขั้นสามารถจำหน่ายพันธุ์กุ้งก้ามกรามส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เป็นต้น
จุดเริ่มต้นการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
“นิตยสารสัตว์น้ำ” ได้มองเห็นความสำคัญทางชีวิตหญิงแกร่ง อย่าง คุณกร จึงไม่รอช้าเดินทางไปยัง อ. บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเข้าไปพูดคุยกับคุณกรถึงความเป็นมาของฟาร์ม และเส้นทางชีวิตกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง
คุณกรยอมรับว่า เส้นจากชีวิตของตนเริ่มต้นจากที่ครอบครัวเป็นเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอยู่จังหวัดจันทบุรี ตนจึงสานต่อกิจการของครอบครัวเป็นชาวสวนทุเรียนมาก่อน แต่ชีวิตก็พลิกผันมาเข้าสู่วงการกุ้งตั้งแต่ปี 2538 จากการที่ตนมาช่วยน้องสาวที่เปิดร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ รวมถึงอาหารกุ้ง ทำให้ตนเข้ามาคลุกคลีกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งนานหลายปี จนเกิดการสะสมความรู้จากเกษตรกรแต่ละคน และในขณะนั้นวงการกุ้งกำลังเฟื่องฟู
โดยเฉพาะ “กุ้งขาว” มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลาง ที่มีการพัฒนาให้สามารถเลี้ยงกุ้งขาวในความเค็มต่ำได้ ด้วยเหตุนี้คุณกรจึงกระโดดเข้ามาในวงการสัตว์น้ำ ในฐานะผู้เพาะพันธุ์กุ้งขาวคุณภาพ ภายใต้ชื่อ“ชโลทรฟาร์ม”
“ชโลทรฟาร์ม” ดำเนินธุรกิจเพาะพันธุ์กุ้งขาวมานานกว่า 10 ปี จนถึงขั้นซื้อที่ดินและสร้างฟาร์มในพื้นที่ของตัวเองในจังหวัดฉะเชิงเทราได้ จากเดิมที่ต้องเช่าฟาร์มมาตลอด แต่ชโลทรฟาร์มเดินทางมาได้ครึ่งทางของธุรกิจเพาะพันธุ์กุ้งขาว ก็ต้องมาสะดุดกับเรื่องของนอเพลียสที่คุณภาพไม่คงที่ ส่งผลให้ลูกกุ้งที่ออกมาไม่แข็งแรง อัตราการรอดน้อย และเกิดภาวะขาดทุน ลดความน่าเชื่อถือของฟาร์มกับลูกค้าอีกด้วย อีกทั้งฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ผลิตนอเพลียส
ทางฟาร์มยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแล และรู้ประวัติความเป็นมาของพ่อแม่พันธุ์ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้งเข้า คุณกรจึงเริ่มมองความไม่แน่นอนของธุรกิจนี้ จึงได้หยุดการขายลูกกุ้งขาว และ “ตั้งปฏิภาณกับตัวเองไว้เลยว่าถ้าไม่สามารถผลิตนอเพลียสเองได้ จะไม่กลับไปเพาะกุ้งขาวอีกต่อไป”
การคัดเลือกแม่พันธุ์กุ้งก้ามกราม
เมื่อการเพาะกุ้งขาวเดินตลาดต่อไปไม่ได้ แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ของคุณกร จึงมองหากุ้งสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ที่จะสามารถมาทำตลาดทดแทนการเพาะกุ้งขาวได้ จนกระทั่งคุณกรมาสนใจการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม ที่ขณะนี้ตลาดเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น มีเกษตรกรที่หันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฟาร์มกุ้งชำ อีกทั้งราคาขายกุ้งก้ามกรามยังมีราคาที่แน่นอน มั่นคง ไม่แกว่งตัวมากเหมือนกุ้งขาว
ด้วยเหตุนี้คุณกรจึงหันมาศึกษาการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามมากขึ้น โดยเดินทางไปดูตามฟาร์มต่างๆ ที่รู้จักกัน จนเริ่มเพาะครั้งแรกช่วงต้นปี 2559 ซึ่งตลาดให้การตอบรับค่อนข้างดี ลูกกุ้งแข็งแรง เนื่องจากคุณกรจะมีเทคนิคในการเลือกแม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามที่มีคุณภาพที่ดี โดยจะดูและคัดเลือกเองทั้งหมด แม่พันธุ์ทุกตัวจะต้องสมบูรณ์ แข็งแรง มีไข่สีดำ พร้อมที่จะฟักออกเป็นลูกกุ้งคุณภาพ เมื่อประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ คุณกรจึงเดินบนเส้นทางธุรกิจ เพาะกุ้งก้ามกราม มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
ชโลทรฟาร์มมีการคัดเลือกแม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามธรรมชาติจากบ่อเลี้ยงกุ้งเนื้อมีคุณภาพ ขนาดจะอยู่ที่ 15-20 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ อายุไม่ต่ำกว่า 7 เดือน ที่เลือกแม่พันธุ์ขนาดนี้เพราะจะส่งผลให้ลูกพันธุ์ที่ได้มีขนาดที่ใหญ่ไปด้วย แต่ข้อเสียของแม่พันธุ์ที่ตัวใหญ่ คือ การเพาะพันธุ์ที่จะยากกว่าแม่พันธุ์ตัวเล็ก ผู้เพาะต้องใส่ใจ ดูแล เป็นพิเศษทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องการให้อาหาร การให้วิตามิน อาหารเสริม และการถ่ายน้ำ เป็นต้น
การ เพาะกุ้งก้ามกราม
คุณกรจะลงพื้นที่ไปเลือกกุ้งด้วยตัวเอง หรือซื้อกุ้งจากบ่อที่ไว้วางใจเท่านั้น ก่อนที่จะนำแม่พันธุ์ลงบ่อจะต้องมีการเตรียมบ่อ ซึ่งบ่อ เพาะกุ้งก้ามกราม ของฟาร์มจะเป็นบ่อสี่เหลี่ยม ก่อนปล่อยน้ำทำการทำความสะอาดบ่อด้วยการขัดและฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้าทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ให้กลิ่นคลอรีนหมด ปริมาณในการบรรจุน้ำ30,000 ลิตร แต่จะเติมน้ำไปแค่ 1 ส่วน 3 ของบ่อ เปิดออกซิเจนแบบหัวทรายในบ่อให้เต็มที่ จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเค็มลงไปจนอยู่ที่ 10 ppt.
แม่พันธุ์ที่จะนำมาปล่อยในบ่อจะต้องมีไข่ที่พร้อมจะฟัก ลักษณะไข่จะเริ่มเป็นสีน้ำตาล มองเห็นจุดตากุ้ง ก่อนปล่อยลงบ่อทำการฆ่าเชื้อแม่พันธุ์ให้สะอาด ป้องกันเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดมากับตัวแม่ออกให้หมด เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อลูกกุ้งที่จะฟักออกมา เมื่อนำมาปล่อยลงในบ่อพักแล้ว รอเวลา 24 ชั่วโมง ไข่ก็จะฟักออกมาเป็นตัว หลังจากนั้นนำแม่พันธุ์ออก เมื่อนำแม่พันธุ์ออกแล้วทำการปล่อยน้ำออกใส่กระชอนกรองลูกกุ้งระยะนอเพลียสออกมา แล้วปล่อยลงในบ่อเลี้ยงอนุบาลต่อไป
“แม่พันธุ์ที่ตัวใหญ่ขนาดนี้ จะให้ลูกกุ้งที่ตัวใหญ่ และแข็งแรง อีกทั้งการเลี้ยงยังใช้ระยะเวลาไม่นานอีกด้วย แต่ถ้าหากแม่พันธุ์ที่ขนาดตัวใหญ่กว่านี้ ลูกกุ้งที่ได้จะน้อยลง เพราะเป็นแม่พันธุ์ที่อายุเยอะแล้ว ทำให้ได้ลูกจำนวนน้อย และไม่แข็งแรง นอกจากเรื่องขนาดไซส์แล้ว แม่พันธุ์ต้องได้คุณภาพ ไม่มีโรคหลังขาวติดมา โดยสามารถสังเกตได้จากแม่กุ้งที่สุ่มขึ้นมาตรวจ หากมีอาการของโรคหลังขาว ทางฟาร์มจะตีกลับทันที เพื่อป้องกันการเกิดกุ้งหลังขาวภายในฟาร์มของตนเอง”
สำหรับแม่พันธุ์ที่ไข่หมดแล้ว ทางฟาร์มจะตักออกขายสู่ตลาด หรือแพรับซื้อ เพราะการที่เราดูแลแม่พันธุ์ต่อไปกว่าจะพร้อมไข่อีกครั้งต้องใช้ระยะเวลานานถึง 20 วัน ทำให้ต้นทุนการดูแลจะสูงขึ้น และอีกอย่างลูกกุ้งที่ได้จะมีขนาดเล็กลง ปริมาณการให้ไข่น้อยลง จึงตัดปัญหาตรงจุดนี้ไป เน้นรับแม่พันธุ์ใหม่จากบ่อ หรือฟาร์ม ที่เลี้ยงกุ้งใหญ่ดีกว่า อัตราความเสี่ยงน้อยลง ลดต้นทุนไปได้อีกเยอะ
การให้อาหารลูกกุ้งก้ามกราม
เมื่อได้ลูกกุ้งก้ามกรามจากแม่พันธุ์คุณภาพแล้วในช่วงแรกที่ลูกกุ้งออกมาจากไข่จะยังไม่ให้อาหารใดๆ ทั้งสิ้น จนอายุได้ 24 ชั่วโมง ทางฟาร์มจะให้ไรแดงเป็นอาหารทุกวัน วันละ 4-6 มื้อ และมีไรน้ำจืดเสริมวันละ 1 มื้อ และไข่ตุ๋น 1 มื้อ เพื่อเพิ่มโปรตีนเสริมให้กุ้งแข็งแรง หลังอายุ 10 วัน ทางฟาร์มจะเน้นดูแลกุ้งให้ได้คุณภาพ พร้อมทั้งให้วิตามิน อาหารเสริมต่างๆ ตลอดการเลี้ยง เพราะหากกุ้งแข็งแรงจะคว่ำตัวเร็ว จะช่วยร่นระยะการเลี้ยงได้ เมื่อเลี้ยงไปได้ 15-16 วัน ลูกกุ้งก็จะเริ่มคว่ำตัว เมื่อลูกกุ้งมีอายุ 18-20 วัน ก็จะเริ่มจับขายส่งลูกค้าได้ในราคาตัวละ 8สตางค์ โดยขนาดกุ้งที่ส่งอยู่ที่ไซส์ P12-P14 ซึ่งเป็นไซส์ที่ตลาดต้องการ และกุ้งจะแข็งแรง พร้อมปรับน้ำจืดลงบ่อแล้วนั่นเอง
“ที่ทางฟาร์มให้ไรแดงเป็นอาหาร และเสริมด้วยไข่ตุ๋น เพราะไรแดงเป็นอาหารสด กุ้งเป็นสัตว์ที่กินเนื้อ และไรแดงมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ช่วยเสริมสร้างให้ลูกกุ้งแข็ง โตดี เมื่อปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยงแล้วลูกกุ้งติดดี อัตราการรอดสูงด้วย ในส่วนของราคาขาย เราขายในราคาที่เราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ และได้ลูกกุ้งที่ดี แข็งแรง โตเร็ว ในบ่อดินด้วยค่ะ”
นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ลักษณะน้ำที่ใช้เลี้ยงลูกกุ้งจะต้องมีความเค็มอยู่ที่ประมาณ 10 ppt. แล้วค่อยๆ ปรับความเค็มให้ต่ำลง เมื่อต้องส่งลูกกุ้งให้ลูกค้า และสีของน้ำจะต้องเป็นสีออกน้ำตาล เพราะน้ำสีนี้เป็นสีที่ทำให้ลูกกุ้งกินอาหารเก่ง จึงเลี้ยงด้วยน้ำสีนี้มาตลอด ในส่วนของการปรับความเค็มของน้ำ ทางฟาร์มจะค่อยๆ ปรับความเค็มของน้ำให้เท่ากับบ่อที่ลูกค้าจะนำกุ้งไปปล่อย โดยใช้ระยะเวลาในการค่อยๆ ปรับน้ำอยู่ที่ 2-3วัน เพื่อกุ้งชินกับน้ำ และกุ้งจะแข็งแรง ไม่ช็อคกับสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลง
การป้องกันกำจัดโรคระบาด
โรคที่จะเกิดกับกุ้งก้ามกรามส่วนใหญ่หลักๆ เลยก็จะเป็นโรค “หลังขาว” ทางฟาร์มป้องกันโดยจะคัดตั้งแต่แม่พันธุ์กุ้ง หากแม่กุ้งมีอาการหลังขาวจะทำการคัดออกทันที และจะตีแม่กุ้งรอบนั้นกลับไปยังแพ เพราะถ้าหากเลี้ยงต่อจนไข่ฟัก ลูกกุ้งที่ได้ก็จะติดโรคหลังขาวมาด้วย ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นทันที นอกจากเรื่องโรคแล้วที่ต้องป้องกันและดูแล ยังมีเรื่องของการให้อาหาร และการดูแลกุ้ง การสังเกตอาการต่างๆ ของกุ้งในแต่ละวัน
เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์ที่มีชีวิต สามารถตายได้ตลอดเวลา ดังนั้นพี่กรจะเข้ามาคลุกคลีอยู่ในบ่อกุ้งตลอดแทบทั้งวัน เพื่อเรียนรู้คอยแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน “เรามีคนงานประจำฟาร์มในการดูแลกุ้งของเรา แต่บางทีคนงานก็ดูแลไม่ทั่วถึง หรือบางครั้งพบกุ้งมีปัญหาเค้าก็ไม่กล้าบอกเรา กลัวเราดุว่า แต่นั่นคือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นเราเจ้าของฟาร์ม เราต้องเข้ามาดูแลกุ้งในบ่อด้วยตัวเอง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง และเพื่อให้กุ้งของเรามีคุณภาพมากที่สุด”
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้งก้ามกราม ทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันชโลทรฟาร์มมีบ่ออนุบาลกุ้งก้ามกรามทั้งหมด 168 บ่อ บนพื้นที่กว่า 14 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 โซน โดยแต่ละบ่อจะปล่อยกุ้งลงประมาณ 7 แสนตัว/บ่อ อัตราการรอดอยู่ที่ประมาณ 4-5.5 แสนตัว/บ่อ ทางฟาร์มมีกำลังการผลิตลูกกุ้งประมาณ 50-60 ล้านตัว/เดือน ซึ่งคุณกรกล่าวว่าฟาร์มเราจะลงกุ้งเกือบทุกวัน ทำให้มีผลผลิตกุ้งออกพร้อมจำหน่ายทุกวัน เพื่อป้อนสู่ตลาดตามความต้องการของลูกค้า จะมีเพียงช่วงหน้าฝนที่ทางฟาร์มจะลดกำลังผลิตลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน และเกษตรกรบ่อดินกลัวน้ำท่วม
“เชื่อมั๊ยทุกคนถามพี่นะว่าเลี้ยงกุ้ง เพาะกุ้งก้ามกราม ยังไง พี่ไม่สามารถพูดมาเป็นประโยคได้เลย เพราะมันต้องเข้าไปดูแล ต้องดูทุกขั้นตอนทุกวัน ดูถึงว่าคนงานเราเอาอาหารอะไรให้กุ้งเรากิน มันดีมั๊ย จะปล่อยอะไรให้คนงานทำอย่างเดียวไม่ได้เลย ต้องลงมาคลุกคลี จะทำเหมือนกุ้งขาวไม่ได้เลย”
คุณกรยอมรับว่าเดิมทีตอนที่ทำกุ้งขาว ส่วนใหญ่ตลาดจะอยู่ในประเทศเป็นหลัก แต่หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนมา เพาะกุ้งก้ามกราม เริ่มมีตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เข้ามาเป็นลูกค้าประจำ โดยผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่คุณกรก้าวเข้ามาสู่การส่งออกลูกกุ้งเพราะได้ทั้งปริมาณ และราคา ในแต่ละเดือนการส่งออกก็จะขึ้นอยู่กับออเดอร์ที่ทางโบรกเกอร์ระบุมา ซึ่งลดความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน “จะส่งออกกุ้งได้ก็ต้องสร้างมาตรฐานของฟาร์ม และการเลี้ยงให้ดี ไม่ปล่อยปละละเลย ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน เพื่อให้ลูกค้าที่รับไปเลี้ยงมีความพึงพอใจต่อลูกกุ้งเราในทุกๆ ด้าน” เพาะกุ้งก้ามกราม เพาะกุ้งก้ามกราม เพาะกุ้งก้ามกราม เพาะกุ้งก้ามกราม เพาะกุ้งก้ามกราม เพาะกุ้งก้ามกราม
ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
เคล็ดลับไม่ได้มีอะไรมาก อยู่ที่ความใส่ใจ และเข้าใจ ต้องคลุกคลีอยู่กับมัน ก่อนจะมีได้ทุกวันนี้ก็ต้องเข้าไปอยู่กับลูกกุ้งหลายเดือน คอยสังเกต คอยมองดู จดบันทึกความเปลี่ยนแปลง จับแนวทางการเลี้ยงให้ถูกต้อง เก็บรายละเอียดเพื่อพัฒนาการเลี้ยงให้ดียิ่งขึ้น ต้องเปิดใจรับฟังคนรอบข้างจากลูกน้อง และผู้รู้ ไม่ยึดติดกับเรื่องเดิมๆ เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และที่สำคัญต้องสร้างมาตรฐานให้กับทางฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ “การเลี้ยงกุ้งเป็นอะไรที่ต้องใช้ความคิดเยอะเสมอ มีปัญหาให้ได้แก้ไขอยู่ตลอด หากปล่อยไว้ก็เกิดแต่ผลเสียแก่เรา การรับฟังผู้อื่นไม่เสียหายอะไร การได้แลกเปลี่ยนความรู้ต่อกันเป็นสิ่งที่ดี” คุณกรเจ้าของชโลทรฟาร์มกล่าว
ณ ปัจจุบันนี้การเพาะเลี้ยงกุ้งต้องมีความใส่ใจ และสร้างคุณภาพให้คงที่สม่ำเสมอ เราไม่สามารถที่จะใช้ลูกน้องให้ทำแทนเราได้ทั้งหมดเหมือนแต่ก่อนแล้ว ตัวเจ้าของฟาร์มเองต้องเข้าไปคลุกคลีมากขึ้น และเรียนรู้ด้วยตัวเองควบคู่กันไป จะอาศัยการนั่งรอขายอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อนนั้นไม่ได้แล้ว ต้องใช้ความใส่ใจให้มากขึ้น เพื่อให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา และยังสามารถให้ความรู้แก่ผู้อื่นได้อีกด้วย
ท่านใดสนใจลูกกุ้งก้ามกรามคุณภาพ ขนาด P12-14 และขอคำปรึกษาในการเลี้ยงได้ที่ ชโลทรฟาร์ม ติดต่อ คุณธัญญธร ทับเจริญ (พี่กร) โทรศัพท์ 065-428-2459 ที่อยู่ 13/5 ม.3 ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 24140