การเลี้ยงกบถือเป็นอาชีพมาแรงแซงโค้งเลยก็ว่าได้ เพราะเหตุผลที่ว่า “กบ” เลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้เวลา 2-3 เดือน จับผลผลิตได้แล้ว เกษตรกรโดยส่วนมากนิยมเลี้ยงเพื่อบริโภค เพราะรสชาติเมนูที่อร่อย เด็ด เผ็ด ร้อน ไม่แพ้เมนูดังระดับภัตตาคาร ที่สำคัญราคาผู้บริโภคจับต้องได้ เฉลี่ยราคาตลอดทั้งปีอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-100 บาท
ตลาดถือเป็นส่วนสำคัญ กบเลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้พื้นที่น้อย ราคาในบางช่วงสูงถึงกิโลกรัมละ 100 อัพ จูงใจคนเลี้ยง เพราะถ้าให้คิดต้นทุน วางแผนดีๆ เข้าช่วงกบขาดตลาด ตั้งแต่ปลายปี-ต้นปี ที่ติดหนาว ใครเลี้ยงผ่านหนาวได้ราคาขาย 2 เท่าของต้นทุน เป็นกำไรอย่างแน่นอน นั่นคือความสำคัญของคนเลี้ยงที่ต้องวางแผน สำรวจตลาดรับซื้อที่ไหนรับบ้าง ที่ไหนบริโภคสูง ต้องมีลู่ทางไว้กระจายสินค้าล่วงหน้า
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำนำเสนอรูปแบบการเพาะเลี้ยงกบในหลายๆ พื้นที่ สิ่งที่ได้ข้อมูลกลับมาแต่ละพื้นที่ มีเทคนิค เคล็ดลับ ที่แตกต่างกันออกไป และฉบับนี้ถือเป็นรูปแบบการเลี้ยงกบเชิงพาณิชย์ ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก คุณโชคชัย กุลกิตติโกวิท หรือคุณโชค เจ้าของโชคชัยฟาร์มกบ แห่ง อ.บางเลน จ.นครปฐม เดิมทีนั้นคุณโชคเป็นพนักงานขับรถส่งคนงาน สังเกตเห็นเพื่อนบ้านนำกบเข้ามาเลี้ยงและได้ผลตอบแทนดี
นอกจากการเลี้ยงกบ ในละแวกบ้านนิยมทำบ่อปลา แต่คุณโชคมองแล้วว่าทำบ่อปลาได้กำไรน้อย ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน 8-10 เดือน กว่าจะได้จับผลผลิตจำหน่าย เลี้ยงกบดีกว่า บ่อ 1 งาน จับผลผลิตครั้งหนึ่งได้ 5-6 ตัน ครั้งแรกคุณโชคทดลองเลี้ยงกบในกระชังลอยน้ำทั้งหมด 10 กระชัง ขนาด 3×6 เมตร ปล่อยลูกกบลงเลี้ยง 2,500 ตัว ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงในบ่อดิน ล้อมรอบด้วยมุ้งเขียว ครั้งนั้นปล่อยไป 5 หมื่นตัว ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 2 เดือน จับผลผลิตได้ 2 ตัน ได้กำไร 4-5 หมื่นบาท
และการเลี้ยงกบในบ่อดิน สิ่งที่ได้เปรียบ คือ เลี้ยงกบแบบหนาแน่นได้ ถ้าจะต้องซื้อลูกกบจากฟาร์มอื่นมาปล่อย ต้นทุนจะขยับสูงขึ้น จึงศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ลูกอ๊อดใช้เองในฟาร์ม
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กบ
คุณโชคใช้เทคนิคการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ครั้งแรกจะคัดพ่อแม่พันธุ์จากฟาร์มอื่นมาเลี้ยงเป็นกบเนื้อ โดยพ่อพันธุ์จะคัดเลือกกบเนื้อที่มีขนาด 7-8 เดือน ดูใต้คาง ลำตัวยาว และตัวใหญ่ ส่วนแม่พันธุ์จะเลือกกบเนื้อตัวเมียที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป
ช่วงอายุดังกล่าวไข่จะสมบูรณ์ น้ำเชื้อดี ทำให้ไข่มีอัตรารอดสูง และจากลูกอ๊อดเลี้ยงในบ่อดินเป็นกบเนื้อ แล้วคัดเฉพาะแม่พันธุ์เก็บไว้ใช้ในปีต่อไป กบที่ฟาร์มจะเป็นกบสีเหลือง ไม่ดำ รุ่นลูกจึงออกมาดี โต ลำตัวยาว ตัวใหญ่ ไม่ป้อม และเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ทุกปี ไม่เน้นจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ จะเน้นคุณภาพ บ่อปูนทั้งหมด 32 บ่อ ใช้สำหรับเก็บพ่อแม่พันธุ์ และเพาะลูกอ๊อด
ส่วนอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ คุณโชคกล่าวว่าตนจะให้อาหารวันเว้นวัน คือ ไม่ต้องการให้กบอ้วนมาก มีอาหารเสริมเป็นไข่แดงสด คลุกผสมกับอาหารเม็ด ในอัตราส่วนอาหาร 10 กิโลกรัม/ไข่เป็ด 5-6 ใบ และการใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการผสมพันธุ์เสริมเข้าไปด้วย ก่อนนำกบไปผสมพันธุ์จะงดอาหาร 1 วัน
การเพาะพันธุ์กบ
การเตรียมบ่อ บ่อขนาด 6×5 เมตร จะใช้ด่างทับทิมฆ่าเชื้อในระดับน้ำความลึก 10 เซนติเมตร จากนั้นแช่บ่อทิ้งไว้ 1 วัน และขัดบ่อทำความสะอาด และตากบ่อ 2-3 วัน ก่อนลงมือเพาะ ทั้งนี้การเพาะพันธุ์กบจะใช้น้ำ 7-10 เซนติเมตร ปล่อยพ่อพันธุ์ 60 ตัว และแม่พันธุ์ 40 ตัว ในช่วงเย็นให้กบผสมพันธุ์กันเอง เพื่อให้เร่งการผสมพันธุ์ คุณโชคจะติดสปริงเกลอร์ เป็นเทคนิคเสริมให้กบตัวผู้ร้องหาตัวเมีย แม่กบ 1 ตัว จะให้ไข่ 2,000-3,000 ฟอง ในวันรุ่งขึ้นก็จะจับพ่อแม่พันธุ์แยกออกมา
คุณโชคกล่าวว่าเฉพาะหน้าฝนจะใช้หญ้าขนเป็นตัวช่วยไม่ให้ไข่กองรวมตัวกัน เพราะว่าไข่จะติดอยู่บนหญ้าขนแทน เวลาใส่หญ้าขนให้ใส่กระจายประปรายไปทั่วๆ บ่อ หลังจากแยกพ่อแม่พันธุ์กบออกแล้ว และเปิดออกซิเจนประมาณ 2-3 วัน เพื่อช่วยให้ไข่ฟักออกเป็นลูกอ๊อดได้เร็วขึ้น และเปิดระบบน้ำวน โดยสเปรย์น้ำหัวอ่าง และปล่อยน้ำออกท้ายอ่าง ช่วยลดปัญหาการเกิดไข่เสีย และการเปิดน้ำหยดไล่น้ำเสียออก
ทั้งนี้อัตราการรอดขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อุณหภูมิ และช่วงอายุไข่ ถ้าอากาศดี อัตรารอดจะสูง สำหรับการเพาะพันธุ์กบนั้น การเพาะกบหน้าร้อนจะได้ผลดีกว่า ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน
การอนุบาลลูกอ๊อด และ การให้อาหาร
การให้อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อนถือเป็นช่วงอายุที่สำคัญ เพราะต้องอุดมด้วยโปรตีน เพื่อให้การเจริญเติบโตดี แข็งแรง เทคนิคนี้แต่ละฟาร์มเลือกอาหารแตกต่างกันไป สำหรับคุณโชค เมื่อไข่ฟักออกเป็นลูกอ๊อดได้อายุ 3-4 วัน แล้ว จะให้กินไข่ตุ๋น ซึ่งจะใช้ไข่เป็ดที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ให้กินวันละ 3 มื้อ
การให้อาหารช่วงนี้จะให้แค่พอกิน และเปิดน้ำวนตลอด เพื่อไล่ของเสียที่ตกค้าง เมื่อเข้าวันที่ 5 จะให้ไข่ตุ๋นผสมกับอาหารเม็ดไฮเกรดของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นการปรับเปลี่ยนให้กบรู้จักอาหารเม็ด ใช้สูตรนี้เพียงวันเดียว เข้าวันที่ 6 ไปแล้วจะให้อาหารเม็ดอย่างเดียว ยาวจนลูกอ๊อดได้อายุ 7-8 วัน ย้ายลงบ่อเลี้ยง และจำหน่ายต่อให้เกษตรกรที่สนใจในราคาตัวละ 10 สตางค์
การเลี้ยงกบในบ่อดิน
สิ่งสำคัญในการเลี้ยงกบในบ่อดิน คือ “น้ำ” การจัดการน้ำในบ่อดินที่กว้าง และควบคุมได้ยาก ถือเป็นสิ่งที่คนเลี้ยงต้องให้ความใส่ใจ เพราะน้ำถือเป็นตัวก่อโรค ถึงแม้กบจะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน แต่ถ้าการจัดการน้ำไม่ดี การเลี้ยงอาจจบสิ้นตั้งแต่เดือนแรกก็เป็นได้
คุณโชคกล่าวว่าในพื้นที่ฟาร์มของตนนั้นได้เปรียบที่ฟาร์มติดคลองส่งน้ำ มีน้ำเลี้ยงกบตลอดทั้งปี และที่โชคดีกว่านั้นก็คือ สามารถดึงน้ำคลองเข้าบ่อเลี้ยงได้เลย ทำให้การเลี้ยงเป็นเรื่องที่ง่าย
การฆ่าเชื้อกำจัดเชื้อโรค
แต่อย่างไรก็ตามการฆ่าเชื้อกำจัดเชื้อโรคก็เป็นสิ่งที่ต้องกระทำทุกรอบ โดยบ่อเก่าที่เลี้ยงกบมาแล้วจำเป็นต้องใช้ไอโอดีน หรือปูนขาว ในการฆ่าเชื้อ หรือปรับสภาพบ่อก่อนทุกครั้ง บ่อขนาด 1 งาน จะใช้ไอโอดีนครึ่งขวด ผสมน้ำแล้วสาดทั่วบ่อ จากนั้นทิ้งบ่อไว้ 1 คืน (ไอโอดีนต้องใช้ตอนเย็น) พอตอนเช้าก็วิดน้ำออก และเติมน้ำใหม่เข้าไป ในกรณีที่รอบการเลี้ยงนั้นไม่เกิดโรคจะสลับใช้ปูนขาวฆ่าเชื้อในบ่อแทน
การให้อาหารลูกอ๊อด
เมื่อเตรียมบ่อเสร็จสิ้นแล้ว คุณโชคจะเติมน้ำธรรมชาติเข้าบ่อประมาณ 20-30 เซนติเมตร บ่อขนาด 1 งาน ปล่อยลูกอ๊อด 100,000-150,000 ตัว อนุบาลประมาณ 20 วัน เพิ่มระดับน้ำในบ่อให้ได้ 50 เซนติเมตร แล้วนำแพหรือยางรองเท้าลงเพื่อเป็นที่ยึดเกาะของลูกกบ
ส่วนในเรื่องของอาหาร หลังจากย้ายลูกอ๊อดลงบ่อยังจะให้กินอาหารเม็ดเล็กไฮเกรด เมื่อลูกกบขึ้นเกาะแพก็จะเป็นอาหารผสมระหว่างไฮเกรดและอาหารกบเล็ก เบอร์ 1 ของ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) อาหารจะให้กินวันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ถ้าจะเปลี่ยนขนาดอาหาร จะดูจากขนาดของตัวกบ ถ้ากบมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังให้อาหารกบเม็ดเล็กอยู่ ตัวกบจะบังเม็ดอาหารทำให้กบมองไม่เห็น อาหารเหลือทำให้น้ำเสียได้
การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงกบ
การเปลี่ยนถ่ายน้ำถือเป็นเทคนิคหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยคนเลี้ยงต้องสังเกตจากสีน้ำและการกินอาหารของกบ ในช่วงแรกลูกอ๊อดจะกินอาหาร ทำให้ของเสียน้อย คุณโชคจะเปลี่ยนถ่ายน้ำเกือบทุกวัน แต่เมื่อกบอายุ 2 เดือน จะเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน การเลี้ยงกบในบ่อดินที่ปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่น ของเสียจากการขับถ่ายและเศษอาหารถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคได้ ถ้าละเลยหรือไม่ดูแลเรื่องน้ำ อาจมีผลต่อการกินอาหาร
การเจริญเติบโต ระหว่างการเลี้ยงได้ และเพื่อป้องการการเกิดโรค นอกจากการจัดการเรื่องน้ำ เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันแล้ว คุณโชคเผยเทคนิคการใช้ยาป้องกันโรคผสมในอาหารให้ลูกอ๊อดกิน หลังจากย้ายลงบ่อดิน และการให้วิตามินรวมผสมในอาหารให้กิน สลับกันกับการให้ยาป้องกันโรค ด้วยเครื่องผสมอาหารที่คิดค้นขึ้นมาเอง ทำให้ประสิทธิอาหารและยาดีขึ้น และสะดวกในการทำงาน ประหยัดเวลา
การจำหน่ายกบ
การเลี้ยงกบในบ่อดินแบบหนาแน่น กบจะกินอาหารดี แต่ถ้าปล่อยแบบบางกบจะไม่ค่อยกินอาหาร เพราะกบจะไม่แย่งกันกิน ถือเป็นข้อดีช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร ระยะเวลาในการเลี้ยง ตั้งแต่เป็นลูกอ๊อด-จับขาย ประมาณ 3-4 เดือน ได้กบเนื้อขนาด 3-4-5 ตัว/กิโลกรัม ผลผลิต 5-6 ตัน/บ่อ จำหน่ายให้กับพ่อค้า แม่ค้า ที่ตลาดบางเลน
ข้อดีของการ เลี้ยงกบบ่อดิน
- กบโตเร็ว ตัวสวย ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น เนื่องจากกบเลี้ยงแบบธรรมชาติ
- ไม่ต้องคัดกบบ่อยๆ เพราะธรรมชาติกบใหญ่จะกินกบเล็ก
- ประหยัดอาหาร เนื่องจากกบแย่งกันกิน แข่งขันกันเจริญเติบโตเร็ว
- สามารถเลี้ยงกบได้ในปริมาณที่หนาแน่น
- ไม่เสียเที่ยวพ่อค้า แม่ค้า ที่ต้องการกบปริมาณเยอะ หลัก 5-6 ตัน
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจอยาก เลี้ยงกบบ่อดิน
คุณโชคแนะนำเกษตรกรที่สนใจกระแสการเลี้ยงกบ จะเห็นได้ว่ากบเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่าย เริ่มต้นอยากให้ทดลองเลี้ยงน้อยๆ ไปก่อน ค่อยเป็นค่อยไป และค่อยๆ หาประสบการณ์ ตลาดกบยังไปได้เรื่อยๆ ราคากบจะต่ำช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และกบจะแพงอีกครั้งในช่วงปลายปีของเดือนกันยายน-ธันวาคม ราคาจะอยู่ประมาณ 50 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการเลี้ยงไม่เกิน 40 บาท/กิโลกรัม เรื่องคุณภาพลูกกบจากฟาร์มคิดว่าผ่าน เพราะลูกบ่อรับไปเลี้ยงไม่เคยมีปัญหา เลี้ยงแล้วตัวโต สีสวย หัวเขียว เพราะเป็นกบลูกผสม จะเด่นในเรื่องการโต และแข็งแรง
ขอขอบคุณ คุณโชคชัย กุลกิตติโกวิท 36 หมู่ 2 ต.คลองนกกระทุง อ.บางเลน จ.นครปฐม 73130 โทร.08-0660-9796 เลี้ยงกบบ่อดิน เลี้ยงกบบ่อดิน เลี้ยงกบบ่อดิน เลี้ยงกบบ่อดิน เลี้ยงกบบ่อดิน เลี้ยงกบบ่อดิน เลี้ยงกบบ่อดิน