การ เลี้ยงกบ
อาชีพการ เลี้ยงกบ ยังคงเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการหารายได้เสริม นอกจากการปลูกพืช ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนน้ำที่จะนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรมนั้นกระจายเป็นวงกว้าง และเป็นปัญหาหลักที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขไปทั่วประเทศ
ทำให้กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มได้ยึดนำเอาอาชีพการเพาะเลี้ยงกบมาเป็นอาชีพหลัก เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในการเลี้ยงมาก ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ลาว และพม่า ทำให้อาชีพการเลี้ยงกบได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่คิดจะหันเหจากการปลูกพืชมาประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์มากยิ่งขึ้น
คุณนิด เกษตรกรผู้เลี้ยงกบในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ดำเนินธุรกิจการเพาะเลี้ยงกบมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี โดยเริ่มแรกนั้นคุณนิดได้ศึกษาธุรกิจการเพาะเลี้ยงกบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จนทำให้เกิดความคิดว่า “ถ้าเขาเลี้ยงได้ เราก็ต้องเลี้ยงได้” จึงได้เริ่มต้นทำธุรกิจการเลี้ยงกบอย่างจริงจัง โดยในช่วง 4 ปีแรก นั้นด้วยความที่ยังขาดประสบการณ์และความรู้ที่มากพอ
ทำให้ประสบปัญหาอยู่หลายจุด เช่น ปัญหาของลูกกบ คือ ระยะของลูกกบที่รับมานั้นยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยง และมีโรคติดมาด้วย จึงทำให้กบที่ได้มีอัตรารอดเพียง 20% และตายยกบ่อเลยก็มี อีกทั้งบ่อที่ใช้ในช่วงแรกนั้นพื้นบ่อไม่ได้ระดับ ทำให้ถ่ายน้ำได้ลำบาก คุณนิดจึงได้มีการศึกษาการเพาะเลี้ยงกบในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และ
เริ่มมีการสะสมพ่อแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ลูกกบ โดยพ่อพันธุ์ที่ใช้จะเป็นกบสายพันธุ์บลูฟล็อก ซึ่งมีโครงสร้างที่แข็งแรง ส่วนแม่พันธุ์จะเป็นกบนา เพราะสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคได้ดีกว่า โดยขณะนี้ในที่ฟาร์มของคุณนิดมีพ่อแม่พันธุ์อยู่ทั้งหมด 300 คู่
สภาพพื้นที่ เลี้ยงกบ
คุณนิดได้ให้ความรู้กับทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำต่อไปอีกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการ เลี้ยงกบ นั้นเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก “คุณภาพน้ำ” เพราะหากน้ำที่ใช้เลี้ยงมีคุณภาพน้ำที่เหมาะสม สะอาด การ เลี้ยงกบให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ 4 ปี ฟาร์มของคุณนิดนั้นตั้งอยู่ใน อำเภอบางปลาม้า ติดกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นจุดที่มีสารเคมีจากการทำเกษตรกรรม และการปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือน จึงทำให้ในช่วง 4 ปีแรก ที่คุณนิดดำเนินกิจการมีปัญหาในด้านของการเกิดโรค ทำให้กบที่ลี้ยงมีอัตรารอดต่ำ
แต่ในปัจจุบันฟาร์มของคุณนิดได้ย้ายมาอยู่ในบริเวณอำเภอศรีประจันต์ ซึ่งแหล่งน้ำที่ใช้อยู่เป็นน้ำจากบ่อทราย ทำให้น้ำที่นำมาใช้นั้นสะอาด และมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากกว่าในบริเวณเดิม โดยหลังจากที่ใช้น้ำในแหล่งน้ำจุดนี้ กบในฟาร์มไม่เคยมีโรคเกิดขึ้นเลย ทำให้ประหยัดต้นทุนในการใช้ยาลงไปมาก
คุณนิดยังได้แนะนำในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำต่ออีกว่าว่าควรจะมีบ่อพักน้ำที่ใช้สำหรับเตรียมน้ำก่อนนำไปใช้ในฟาร์ม โดยทั้งนี้อยู่ที่ปริมาณน้ำที่ใช้ภายในฟาร์ม หากต้องใช้ปริมาณมาก ควรจะใช้บ่อดินในการพักน้ำ และหากใช้น้ำบาดาลควรเจาะลงไปให้ลึกประมาณ 50-60 เมตร เพราะยิ่งลึกมากเท่าไหร่น้ำที่ได้จะยิ่งใส และไม่เป็นสนิม
การบำรุงดูแลพ่อแม่พันธุ์กบ
ทางฟาร์มจะใช้การดูแลบำรุงพ่อแม่พันธุ์อย่างดี ไม่ต้องใช้การปล่อยละอองน้ำในบ่อ ซึ่งระหว่างนั้นห้ามให้มีเสียงรบกวน เพราะกบจะไม่ผสมพันธุ์กัน ซึ่งหากผสมพันธุ์ในฤดูที่เหมาะสมนั้น 1 บ่อ จะใช้พ่อแม่พันธุ์ 10 คู่ แต่ถ้าเป็นช่วงนอกฤดูจะใช้พ่อแม่พันธุ์ 20-25 คู่ เพื่อให้ได้ปริมาณไข่มากขึ้น เพราะช่วงนอกฤดูปริมาณไข่นั้นจะเหลือเพียง 20-30% จากช่วงฤดูผสมพันธุ์
เมื่อปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ 1 คืน ตอนเช้าจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อ แต่ต้องดูด้วยว่าแม่กบวางไข่ครบทุกตัวหรือยัง ถ้ายังไม่ครบจะรอให้วางไข่ให้หมดก่อน แล้วจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออก และให้ออกซิเจนในบ่อทันที โดยในวันแรกจะให้ออกซิเจนเบาๆ ซึ่งอัตรารอดที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 90% แต่หากไม่ให้ออกซิเจนจะอยู่ที่ 60%
ซึ่งไข่จะใช้เวลาประมาณ 12 ชม. ในการฟัก และจะให้อาหารหลังจากไข่ฟักได้ประมาณ 3-4 วัน โดยอาหารที่ให้จะเป็นเต้าหู้ไข่ที่บดละเอียด ซึ่งในช่วง 2 วันแรกจะทำการผสมยาป้องกันโรคเสริมเข้าไปเพิ่ม
การให้อาหารลูกกบ
โดยการให้อาหารจะหว่านรอบบ่อ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น โดยจะให้ไปจนลูกกบเริ่มกินน้อยลง จึงเริ่มให้อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน เมื่อถึงประมาณวันที่ 18 จะเริ่มนำแผ่นยางมาวางในบ่อ เพื่อให้กบได้ขึ้นมาปีน เพราะจะเป็นช่วงที่ลูกกบเริ่มมีขางอกออกมาแล้ว
เมื่อเข้าเดือนที่ 2 จึงจะให้อาหารลดลง เป็น 2 เวลา เช้า และเย็น ซึ่งเมื่อเข้าเดือนที่ 3 นั้นจะให้อาหารน้อยลงไปอีก ส่วนลูกอ๊อดที่ได้นั้นจะได้ 3,000-4,000 ตัว ต่อแม่ 1 ตัว
การคัดไซส์กบ
โดยปกติในการเลี้ยง 1 บ่อนั้น จะใช้เลี้ยงโดยใช้ความหนาแน่นประมาณ 5,000 ตัว ต่อบ่อ ซึ่งไซส์ที่ได้ในแต่ละบ่อนั้นเมื่อเลี้ยงไปได้สักระยะหนึ่งจะไม่สม่ำเสมอกัน จึงต้องมีการคัดขนาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้กบกินกันเอง และจะทำให้กบในแต่ละบ่อเมื่อถึงเวลาจับ ขนาดที่ได้จะไม่แตกต่างกันมาก โดยการคัดจะคัดเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจะหยุดคัดขนาด เพราะจะทำให้กบช้ำได้
ดังนั้นจะใช้ด่างทับทิมแช่บ่อไว้ก่อนประมาณ 2 ชม. โดยบ่อขนาด 4×3 เมตร นั้น จะใช้ด่างทับทิมประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ แล้วจึงล้างบ่ออีกครั้ง ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจะใส่น้ำความสูงประมาณ 4-6 ซม. จึงนำพ่อแม่พันธุ์ปล่อยลงบ่อได้ ซึ่งจากประสบการณ์ของคุณนิดพบว่าหากไม่มีการฆ่าเชื้อในบ่อ และถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้กบเกิดโรคต่างๆ คือ โรคขาแดง ตาขาวขุ่น ท้องบวม และกระแตเวียน ซึ่งวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดควรจะถ่ายน้ำในบ่ออย่างสม่ำเสมอ ทั้งช่วงเช้า และเย็น เพื่อป้องกันการเกิดโรค
ปัญหาและอุปสรรคในการ เลี้ยงกบ
คุณนิดฝากถึงเกษตรกรหลายๆ ท่านที่ติดตามอ่านนิตยสารสัตว์น้ำอยู่ว่า ออกซิเจนในบ่อเลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะบางครั้งออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้กบน็อค ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝนตก หรือท้องฟ้าในช่วงนั้นมีเมฆมาก ทำให้ออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ จึงควรมีการให้ออกซิเจนเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และควรจะมีบ่อพักน้ำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่จะติดมากับน้ำ และส่งผลกระทบต่อกบในฟาร์ม
ซึ่งตรงจุดนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก คุณนิดยังได้แนะนำในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำต่ออีกว่าว่า หากใช้น้ำบาดาลควรเจาะลงไปให้ลึกประมาณ 50-60 เมตร เพราะยิ่งลึกมากเท่าไหร่น้ำที่ได้จะยิ่งใส และไม่เป็นสนิม
ด้านการตลาดและช่องทางจำหน่ายกบ
ทางฟาร์มจะทำการขายทั้งพ่อแม่พันธุ์ และลูกกบขนาดต่างๆ โดยที่ราคาพ่อแม่พันธุ์จะอยู่ที่คู่ละ 500 บาท ในส่วนของลูกกบจะขายอยู่ที่ตัวละ 10 สตางค์ จึงจะขายเป็นลูกเขียด (ไม่มีหาง) ตัวละ 1 บาท ถึง 2 บาท 50 สตางค์ ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดของลูกกบ โดยจะเพาะพันธุ์ลูกกบเดือนละ 4 ครั้ง และเพาะพันธุ์ขายตลอดทั้งปี ทำให้ทางฟาร์มมีลูกกบจำหน่ายอยู่เรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นในการเพาะพันธุ์ต้องดูจากช่วงระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการด้วย
ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่กบราคาดีที่สุด โดยส่วนมากทางฟาร์มจะให้ลูกค้ามารับลูกกบเอง ซึ่งลูกค้าสวนใหญ่จะให้ความเห็นว่าลูกกบจากอนงค์ฟาร์มจะแตกต่างจากฟาร์มอื่นๆ ตรงที่กบที่มีราคา 1 บาท ของฟาร์มอื่นจะยังมีหางอยู่
ซึ่งยังอยู่ในระยะที่ไม่เหมาะสมจะนำไปเลี้ยง แต่กบของทางฟาร์มคุณนิดนั้นจะไม่มีลูกกบที่มีหางปนเลย ทำให้ทางฟาร์มมีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ เพราะลูกค้าจะช่วยโฆษณาโดยบอกกันปากต่อปาก ซึ่งส่วนมากจะติดตามซื้อลูกกบจากฟาร์มอยู่ตลอด เพราะมีลูกกบขายทั้งปี ทำให้คุณนิดมีรายได้จากการเพาะลูกกบเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท/เดือน
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจจะ เลี้ยงกบ
สุดท้ายคุณนิดฝากถึงเกษตรกรผู้สนใจจะทำอาชีพเพาะ เลี้ยงกบ ว่า ควรจะมีการศึกษาหาข้อมูลก่อนจะเริ่มทำการเลี้ยงจริง เพราะไม่อยากให้เหมือนตนเองที่คิดว่าคนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา ลองผิดลองถูกถึง 4 ปี จึงอยากให้เกษตรกรที่สนใจลองเลี้ยงจากน้อยๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยาย และศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ
ส่วนในเรื่องของตลาดนั้นยังมีผู้รับซื้อ ทั้งพ่อค้า แม่ค้า และผู้ซื้อจากต่างประเทศอยู่มาก แต่ต้องมีผลผลิตที่ต่อเนื่อง และเพียงพอที่จะส่งขายเข้าสู่ตลาด ดังนั้นหาข้อมูลให้ดี ศึกษาวิธีเลี้ยงจากเกษตรกรรายอื่นๆ ที่เลี้ยงก่อน แล้วให้เข้าใจถึงขั้นตอน และปัญหาต่างๆ ก่อน จึงจะประสบผลสำเร็จ
เกษตรกรท่านใดมีความสนใจจะประกอบอาชีพ เลี้ยงกบ สามารถปรึกษาและสั่งจองลูกพันธุ์จาก อนงค์ฟาร์มกบ ได้ที่ 36/2 ตำบลปลายนา อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72140 หรือเบอร์โทรศัพท์ 081-618-1342