กุ้งตะกร้า ผลงานดังแห่งบ้านสารภี
ความต้องการบริโภคอาหารกุ้ง ปลา มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การเพาะเลี้ยงไม่ว่าพื้นที่จะเป็นเช่นไร ขอเพียงแค่มีน้ำ ใช้เลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ก็ถือเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้
อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่นิยมปลูกพืชสวน โดยเฉพาะมะพร้าว ที่เป็นพืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่น สวนต่างๆ เหล่านี้มักมีร่องสวนเป็นระยะ คุณสุชล สุขเกษมเจ้าของสวนมะพร้าว แห่งศูนย์การเรียนรู้บ้านสารภี จึงคิดใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์จากร่องสวน
คุณสุชล เกษตรกรคนเก่ง ได้กล่าวให้ฟังว่า “ตามพื้นเพตนและคนในชุมชนมีอาชีพทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกมะพร้าวเพื่อนำมาเคี่ยวเป็นน้ำตาล สร้างรายได้ และของขึ้นชื่อในจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยความที่ชอบศึกษาเรียนรู้ และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนราชการ และสถานศึกษา เมื่อปี 2547 จึงเกิด ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี ขึ้นมา เพื่อประโยชน์ด้านการเรียนรู้
การ เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้า กุ้งหลวง
เมื่อก่อนนี้ ตนมองว่าร่องน้ำในสวนมะพร้าวมีประโยชน์ จึงนำกุ้งก้ามกราม หรือที่เรียกว่า กุ้งหลวง หรือกุ้งแม่น้ำ กุ้งน้ำจืด ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มาทดลองเลี้ยงในกระชัง ในร่องสวน กุ้งน้ำจืดชนิดหนึ่งมีลำตัวยาวประมาณ 11-13 เซนติเมตร เปลือกสีเขียวอมฟ้า หรือม่วง ก้ามยาว มีสีม่วงเข้ม ตลอดทั้งก้ามมีตะปุ่มตะป่ำ
ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ทั้งที่เป็นในน้ำจืด และน้ำกร่อย ตอนนั้นจะรับซื้อลูกพันธุ์มาปล่อยกระชังละ 700-1,000 ตัว อาหารที่ให้เป็นไข่ ชงกับน้ำร้อน ให้กินในช่วงแรกได้ผลดี กุ้งก้ามกรามเจริญเติบโตดีมาก แต่เมื่อเลี้ยงได้ขนาด ปริมาณลดน้อย เพราะปัญหาการกินกันเอง หลังการลอกคราบ
ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงมาเป็นการเลี้ยงในกุ้งตะกร้า ร่องสวนมะพร้าวที่มีอยู่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 1.5 เมตร มีความลึกประมาณ 1.5-2 เมตร ปล่อยน้ำขึ้น-ลงตามธรรมชาติ แต่ต้องมีการไหลเวียนตลอดเวลา เพราะกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีพ ในช่วงที่น้ำหยุดการเคลื่อนไหว
การเพิ่มออกซิเจนให้กับกุ้ง
คุณสุชลจะใช้การปั่นจักรยานน้ำเพื่อให้น้ำเคลื่อนตัว และการปล่อยปลากินพืชลงไปแหวกว่ายให้เกิดออกซิเจน จากนั้นจะใช้ไม้ปักกลางร่องสวนเป็นแนวยาว เพื่อแขวนตะกร้าเป็นที่อยู่ของกุ้ง แล้วปล่อยน้ำเข้าในร่องสวน เมื่อน้ำเต็มร่องสวนแล้วนำตะกร้าที่ใส่กุ้งก้ามกรามมาแขวนติดไว้กับไม้ที่ปักอยู่กลางร่องสวน
โดยกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงนั้นจะได้จากการไปตกจากเขื่อน หรือจากแหล่งน้ำธรรมชาติ กุ้งที่ได้จะนำมาปล่อยรวมไว้ในกระชังเพื่อให้เกิดการรับสภาพ 2-3 วัน จากนั้นจึงแยกกุ้งไว้ในตะกร้า ตะกร้าละ 1 ตัว ซึ่งตะกร้าที่ใช้เลี้ยงกุ้งจะใช้ตะกร้าพลาสติกที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ราคาใบละ 20-30 บาท จำนวน 2 ใบ
โดยทั้งสองข้างของตะกร้าจะต้องติดขวดน้ำพลาสติกไว้เพื่อพยุงให้ตะกร้าลอยในน้ำ หลังจากที่นำกุ้งใส่ลงไปในตะกร้าใดตะกร้าหนึ่งแล้ว จะใช้ตะกร้าอีกอันประกบทับแล้วมัดตะกร้าทั้ง 2 ให้ติดกัน ลักษณะเป็นกรงขังไม่ให้กุ้งหลุดรอดออกมาได้ และจะต้องเจาะช่องขนาดไม่ใหญ่ไว้ที่ตะกร้า เพื่อไว้สำหรับหย่อนอาหารให้กุ้งกินได้ จากนั้นนำตะกร้าไปแขวนกับไม้ที่ปักไว้
การให้อาหารกุ้งก้ามกราม
อาหารกุ้งแบบลดต้นทุน คือ มะพร้าวทึนทึก ซึ่งเป็นผลผลิตจากสวน นำไปฉีกเป็นชิ้นๆ ให้กุ้งกิน 1 ชิ้น จะเป็นอาหารกุ้งได้ 2-3 วัน และสลับด้วยการให้อาหารกุ้งเสริมเข้าไปด้วย
การจำหน่ายกุ้งก้ามกราม กุ้งหลวง
การเลี้ยงกุ้งวิธีการนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน ถ้ากุ้งโตได้ขนาดแล้ว ก็สามารถจับกุ้งที่เลี้ยงในตะกร้าออกจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตจากการเลี้ยงปลาน้ำจืด ไม่ว่าจะเป็นปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน และปลาแรด นอกจากเป็นตัวช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้แก่กุ้งก้ามกรามแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ อาหารกุ้งหว่านให้กุ้งก็เป็นอาหารปลา ส่วนของขับถ่ายจากปลาก็เป็นอาหารธรรมชาติให้กับกุ้งก้ามกรามอีกทางหนึ่ง
ถือเป็นแนวทางการเลี้ยงกุ้งแบบใหม่ ที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนสูง และเป็นรายได้เสริมที่คุ้มค่าให้เกษตรกร บนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของในหลวง
สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้า สามารถติดต่อได้ที่ คุณสุชล สุขเกษม หมู่ที่ 7 ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 75120 โทร.08-6178-4157