การ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ควบคู่ การเลี้ยงกุ้งขาว
กุ้งก้ามกราม จากตำนานกลายมาเป็นสัตว์น้ำ ทำเงินอีกครั้ง เมื่อวิกฤตกุ้งขาวแวนาไมอยู่ในช่วงขาลง เกษตรกรหลายรายที่เลี้ยงกุ้งขาวแวนาไมไม่ประสบความสำเร็จ ก็เริ่มเอนเอียงมาเลี้ยง ทั้งกุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำไม่รอช้าที่จะตามติดการ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพียงหวังว่าจะเป็นทางเลือก ทางรอด หนึ่งให้กับเกษตรกรที่ยังยึดมั่นในอาชีพนี้ คุณลุงไพร ทวงเชื้อ เจ้าของฟาร์มชำลูกกุ้งก้ามกราม และมีบางส่วนเลี้ยงกุ้งขาวร่วมกับกุ้งก้ามกราม จากอดีตของคุณลุงไพร หันเหตัวเองมาเช่าพื้นที่เปิดบ่อเลี้ยงกุ้ง ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ต่อด้วยกุ้งก้ามกราม และกุ้งขาว จนถึงปัจจุบัน
แหล่งเงินทุนและที่ดินเลี้ยงกุ้ง
จากความไม่รู้คุณลุงไพรลองมาหลายอาชีพ อาชีพไหนว่าดีทำหมด การลงมือทำต้องใช้เงินทุน เช่นเดียวกับการจะลงทุนทำบ่อกุ้งต้องใช้เงินทุนเยอะ ถึงขั้นว่าต้องแบกหน้าเข้าไปขอเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาเป็นทุนสานต่ออาชีพ
ทั้งที่ไม่มีอะไรเลยไปค้ำประกัน มีเพียงประวัติการชำระเงินที่ดีในฐานะลูกค้าชั้นดี จึงได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก ธกส. มาซื้อที่ดิน 30 ไร่ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ด้วยความบริบูรณ์ทั้งน้ำท่าที่มีใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี การเดินทางที่สะดวก ตีประเมินราคา
ถ้าคุณลุงไพรจะขายที่ดิน ณ ตอนนี้จะได้ไร่ละ 2-3 แสนบาท เลยทีเดียว ถือเป็นการวางแผนเลือกสถานที่การเลี้ยงได้อย่างดี คุ้มค่ากับการลงทุนเป็นอย่างมาก
การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง
เมื่อพื้นที่พร้อม การขุดบ่อเพื่อเลี้ยงก็สามารถดำเนินการ และวางผังฟาร์มได้อย่างเต็มพิกัด โดยพื้นที่ 30 ไร่ สามารถจัดสรรเป็นบ่อเลี้ยงได้ทั้งหมด 9 บ่อ ขนาดตั้งแต่ 4-6 ไร่ ลักษณะบ่อหลังจากผ่านการใช้งานแล้ว คุณลุงไพรจะตากบ่อให้แห้งพอประมาณ
จากนั้นก็จะหว่านปูนร้อน อัตราส่วน 1 ลูก/ไร่ เพื่อเป็นการกำจัดศัตรู และปรับสภาพพื้นบ่อ จากนั้นก็จะ “สร้างคอก” ขนาดนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณลูกกุ้งที่จะปล่อยลงชำ โดยเฉลี่ยคอกประมาณ 100 ตารางเมตร ลักษณะคอกจะใช้ผ้าพลาสติกที่สามารถกักเก็บน้ำได้รอบล้อมบ่อ มุมที่เป็นทางน้ำเข้าภายในคอกจะวางเครื่องตีน้ำไว้ 1 จุด เพื่อเป็นตัวเพิ่มออกซิเจนให้กับลูกกุ้งที่จะนำมาปล่อย
เมื่อเติมน้ำเข้าบ่อแล้วจะใช้เกลือสมุทร 5-10 กระสอบ ในการทำน้ำเค็มให้ใกล้เคียงกับความเค็มของน้ำที่มาจากฟาร์มเพาะลูกกุ้งนั่นเอง จากนั้นใช้เวลาในการเตรียมน้ำในคอก 1 วัน ก่อนปล่อยลูกกุ้งลง การกั้นลูกกุ้งไว้ในคอก 3 วัน โดยช่วง 3 วัน จำเป็นต้องมีการให้อาหารบ้าง และเปิดเครื่องตีน้ำภายในคอกตลอดเวลา
ซึ่งวิธีการนี้คุณลุงไพรบอกว่าเป็นการเช็คลูกกุ้ง ทั้งปริมาณ และความแข็งแรง ของลูกกุ้งก่อนปล่อยออกไปชำในบ่อใหญ่ที่ได้ผลดีเยี่ยม
เมื่อสังเกตเห็นลูกกุ้งแข็งแรง อัตรารอด ดีแล้ว จะใช้การกดผ้าที่ใช้ล้อมเป็นคอกลงทีละมุมทั้ง 2 ข้าง โดยมุมด้านหนึ่งกดลงให้น้ำเข้า จะเป็นมุมที่อยู่ทางเครื่องตีน้ำเพื่อดูดน้ำเข้าไป อีกด้านหนึ่งกดลงให้น้ำออกไป จะไม่ใช้การปล่อยลูกกุ้งออกทีเดียวทั้งคอก แต่จะทยอยให้ลูกกุ้งว่ายออกไป เพื่อจะได้เช็คปริมาณลูกกุ้งที่รอดอยู่ด้วย และเพื่อเป็นการช่วยให้ลูกกุ้งค่อยๆ ปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยง
อัตราการปล่อยลูกกุ้ง
จากประสบการณ์และความชำนาญในฝีมือ อัตราการปล่อยที่ถือว่าปกติ คือ ลูกกุ้ง 1 แสนตัว/ไร่ หรือในบางช่วงที่สั่งลูกกุ้งได้ดี คุณลุงไพรจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นไร่ละ 1.2 แสนตัว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มาก ตอบสนองความต้องการของคนเลี้ยง เมื่อหลายปีที่ผ่านมาด้วยความต้องการของเกษตรกรที่มากขึ้น โรงเพาะฟักก็เกิดขึ้นมาก เพื่อให้ทันต่อความต้องการของเกษตรกร โรงเพาะฟักบางทีไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของลูกกุ้ง
คุณลุงไพรด้วยความที่อยู่ในอาชีพมานานแล้ว บางครั้งบางทีก็หลงเชื่อตามคำโฆษณา จึงหลงเชื่อไปใช้ลูกกุ้งฟาร์มทั่วไป และสิ่งนี้เองที่สร้างความเสียหายให้กับอาชีพของคุณลุงไพร เรื่องมีอยู่ว่าอัตราการชำติดดี แต่เมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อแล้ว การเจริญเติบโตไม่ดี ทำให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพลูกกุ้งจากฟาร์มของคุณลุงไพร
การใช้ลูกกุ้งจาก บ.ซีพี และมหมิตรฟาร์ม
คุณแขก เจ้าของ มหมิตรฟาร์ม ด้วยความที่อยู่ในแวดวงการเพาะเลี้ยงกุ้ง และได้รู้จักกันมานาน จึงได้ให้คำแนะนำกับคุณลุงไพรให้หันมาใช้ลูกกุ้งจากฟาร์มคุณภาพ อย่างลูกกุ้งของ บริษัท ซีพี ที่ถือได้ว่ามีคุณภาพ และเชื่อมั่นในเรื่องของการเจริญเติบโตที่ดีได้อย่างแน่นอน
คุณลุงไพรจึงหันมาใช้ลูกกุ้งจากฟาร์มซีพี และลูกกุ้งสายพันธุ์ F1 จากมหมิตรฟาร์ม ของคุณแขก ควบคู่กันไป และการหันมาใช้ของดี มีคุณภาพ แต่ราคาไม่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้า ถือเป็นสิ่งที่คุณลุงไพรต้องการ ทำให้ทั้งคนชำ และเกษตรกรคนเลี้ยง ได้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพไปเลี้ยง ทุกอย่างก็จะสามารถเดินทางกันต่อไป
การให้อาหารลูกกุ้ง จาก บ.ซีพี
อาหาร ยักษ์ใหญ่ อย่างบริษัท ซีพี เมื่อมีลูกกุ้งที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกร ก็คงไม่แปลกที่เกษตรกรจะเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปจาก บริษัท ซีพี ควบคู่กันไป โดยอาหาร เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ของซีพี มีคุณภาพดี ให้อาหารลูกกุ้งวันละ 2 มื้อ ตามโปรแกรมการให้อาหาร และขยันเช็คยอทุก 2 ชั่วโมง เพื่อปรับลด หรือเพิ่มปริมาณ กุ้งก็สามารถเจริญเติบโตได้แล้ว
การสร้างไรแดง อาหารโปรตีนคุณภาพสูง เลี้ยงลูกกุ้งช่วงแรก จะใช้ขี้ไก่อัดเม็ดปริมาณ 100 กิโลกรัม หว่านทั่วบ่อ ทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อให้เกิดไรแดง เลี้ยงลูกกุ้งช่วง 1-3 วันแรก
การเช็คอาหารในยอ การวางยอในแต่ละบ่อจะวาง 3-5 จุด คุณลุงไพรบอกว่าการวางยอสามารถวางได้ตั้งแต่เริ่มปล่อยลูกกุ้ง ถึงแม้ยังไม่สามารถเช็คยอได้ แต่การวางยอจะทำให้รู้ได้ว่าควรให้อาหารลูกกุ้งได้เมื่อไหร่ เพราะถ้าหากขีดเส้นตายว่า 10 วัน แล้วจะเริ่มเช็คยอ
บางครั้งบางทีในทางปฏิบัติจะสังเกตได้ว่า ถ้าลูกกุ้งมีความต้องการกินอาหารแล้วลุกกุ้งจะเข้ามาหาอาหารในยอ จะเช็คยอได้เร็ว หรือช้านั้น คุณลุงไพรบอกว่าการวางยอเร็วก็จะทำให้เรารู้เร็ว เพราะหากอาหารธรรมชาติหมด กุ้งจะเข้ามาหาอาหารในยอ การใส่อาหารลงยอช่วงแรกๆ ก็ไม่จำเป็น ต้องใส่เยอะ ปริมาณเพียง 100-200 กรัม ก็สามารถทราบได้แล้วว่ากุ้งต้องการอาหารมาก หรือน้อย เพียงไร
ถ้าอาหารในยอที่เราใส่ลงไป สมมุติ ใส่อาหารลงไป 500 กรัม ถ้ายกยอขึ้นมาเช็คอาหารในยอเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง แสดงว่าอาหารที่เราหว่านลงในพื้นที่หมด เพราะกุ้งจะกินอาหารที่หว่านลงในบ่อหมดก่อนแล้วจึงเริ่มเข้ามากินอาหารในยอ สอดคล้องที่ว่าถ้าอาหารในยอหมดแสดงได้ว่าอาหารที่ให้ไม่เพียงพอที่ลูกกุ้งในบ่อต้องการกิน
หลักในการสังเกตนี้เกิดจากที่คุณลุงไพรท้าพิสูจน์ด้วยการลงไปเช็คพื้นบ่อ เกษตรกรไม่ควรใช้ทฤษฎีอาหารในยอเหลือ และจะไม่มีการให้อาหาร เพราะนั่นจะเป็นการเลี้ยงที่ทำให้กุ้งแตกไซส์
การชำลูกกุ้ง
ลูกกุ้งจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ในการชำจะได้ไซส์ 200-250 ตัว/กิโลกรัม ผลผลิตที่ได้ไม่ต่ำกว่า 80% จากการปล่อยลงไปชำในแต่ละรอบ คุณลุงไพรการันตีได้ว่าลูกกุ้ง F1 จากมหมิตรฟาร์ม โตดี อัตรารอดสูง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ใช้ลูกกุ้งจากที่อื่น เมื่อลูกค้ารับไปเลี้ยงต่อ จากที่โทรสอบถามจะมีผลการเลี้ยงไม่ดี เลี้ยงแล้วกุ้งไม่โต ตั้งแต่ได้เปลี่ยนมาใช้ลูกกุ้ง F0 ของซีพี และ F1 ของมหมิตรฟาร์ม ชำควบคู่กัน
ลูกค้าให้การตอบรับดี เพราะผลการเลี้ยงสามารถวัดผลได้ว่าอัตรารอดและการเจริญเติบโตไม่แพ้กัน ลูกค้าหลายรายกลับมาใช้กุ้งจากฟาร์มของคุณลุงไพรอย่างต่อเนื่อง แทบจะไม่ต้องพูดอะไร ลูกค้าก็จองคิวสั่งซื้อลูกกุ้งอย่างต่อเนื่อง จนในบางช่วงชำไม่ทันกับความต้องการ
การจำหน่ายกุ้ง
และในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้คุณลุงไพรทราบแนวโน้มมาว่าเกษตรกรให้ความสนใจเปิดบ่อ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม กันมากขึ้น ส่งผลดีที่ทางฟาร์มจะเพิ่มกำลังการผลิต เพราะการชำลูกกุ้งใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ การสั่งจองลูกกุ้งของซีพีอาจใช้เวลานาน และไม่ต่อเนื่อง ลูกกุ้ง F1 ของมหมิตรฟาร์ม ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกษตรกรยอมรับได้ไม่แพ้ลูกกุ้งของซีพี
ฝากถึง…เกษตรกรที่สนใจเลี้ยงกุ้ง
สุดท้ายนี้ทางคุณแขก เจ้าของมหมิตรฟาร์ม ได้ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจหรือเลี้ยงกุ้งอยู่แล้ว ให้ตรวจสอบคุณภาพลูกกุ้ง ตั้งแต่ขั้นตอนของการปรับน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ฟาร์มเพาะลูกกุ้งบางฟาร์มอาจลักไก่ ไม่ปรับน้ำ จากความเค็มที่สูงในช่วงเพาะให้ลดต่ำลง เพราะการปรับน้ำแต่ละครั้งจะเกิดความเสียหาย
กุ้งที่อ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้จะตาย ฟาร์มเพาะจะไม่ได้ปริมาณลูกกุ้งจำหน่าย ตรงนี้เองที่ถือว่าเป็นคุณภาพ และทางมหมิตรฟาร์มเองให้ความสำคัญ ด้วยฝีมือการดูแลของคุณแขกเชื่อมั่นได้ว่าทางฟาร์มจะปรับน้ำให้ความเค็มเท่ากับ 0 ทุกครั้ง ก่อนออกจากฟาร์ม เกษตรกรจะได้ลูกกุ้งที่ดี แข็งแรง ราคาถูก ไปชำต่ออย่างแน่นอน
สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่สนใจ และมีพื้นที่อยากจะ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลคุณแขก และวางแผนร่วมกันได้ มหมิตรฟาร์ม ธุรกิจเพาะ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ครบวงจร ยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรทุกราย เชื่อมั่นในคุณภาพ ราคา และมีตลาดรองรับผลผลิต ได้ที่โทร.08-1491-3787 หรือท่านใดที่สนใจกุ้งรุ่น ฝีมือคุณลุงไพร ติดต่อสอบถามได้ที่ 32 หมู่ 7 ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โทร.08-3317-7614