การ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในด้านของการเลี้ยงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดตั้งเป็นคลัสเตอร์กุ้งก้ามกราม เช่นเดียวกับกุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำ ที่ได้จัดตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว ตามที่นิตยสารสัตว์น้ำได้นำเสนอไว้
คุณเอนก จันทร์ทอง หรือคุณอ๊อด เจ้าของจันทร์ทองฟาร์ม ฟาร์มเพาะเลี้ยงและจำหน่ายลูกกุ้งก้ามกราม ในอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า “กุ้งกามกรามที่ขาย ถ้าเป็นกุ้งที่ยังไม่ได้อนุบาลจะใช้เวลาเลี้ยงนาน อย่างที่ฟาร์มขายก็จะมีทั้งกุ้งพี และกุ้งอนุบาล กุ้งอนุบาลขั้นต่ำก็ไม่น้อยกว่า 70 กว่าวัน
ผลตอบแทนของการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้นดีกว่า
จากกุ้งพี พออนุบาลได้ 70-75 วัน ก็จะขาย เพื่อช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงให้กับเกษตรกรไปเลี้ยงแค่ 2.5-3 เดือน จริงๆ แล้วความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน กุ้งจากฟาร์มเดียวกัน ไปเลี้ยงแต่ละพื้นที่ก็โตไม่เท่ากัน ปัจจุบันมียอดขายลูกกุ้งเดือนละประมาณ 30-40 ตัน มีลูกค้าเลี้ยงเยอะสุดที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี
ทางฟาร์มผลิตลูกกุ้งก้ามกรามไม่ค่อยทัน เพราะกำลังในการซื้อของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพราะช่วงเวลา เช่น ช่วงปลายปีเกษตรกรผู้เลี้ยงจะจับกุ้งขาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการ หลังจากนั้นเกษตรกรก็ต้องเริ่มลงทุนใหม่ ทำให้ลูกกุ้งขายดีไปด้วย
อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่เกษตรกรเลี้ยงกุ้งขาวผสมกุ้งก้ามกรามน้อยลง หันมา เลี้ยงกุ้งก้ามกราม มากขึ้น หรือเปลี่ยนมา เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ล้วน เพราะผลตอบแทนของการ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม นั้นดีกว่า แต่มองว่าในปีนี้ยังไม่ดีเท่าไร เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เพราะว่ามีคนเลี้ยงเยอะขึ้น ทำให้ราคาถูกลง แต่คนส่วนใหญ่รอจับช่วงเทศกาล เพราะว่าจะได้ราคาดีกว่า
ซึ่งปกติช่วงปีใหม่จะมีราคาสูง แต่ปีนี้ไม่สูงมาก เพราะคนมารอจับพร้อมกัน แต่ราคาก็ต่างกันไม่มากนัก ประมาณ 10-20 บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรได้กำไรน้อยลง แต่พ่อค้า แม่ค้า คนกลาง ได้กำไรมากขึ้น เพราะเมื่อนำไปขายปลีก ลูกค้าก็ยังคงต้องซื้อในราคาปกติ กุ้งที่จับออกขายในช่วงนี้ตัวค่อนข้างโต และสมบูรณ์ เพราะว่ากุ้งได้อายุ แต่ที่ผ่านมาก็มีความเสียหายก่อนเข้าปีใหม่ ผลผลิตกุ้งที่จับขายออกสู่ตลาดก็มีน้อย”
ด้านตลาดกุ้งก้ามกราม
ณ ปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับทางต่างประเทศ เนื่องจากว่าแฟนของเพื่อนทำบริษัทเกี่ยวกับการเกษตรที่อเมริกา และมีความสนใจเรื่องกุ้งก้ามกราม จึงอยากมาร่วมทดสอบ และลงทุนร่วมกัน เพราะเป็นคนคุ้นเคย และเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเกษตรอยู่แล้ว เพื่อศึกษาว่าการ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในประเทศไทยเป็นอย่างไร เพราะว่าที่อเมริกานั้นกุ้งที่นำเข้ามีราคาค่อนข้างสูง
สำหรับการส่งออกกุ้งก้ามกรามจะมีประเทศจีนที่ซื้อกุ้งอ็อกจากประเทศไทยอยู่แล้ว กุ้งก้ามกรามหลักๆ ที่ประเทศจีนซื้อในตอนแรก คือ ซื้อจากเวียดนาม เพราะว่าระยะทางใกล้ แต่ระยะหลังเหมือนว่ากุ้งที่ประเทศเวียดนามมีคุณภาพต่ำลง ในขณะที่ของประเทศไทยมีคุณภาพดีกว่า หมายถึง ลักษณะ ขนาด มีความแตกต่างกัน และมีการบอกต่อกันว่าคุณภาพกุ้งของทางประเทศไทยดีกว่า ทำให้ประเทศจีนเปลี่ยนทัศนคติ และหันมารับซื้อจากประเทศไทยแทน ..คุณเอนกกล่าว
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบแยกเพศ
โดยรวม ณ ปัจจุบัน ลูกกุ้งยังไม่มีความนิ่ง ยังไม่สามารถผลิตออกมาแล้วยืนยันได้ว่าแต่ละรุ่นเป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย ล้วน ปัจจุบันมีการพูดคุยเรื่องที่จะซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่จะนำมาผลิตลูกพันธุ์กุ้งเป็นเพศเดียวล้วน แต่ติดปัญหา คือ ทางผู้ผลิตไม่สามารถผลิตและส่งให้ได้ตลอด
สมมุติว่ามุ่งทำตลาด มีลูกพันธุ์กุ้งเพศผู้ 70-80 % หากเกิดกำลังการสั่งซื้อเข้ามาแล้วไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ก็จะเกิดปัญหาตามมา เหมือนกับเป็นการบังคับตัวเองให้ต้องมีลูกพันธุ์กุ้งที่จะส่งเพิ่มอีก ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น
จากการสำรวจพบว่ามีหลายๆ คนกำลังทำเกี่ยวกับการเลี้ยงแยกเพศผู้ และเพศเมีย หากมองย้อนไปในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน การเลี้ยงแยกเพศน่าจะคุ้มค่า เพราะเพศผู้ราคาแพง เพศเมียราคาถูก ถ้าผลิตแยกเพศได้ก็จะดี แต่เมื่อย้อนกลับมาที่ลูกพันธุ์กุ้ง ไม่รู้ว่าเวลาที่เพาะพันธุ์ลูกกุ้งออกมา เกษตรกรต้องซื้อแพงแค่ไหน และจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับลูกพันธุ์กุ้งทั่วไปที่ไม่ได้แยกเพศ
ซึ่งปกติเมื่อจับขึ้นมาก็ต้องทำการคัดแยกเพศ และขนาด อยู่แล้ว ต้องนำมาเปรียบเทียบกับการจับแล้วไม่ต้องคัดแยกเพศ แค่จับขึ้นมาคัดแยกขนาดอย่างเดียว แบบไหนจะสะดวก และคุ้มค่ากว่า ปกติกำลังการซื้อก็ไม่ได้ดีตลอด จะดีในช่วงเทศกาล หรือมีทัวร์มาลง ร้านอาหารก็ไม่ได้ใช้เยอะ ถ้ากำลังการผลิตมากขึ้นแบบทวีคูณ แต่ไม่มีการผลักดันให้ส่งออกก็จะเกิดปัญหา ปัจจุบันมองว่าตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นแค่ในประเทศ เพราะ กุ้งก้ามกราม ไม่ได้รับการส่งเสริมมานาน
การรวมกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง
ทางฟาร์มมีความคิดว่าอยากจะให้รวมกันเป็นกลุ่ม แต่ติดปัญหาที่งานเยอะ และไม่สามารถรวมเป็นกลุ่มได้ จึงยังเป็นการทำแบบกระจัดกระจายอยู่ ส่วนที่เป็นกลุ่มแบบคลัสเตอร์นั้น จะมีคนจัดการบริหารเป็นระบบทำให้ง่าย แต่การมารวมเป็นกลุ่มกันเอง จะไม่มีคนช่วยบริหารจัดการ ซึ่งมองว่าการรวมกลุ่มจะดีกว่า ทำให้สามารถสื่อสารกัน และส่งออกกุ้งไปต่างประเทศได้
ปัจจุบันพ่อค้า แม่ค้า คนกลาง รวย เพราะราคาซื้อจากเกษตรกรถูกบีบไปขายในราคาปกติ การรวมกลุ่มทำให้มีความเข้มแข็ง แต่ปัญหาอยู่ที่เกษตรกรยังมองไม่ออก สุดท้ายต้องมีคนมาช่วยจัดการให้เกิดกลุ่มแบบคลัสเตอร์ แต่พอไม่มีการรวมกลุ่ม ก็แค่จับขายผ่านคนกลางไป คนกลางก็ยังรวยอยู่เหมือนเดิม
ฝากถึง…เกษตรที่สนใจเลี้ยง กุ้งก้ามกราม
การ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ถ้ามีการส่งเสริมตั้งแต่ขั้นตอนแรก เกษตรกรก็สามารถเลี้ยงกุ้งให้ออกมาดีได้อยู่แล้ว แต่เหมือนย้อนกันตรงที่ว่าลูกกุ้งบางชุดไม่สมบูรณ์ ขายจำนวนเยอะไว้ก่อน แต่ไม่มีคุณภาพ ถ้าตั้งแต่ต้นทางสามารถรักษาเรื่องของคุณภาพพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ลูกกุ้ง เมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงก็จะได้คุณภาพ คือต้นน้ำดี ปลายน้ำก็จะดี
แต่เมื่อไรที่ต้นน้ำยังผลิตลูกกุ้งที่มีคุณภาพไม่ได้ โอกาสที่ตลาด กุ้งก้ามกราม จะดีก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่ากุ้งที่เลี้ยงมีทั้งที่โต และไม่โต มองย้อนกลับมาที่ต้นน้ำ คือ ฟาร์มนำพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่ไม่ดีมาผลิตลูกกุ้ง เห็นผลประโยชน์เรื่องจำนวนจากการจำหน่ายมากไป จนลืมเรื่องคุณภาพ เกษตรกรที่เลี้ยงไม่มีใครอยากขาดทุน ใครก็อยากได้ลูกกุ้งที่ดี หากทำลูกกุ้งออกมาดี มีคุณภาพ เกษตรกรก็อยากได้
สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเอนก จันทร์ทอง (คุณอ๊อด)
โทรศัพท์ 085-094-3359, 083-792-7515 Facebook : จันทร์ทองฟาร์ม เพื่อเกษตรกร