เลี้ยงปลาช่อน กรมประมงปั้น “ ปลาช่อนแม่ลา ” เป็น ปลาเศรษฐกิจ
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำ ได้ไปเยี่ยมชม และสัมภาษณ์ คุณวินัย จั่นทับทิม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวว่า ตนมีความคิดริเริ่ม จากแต่เดิมเป็นหัวหน้าอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสิงห์บุรี เคยไปส่งเสริม ปลาช่อนแม่ลา ที่สิงห์บุรี ซึ่งสิงห์บุรีเป็นตำนานของปลาช่อนแม่ลาว่าเป็นปลาช่อนที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย
ลักษณะเฉพาะของ “ปลาช่อนแม่ลา” จะรู้ว่าเป็นพันธุ์แท้หรือไม่ ดูได้จากครีบหูจะมีสีส้ม ส่วนหางจะมีลักษณะมนเหมือนใบพัด ลำตัวอ้วน แต่หัวหลิม ไม่เหมือนปลาช่อนทั่วไป หน่วยงานมีหน้าที่ศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาทุกชนิด ถ้าตัวไหนเด่นในธรรมชาติก็มาศึกษาให้มันเป็น ปลาเศรษฐกิจ และเมื่อได้ไปอยู่หาข้อมูลว่าที่มา ที่ไป ยังไง
หลังจากนั้นขั้นตอนต่อไปจะไปจับรวบรวมพันธุ์จากธรรมชาติที่แม่ลา เริ่มแรกก็เอามาเลี้ยง เอามาศึกษา แล้วใช้วิชาทางวิทยาศาสตร์ประมงศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อที่จะเพาะพันธุ์ให้สามารถอยู่ในระบบของการเลี้ยงเป็น ปลาเศรษฐกิจ ได้
ปรึกษาฟรี (หากบอกว่ามาจาก พลังเกษตร.com) สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะ เลี้ยงปลาช่อน ปลาช่อนแม่ลา สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โทร 035-704-171
จับคู่ผสมผู้-เมีย 1:1
การผสมพันธุ์ของปลาช่อนจะผสมภายนอกโดยการรัดกัน ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมาข้างนอก ส่วนตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาแล้วก็จะได้เป็นไข่ที่ผ่านการผสมแล้ว และจะลอยขึ้นไปเป็นแพอยู่ด้านบนผิวน้ำ และจากนั้นก็จะรอเวลาการฟักเป็นตัว จะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 1 วัน จะจับคู่ปลาช่อน 1:1 คือ ผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว
เนื่องจากการที่ศึกษามาแล้วว่าปลาช่อนมีลักษณะนิสัยที่ดุร้าย เมื่ออยู่รวมกันมากๆ จะกัดกันเองจนโทรมและตายไปในที่สุด จึงสร้างความเสียหายอย่างมาก
การขยายพันธุ์ปลาช่อนแม่ลา
ตอนที่เอาพ่อแม่พันธุ์มาจากธรรมชาติประมาณ 10 ปีกว่ามาแล้ว โดยชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ลำน้ำแม่ลาที่ลงเบ็ดจับก็รวบรวมมาจากชาวบ้าน หรือพวกแม่ค้าที่สามารถรวบรวมได้ จึงรับมาและนำมาเลี้ยง ให้ปลาชุดนั้นที่ได้นำมาเลี้ยงให้ชินกับสภาพการกักขัง เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถปรับตัวได้ จึงได้มีการผสมพันธุ์วางไข่
ในช่วงแรกที่เริ่มทำโครงการไม่มีการฉีดเร่งฮอร์โมน เนื่องจากจะทำระบบจำลองธรรมชาติขึ้นมาก็จะสามารถวางไข่ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน คือ ตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นไป แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้สนใจที่จะเพาะให้ได้ในปริมาณที่มากๆ แต่เมื่อได้ลูกพันธุ์มาส่วนหนึ่ง
จึงได้เริ่มขยายพันธุ์และศึกษาต่อไป เมื่อพ่อแม่เป็นปลาป่าธรรมชาติจะฝึกให้ลูกมาอยู่ในเรื่องของการเลี้ยง เพราะตอนพ่อแม่มาจะกินอาหารธรรมชาติ เช่น ลูกปลา หรือแมลง แต่ลูกปลาก็จะมาปรับใหม่ให้กินอาหารเม็ด ให้กินรำ หรือปลาป่น พอเมื่อมาศึกษาแล้วสามารถฉีดเร่งได้
ความเป็นมาของปลาช่อนบ่อปูน
เมื่อได้ลูกปลามาก็จะฝึกให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป รำ หรือแม้กระทั่งปลาป่น ศึกษาพฤติกรรมการกินรุ่นต่อรุ่น โดยที่ต้องการปรับปลาธรรมชาติให้เป็นปลาเลี้ยงให้ได้ สุดท้ายแล้วต้องเลี้ยงในบ่อปูนแล้วรอด
พ่อแม่พันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือก
การเลือกพ่อแม่พันธุ์ส่งผลต่อลูกพันธุ์เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นๆ โดยตามหลักแล้วลักษณะพ่อแม่พันธุ์ที่ดีควรมีลักษณะ คือ ต้องได้อายุเจริญพันธุ์ คือ 7-8 เดือนขึ้นไป และตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้วเมื่อถึงเวลาได้วัยเจริญพันธุ์ ปลาจะสร้างไข่ขึ้นมาเองตามธรรมชาติ แต่จะผสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่เมื่อมาเลี้ยงที่กักขังอย่างในบ่อปูนแล้ว ฮอร์โมนจะผลิตได้น้อยกว่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงทำให้ต้องฉีดเร่งฮอร์โมนเข้าไปด้วย
เทคนิคเพาะให้รอด
ปลากินเนื้อจะมีอัตรารอดที่สูง เนื่องจากพ่อแม่ปลาจะดูแลลูกปลาดีตลอด แต่อัตรารอดสำหรับการเพาะเลี้ยงนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ด้วยกัน คือ
1.ช่วงที่ผสมพันธุ์ หรือเป็นช่วงที่ปล่อยไข่ออกมา ในช่วงนี้จะมีอัตราการรอด 60-80% ถือว่าขั้นตอนนี้ประสบความสำเร็จ
2.ช่วงต่อมา คือ ช่วงที่นำไปฟักเป็นตัว ในช่วงนี้จะมีอัตรารอด 70-80%
3.ช่วงนี้จะเป็นช่วงสุดท้าย คือ ช่วงระยะเวลาการอนุบาลก่อนที่จะนำไปปล่อย หรือก่อนที่จะจำหน่ายให้เกษตรกร จะมีอัตรารอดอยู่ที่ 40-50%
อาหารที่ให้ในระยะแรกจะให้ปลาป่น รำ และอาหารจากธรรมชาติ เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และเมื่อเริ่มกินอาหารเม็ดได้ก็จะให้อาหารเม็ด ทำให้ปลากินอาหารเม็ดดี
ส่งเสริมการ เลี้ยงปลาช่อน แม่ลาในบ่อดิน
ในสมัยก่อนนั้น การเลี้ยงปลาช่อน เกษตรกรไปช้อนลูกพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติ เนื่องจากมีปริมาณปลาที่เยอะ และเมื่อได้มาก็ต้องกินปลาเป็ดผสมรำ จะมีบริเวณที่เลี้ยงได้ใกล้ๆ คือ นครปฐม สุพรรณบุรี เป็นต้น เพราะปลาเป็ดนั้นต้องนำมาจากทะเล และต้องมีน้ำเยอะ เพราะเมื่อให้ปลาเป็ดจะทำให้น้ำเน่าเสีย จึงเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำที่บ่อย แต่เมื่อได้ลูกปลาไปจากที่ศูนย์แล้วปลากินอาหารเม็ด แน่นอน สามารถเลี้ยงได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยอีกต่อไป
ลักษณะภายนอกที่เด่นชัดของ ปลาช่อนแม่ลา
ปลาช่อนแม่ลาถือกำเนิดในลำน้ำแม่ลา อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ในเขตพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่น้ำนิ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารตามธรรมชาติ และมีปริมาณเยอะ จึงได้จับส่งไปถวาย ร.5 ต่อมาปี 2522 มีนักวิชาการประมงเข้าไปพิสูจน์ว่าทำไมถึงมีรสชาติที่ดีกว่า
โดยนำไปส่งตรวจเป็นงานทดลองวิทยาศาสตร์ออกมา และได้นำเนื้อปลาไปวิเคราะห์สารอาหาร ซึ่งพบความแตกต่างกับปลาช่อนทั่วไป โดยลักษณะภายนอกที่เด่นชัด คือ ครีบจะเป็นสีส้ม แต่จะเป็นสีส้มตอนจับได้ใหม่ๆ เท่านั้น และได้นำไปเลี้ยงที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อเพาะพันธุ์ออกมาแล้วครีบไม่เป็นสีส้ม แต่คุณสมบัติของเนื้อก็ยังเหมือนเดิม
จึงสรุปได้ว่าปลาช่อนแม่ลามีครีบสีส้ม เพราะสภาพแวดล้อมทางระบบนิเวศลำน้ำแม่ลาเป็นอ่างน้ำที่อยู่กลางหมู่บ้าน และเมื่อฝนตกจะชะล้างแร่ธาตุและสารอินทรีย์ต่างๆ ลงมาด้วย ทำให้เกิดพวกแพลงก์ตอน กุ้งหอย ปู หรือปลาตัวเล็กๆ ที่เป็นอาหาร ปลาช่อนจะอุดมสมบูรณ์มาก ผลที่ตามมาทำให้ปลาช่อนเข้ามาอยู่ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์
ทีมงานขอขอบคุณ คุณวินัย จั่นทับทิม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง ที่สละเวลาให้ความรู้แก่ทีมงาน และเกษตรกร หากเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะ เลี้ยงปลาช่อน ปลาช่อนแม่ลา สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด 035-704-171