“ปลานิล” เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพ เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว วันนี้นิตยสารสัตว์น้ำจะพามาทำความรู้จักกับ คุณทองอยู่ ไหวพริบ เกษตรกรดีเด่นด้านการจัดการฟาร์ม “ทองอยู่ฟาร์ม” มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2554 เลี้ยงปลานิลในกระชังลอยบนบ่อดิน
ขณะคุณทองอยู่ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และทำหน้าที่เป็นประมงอาสา ได้รับมอบพันธุ์ปลานิลจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสที่ไปตรวจราชการในพื้นที่อำเภอโนนสูง เพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อ ต่อมาจึงได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน
การเลี้ยงปลานิลบนกระชังในบ่อดินแทน
ในช่วงแรกของการเลี้ยงปลานิล คุณทองอยู่เล่าว่า ปลาโตช้า ตายง่าย ไม่ทนต่อสภาพอากาศ อีกทั้งไซส์ปลาไม่สม่ำเสมอ ทำให้แทบขาดทุนจากการเลี้ยง จนกระทั่งตนมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานการทำเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เห็นเทคนิคการทำเกษตรเชิงพัฒนา
ก็นำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้ในบ่อปลาของตน จากเดิมทีที่เลี้ยงในบ่อดินก็ปรับมาเลี้ยงปลาบนกระชังในบ่อแทน และค่อยๆ เพิ่มความหนาแน่นเข้าไป บวกกับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้วันนี้คุณทองอยู่ถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพการเลี้ยงปลานิล และยังจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงปลานิลในพื้นที่อีกด้วย
เทคนิคการจัดการฟาร์มของคุณทองอยู่ เริ่มต้นโดยการคัดเลือกสายพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง อัตราการรอดดี โดยตนได้ทดลองใช้ลูกปลามาหลากหลายบริษัท จนสุดท้ายมาจบที่ลูกปลาจาก “ป.เจริญฟาร์ม” ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพ และการบริการหลังการขาย ทำให้คุณทองอยู่เลือกใช้มาจวบจนทุกวันนี้ คุณทองอยู่จะสั่งซื้อลูกปลาขนาดใบมะขามมาอนุบาลในบ่อดิน อัตราหนาแน่น 3.5 หมื่นตัวต่อบ่อขนาด 2 งาน
“ผมบอกทุกคนในกลุ่มเลยว่าเราต้องอนุบาลลูกปลาเป็น ถ้าอนุบาลไม่เป็น ไปซื้อปลาเขา ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น เราจะได้กำไรน้อย เราจึงต้องดูแลจัดการเองตั้งแต่อนุบาล เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด” คุณทองอยู่กล่าว
สภาพพื้นที่เลี้ยงปลานิล
โดยอนุบาลนาน 3 เดือน จนปลามีขนาด 10 ตัว/กิโลกรัม แล้วจึงค่อยย้ายปลาเหล่านี้มาลงในกระชังเลี้ยง อัตราหนาแน่น 1,000 ตัว/กระชัง ขนาด 7×15 เมตร 1 ไร่ จะมี 2-3 กระชัง ซึ่งเทคนิคการเลี้ยงแบบนี้จะช่วยให้ปลาโตเร็ว และสามารถเลี้ยงแบบหนาแน่นได้ ที่สำคัญสามารถบริหารจัดการได้ง่าย ซึ่งที่บ่อจะวางระบบการให้อาหาร มีทั้งแบบหว่านมือ และใส่ถังออโต้ฟีด เพื่อช่วยลดการใช้แรงงานลงได้
อีกทั้งยังง่ายต่อการคำนวลอาหาร และปัญหาหลัง คือ การวิเคราะห์อัตราการให้อาหารในแต่ละวัน ซึ่งเกษตรกรบางรายยังไม่คุ้นเคยกับการให้อาหารระบบนี้
การให้อาหารปลานิล ของ บริษัท อินเทคค์ฟีด จำกัด แบรนด์ “ฟีช เฟิร์ส”
อีกทั้งเรื่องของอาหารก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากสายพันธุ์ปลา เพราะอาหารคือต้นทุนอันดับต้นๆ ของเกษตรกร “เรื่องอาหาร ผมไม่ยึดติดนะ ค่อนข้างเปิดกว้าง เจ้าไหนดีทดลองเอามาใช้ในบ่อ ผมไม่ได้คัดอาหารจากคุณภาพที่เซลล์มาพูด แต่ดูจากผลรวมของการจับปลา ว่าสุดท้ายแล้วเราเหลือกำไรเท่าไร อาหารบางเจ้าแพงกว่า แต่เหลือกำไรมากกว่า บางเจ้าทั้งถูก ทั้งเหลือกำไรเยอะ
ดังนั้นเรื่องอาหารผมคิดว่าทุกยี่ห้อดีหมด อยู่ที่เราจัดการบริหารของเรามากกว่า อย่างทุกวันนี้ผมใช้อาหาร ของ บริษัท อินเทคค์ฟีด จำกัด แบรนด์ “ฟีช เฟิร์ส” เพราะใช้แล้วมันตอบโจทย์กับปลาที่ผมเลี้ยงมากที่สุด และเหลือกำไรมากที่สุด
การบริหารจัดการบ่อปลานิล
นอกจากนี้การบริหารจัดการน้ำถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะเลี้ยงปลาในระบบหนาแน่น ดังนั้นคุณทองอยู่จะเน้นหมักจุลินทรีย์สาดลงบ่อเป็นประจำ เพื่อให้จุลินทรีย์เหล่านี้ไปควบคุมของเสียในบ่อเลี้ยง และช่วยคุมสภาพน้ำให้นิ่ง ค่า pH ไม่แกว่งมาก
“ผมพยายามรักษาน้ำมากที่สุด อย่างตอนนี้น้ำแล้ง หลายพื้นที่ไม่มีน้ำ ปกติบ่อปลาของเรามีการเปลี่ยนถ่ายน้ำระหว่างเลี้ยงดูเพื่อไม่ให้น้ำสะสมของเสียมากเกิน อีกทั้งถ้าปลาได้น้ำใหม่บ้างก็จะโตดี แต่เมื่อเจอภัยแล้ง น้ำไม่มีเปลี่ยนถ่าย เราก็ต้องใช้วิธีบำบัดน้ำ เปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นน้ำดี
ใช้จุลินทรีย์ผลไม้ที่หมักเอง+ปม.1
โดยใช้จุลินทรีย์ผลไม้ที่หมักเอง+ปม.1 และอีกหลายๆ ยี่ห้อ ที่ขายตามท้องตลาด เอามาบำบัดน้ำเพื่อใช้หมุนเวียนน้ำ รวมถึงการใช้เครื่องตีน้ำที่จะเปิดในช่วงเวลาแดดร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงนี้จะเปิดแทบ 24 ชม. เพราะน้ำน้อย โดยเครื่องตีน้ำนี้จะติดตั้งตัวควบคุมอัตโนมัติ เมื่อค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ เครื่องจะทำงานทันที และยังสามารถรายงานผลค่า D.O. ทางโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย
เมื่อคุณทองอยู่มีการเลี้ยงปลาได้ผลผลิตที่ดี ก็มีชาวบ้านบางส่วนหันมาเลี้ยงปลามากขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลานิลบ้านวังม่วง ส่งผลให้ในปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านวังม่วงมีสมาชิก จำนวน 63 คน เลี้ยงปลาในกระชังในบ่อดินจำนวน 446 กระชัง มีทั้งปลานิล และปลาทับทิม
เฉลี่ยแล้วเกษตรกร 1 ราย จะเลี้ยงปลานิลประมาณ 4 กระชังต่อพื้นที่ 1 ไร่ ใน 1 ปี เกษตรกรสามารถจับปลาได้ 2-3 รอบ และได้กำไรจากผลผลิตปลานิลถึง 20,000 บาท/กระชัง หรือ 240,000 บาท/รายปี
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ปลานิลสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปปลานิล
คุณทองอยู่ได้เผยว่า “การเลี้ยงในระบบบ่อดินนี้ปลาจะโตเร็ว ไม่มีกลิ่นโคลน ฟาร์มที่อยู่ในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลานิลบ้านวังม่วง ได้การรับรองมาตรฐานฟาร์มทุกฟาร์ม และมีบาร์โค๊ดประจำฟาร์ม ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นปลาจากบ่อไหน ต้องบอกว่าเราเน้นคุณภาพ ใส่ใจผู้บริโภค จะไม่มีการใส่สารเคมีเลย ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าซื้อปลาจากฟาร์มเราจะไม่มีสารตกค้างต่างๆ แน่นอน”
นอกจากขายปลาสดแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในด้านการแปรรูปปลานิล เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และรองรับปัญหาหากมีการผลิตปลานิลเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกษตรกรในกลุ่มช่วยกันทำจะมีปลาส้ม ปลาแดดเดียว โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้นจะจัดทำตามออเดอร์ที่สั่งมาเท่านั้น เพื่อความสดใหม่ จะไม่มีการทำเก็บไว้ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาเส้น ปลายอ ปลาส้ม ปลาร้า ปลาอบสมุนไพร ข้าวเกรียบจากเนื้อปลาปั้นขลิบ ลูกชิ้นปลา ปลาป่น ปลาเผาเกลือ ปลาลุยสวน เป็นต้น
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ เลี้ยงปลานิลในกระชังลอยบนบ่อดิน
สุดท้ายคุณทองอยู่ได้ฝากถึงพี่น้องเกษตรกรที่สนใจว่า “สำหรับใครที่อยากลองหันมาเลี้ยงปลานิล แนะนำว่าการเลี้ยงปลาต้องดูเรื่องน้ำเป็นหลัก การจัดการน้ำต้องดี ทุกบ่อต้องมีน้ำหมัก ทุกบ่อต้องมีเครื่องตีน้ำ และเราควรจะอนุบาลปลาให้เป็น ส่วนท่านใดที่สนใจอยากมาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถติดต่อเข้ามาได้ ผมเองไม่ปิดกั้น เพราะที่ฟาร์มเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้อยู่แล้ว ผมยินดีให้คำปรึกษาแนะนำ หรือท่านใดสนใจปลาสดจากบ่อ หรือสินค้าแปรรูป สามารถติดต่อเข้ามาได้ เพราะเรามีขายตลอดทั้งปี”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณทองอยู่ ไหวพริบ ที่อยู่ 20/1 บ้านวังม่วง ม.3 ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โทร.083-386-8696