เสี่ยแดง แทรกเตอร์ เลี้ยง กุ้งก้ามกราม ปน กุ้งขาว 40 กว่าบ่อ ป้องกันโรคขี้ขาว ด้วยน้ำหมักยาคูลท์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมากนิยมเลี้ยงกุ้งขาวร่วมกับ กุ้งก้ามกราม เป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวได้ประโยชน์ถึง 2 ทาง ประโยชน์ทางแรก คือ การลดต้นทุนค่าอาหาร เพราะกุ้งขาวกินอาหารด้านบน ส่วนกุ้งก้ามกรามกินอาหารที่ตกลงข้างล่าง และประโยชน์ที่สอง คือ การที่กุ้งก้ามกรามกินอาหารบนพื้นดินนั้นจะช่วยกำจัดของเสีย และซากกุ้งขาวที่ตาย เป็นการตัดเชื้อไม่ให้เกิดการสะสม ลดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคในกุ้ง

แม้สถานการณ์ตลาดกุ้งในไทยยังทรงตัว แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การที่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ส่งผลให้มีความต้องการบริโภคกุ้งมากขึ้นกว่าช่วงการล็อกดาวน์ประเทศ เกษตรกรเลี้ยงกุ้งจึงเริ่มที่จะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตจนเกือบเท่าเดิม การจัดการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวางแผนเพื่อการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

1.คุณธนชิต ทองแท่งใหญ่ เจ้าของบ่อกุ้ง 250 ไร่
1.คุณธนชิต ทองแท่งใหญ่ เจ้าของบ่อกุ้ง 250 ไร่

การเพาะเลี้ยง กุ้งก้ามกราม ปน กุ้งขาว

ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำ เดินทางมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง  ทั้งกุ้งก้ามกราม และ กุ้งขาว ที่ ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พบกับ คุณธนชิต ทองแท่งใหญ่ หรือ คุณแดง ผ่านประสบการณ์เลี้ยงกุ้งมากว่า 30 ปี ตั้งแต่สมัยเช่าที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปัจจุบันคุณแดงเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกับกุ้งขาว ในพื้นที่เกือบ 300 ไร่ โดยมีการแบ่งให้ลูกเขยดูแลไป 100 กว่าไร่ เนื่องจากสไตล์การเลี้ยงต่างกัน จึงแยกกันจัดการ การเลี้ยงของคุณแดงจะใช้วิธีเลี้ยงแบบดั้งเดิม ใช้มาตั้งแต่อดีตที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งสามารถทำกำไรต่อบ่อได้หลักแสนทุกบ่อ

สำหรับบ่อเลี้ยงจะไม่เลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ เนื่องจากยากต่อการดูแล และการทำกำไรก็ทำได้ยากกว่าบ่อขนาดเล็ก อย่างบ่อใหญ่จะทำให้ได้ผลผลิต 2 ตัน ค่อนข้างยาก แต่บ่อเล็กได้ผลผลิต 1 ตันกว่าทุกรอบ สำหรับบ่อปัจจุบันมีขนาด 3-4 ไร่ ลึก 1.5-2 เมตร จำนวน 40 กว่าบ่อ

ความสำเร็จในขั้นต้น เริ่มจากลูกกุ้ง ต้องจัดหาลูกกุ้งที่แข็งแรง สุขภาพดี ไม่ติดเชื้อโรค และจะต้องเป็นฟาร์มที่ได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมประมง เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพ และราคาขายกุ้งเนื้อจะได้ราคาดี สำหรับลูกกุ้ง คุณแดงเลือกใช้จาก “สำรวยฟาร์ม” ซึ่งใช้ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี เนื่องจากลูกกุ้งเมื่อนำมาอนุบาลต่อ ติดดี โตไว  และอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การเตรียมบ่อดี จะง่ายต่อการจัดการเลี้ยง โดยเริ่มทำสีน้ำ การจัดการอาหาร การดูแลสุขภาพกุ้ง และการควบคุมคุณภาพน้ำที่อยู่ในบ่อเลี้ยง

2.บ่อกุ้ง
2.บ่อกุ้ง

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

การเตรียมบ่อ จะมีการดันเลนเพื่อเคลียร์ของเสีย สิ่งตกค้างใต้บ่อ ปีละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นจะทำการตากบ่อให้แห้งสนิท  แล้วหว่านปูนเปลือกหอย  ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพดิน และสภาพน้ำ ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้ง  จะใช้ปูนเปลือกหอย 15 ลูกต่อบ่อ แล้วจึงลงน้ำจืดที่สูบมาจากคลองชลประทานรอบๆ ผสมน้ำเค็มลงไปเพียงถังเดียว ก่อนลงกุ้ง 1 วัน ต้องทำการใส่ตัวจับตะกอนเพื่อทำให้น้ำใส เนื่องจากกุ้งก้ามกรามเป็นตัวการทำให้น้ำขุ่น ถ้าหากลงกุ้งขาวในขณะที่น้ำขุ่น กุ้งขาวจะไม่ติด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การจะเลี้ยงกุ้งให้ได้คุณภาพ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ลูกกุ้ง คุณแดงเลือกใช้ลูกกุ้งของ “สำรวยฟาร์ม”  ตั้งอยู่ที่ ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ใช้ต่อเนื่องมากว่า 8 ปี คุณแดงกล่าวว่า “ใช้ลูกกุ้งของสำรวยฟาร์มมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ลูกกุ้งติดดี โตไว ไม่มีโรคติดมาแน่นอน เลี้ยงทำไซซ์ใหญ่ได้สบาย ขายอยู่ที่ไซซ์ 10 ตัวต่อกิโลกรัม ได้ราคากิโลกรัมละ 200 บาท ถือว่าทำกำไรได้ดีมาก”

ส่วนหนึ่งที่คุณแดงได้ราคาดีก็มาจากการที่ขนส่งไปขายกุ้งด้วยตัวเองถึงตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร เพราะหากให้คนกลางมาตีราคาขายที่ปากบ่อ อาจจะถูกกดราคาได้ และบวกกับผลผลิตกุ้งที่ได้มีคุณภาพ ขนาดใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้สร้างกำไรได้เป็นอย่างดี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบางส่วนนิยมเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกับกุ้งขาว ด้วยเหตุผลที่ว่าได้ผลผลิตและกำไรที่ดีกว่าการเลี้ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขั้นตอนการเลี้ยงก็ไม่ได้ต่างจากปกติมากนัก ต่างเพียงระยะเวลาการลงกุ้งในบ่อ จะนำกุ้งพีมาอนุบาลบ่อละ 250,000-300,000 ตัว ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง จะได้ลูกกุ้ง 1.5 ตัน นำกุ้งก้ามกราม หลังจากที่เข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมบ่อและเตรียมน้ำเรียบร้อย จะนำกุ้งก้ามกรามมาใส่ก่อน เนื่องจากกุ้งก้ามกรามเจริญเติบโตช้ากว่ากุ้งขาว หลังจากลงกุ้งก้ามกราม 1 เดือน จะทำการเติมน้ำเค็มลงในบ่อแล้วจึงนำกุ้งขาวลง และเลี้ยงรวมกันในบ่อต่ออีกประมาณ 2 เดือน จึงจับขายได้

การเลี้ยงกุ้ง เรื่องการเตรียมน้ำก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ถ้าอยากได้น้ำที่คุณภาพดี ต้องหมั่นกำจัดของเสียใต้บ่อด้วยจุลินทรีย์  ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีตามธรรมชาติในบ่อกุ้งนั้นไม่เพียงพอสำหรับบ่อที่เลี้ยงหนาแน่น จึงมีการใส่ลูกโยน หรือ EM Ball ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มสังเคราะห์แสง กลุ่มแลคติก และ ยีสต์ มีคุณสมบัติช่วยบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่นเหม็นของน้ำ กลิ่นของเสีย กลิ่นจากก๊าซต่างๆในน้ำและก้นบ่อ ช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และช่วยคงสมดุลค่า pH

สำหรับ EM Ball มีลักษณะเป็นลูกบอลขนาดเท่ากำปั้น พร้อมใช้งานทันที ใส่ครั้งละ 60 ลูก/บ่อ ตลอดระยะเวลาในการเลี้ยงจะใส่ทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ตอนกุ้งลงบ่อได้ 1 เดือนกว่า ครั้งที่ 2 ใส่ตอนสังเกตเห็นว่ากุ้งกินอาหารเยอะขึ้น EM Ball ไม่มีสารเคมีใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต  การตรวจเช็คค่าน้ำจะมีทีมงานเข้ามาตรวจเช็คบ้างเป็นระยะ แต่จะมีคนงานคอยดูแลประจำบ่อ คอยสังเกตสีน้ำ และสีของกุ้ง อย่างสม่ำเสมอ

3.ลูกกุ้ง
3.ลูกกุ้ง

เทคนิคป้องกันโรคขี้ขาว ด้วย ยาคูลท์ และ น้ำตาลทราย

โรคขี้ขาวเป็นหนึ่งในโรคที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวพบเจอบ่อย โดยทั่วไปมักจะพบกุ้งป่วยเป็นโรคขี้ขาวในบ่อที่ปล่อยกุ้งค่อนข้างหนาแน่น น้ำขุ่น หนืด เป็นบ่อระบบปิดหรือกึ่งปิด ไม่มีการถ่ายเทน้ำ หรือบำบัดคุณภาพน้ำ ที่ดีพอ สาเหตุหลักของโรคมาจากการอักเสบของลำไส้ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การดูดซึมอาหารในลำไส้ไม่ดี ส่งผลให้กุ้งผอม โตช้า และ ทยอยตาย เนื่องจากอ่อนแอ กุ้งบางส่วนอาจทยอยตายในระหว่างลอกคราบ เนื่องจากกุ้งอ่อนแอจากการที่ไม่ได้รับสารอาหารจากการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณแดงเองก็เคยประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันคุณแดงมีสูตรน้ำหมักสำหรับการป้องกันโรคขี้ขาว คือ นำยาคูลท์  6 ขวด ผสมกับน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม และ น้ำเปล่า 15 ลิตร หมักทิ้งไว้เพียง 1 คืน เท่านั้น แล้วนำไปใส่ในบ่อให้กุ้งขาวกิน ช่วงเวลาที่เหมาะกับการใช้น้ำหมักต้องสังเกตจากการกินอาหารของกุ้ง หากช่วงนี้กุ้งเริ่มกินอาหารเยอะผิดปกติ ก็จะใส่น้ำหมักให้กุ้งกินทันที

4.คุณแดง (ซ้าย) และ คุณสำรวย
4.คุณแดง (ซ้าย) และ คุณสำรวย

ปัญหาและอุปสรรคในบ่อกุ้ง

การยกยอขึ้นมาเช็คเป็นประจำทุกวันก็เป็นอีกเรื่องที่คุณแดงทำ นอกจากเป็นการเช็คขนาด สีของกุ้งแล้ว หากยอที่ยกมามีลูกปลาอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นจะต้องกำจัด เนื่องจากปลาที่พบส่วนมาก คือ ปลาแป้น ซึ่งปลาแป้นจะกินลูกกุ้งขนาดเล็กเป็นอาหาร วิธีการจัดการโดยไม่ให้กระทบกับกุ้งในบ่อเลี้ยง คือ การใช้กากชา ในกากชา หรือเมล็ดกากชา มีส่วนประกอบของสารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ หรือสัตว์เลือดเย็นทั่วไป โดยสารซาโปนินเป็นสารที่สลายตัวได้ง่าย พิษจะหมดภายใน 7-15 วัน

หลังจากถูกนำไปแช่น้ำ จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การทดสอบความเป็นพิษของซาโปนินในกากชา ปรากฏว่า กุ้งก้ามกรามรอดตาย 100 % แต่ปลาตะเพียนขาว และ ปลาบู่ทราย ตายทั้งหมด 100 % และในกุ้งไม่มีสารพิษตกค้างเหลืออยู่เลย สรุปได้ว่ากากชาใช้กำจัดปลาในบ่อเลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี

5.กุ้งก้ามกรามเพศผู้ จากลูกกุ้งสำรวยฟาร์ม
5.กุ้งก้ามกรามเพศผู้ จากลูกกุ้งสำรวยฟาร์ม

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุ้งก้ามกราม และ กุ้งขาว

คุณแดงกล่าวว่า “เคยเลี้ยงบ่อใหญ่ 10 ไร่ กว่าจะทำให้ได้ 2 ตัน ต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก แต่ตอนนี้มาทำบ่อเล็ก 3-4 ไร่ ได้ 1 ตันกว่าทุกบ่อ กำไรประมาณบ่อละแสนทุกบ่อ ทำกำไรได้มากกว่าลงทุนบ่อใหญ่” ปัจจุบันผลผลิตต่อบ่อ ได้กุ้งขาว 600-700 กิโลกรัม ไซซ์อยู่ที่ 50-100 กรัม ส่วนกุ้งก้ามกราม 300-400 กิโลกรัม ไซซ์ที่ 10 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นไซซ์ใหญ่ ทำราคาได้ดี เป็นที่ต้องการของตลาด

ขอขอบคุณเกษตรกร คุณธนชิต ทองแท่งใหญ่ 125 ม.1 ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 088-455-0311 (ป๋าแดง)

เกษตรกรที่สนใจลูกกุ้งก้ามกรามคุณภาพ หรือต้องการคำแนะนำติดต่อ คุณสำรวย บุญมี “สำรวยฟาร์ม” 80 หมู่ 3 ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โทร.081-857-8771 เพจ Facebook : สำรวยฟาร์มกุ้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 388