การใช้ระบบน้ำหมุนเวียนมีข้อดีหลายประการ อาทิ สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ เนื่องจากเก็บน้ำใช้เพียงครั้งเดียวสำหรับทั้งบ่อเลี้ยงและบ่อพัก จากนั้นจะใช้สารไตรคลอร์ฟอนหรือไดคลอร์วอสเพื่อกำจัดสิ่งมีชีวิตตัวพาหะ โดยไม่ต้องใช้คลอรีนหรือด่างทับทิม นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีการระบายน้ำออกจากฟาร์ม ทำให้แหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงดีขึ้น พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาการเกิดโรคในฟาร์มด้วย
ระบบน้ำหมุนเวียนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงกุ้ง
คุณยุทธนา รัตโนหรือ ไก่ดอนเกลี้ยง อุปนายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย แบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งขาวแบบยั่งยืนจากฟาร์มของท่าน ซึ่งได้นำระบบรีไซเคิลหรือน้ำหมุนเวียนมาใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปี ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งเนื้อของฟาร์มดีขึ้นทุกปี และไม่พบปัญหากุ้งเป็นโรคตัวแดงดวงขาว
ถ้าถามว่าระบบรีไซเคิลหรือน้ำหมุนเวียนตอบโจทย์การเลี้ยงกุ้งขาวแบบยั่งยืนอย่างไร คุณยุทธนาได้ให้ข้อมูลไว้ว่า อันดับแรกคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีการระบายน้ำออกจากฟาร์ม ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง แหล่งน้ำจึงมีคุณภาพดีขึ้น ต่อมาคือการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค เพราะน้ำที่ใช้เป็นน้ำจากภายในฟาร์มเท่านั้น ไม่ได้ดูดน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสิ่งมีชีวิตตัวพาหะ ส่งผลให้ฟาร์มมีอัตราการเกิดโรคน้อยที่สุด และสามารถเป็นแนวทางการเพิ่มผลผลิต เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตกุ้งเนื้อของฟาร์มดีขึ้นทุกปี สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ระบบน้ำหมุนเวียนยังช่วย “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส” ในช่วงฤดูฝน ซึ่งถือเป็นช่วงที่เลี้ยงกุ้งยากที่สุด มีโอกาสเกิดโรคสูง แต่ด้วยระบบดังกล่าว จึงสามารถเลี้ยงกุ้งในช่วงเวลานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องผ่านการพาเชียลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และยังให้ผลผลิตได้ดีเยี่ยมด้วยข้อดีเหล่านี้ จึงเห็นได้ว่าระบบน้ำหมุนเวียนเป็นระบบการเลี้ยงกุ้งที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพการผลิต และต้นทุนการผลิต
“ ปลายปีตั้งแต่เริ่มฝนมา ทุกคนจะบอกว่าเลี้ยงไม่ได้ ทุกคนจะบอกว่าเลี้ยงยาก ทุกคนจะบอกว่าโรคเยอะ แต่สำหรับฟาร์มของเราเอง ซึ่งฟาร์มของผมเองมีทั้งหมด 4 ฟาร์ม เราลงปลายปีทั้งหมดเลย ก่อนพ.ย. ก่อนฝนมา เราลงกุ้งตั้งแต่เดือน ก.ย., ต.ค., พ.ย., ธ.ค. เราลงทุกฟาร์มเหมือนกันหมด 4 ฟาร์ม เรามีการทดลองเมื่อปีที่ผ่านมาก่อนปีที่แล้ว ผมจับบ่อหนึ่งได้ 20 ตัน ไซส์ 30 ตัว/กก. แต่เราไม่พาเชียลเลย เราทำการทดลอง 30 ตัว/กก.ได้ 20 ตัน โดยไม่ผ่านพาเชียล ผ่านฤดูฝนมา ผมทดลอง 2 บ่อ ปรากฏว่าเราผ่าน 100%
พอมาปีที่ผ่านมาผมลงทั้งหมด 4 ฟาร์ม ถามว่าเรามั่นใจได้ยังไงว่าเราจะรอด เรามั่นใจได้ยังไงว่าสิ่งที่เราลงไปมันจะตอบสนองเราได้เป็นอย่างดี ปรากฏว่าเราตามงานมาโดยตลอด เชื่อไหมครับกุ้งที่เลี้ยงเขาไม่ชอบตะกอน ในบ่อเลี้ยงถ้าไม่มีตะกอนจะลดเรื่องการตายตัวแดงดวงขาวได้เป็นอย่างมาก ลดเรื่องเชื้อ EMS ได้เป็นอย่างมาก แล้วก็ลดได้หลายๆ เชื้อ ถามว่ามันคืออะไร ในฟาร์มผมตอนนี้กุ้งกินอาหารประมาณ 700 กก. ตอนนี้เหลือฟาร์มเดียวที่เป็นกุ้งใหญ่ เราพาเชียลไปบางส่วนแล้ว บ่อละ 10 ตัน หรือ 10 กว่าตัน ท่านลองคิดดูกินอาหารวันละ 700 กก. ในบ่อเรา หรือกิน 400 กก. หรือ 300 กก. ก็แล้วแต่กุ้งกินอาหารเขาจะดูดซึมสารอาหารไปที่ขับถ่ายออกมาเป็นกากใย กากใยตัวนี้เมื่อลงไปอยู่ในบ่อเราเกิดเชื้อ เพราะฉะนั้นเชื้ออยู่ในบ่อเรา เชื้ออยู่ในบ่อเลี้ยง อาหารที่เราให้ท่านลองตั้งดูครับ ถ้ากินวันละ 500 กก. ก็ครึ่งตันครับ ครึ่งตันวันเดียวลงไปอยู่ในบ่อเราหมด ถ้าเราไม่เอาออกจะเกิดอะไรขึ้น วันแรกอาจจะผ่านไปได้ วันที่ 2 ผ่านไปได้ ถ้าเป็นเดือนอะไรจะเกิดขึ้น นี่คือเหตุผลทำไมจะต้องเป็นระบบน้ำหมุนเวียน ของเราใช้ระบบรีไซเคิลน้ำหมุนเวียนทุกฟาร์ม”คุณยุทธนา ยืนยันผลการเลี้ยงด้วยระบบรีไซเคิลน้ำว่าทำแล้วได้ผลจริงทุกฟาร์ม
ระบบน้ำหมุนเวียนเป็นกระบวนการจัดการของเสียและสิ่งปนเปื้อนที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการเลี้ยงกุ้ง โดยมีการกำจัดขี้กุ้ง ตะกอน และเชื้อโรคที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารออกจากบ่อเลี้ยงอย่างต่อเนื่องหากปล่อยให้ของเสียเหล่านี้ตกค้างและสะสมในบ่อ จะนำไปสู่การเน่าเสียและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เปรียบได้กับการทิ้งข้าวในจานแกงไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ข้าวย่อมบูดเน่าและมีเชื้อโรคแพร่กระจาย ในทำนองเดียวกัน เมื่อกุ้งกินอาหารและถ่ายขี้ออกมา หากยังไม่มีการเน่าเสีย เชื้อโรคย่อมไม่แพร่กระจายในช่วงแรก
อย่างไรก็ตาม การทิ้งให้ขี้กุ้ง ตะกอน และเศษอาหารสะสมในบ่อเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการย่อยสลายและเน่าเสีย เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่รุนแรง เช่นเดียวกับการปล่อยให้ข้าวในจานเน่าบูด ย่อมนำมาซึ่งเชื้อโรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วด้วยเหตุนี้ การกำจัดของเสียเหล่านี้ออกจากบ่ออย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมและลดปริมาณเชื้อโรคในบ่อเลี้ยงกุ้ง เปรียบเสมือนการเก็บกวาดข้าวในจานแกงออกทันที ก่อนที่จะเน่าเสียและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคการบริหารจัดการด้วยระบบน้ำหมุนเวียนนี้ จะช่วยควบคุมปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับกุ้งในการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
คุณยุทธนา ยังบอกต่อว่าในสภาวะที่การเลี้ยงกุ้งกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายมากมาย ทั้งด้านโรคระบาด ราคาวัตถุดิบผันผวน และผลกระทบจากสภาพแวดล้อม การนำระบบน้ำหมุนเวียนหรือรีไซเคิลมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนหัวใจหลักของระบบนี้คือการกำจัดของเสียอย่างต่อเนื่องทุก 24 ชั่วโมงออกจากบ่อเลี้ยงกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นขี้กุ้ง ตะกอน หรือเศษอาหารที่เหลือ โดยระบายออกผ่านท่อที่วางตรงกลางบ่อ พร้อมกับการหมุนเวียนน้ำเข้าจากด้านข้างเพื่อผลักดันน้ำเสียออกตลอดเวลา จากนั้นจะนำน้ำเสียเหล่านี้ไปรวมในบ่อพักน้ำ ซึ่งจะมีปลาช่วยกินเศษอาหารและของเสียเหล่านั้น
นอกจากนี้ยังสามารถเสริมด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อช่วยย่อยสลายของเสียได้อีกด้วยความสำเร็จของระบบนี้พิสูจน์ได้จากผลผลิตกุ้งของฟาร์มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน โดยในปีที่ผ่านมาถึงแม้ราคากุ้งจะตกต่ำ แต่ยังสามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านระบบน้ำหมุนเวียน ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ได้มากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตกลับลดลง
“ วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นผมจะถามทุกท่านว่าสิ่งที่เราเลี้ยงเราเลี้ยงเพิ่มได้หรือยัง และได้ดีแค่ไหน วันนี้ผมพูดเลยถ้าจะลดต้นทุน ควรเลี้ยงกุ้งให้ได้ก่อน ถ้าลดต้นทุนก่อนแต่ไม่ถูกต้อง การที่เราจะลดต้นทุนได้ต้องเลี้ยงกุ้งให้ได้ก่อน วันนี้ถ้าเลี้ยงกุ้งไม่ได้แล้วลดต้นทุน นั่นคือการเพิ่มภาระ ดังนั้น โจทย์เลี้ยงกุ้งให้ได้ก่อนคือสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ เราเป็นบวกมาโดยตลอด ผมพยายามบอกเสมอว่าในบางสิ่งและบางอย่างเราคิดไกลเกินไป คิดไปมองว่าเชื้อ ทำลายเชื้ออย่างเดียว เมื่อทำลายเชื้อต้องจ่ายเงินมหาศาลก็ไม่รอด วันนี้เราทำลายมันทุกอย่าง แต่เราไม่เคยรอด ทำไมเราถึงได้ทรุดลงไปเรื่อย ผมไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อ แต่ใช้วิธีการถ่ายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง คือ ระบบรีไซเคิล น้ำหมุนเวียน ท่อ 10 นิ้ว ตั้งคู่ กางบ่อออก เข้า 2 ท่อ ออกก็ 2 ท่อ แต่ถ้าน้ำดีเราใช้ท่อเดียวพอ นี่คือการเข้า-ออกตลอด 24 ชั่วโมง และปั๊มก็ทำงานไป สิ่งที่เราได้คือออกซิเจนจากในบ่อที่ไม่มีกุ้ง จะได้เท่ากับเครื่องตีน้ำ 4 ตัว เพราะฉะนั้นเครื่องตีน้ำไม่ใช่เยอะผมพยายามพูดเสมอว่าเราจะไม่ค่อยเอาอดีตมาพูด เราอยู่กับปัจจุบัน เราอยู่กับความเป็นจริง อดีตที่ผ่านมาสวยหรูผมไม่เถียง แต่ขณะนี้เราอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันดีหรือไม่ ถ้าปัจจุบันไม่ดีต้องคิดหาวิธี ”คุณยุทธนา ชี้ชัดถึงความสำคัญของการเลี้ยงกุ้งที่ได้คุณภาพเป็นอันดับแรก
พลายวาส โมเดล เลี้ยงกุ้ง 3 บ่อ 90 ตันแถมหอยแครง 38ตัว/กก.
ทั้งนี้ คุณยุทธนา ยังยกตัวอย่าง การเลี้ยงกุ้งที่ “แปลงพลายวาส” มาเป็นอีกหนึ่งโมเดล ให้ได้เป็นแนวทางกับเกษตรกร เป็นตัวอย่างความสำเร็จ คือ ฟาร์มพลายวาสที่เคยมีคนเตือนไม่ให้ลงทุนเลี้ยงกุ้งเนื่องจากไม่มีใครประสบความสำเร็จมาก่อน แต่ด้วยการใช้ระบบของคุณยุทธนา ทำให้ฟาร์มฟาร์มพลายวาส จับกุ้งได้มากกว่า 90 ตันจากการเลี้ยง 3 บ่อเท่านั้น และยังเลี้ยงหอยแครงจนได้กำไรหลักล้านบาทอีกด้วย
การเลี้ยงกุ้งแบบปิดที่ใช้ระบบรีไซเคิลน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งไปยังบ่ออื่น แล้วนำน้ำใสกลับมาใช้ใหม่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ช่วยควบคุมเชื้อโรคและประหยัดต้นทุนได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งน้ำจากภายนอกหรือใช้สารเคมี แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังสามารถนำน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งไปเลี้ยง“หอยแครง”ได้อีกด้วย โดยหอยแครงจะกรองกินแพลงก์ตอนพืชและสารอาหารที่มาจากขี้และเศษอาหารของกุ้ง ทำให้น้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งกลายเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าสำหรับหอยแครงด้วยวิธีการเลี้ยงแบบผสมผสานนี้ จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหอยแครงจะเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากกุ้ง ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากกุ้งอย่างเดียว และยังเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการบริหารจัดการฟาร์มกุ้งขาวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้ทำลายแหล่งน้ำ แต่กลับหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากของเสียต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมและลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นจุดแข็งในการแข่งขันกับต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
“ สิ่งที่สำคัญวันนี้หอยแครงที่เลี้ยงในทะเล สามารถจับได้ในระยะเวลาประมาณ 12 เดือน เขาต้องจับ คัดไซส์อยู่ประมาณไม่เกิน 60 ตัว/กก. แต่ของเราจับได้ไม่ต่ำกว่า 38-40 ตัว/กก. เราสามารถเป็นผู้กำหนดราคาขายได้ เพราะว่าเราจับขึ้นตามออเดอร์ วันนี้ในขณะที่ขึ้นขาย สมมติเราตกลงวันนี้จะขายราคา 180 บ./กก. แต่วันพรุ่งนี้เราต้องการขาย 190 บ./กก.เราจะบอกปิดการขายเลย ราคาจะขึ้นทันที เขาจะบวกให้เลย 10 บาท เพราะว่าออเดอร์เขามา เขาจะไม่สามารถไปเอาหอยที่ไหนมาทดแทนได้ นอกจากหอยในฟาร์ม หอยที่จะโตได้ขนาดนี้ใช้เวลาประมาณ 16 เดือน จริงๆ 12 เดือน ขายได้แล้วนะครับ แต่เขาเรียกกันว่าถ้าไม่มีเงินก็เก็บตัวใหญ่เอาไปขายก่อน ตัวเล็กเราก็เลี้ยงต่อไว้ขายวันหน้า และที่สำคัญบทบาทหน้าที่ของหอยแครงคือการไปกำจัดหน้าดินให้สะอาด กำจัดแพลงก์ตอนทำให้น้ำใส เอาน้ำใสมาเลี้ยงกุ้งต่อ นี่คือบทบาทของหอยแครง และบทบาทของหอยแครงอีกอย่าง เป็นเหมือนกับเครื่องกรองน้ำอย่างดีและสร้างมูลค่าเพิ่ม ลงทุนแสนได้ล้าน ไม่ใช่ลงทุนล้านได้แสน ต่างกันเยอะ ทำไมผมต้องมาเปิดเผยตรงนี้ เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่าพี่น้องคนเลี้ยงกุ้งเราหายไปเรื่อย ประกาศขายฟาร์มเราก็หดหู่ใจ ทำอย่างไรพี่น้องเราถึงจะกลับขึ้นมาได้ วิธีการไหนที่ดีมาบอกต่อ”
แนวคิดเลี้ยงกุ้งได้หอย มุ่งสู่ความยั่งยืน
วันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงกุ้งอย่าง คุณยุทธนาระบุว่า ไม่ต้องกลัวความเสี่ยงหากปรับความคิดได้ถูกทาง หากระบบการเลี้ยงดีอยู่แล้วก็เดินหน้าต่อ แต่หากมีปัญหาให้ปรับแนวคิดใหม่ โดยความคิดนั้นขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเราเอง และยืนยันว่า สามารถช่วยเหลือด้วยการวางระบบให้ แต่มีข้อแม้ห้ามจ้างท่านไปช่วยงานเลี้ยงกุ้ง หรือซื้อของเคมีภัณฑ์ต่างๆ เพราะมีเป้าหมายเพื่อให้การพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยแนวคิด “เลี้ยงกุ้งได้หอย” ที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
“ วันนี้สิ่งที่เราค้นพบและได้มาใช้เวลาหลายปี ไม่ใช่บอกว่าวันนี้ผมเดินมาแบบสวยหรู ไม่ใช่ครับ เราก็มีลุ่มๆ ดอนๆ ผมเลี้ยงกุ้งมาเกือบ 30 ปี ยังภูมิใจ ระบบนี้มาถูกที่ ถูกเวลาตั้งแต่สมัยโควิด สมัยEMS มาจนถึงปัจจุบันนี้ตัวแดงเยอะมาก เยอะกว่าผิดปกติ และก็โรคอุบัติใหม่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเชื้อก็พัฒนามาโดยตลอด เราในฐานะที่เป็นคนเลี้ยง เราต้องพัฒนาขึ้นไป เราบอกว่าเราจะเลี้ยงอยู่กับที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าเราใช้พวกเทคโนโลยีมากจนเกินไป นั่นคือต้องจ่ายเบี้ยมหาศาลก็ไม่เชิง แต่เราสามารถใช้กระบวนการจัดการที่เทียบเคียงได้ เราสามารถดึงเอาธรรมชาติที่มีอยู่มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เขาเรียกว่าธรรมชาติเกื้อกูลผมขอโน้มนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ท่านดำรัสไว้ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหมือนไม้ค้ำ 1 อัน ถ้าตระกูลพืชอันนี้มีอันเป็นไปอันนี้ล่มแน่นอน แต่ตราบใดก็แล้วแต่เราปลูกเยอะ มีไม้ค้ำหลายอัน ต่อให้ไม้ค้ำ 1 อัน มีปัญหา อีกหลายอันก็จะช่วยกันค้ำ นี่คือ ผมโน้มนำคำสอนเอามาปฏิบัติ ถึงได้เกิดในเรื่องของหอยบำบัด เมื่อก่อนเราใช้หอยพังบำบัด แต่หอยพังบำบัดมันขายหอยไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนจากหอยพังมาเป็นหอยแครง หอยแครงลงทุนยังไงก็ไม่ขาดทุน”
แนวทางนี้ไม่ใช่แค่นวัตกรรมใหม่ แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่อย่างแท้จริง ด้วยการรีไซเคิลน้ำเสียจากกุ้งขาวมาเลี้ยงหอยแครงแทนการทิ้ง ทำให้ได้รายได้เสริม ซึ่งหากระบบนี้เสถียรและไร้ความเสี่ยง คุณยุทธนาเชื่อว่าสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้ลงทุนด้วยโดยมั่นใจว่า “เลี้ยงกุ้งได้หอย” จะเป็นคอนเซ็ปต์ยั่งยืนและส่งผ่านสู่คนรุ่นต่อไปได้ ตอบโจทย์ความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงกุ้งได้อย่างแท้จริง
ทางออกกับสถานการณ์วิกฤติในยุคปัจจุบัน
คุณยุทธนา ยังมองไปถึงการเลี้ยงกุ้งในสถานการณ์วิกฤตและแนวทางในการปรับตัวและหาทางออกของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากและวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การเลี้ยงกุ้งมีความยากลำบากมากขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวและหาทางออกใหม่ๆการปรับตัวจากระบบเดิม โดยลดต้นทุนและใช้ระบบการจัดการใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบรีไซเคิลน้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้อาจมีกำไรน้อยลงแต่ก็สามารถเลี้ยงต่อไปได้ และมีความยากน้อยกว่าระบบเดิม
ทางออกสำคัญคือการทดลองระบบใหม่ล่วงหน้า เพื่อประเมินความเป็นไปได้ โดยไม่คำนึงถึงกำไรหรือขาดทุนในช่วงแรก แต่มุ่งเน้นทดสอบและหาวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการนำวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบนอกจากนี้ การรวมกลุ่มของเกษตรกร แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมกันหาสาเหตุและแนวทางแก้ไข จะช่วยให้สามารถเผชิญปัญหาได้ดีขึ้น เนื่องจากจะทราบข้อมูลจากหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้น
สิ่งสำคัญคือการเลือกสายพันธุ์กุ้ง
การเลือกสายพันธุ์กุ้งที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องเลือกสายพันธุ์ที่แข็งแรง ทนต่อโรคระบาดในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงและสามารถให้ผลผลิตที่คุ้มค่า สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการเลี้ยงกุ้งได้มากขึ้น ในขณะที่การเลี้ยงกุ้งกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก แต่ก็ยังมีทางออกจากการปรับตัว ทดลองหาวิธีการใหม่ และร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
“ ถ้าท่านบอกว่าเลี้ยงกุ้งบ่อละ 15 ตัน 100 วัน ผมจะเลี้ยงกุ้ง 30 วัน ที่ 150 วัน ถ้าท่านเลี้ยงกุ้ง 15 ตัน 100 วัน ท่านจะเลี้ยงกุ้งได้ 30 ตัน ท่านต้องไปนับ 1 ใหม่มาอีก 100 วัน เท่ากับ 200 วัน แต่ผมเลี้ยง จาก 120 วัน ไปอีก 30 วัน ผมได้อีก 15 ตัน ผมเอาตรงนี้ครับ ลดต้นทุนได้ดีกว่า อันนี้คือความคิด เพราะฉะนั้นถ้าเราทำระบบได้ดี เราดึงศักยภาพที่เรามีอยู่ และสามารถทดลองได้ว่าระบบนี้มันดีจริงหรือไม่ อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ในค่าของน้ำ ผมใช้คำว่า ถ้าเป็นสนิมเหล็กให้ยึดถือ pH เป็นหลัก ถ้าบ่อไหนที่มีสนิมเหล็ก ค่า pH ต่ำ กุ้งลอกคราบติดปลายทางแล้วตาย pH ห้ามตก จะต้องอยู่ที่ประมาณ 8 หรือ 7.7 เกินนี้ดี สำหรับบ่อที่เป็นสนิมเหล็ก ถ้าต่ำกว่านี้รับรองลอกคราบติดไปแล้วตายหมด แล้วก็ในระหว่างเลี้ยง ผมเชื่อทุกคนตรวจ ผมก็มีห้องแลปเอง เราก็ตรวจ แต่ผมสั่งผู้จัดการผมทุกคน แลปมีไว้เพื่อรู้ ถ้าใครตามแลปทั้งหมดกุ้งตายก่อนครับ เพราะฉะนั้นถ้ากุ้งแข็งแรงดี กินอาหารดี ก็เดินต่อไป ไม่ต้องไปทำอะไร นี่คือหลักการของผม
สายพันธุ์เป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จ สายพันธุ์เป็นตัวกำหนดความยากและง่าย สายพันธุ์เป็นตัวบอกกับเราว่ากำไรหรือขาดทุน อะไรก็แล้วแต่ถ้าตระกูลนี้ไม่ดีทั้งตระกูล ไม่ว่าเปลี่ยนฟาร์มนี้ทำดีที่สุด ตระกูลนี้เหมือนกันหมด ความอ่อนแอเหมือนกัน เพราะยีนเจเนติกอันเดียวกัน แต่ถ้าตระกูลนี้แข็งแรงๆ ทั้งตระกูล นี่คือการเลือกสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เหมาะสมในประเทศไทยจะต้องรองรับ EMS ให้แข็งแรง รองรับขี้ขาวได้ ถ้าเราได้ 2 ตัวนี้มา โจทย์เราง่ายขึ้น ตัวแดงไปบริหารการจัดการเพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านเลือกสายพันธุ์ ท่านจดเลยครับ ท่านซื้อสายพันธุ์อะไรมา ท่านบันทึกเลย สายพันธุ์ไหนรอดมากที่สุดใช้สายพันธุ์นั้น วันนี้ไม่ว่าสายพันธุ์โตเร็ว โตช้า สุดท้ายคือชี้วัดกันที่กำไร ตรงนี้สำคัญที่สุด ”คุณยุทธนา บอกถึงความสำคัญของสายพันธุ์ ที่เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จ
ความสำเร็จที่มีกำไรอย่างยั่งยืนนั้นอยู่ที่ตัวเรา
คุณยุทธนา ทิ้งท้ายว่า “ความสำเร็จเกิดขึ้นที่ตัวเราไม่มีใครช่วยได้ ตราบใดก็แล้วแต่ถ้าทำดีเราทำได้เดินต่อ หากทำแล้วมันไปไม่ได้ กลับมาคิดหาผู้รู้ ปรึกษา แก้ไข อย่าตั้งโจทย์มีบ่อมากและจะทำกำไรได้มาก ไม่ใช่ ไม่จำเป็น บางที 10 บ่อ สู้ผม 4 บ่อยังไม่ได้เลย นี่เราทำมาติดต่อกัน เราถึงได้รู้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ผมไม่ต้องการใช้บ่อมาก เพราะใช้มอเตอร์ตีน้ำก็มากกว่า แป๊บตีน้ำก็มากกว่า ใบพัด ทุ่น ทุกอย่างมากกว่าหมด แม้กระทั่งคน แต่ถ้าบ่อเราน้อย มีศักยภาพสูง ปัญหาเหล่านี้จะน้อยลงไป นี่คือการลดต้นทุนโดยปริยาย”
การเลี้ยงกุ้งเพื่อให้ประสบความสำเร็จและมีกำไรอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อควบคุมปัญหาเชื้อโรค โดยเฉพาะช่วงนี้ที่โรคตัวแดงซึ่งเป็นภัยร้ายแรงของการเลี้ยงกุ้ง หนึ่งในวิธีการที่ได้ผลคือการใช้ระบบน้ำหมุนเวียนหรือรีไซเคิลนอกจากนี้ ระบบน้ำหมุนเวียนยังทำให้สามารถลดการพึ่งพาน้ำจากภายนอกซึ่งอาจปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีต่างๆ เช่น คลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อ ช่วยลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีนี้ก็ต้องคำนึงถึงความหนาแน่นของกุ้งด้วย ควรเลี้ยงในความหนาแน่นที่พอเหมาะ ไม่หนาแน่นจนเกินไป เพื่อให้กุ้งเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มีคุณภาพดี สามารถขายได้ราคาดี ซึ่งจะทำให้ได้กำไรที่คุ้มค่าหากสามารถทำได้สำเร็จ ย่อมนำพาธุรกิจเลี้ยงกุ้งให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคหรือวิกฤตใดก็ตาม
ขอบคุณข้อมูล :ส่วนหนึ่งการบรรยายใน งานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 2
โดย คุณยุทธนา รัตโน หรือไก่ดอนเกลี้ยง อุปนายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ในหัวข้อ การเลี้ยงกุ้งขาวอย่างยั่งยืน
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับ 416