ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งมีองค์ประกอบหลายๆ ส่วนร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตกุ้งคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นลูกพันธุ์ อาหาร ประสบการณ์ในการเลี้ยงของเกษตรกร และเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่สิ่งสำคัญสุดของจุดมุ่งหมายปลายทางของการเลี้ยง นั่นคือ “ตลาด” เพราะเกษตรกรจะได้กำไร หรือขาดทุน ตลาดคือปัจจัยสำคัญ แพกุ้ง
การรับซื้อ-ขาย ของ แพกุ้ง
ฉบับนี้ทีมงานมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของ แพกุ้ง ท่านหนึ่งที่ผันตัวจากเกษตรกรคนเลี้ยง คนขายลูกพันธุ์กุ้ง และสุดท้ายมาจบที่ธุรกิจพ่อค้ารับซื้อกุ้ง “คุณฑีฆายุ มีศรีสุข” หรือที่รู้จักกันดีในนาม คุณแขก เจ้าของ แพกุ้ง “มหมิตร”
วันนี้ทีมงานออกเดินทางแต่เช้า เพราะจุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่ จ.นครปฐม เพื่อไปพบกับคุณแขก เจ้าของ“แพกุ้งมหมิตร” เมื่อถึงร้านทีมงานพบว่าเห็นเหล่าบรรดาพ่อค้า แม่ค้า ทั้งขาจร และขาประจำ นั่งรอซื้อกุ้งกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเดินเข้ามายังในบ้าน คุณแขกออกมาต้อนรับด้วยความเป็นกันเอง เมื่อคนสัมภาษณ์พร้อม ทีมงานไม่รอช้าที่เปิดประเด็นคำถามถึงที่มาที่ไปของแพแห่งนี้
คุณแขกเล่าว่า เดิมทีตนทำกิจการรับซื้อกุ้งมานานมากแล้วร่วม 20 ปี และมาต่อยอดเรื่องขายลูกกุ้งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ช่วงนั้นถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จพอควร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือสัตว์น้ำเรื่องลูกพันธุ์กุ้งด้วยเช่นกัน แต่นานวันเข้าบริษัทที่ผลิตลูกกุ้งให้กลับเลิกผลิตไป ซึ่งช่วงนั้นคุณแขกก็พยายามหาฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามที่มีคุณภาพ เพื่อรับลูกกุ้งมาขาย แต่ผลปรากฏว่าลูกกุ้งที่ได้มานั้นคุณภาพไม่นิ่ง โตบ้าง ไม่โตบ้าง ซึ่งคุณแขกมองเห็นข้อเสียมากกว่าข้อดี จึงเลิกธุรกิจนี้ไป ประกอบกับสุขภาพร่างกายของตนที่ไม่แข็งแรงเหมือนเคย จึงตัดสินใจเลิกขายลูกกุ้ง เหลือเพียงเปิดรับซื้อขายกุ้งเนื้อเพียงอย่างเดียว
ด้านตลาดรับซื้อ-ขาย กุ้ง
ปัจจุบันคุณแขกเดินอยู่บนเส้นทางของ “พ่อค้าคนกลาง” เปิดรับซื้อขายกุ้ง โดยเน้นการรับซื้อกุ้งจากบ่อของเกษตรกรโดยตรง และนำผลผลิตมาทำตลาดเอง โดยไม่พึ่งพาอาศัยตลาดซื้อกุ้งรายใหญ่ อย่าง “มหาชัย”
“ธุรกิจรับซื้อขายกุ้งที่ทำอยู่นี้ ในอดีตย้อนไป 20 ปีที่แล้ว เราก็ไม่ได้เริ่มจากการจับกุ้งตามบ่อนะ ร้านเราก็เหมือนพ่อค้าคนอื่นๆ ที่เริ่มจากการซื้อกุ้งจากแพใหญ่ๆ มาขาย แต่กุ้งที่ผมซื้อจะเน้นกุ้งไซซ์ใหญ่ กุ้งสวย กุ้งคุณภาพ เพราะเราเอามาขายให้กับร้านอาหารเป็นหลัก เพราะร้านเหล่านี้มักใช้กุ้งไซซ์ใหญ่หน้า 10-15 ตัว ประมาณนี้ในอดีตนะ แต่ในปัจจุบันได้ทุกไซซ์ ทุกขนาด เราเริ่มจากวันละไม่กี่ 10 กก. ก็ขยับมาเรื่อยๆ จากสิบเป็นร้อย จนวันหนึ่งออเดอร์เราเริ่มเยอะขึ้น เราก็เริ่มที่จะลองซื้อกุ้งจากบ่อบ้าง แรกๆ ก็ขอแบ่งจากพรรคพวกหน้าบ่อก่อน เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์ หลังจากนั้นสักพักถึงเริ่มหันมาจับเอง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ประสบการณ์จะคอยสอนเราเอง” คุณแขกอธิบายถึงเส้นทางธุรกิจของตนเอง
จากการขายผลผลิตเข้าร้านอาหาร คุณแขกได้พยายามขยายธุรกิจของตนเอง จนสามารถขายกุ้งให้กับห้างโมเดิร์นเทรดได้ ไม่ว่าจะเป็น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น โดยเน้นขายในโซนภาคตะวันตก ตั้งแต่ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี โดยมีออเดอร์วันละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัม
“สำหรับตัวผมนะ ผมมองว่าการที่ผมทำตลาดโดยตรงถึงผู้บริโภค จะช่วยให้ราคารับซื้อหน้าบ่อสูงขึ้น เพราะเราไม่ซื้อผ่านแพใหญ่ๆ เราซื้อกับเกษตรกรเลย แน่นอนว่าราคาที่เราขาย กับราคาที่เรารับซื้อจากเกษตรกรมันต้องสมเหตุสมผลกัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ถูกกดราคาจากแพรับซื้อ”
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้ง
ปัจจุบัน “แพกุ้งมหมิตร” มียอดจำหน่ายกุ้งเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ตัน และสูงสุดวันละ 4 ตัน โดยผลผลิตทั้งหมด 90% จะเข้าร้านอาหาร และ 10% จะมีแม่ค้าขาจรเข้ามารับซื้อถึงร้านเลยทีเดียว แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเจอสถานการณ์โรคโควิดระบาด ร้านอาหารถูกสั่งปิดทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณแขกโดยตรง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนเก่งอย่างคุณแขก
“ทีแรกที่เราเจอกับ “โควิด” ผมก็คิดนะว่ากระทบกับเราแน่ๆ 100% เพราะลูกค้าเรา คือ ร้านอาหาร เป็นหลัก เราก็พยายามหาทางรับมือ แต่พอเอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่าเราแทบจะไม่กระทบเลย เพราะว่าร้านอาหารปิด บริษัทปิด คนขาดรายได้ คนมีเวลาว่างเยอะ แล้วยุคนี้ คือ ยุค 4.0 ทุกคนเข้าถึงออนไลน์หมด
ทำให้ในภาวะวิกฤติ เกิดโอกาส ให้คนว่างงานเหล่านี้หันมาขายของเยอะขึ้น 80% ของพ่อค้าที่มานั่งรอกุ้ง คือ หน้าใหม่ทั้งหมด บางคนเป็นเจ้าของกิจการ ร้านเปิดแต่ขายไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้อง ก็หารายได้เสริม แล้วกุ้ง คือ อาหารทะเลสุดฮิต ราคาเข้าถึงง่าย เพราะมีการเลี้ยงมากขึ้น
ถ้าเป็นสมัยก่อนจะกินกุ้งได้ต้องมีเงิน 500 บาทขึ้นไป แต่สมัยนี้ร้อยกว่าบาท สองร้อย ก็ซื้อกุ้งกินได้ แล้วยิ่งขายออนไลน์ ยิ่งขายง่าย จึงทำให้ร้านของเรามียอดขายกุ้งไม่ตก อีกอย่างร้านเราขายไม่แพง กุ้งสวย มีหลายขนาด จะซื้อ 1-2 กก. หรือ เป็น 100 กก. เราก็ขาย ตอบโจทย์ที่สุด และมีไซซ์กุ้งที่หลากหลาย โดยเฉพาะไซซ์ 16-20 และ 20-25 ซึ่งเป็นขนาดกุ้งที่ตลาดโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ ต้องการมากที่สุด ซึ่งทุกครั้งก่อนเราจะจับกุ้งจะมีการสุ่มไซซ์ สุ่มขนาดก่อน เพื่อดูว่าได้ไซซ์ตามที่ตลาดต้องการรึยัง” คุณแขกอธิบาย
นอกจากเปิดแพขายผลผลิตกุ้งสดให้พ่อค้า แม่ค้า เข้ามาเลือกกุ้งได้แล้ว คุณแขกยังมีบริการส่งผลผลิตทางขนส่งสำหรับลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดอีกด้วย โดยเคยส่งกุ้งสดไปไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่ และประเทศลาว เลยทีเดียว ซึ่งการส่งอาหารสดไปไกลๆ แบบนี้ บอกได้คำเดียวว่า ของต้องสด และมีคุณภาพจริง ถึงไปได้ ซึ่งถ้าหากใครสนใจสั่งซื้อกุ้งก้ามกรามสดๆ ก็สามารถติดต่อจองออเดอร์กับคุณแขกได้โดยตรง ที่ช่องทางทั้งเฟสบุ๊ค ไลน์ หรือโทรสั่งจองไว้ล่วงหน้าได้เลย
รายได้จากการขายกุ้ง
“คุณติ๊ก” แม่ค้ามือใหม่ ที่เดิมทีทางบ้านเปิดกิจการร้านป้ายตัดสติ๊กเกอร์ ตั้งอยู่ที่แยกแม่กลอง มีรายได้เดือนละ 1-2 ล้านบาท เลี้ยงลูกน้องหลายชีวิต แต่เมื่อเจอโรคโควิดเข้าไป ถึงแม้ร้านจะไม่ปิด แต่รายได้กลับลดลง 70% ทำให้ตนต้องหารายได้เสริมเพื่อนำเงินมาเลี้ยงลูกน้องที่ร้าน
คุณติ๊กได้เล่าให้ทีมงานฟังว่า ตั้งแต่เจอสถานการณ์ “โรคโควิด” รายได้ที่ร้านเริ่มลดลง เราก็พยายามหารายได้เสริมเพราะต้องเลี้ยงลูกน้อง บวกกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ซึ่งเราก็มองมาที่การขายกุ้ง เนื่องจากเห็นคนขายกันเยอะ แล้วขายได้ ก็เลยลองซื้อกุ้งจากแพมาตั้งโต๊ะขายที่หน้าร้านของตนเอง
วันแรกนำกุ้งมาขาย 100 กิโลกรับ ปรากฏว่าขายวันเดียวหมดเกลี้ยง ทำให้ตนรู้แล้วว่าเดินมาถูกทาง จึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนกุ้งที่ขายมากขึ้น จนวันนี้สามารถขายกุ้งได้กว่า 500-1,000 กิโลกรัม และที่สำคัญยังต่อยอดเปิดแพเอง รับซื้อขายเองอีกด้วย ที่ อ.แม่กลอง และในอนาคตจะพยายามรับซื้อกุ้งจากบ่อเกษตรกรเองอีกด้วย
ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
ท้ายนี้คุณแขกได้ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไว้ว่า “ในเรื่องเทคนิคการเลี้ยง เกษตรกรเก่งกันทุกท่านอยู่แล้ว เพราะเป็นอาชีพ แต่ว่าอยากให้เกษตรกรศึกษาเรื่องช่วงเวลาในการลงกุ้ง ให้ดูทิศทางตลาดในรอบปีว่าช่วงไหนที่ราคาจะดี ช่วงไหนราคาตก มันจะมีช่วงเวลาของมันอยู่ ก็อยากให้เกษตรกรศึกษาตรงนี้ด้วย จะได้ขายกุ้งได้ราคา
รวมถึงเรื่องของสารเคมีที่ใช้ในบ่อกุ้ง ก็อยากให้เกษตรกร ลด ละ เลิก ให้ได้ ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน เพราะถ้าในอนาคตมีเรื่องตรวจพบสารเคมีในกุ้งเยอะขึ้น การส่งออกก็จะมีปัญหา รวมถึงการลงทะเบียนฟาร์ม จะเห็นได้ชัดเจนจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ฟาร์มไหน บ่อไหน ที่ลงทะเบียนไว้ก็ได้ความช่วยเหลือจากรัฐ อันนี้ก็คือประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเอง”
สนใจซื้อ-ขาย กุ้งก้ามกราม สามารถติดต่อได้ที่ คุณฑีฆายุ มีศรีสุข (แขก) 4/1 หมู่ 18 ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โทร : 081-491-3787, Facebook :Teekayumeesrisuk