วงการกุ้งก้ามกรามเริ่มเดินหน้าในการพัฒนาธุรกิจยุคใหม่มากขึ้น
เริ่มจาก “พันธุกรรม” และปัจจัยการผลิตอย่างอื่น และการตลาด เป็นต้น โดยพัฒนาในแนวดิ่งที่ชัดเจน
หนึ่งในห่วงโซ่การพัฒนา ได้แก่ คุณทัต ทัตติยกุล (ทัต) และ คุณอภิษฎา รัตนนุกรม (เชอร์รี่) ผู้ทุ่มเทให้กับงานพันธุกรรม จนกล้าเปิดใจ เปิดตัว กับคนในวงการ “เราไม่ได้ขายสายพันธุ์ที่ถูกที่สุด หรือแพงที่สุด ในตลาด เราขายของมีคุณภาพ และจริงใจกับลูกค้า ผมไม่เคลมว่าของผมถูกและดีที่สุดในตลาด แต่ขายในราคาที่ซื้อไปแล้วลูกค้าบอกว่าคุ้มค่า”
การผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วน
ก่อนอื่นขอเท้าความถึงประวัติความเป็นมาของฟาร์ม GPS “ฟาร์มเราเริ่มจากความเมตตาของ ผศ.ดร.วิกรม รังสินธุ์ ที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วน โดยใช้เทคนิคการดึงต่อมแอนโดรจินิค จนนำไปสู่การวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเวลา 2 ปี” คุณทัตกล่าว ปัจจุบันฟาร์ม GPS เปิดมาเป็นเวลา 3 ปีเต็มแล้ว ทางฟาร์มก็ยังมุ่งมั่นนำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากอาจารย์และมหาวิทยาลัยเกษตรฯมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้จัดการฟาร์ม คือ คุณสุธินี พงศ์สุวรรณ (เฟิร์น) และ คุณสุชาวลี จุฑารัตนานนท์ (พลอย) ซึ่งเป็นลูกศิษย์สายตรงของอาจารย์วิกรม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
เมื่อกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร คุณทัตกล่าวว่า ทางฟาร์มไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการขาย หรือ การทำตลาดเพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นเป้าหมายหลัก แต่มุ่งมั่นในการพัฒนาสายพันธุ์และจัดการภายในฟาร์มอย่างเป็นระบบ จนได้สายพันธุ์ GPS ซึ่งเน้นการพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการลงทุนสร้างฟาร์มใหม่ทั้งหมด เพื่อที่จะสามารถสร้างบ่อที่มีลักษณะจำเพาะ ตอบโจทย์การใช้งาน เพื่อเพิ่มมาตรฐานการผลิตลูกพันธุ์กุ้งให้มีคุณภาพสูงสุด ด้วยเหตุนี้ทางฟาร์ม GPS จึงไม่ได้เลือกลงทุนขยายฟาร์มด้วยวิธีการเช่า ถึงแม้ว่าการเช่าฟาร์มต้นทุนประหยัดกว่าหลายเท่า แต่ต้องแลกมาด้วยลักษณะบ่อของแต่ละฟาร์ม ที่นำมาดัดแปลงให้มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุมคุณภาพและรักษามาตรฐานในการผลิตลูกกุ้งคุณภาพดีและคงที่
การผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามกราม
คุณเชอร์รี่ กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ฟาร์มมั่นใจแล้วว่าลูกกุ้ง GPS มีคุณภาพ ขายได้ ลูกค้าซื้อไปเลี้ยงแล้วคุ้มค่า มีกำไร เป็นสาเหตุให้ปีนี้ทางฟาร์มจึงมีการขยายโรงเรือนเพื่อที่จะสามารถกระจายลูกพันธุ์กุ้งสู่พี่น้องเกษตรกรได้มากขึ้น” เนื่องด้วยปีที่ผ่านมามีหลายช่วงที่ทางฟาร์มมีกำลังผลิตไม่พอกับปริมาณความต้องการของลูกค้า โดยในตอนแรกทางฟาร์มเองมีความกังวลว่าทำฟาร์มใหม่ ทำโรงเรือนใหม่ จะเป็นการขยายที่เติบโตเร็วเกินไป จนกลัวว่าจะส่งผลต่อการรักษาคุณภาพผลผลิตเหมือนกัน แต่หลังจากประชุมร่วมกับทีมวิจัยหลายๆ ฝ่าย ทำให้สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ ด้วยเหตุที่ฟาร์มเป็นระบบปิดอยู่แล้ว พ่อแม่พันธุ์เราผลิตเองทั้งหมด ปัจจัยต่างๆ ควบคุมได้เกือบทั้งหมด ทำให้การทำฟาร์มใหม่ หรือ scale-up ทำได้ไม่ยากนัก
การที่ทำโรงเรือนระบบปิด ผลิตพ่อแม่พันธุ์เอง มีข้อดีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือ มีความเสี่ยงต่อการผสมพันธุ์ในสายเลือด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดชิด เพิ่มโอกาสการแสดงลักษณะยีนด้อยของกุ้งออกมา ซึ่งจุดนี้เป็นความท้าทายของแต่ละฟาร์มที่ต้องหาทางป้องกัน ซึ่งทางฟาร์ม GPS ของเรา ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้มีการติดต่อหน่วยงานวิจัยหลายแห่ง เพื่อร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมุ่งเน้นการศึกษา วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ระดับจีโนม (Genome) ไม่ได้หยุดแต่เพียงวิธีมาตรฐานทั่วไป ซึ่งเป็นการนำสายพันธุ์อื่นที่ดีจากในและต่างประเทศมาผสมพันธุ์ กับพ่อแม่พันธุ์ที่มีอยู่ ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ความล่าช้า และความแม่นยำในการพัฒนาสายพันธุ์
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
อีกหนึ่งหัวใจของการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง “ระบบน้ำ” ซึ่งทางฟาร์มมุ่งปรับปรุงการจัดการอย่างต่อเนื่อง “โรงเรือนใหม่ของเรามีการปรับปรุงระบบน้ำให้มีคุณภาพสูงขึ้น มีการแก้ไข ปรับปรุงจุดที่บกพร่อง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้นเราจึงมั่นใจว่าลูกกุ้งสายพันธุ์ GPS ต้องดีขึ้น โตไวขึ้น อัตราการปนเปื้อนจากเชื้อต่ำลง ผลผลิตเยอะขึ้น อัตราการรอดในระยะยาวดีขึ้น ลงบ่อดินแข็งแรงขึ้น จนกระทั่งทางฟาร์ม GPS มั่นใจว่าการที่เราลงทุนพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงคุณภาพให้สูงมากขึ้นตั้งแต่ต้นทาง จะส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรที่รับลูกพันธุ์ไปเลี้ยงต่อ ต้องได้ลูกกุ้งที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” คุณทัต ให้ความเห็นถึงผลได้จากการลงทุนพัฒนาฟาร์มให้มาตรฐานสูงขึ้น
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการพัฒนา คุณเชอร์รี่ตอบว่า “เบื้องต้นวางแผนสร้างใหม่ 2 โรงเรือน ตรงนี้ถ้าไม่มีปัญหา คาดว่าครึ่งปีแรกโรงเรือนแรกคงแล้วเสร็จ และโรงเรือนที่ 2 จะสร้างเสร็จตามกันมาในช่วงปลายปี” โดยโรงเรือนแรกเป็นโรงเรือนขนาดกลาง ที่มีการออกแบบพิเศษสำหรับการผลิตลูกพันธุ์โดยเฉพาะ แตกต่างจากฟาร์มทั่วไป ไม่ใช่บ่อสี่เหลี่ยมมาตรฐาน “มันเป็นความรู้ที่เกิดจากการลองผิดลองถูก ที่สั่งสมมากว่า 3 ปี จนเราสามารถพัฒนาบ่อที่ตอบโจทย์กับการใช้งานได้สูงสุด” คุณทัตอธิบายเสริม และโรงเรือนที่สองเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ขึ้นมาออกแบบไว้ใช้สำหรับอนุบาลกุ้ง และเป็นพื้นที่ใช้ในการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง มีจำนวนบ่อรวมกัน 2 โรงเรือน ประมาณ 200-250 บ่อ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้งก้ามกราม
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจที่คณะผู้บริหารได้ให้สัมภาษณ์ คุณทัตและคุณเชอร์รี่เห็นตรงกัน ทั้งสองท่านมองไปที่ ความยั่งยืน ทางธุรกิจมาก่อนผลกำไรระยะสั้น โดยความยั่งยืนในที่นี้คุณทัตอธิบายว่า มันมาจากพื้นฐานง่ายๆ คือ ความซื่อสัตย์และจริงใจต่อลูกค้า “ เราขายแต่กุ้งดีเท่านั้น…เคยมีช่วงที่กุ้งเราคุณภาพไม่ได้ตามเกณฑ์ เราตัดสินใจไม่ขายส่งออกนอกฟาร์มเลย ทิ้ง 100% เป็นเวลา 3 เดือน เราไม่ปล่อยให้หลุดออกไปเลย ไม่อยากขายของไม่ดี ยอมขาดทุน ยอมลำบาก ดีกว่าให้ลูกค้าได้ของไม่ดี แล้วโดนตำหนิภายหลัง เสียชื่อ อย่างที่บอกไปตอนแรก เราขายของด้วยความจริงใจ ลูกค้าซื้อไปต้องนำไปทำกำไรต่อได้ ลูกค้าอยู่ได้เราอยู่ได้ เราไม่เอาเปรียบ”
นอกจากนี้ คุณทัตยังกล่าวอีกว่า ความยั่งยืน ไม่เพียงมาจากมุมระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อเท่านั้น ความยั่งยืนภายในองค์กรก็สำคัญ เราต้องซื่อสัตย์และจริงใจกับ “พนักงาน” เช่นกัน ที่ฟาร์ม GPS พนักงานทุกคนเปรียบเสมือนครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานคนไทยหรือต่างชาติ เราให้เกียรติกันและกัน เราต้องดูแลทุกคนให้ดี “เราไม่ใด้เอาแต่มุ่งมั่นพัฒนาฟาร์มโฟกัสแต่เรื่องคุณภาพกุ้ง การพัฒนาเรื่องความเป็นอยู่ของคนของเรา ครอบครัวของเราก็สำคัญไม่แพ้กัน” คุณเชอร์รี่กล่าว
ตอนท้ายนี้คุณทัตยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากฟาร์ม GPS แล้ว ทางคุณทัตและหุ้นส่วนยังมีธุรกิจห้องเย็นที่พร้อมสนับสนุนเกษตรกรในการส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งและเนื้อสัตว์แช่แข็งชนิดอื่นๆได้อีกด้วย หากสนใจพันธุ์ลูกกุ้ง GPS หรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ page facebook : Golden Prawn Supply (gps farm) โทร.061-829-4596 (ทัต)