SIAM FISH ส่งเสริมลูกบ่อเลี้ยง ปลานวลจันทร์ทะเล เปิดตลาดผลิตภัณฑ์ พร้อมทาน
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อต่อการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นภาคพืช ปศุสัตว์ รวมถึงภาคประมง ทั้งการเลี้ยงปลา กุ้ง และสัตว์น้ำอีกหลายชีวิต ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้หลายพันล้าน/ปี
แต่มีสัตว์น้ำ 1 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ถูกส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา สัตว์น้ำที่ว่านี้คือ “ ปลานวลจันทร์ทะเล ” ซึ่งเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งน้ำเค็ม และน้ำจืด มีอายุการเลี้ยงเพียง 5 – 7 เดือน ก็สามารถจับขายได้ แต่ด้วยลักษณะของเจ้าปลาตัวนี้ที่มีก้างค่อนข้างมาก จึงไม่เป็นที่นิยมบริโภคสักเท่าไหร่ ส่งผลให้เกษตรกรไม่นิยมเลี้ยงปลานวลจันทร์ เพราะไม่มีตลาด และราคาขายค่อนข้างต่ำ
การผลิตและแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล
เหมือน ปลานวลจันทร์ทะเล กำลังจะถึงทางตัน แต่หารู้ไม่ เจ้าปลาน้อยตัวนี้กลับมีแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งไม่มีใครมองเห็น คุณปุ๊กกลับมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ สร้างเม็ดเงินโดยมีปลานวลจันทร์ทะเล เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการแปรรูป ล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี จนกระทั่งตกผลึก และสามารถสร้างแบรนด์ “ SIAM FISH ” ขึ้นมาได้
กว่าจะเกิดแบรนด์ siam fish ขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องบอกก่อนว่า “ ปลานวลจันทร์ทะเล ” เป็นปลาของในหลวง ร.9 ที่พระองค์ท่านส่งเสริมมานาน 40 – 50 ปี แต่ด้วยการผลักดัน ทั้งการทำตลาด หรือการแปรรูป อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร จึงทำให้ปลาชนิดนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง
ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากที่เคยเลี้ยงต่างประสบปัญหาหลัก คือ ไม่มีที่รับซื้อ หรือรับซื้อในราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งคุณปุ๊ก คือ หนึ่งในเกษตรกรที่เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งเกิดคำถามในใจว่า ในเมื่อขายปลาสดแล้วขาดทุน ทำไมไม่นำมาแปรรูปเอง ทำตลาดเอง ขายเอง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย
กระบวนการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล
คุณปุ๊กมองว่า ปลานวลจันทร์ทะเลแปรรูป ถ้าทำตลาดดีๆ มีสูตรอาหารที่ดี อย่างไรตลาดไปไกลแน่นอน เพราะคู่แข่งน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นๆ บวกกับคุณปุ๊กยังมีธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ได้แก่ ไข่เค็ม จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำปลานวลจันทร์มาต่อยอดเพิ่มมูลค่าอีกสักตัว
“ ในเมื่อวันนี้ พ่อหลวงได้ทิ้งปลาตัวนี้ไว้ให้เรา ทำไมเราไม่สานต่อปลาตัวนี้ตามเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน ”
เมื่อคิดได้เช่นนี้ คุณปุ๊กจึงพยายามศึกษา และไปดูงานการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ที่เพชรบุรี เรียนรู้ตั้งแต่การเลาะเนื้อ ถอดก้าง และการแปรรูปบางส่วน จากนั้นจึงกลับมาคิดค้นสูตรเมนูอาหารที่เหมาะสมกับปลานวลจันทร์ ลองผิดลองถูกมานานนับปี
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ปลานวลจันทร์
จนกระทั่งเมื่อปี 2563 ก็สามารถคลอดผลิตภัณฑ์ ปลานวลจันทร์ทะเล แปรรูปออกสู่ตลาดได้สำเร็จ นั่นคือ “ต้มเค็มหวานปลานวลจันทร์” ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกมาอีกหลายอย่าง อาทิ ปลาส้ม ปลาแดดเดียว และปลาสวรรค์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีปลานวลจันทร์สดผ่าผีเสื้อแบบไร้ก้าง อีกด้วย
“ ช่วงแรกในการเริ่มแปรรูปปลาตัวนี้ก็ยากนะ เราเริ่มจากการหาข้อมูลว่าทำไมคนถึงไม่นิยมบริโภคปลาตัวนี้ ก็มาติดปัญหาเรื่องก้าง พอรู้ปัญหาเราก็หาทางออกว่าแล้วเมนูอะไรที่เหมาะกับปลาตัวนี้ ที่คนจะเปิดใจลองชิม เพราะจริงๆ แล้ว ปลานวลจันทร์เป็นปลาที่มีรสชาติที่อร่อย แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำได้ทุกเมนู เพราะฉะนั้นเราเลยต้องเลือกว่าจะทำเมนูไหน แล้วจะตอบโจทย์กับปลาตัวนี้โดยตรง ” คุณปุ๊กให้ความเห็น
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ปลานวลจันทร์แปรรูปวางขายออนไลน์ ผ่านทางเพจ SIAM FISH และร้านของฝากที่ ระยอง และจันทบุรี เป็นหลัก จะเริ่มวางแผนเข้าโมเดิร์นเทรดหลายๆ ที่ นอกจากนี้คุณปุ๊กยังรับทำ OEM สำหรับผู้ที่สนใจนำไปทำตลาดอีกด้วย
การเลี้ยงปลานวลจันทร์ผสมผสานกุ้งขาว
เมื่อถามถึงวัตถุดิบปลานวลจันทร์ทะเลที่ Siam Fish นำมาแปรรูป คุณปุ๊กได้อธิบายว่า วัตถุดิบทั้งหมด บริษัทจะรับซื้อตรงจากเกษตรกร “ กลุ่มผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลภาคตะวันออก ” ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เปิดใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ร่วมกับกุ้งขาว “สาเหตุหลักที่เราเลือกรับซื้อปลาจากเกษตรกรมากกว่าห้องเย็น เพราะเราต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ไม่มีที่ไปในทางการตลาด และเรารับซื้อปลาในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ ”
ซึ่งเรื่องนี้ คุณประณี ปรางศรี หนึ่งในเกษตรกรของกลุ่ม มาเปิดใจเล่าที่มาที่ไปของการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล เพื่อส่งขายให้ Siam Fish
คุณประณี เกษตรกรผู้เลี้ยง ปลานวลจันทร์ทะเล ควบคู่กับการเลี้ยงกุ้งขาว ได้เปิดใจทดลองเลี้ยงปลานวลจันทร์มานานหลาย 10 ปี เพราะเป็นสัตว์น้ำที่น่าสนใจ สามารถนำมาเลี้ยงน้ำเค็มได้ แต่เลี้ยงได้ไม่นานก็ต้องเลิก เพราะไม่มีตลาดรองรับ
จนเมื่อ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา คุณประณีได้ตัดสินใจกลับมาเลี้ยงปลานวลจันทร์อีกครั้ง โดยเน้นเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับกุ้งขาว เพื่อให้กุ้งเป็นตัวเก็บของเสียในบ่อ และเอาไว้สร้างรายได้หมุนเวียนระหว่างเลี้ยงปลา จากนั้นเลี้ยงปลาต่อจนครบ 8 เดือน ก็จะเริ่มจับปลาขายให้กับ siam fish โดยมีราคารับซื้อที่สูงกว่าห้องเย็น
การบริหารจัดการบ่อปลานวลจันทร์
ขั้นตอนการเลี้ยงปลานวลจันทร์ เริ่มจากการเตรียมบ่อทั่วไป จากนั้นเติมน้ำเข้าสูง 1.2 – 1.5 เมตร ทำการทรีตน้ำประมาณ 10 วัน โดยใช้ความเค็มประมาณ 20 แต้ม ในการเลี้ยง จากนั้นจึงเริ่มปล่อยลูกปลาที่ผ่านการอนุบาลได้ขนาด 1 นิ้ว ลงบ่อ ในอัตรา 5,000 ตัว/ไร่ แล้วปล่อยลูกกุ้งขาว อัตรา 20,000 ตัว/ไร่ ตามลงไปด้วย
ในช่วง 1 อาทิตย์แรก คุณประณีจะหว่านอาหารกุ้งให้ปลากินเป็นหลัก วันละ 1 มื้อ จนเมื่อเริ่มเข้าอาทิตย์ที่ 2 หรือเริ่มสังเกตเห็นว่าปลากินมากขึ้น จนเริ่มฟีดอาหารได้ ก็จะนำอาหารปลาเบอร์เล็กใส่ถังออโต้ฟีดแทนการหว่านมือ เพื่อลดแรงงาน
ในระหว่างการเลี้ยง สิ่งที่ต้องควบคุมให้ดี คือ คุณภาพน้ำ คุณประณีจะคอยเช็คความเปลี่ยนแปลงของน้ำทุกอาทิตย์ รวมทั้งปริมาณของเสียในบ่อเลี้ยงด้วย เพื่อป้องกันน้ำเลี้ยงเน่าเสีย จนเมื่อกุ้งเริ่มได้ไซซ์ ก็สามารถดักจับไปขายเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนซื้ออาหารเลี้ยงปลาในบ่อต่อ ปลานวลจันทร์ทะเลจะเลี้ยงนาน 7 – 8 เดือน ได้ไซซ์ 5 – 1.2 กิโลกรัม ก็สามารถจับขายได้
“ ปลานวลจันทร์ เป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงไม่ยาก ดูแลง่าย ไม่มีโรค ขอแค่น้ำเลี้ยงมีคุณภาพที่ดีแค่นั้น ปลาก็จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ”
สนใจสอบถามข้อมูลการเลี้ยง หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปลานวลจันทร์แปรรูป ติดต่อสายตรงได้ที่ (ปุ๊ก) โทร : 091 – 7898088, Facebook : กลุ่มผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลภาคตะวันออก