ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของ ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานให้คนไทยเลี้ยง และพระองค์ทรงตั้งฟาร์มโคนมสาธิตในพระราชวังสวนจิตรฯ ณ จนวันนี้ได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมหลายชนิด ขณะที่ภาครัฐวิสาหกิจ อย่าง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ก็ลุยอุตสาหกรรมโคนมมาหลายทศวรรษ
เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายจังหวัด ได้รวมตัวกันทำธุรกิจในรูป สหกรณ์ ทั้งสำเร็จ และล้มเหลว ด้วยเหตุหลายประการ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เพราะการเลี้ยง “แม่โค” ให้สมบูรณ์ ได้น้ำนมที่มีคุณภาพ และปริมาณ/ตัว/วัน สูงนั้น ต้องใช้ฝีมือสูงมากๆ เพราะสภาพแวดล้อมเมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น ยิ่งเลี้ยงพันธุ์แท้ด้วยแล้วจะต้องเป็นเซียนจริงๆ ส่วนผู้เลี้ยงในรูปบริษัทครบวงจรหลายแห่ง ต่างประสบความสำเร็จ ขยายธุรกิจ โกยกำไรคุ้มค่าแก่การลงทุน และถ้ารัฐส่งเสริมให้ “นักเรียน” ดื่มนมตลอด 265 วัน ก็จะต้องใช้ “น้ำนมดิบ” เพื่อการแปรรูปมากขึ้น
ท่ามกลาง “โอกาส” ทางการตลาดที่เปิดกว้าง ก็มี “วิกฤต” จ่อคอหอย นั่นคือ “ต้นทุน” การเลี้ยงโคนมสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ และที่เป็นภัยคุกคามน่ากลัว ก็คือ นโยบาย FTA จะมีผลในปี พ.ศ.2568 นมราคาถูกจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเข้ามาแย่งตลาดในไทย เพราะภาษีนำเข้าเป็นศูนย์นั่นเอง
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงวัวนม
เรื่องนี้ กรมปศุสัตว์ โดย นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดี และ นายเศกสรรค์ สวนกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ ผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย อยู่รอดในอาชีพ โดยระดมเจ้าหน้าที่ในสายงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปศึกษาแต่ละฟาร์ม เพื่อหา จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และ อุปสรรค ในการแก้ปัญหา แล้วพัฒนาด้วยศักยภาพของกรมที่มีอยู่
1 มีนาคม 2564 คุณเศกสรรค์ได้ให้รายละเอียดแก่ ทีมข่าวสัตว์บก ว่า ตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก “กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี ถือว่าแพงขึ้นมาก ปุ๋ยกับน้ำมันก็แพง ทำให้มันสำปะหลัง หรือปาล์มน้ำมัน กากเนื้อในปาล์ม ก็แพงขึ้นด้วย กลุ่มโคนมของเราก็รวมตัวกันไปขอกรมการค้าภายในช่วย ท่านอธิบดีก็เมตตา แต่ก็ต้องเอ็นดูลูกทั้ง 2 ฝ่าย ก็พยายามหาจุดที่เหมาะสม ก็กลับมาที่กรมปศุสัตว์ว่าต้องทำอะไรมั่ง
การให้ความรู้เรื่องสูตรอาหารวัวแก่เกษตรกร
ท่านอธิบดีจึงไปเปิดแปลงพืชอาหารทั่วประเทศ 50,000 ไร่ มีสมาชิกสมัครมา 51,600 ราย ได้ช่วยไปแล้ว ทั้งเมล็ดพันธุ์ และต้นพันธุ์ ส่วนเครื่องจักร เครื่องมือ ถ้าไม่มีก็ให้ยืมไปเตรียมแปลง เมื่อผลผลิตเต็มไร่ก็ให้ยืมไปเก็บเกี่ยวได้อีก” คุณเศกสรรค์ เปิดเผย และฟันธงว่า กรมปศุสัตว์มี ศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ ครบวงจร 14 แห่ง พร้อม นักวิชาการอาหารสัตว์ หน่วยงานจัดการอาหารสัตว์เคลื่อนที่ (FMMUF) ที่จะให้ความรู้เรื่องสูตรอาหาร โคเนื้อ โคนม แก่เกษตรกร เพราะวันนี้หลายรายใช้ แป้งข้าวโพด หรือ กากมัน เป็นอาหารสูตรเดียว หรือ ฟางข้าว เมื่อได้รับคำแนะนำสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของโคนมแต่ละระยะ ชาวโคนมก็ใช้แล้วเห็นผล
ซึ่งเรื่องนี้คุณเศกสรรค์ได้ยกตัวอย่างชาวโคนม มหาสารคาม มีแม่รีดนม 40% นอกนั้นมี วัวสาว วัวท้อง วัวรุ่น และ ลูกวัว บางตัวผสมไม่ติด ทำให้ต้นทุนอาหารไม่ต่ำกว่า 175-180 บาท/ตัว/วัน น้ำนม/ตัว โดยเฉลี่ยทั้งประเทศไม่เกิน 12 ลิตร แต่บริษัทซื้อน้ำนมดิบประมาณลิตรละ 19 บาทกว่า ถ้าพวก ไขมัน น้ำตาล หรือ โปรตีน ก็ตีว่า 20 บาท นม 12 ลิตร รายได้ 240 บาท/ตัว/วัน กำไร 65 บาท แต่ต้องเสียค่าอาหารสัตว์ทั้งฝูง ชาวโคนมจึงขาดทุน อยู่ไม่ได้ ดังนั้นทางกรมจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำทั้งหมด 55 ฟาร์ม ทั่วประเทศ ทำให้ค่าอาหารลดลง และมีกำไรไม่ต่ำกว่า 120 บาท/ตัว/วัน
การผลิตอาหาร TMR
ดังนั้น กรมปศุสัตว์ วันนี้ได้หาทางลดต้นทุน อาหารข้น ราคาแพง ด้วยการติดอาวุธทางปัญญาว่าด้วยการผลิตอาหารสัตว์จากพืชเป็นหลัก เพื่อลดการใช้อาหารข้น แล้วเพิ่ม “คุณภาพอาหารหยาบ” ด้วยวิธีต่างๆ เช่น จัดสัดส่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เหมาะสมทางโภชนาการ โคกินแล้วได้ธาตุอาหารครบ หรือส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงโคนมผลิตอาหาร TMR ที่ครบ ทั้งอาหารหยาบและข้น โดยมี 14 ศูนย์ ผลิตอาหารสัตว์ เป็นพี่เลี้ยง พร้อมทั้งผลิตให้สมาชิกที่ไม่มีเครื่องมือการผลิต นอกจากนี้ทางกรมได้ส่งเสริมให้ผลิต “พืชสด” เช่น หญ้าผสมถั่ว หรือ ใบมันฯ ต้นมันฯ เป็นต้น
ชาวโคนมที่ไม่มีอุปกรณ์ เครื่องจักร ก็สามารถจะยืมจากศูนย์ได้ 60 วัน เพื่อผลิตพืชอาหารสัตว์ ทั้ง สด ไซเลส หรือ TMR ตามสูตรของกรม ที่มีต้นทุนไม่เกิน 120 บาท/ตัว/วัน ถ้าเป็นไปได้ คุณเศกสรรค์ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิด “กองทุน” สังเคราะห์เกษตรกร เพื่อให้ผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย 60% ของประเทศ ได้ยืมเงินไปผลิตอาหาร เมื่อได้เงินมาแล้วก็คืนให้กองทุนไปหมุนต่อ หรือให้สมาชิก สหกรณ์โคนม กู้ไปซื้อวัตถุดิบผลิตอาหารโค
ตราบใดที่ อาหารโค ต้นทุนสูงขึ้น เกษตรกรเงินไม่พอซื้ออาหาร ให้โคกินอิ่ม นอนอุ่น โคก็ผอม ผสมไม่ติด อ่อนแอ ถูกโรครุมเร้า สุดท้ายก็ต้องขายราคาถูกให้นายทุน นอกจากนี้รัฐจะต้องหาทางช่วยชาวโคนมรายย่อย ให้ขายโคในราคายุติธรรม เพื่อจะได้ “จัดการฝูง” ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณ/คุณภาพน้ำนมดิบ จะได้ “กำไร” ที่คุ้มค่า
การปลูกหญ้าแพงโกล่า
สำหรับพืชอาหารสัตว์ที่กรมสนับสนุนมีหลายอย่าง แต่ที่พิสูจน์แล้ว ได้แก่ “หญ้าแพงโกล่า” (DIGITARIA DECUMBERS) ใบดก อ่อนนุ่ม ลำต้นทอดนอนไปตามพื้นดิน แตกหน่อและรากตามข้อต้นอ่อน ตั้งตรง เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่ง กองปศุสัตว์สัมพันธ์ กรมปศุสัตว์ ได้จัดพิมพ์ให้เป็นคู่มือแก่เกษตรกรเพื่อปลูกเป็นอาหารสัตว์ เพราะเป็นหญ้าที่มีโปรตีนหยาบประมาณ 10% ไขมัน 2.0% เยื่อใย 29% เถ้า 8.15% คาร์โบไฮเดรต 46% โภชนะที่ย่อยได้ทั้งหมด 59% ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง โดยเฉพาะแพงโกล่าแห้ง สัตว์ชอบกิน เพราะมีกลิ่นหอมนั่นเอง
เรื่องนี้ คุณเศกสรรค์ยืนยันว่า ถ้าหญ้าอายุ 45 วัน จะมีโปรตีน 8-12% ปลูกได้ทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม แต่ที่ดอนควรไถกลบปรับปรุงดินให้มีความชื้นก่อนปลูก หญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้กรมปศุสัตว์ผลิต “เสบียงสัตว์” ด้วยหญ้าแพงโกล่า เพราะยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ จะได้นำหญ้าแห้งในเสบียงช่วยเกษตรกร โดยพระราชทานเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562
ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงได้ปลุกผู้เลี้ยงสัตว์ด้วยมอตโต้ “เลี้ยงวัวให้เข้าท่า ต้องปลูกหญ้าให้วัวกิน” หรือ “เลี้ยงวัวปีหน้า ต้องปลูกหญ้าปีนี้”
ฟาร์มโคนมทั่วประเทศ 24,000 ฟาร์ม ถ้าขาดหญ้า หรือไม่พอ จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารโปรตีน โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโปรตีนไม่ได้
รายได้จากนาหญ้า
เรื่องหญ้าอาหารสัตว์ ในหลวง ร.9 ทรงเสด็จที่สกลนคร ส่วนพระองค์ ทรงเห็นชาวนายากจน เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2527 จึงตรัสถามว่า ทำไมไม่ลองทำ นาหญ้า เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งตอนนั้นคุณเศกสรรค์ยังมองไม่เห็นภาพมากนัก แต่วันนี้การทำนาหญ้าของชาวนาหลายจังหวัด มีรายได้ดีมาก โดยเฉพาะที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ปลูกหญ้าแพงโกล่า เนเปียร์ปากช่อง1 และ ข้าวโพด เป็นต้น ตัดแล้วสับ อัดก้อน ป้อนฟาร์ม วัวนม วัวเนื้อ มิหนำซ้ำปลูกหญ้าใช้น้ำน้อยกว่าปลูกข้าวถึง 3 เท่า กรมปศุสัตว์จึงส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างจริงจัง
เนื่องจากคุณเศกสรรค์เป็นเกษตรกร ด้วยการเลี้ยงผึ้ง ปลูกสะตอ ปลูกปาล์มน้ำมัน และ เลี้ยงปลากินพืช ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นเมื่อเป็นผู้อำนวยการ จึงทำงานแบบถึงลูก ถึงคน เพื่อให้ ชาวโคนม ทำตามนโยบายของกรม เพราะพิสูจน์แล้ว รายย่อย ถ้ามีอาหารสัตว์เองจะเกิดรายได้ที่ดี ประกอบกับคุณเศกสรรค์เป็นศิษย์เก่าดีเด่น มทร.ศรีวิชัย (ไสใหญ่) ได้โควตาเรียนแม่โจ้ จบด้านสัตวศาสตร์ (โคนม โคเนื้อ) โดยเฉพาะ จบออกมาเป็น ผจก.ฟาร์มของ คุณจองชัย เที่ยงธรรม สุพรรณบุรี เป็นที่รู้จักกันในนาม “หมอดำ” และเป็นศิษย์เก่าดีเด่น มหาบัณฑิต มสธ. ด้านการจัดการทรัพยากรการเกษตร
ตลอดเวลาที่รับราชการ เป็นคนลุยงานแบบถึงลูก ถึงคน เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอด ตั้งแต่ปี 38 จากนักวิชาการสัตวบาล ภูเก็ต ก็เลื่อนตำแหน่งเรื่อยมา จนปี 53 เป็นหัวหน้าสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ สตูล ผอ.ศูนย์วิจัยฯ ชัยนาท ปี 69 เป็นปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ดูงานปศุสัตว์หลายประเทศ ด้านการผลิต โคเนื้อ โคนม โควากิว กระทั่งเป็น ผอ.สำนักพัฒนาอาหารสัตว์เมื่อปี 64
ถ้าสนใจเรื่องการจัดการพืชอาหารสัตว์ โดยหน่วยงานศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ ต.บางกะดี่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี โทร.02-501-1148 หรือต้องการปรึกษาด่วน ติดต่อ ผอ.เศกสรรค์ โทร.081-599-4398