ที่ จ.สกลนคร มีตัวอย่างพี่น้องเกษตรกรที่รวมกลุ่มเพื่อเลี้ยง โคเนื้อ หรือ วัวเนื้อ แบบครบวงจร ปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยสามารถสร้างรายได้จากการผสมเทียมลูกโคส่งขายได้ราคาดี รวมถึงการขุนขายโคเพศผู้และส่งเข้าโรงเชือด
และอีกส่วนหนึ่งเพื่อแบ่งจำหน่ายเนื้อนำส่งร้านอาหารอีสานทำเมนูลาบ-ก้อย โดยได้สร้างแบรนด์ และระบบแฟรนไชส์ ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของกลุ่มฯ ขึ้นมาเอง จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหลายๆ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกลุ่มดังกล่าว คือ กลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร ปศุสัตว์แปลงใหญ่
เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เกิดจากการทำงานอย่างเข้มข้น เข้มแข็ง และอย่างบูรณาการ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งทาง ภาครัฐ ปศุสัตว์อำเภอ และ จังหวัดสกลนคร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภาคีเครือข่าย และการรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่นที่สนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกันของพี่น้องเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงแม่พันธุ์โคเนื้อสกลนครฯ ซึ่งปัจจุบันมีคณะกรรมการจำนวน 15 ท่าน และสมาชิกกลุ่มกว่า 31 ราย
การเลี้ยงวัวเนื้อ
สำหรับข้อมูลพื้นฐานการเลี้ยงโคเนื้อ โดยกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีพื้นที่การเลี้ยงทั้งหมดที่เป็นของสมาชิกและรวมพื้นที่ของคณะกรรมการด้วยประมาณกว่า 300 ไร่เศษ (เป็นที่ดินของกลุ่มฯ เอง) และในส่วนโคเนื้อที่เลี้ยงไว้มีจำนวนร่วม 120 ตัว เป็นแม่พันธุ์เป็นหลัก อายุประมาณ 5-8 ปี ทั้งนี้ได้มีการจำหน่ายออกสู่ตลาดสับเปลี่ยนหมุนเวียนในแต่ละปี
คุณสันติอโศก บุตรสุวรรณ เปิดเผยกับนิตยสารสัตว์บกว่า เมื่อก่อน กลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนครฯ มีจำนวนโคเนื้อเต็มพื้นที่ร่วมกว่า 120 ตัว รวมลูกอีกเกือบ 200 ตัว แต่ต่อมาทางคณะกรรมการได้หารือกันแล้ว มองว่า ไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยง จึงได้ทำการแยกเลี้ยง และสืบเนื่องจากมีโครงการวัวล้านตัว ส่งไปประเทศจีนด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดเตรียมแผนและพื้นที่การเลี้ยงใหม่ เพื่อรองรับเอาไว้กักวัวส่งออกไปจีน โดยได้แยกย้ายวัวให้สมาชิกเอากลับไปเลี้ยงที่บ้าน จึงทำให้ต้องตามไปดูแลกันที่บ้าน นอกจากนี้ด้วยสถานการณ์โรคระบาดลัมปีสกิน (Lumpy skin disease virus) และสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ด้วย จึงต้องจัดสร้างพื้นที่กักสัตว์ โดยให้ปศุสัตว์เข้ามาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอก่อนส่งออกไปประเทศจีน
อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มฯ ซึ่งมี ประธานกลุ่มที่เข้มแข็ง คุณสันติอโศก โดยได้มีการวางแผนบริหารกลุ่มฯ ที่ดี มีการ เตรียมความพร้อมเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด ตลอดจนมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อมุ่งเน้นการผลิต และ ขยายพันธุ์โคเนื้อเพื่อขุนและจำหน่าย รวมถึงเพิ่มศักยภาพเรื่องการผสมเทียม และจำหน่ายเนื้อที่มีคุณภาพมาตรฐานป้อนออกสู่ตลาด ตลอดจนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหาร สร้างแบรนด์ร้านอาหาร และทำตลาดภายใต้ระบบธุรกิจ แฟรนไชส์ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มทุกคนได้มีรายได้ตลอดทั้งปี
การเพาะพันธุ์วัว
โดยกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร ปัจจุบันขยายพันธุ์เลี้ยงแม่โคเป็นหลัก ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ลูกผสมชาร์โรเล่ส์ และ ลูกผสมอเมริกันบราห์มัน ซึ่งทางกลุ่มฯ มีหมอผสมเทียมที่ช่วยดูแลอยู่ประจำกลุ่ม เพื่อเพาะพันธุ์ และ ผสมสายพันธุ์ชาร์โรเล่ส์กับบราห์มัน เป็นลูกผสมเป็นหลัก สำหรับเลือดแม่พันธุ์
โดยค่าเฉลี่ยจากการผสมเทียมอยู่ที่ 50-75 ซึ่งส่งขายให้กับผู้รับซื้อได้ราคาที่สูงเป็นที่น่าพอใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าขายออก จะต้องขายตอนที่แม่โคตั้งท้อง 3-4 เดือน ซึ่งจะได้ราคาที่สูง (ขึ้นอยู่กับแม่พันธุ์ด้วย) เฉลี่ย 60,000-70,000 บาท (เลือด 50-75) ซึ่งก็จะลดหลั่นกันไป เป็นต้น
ในส่วนโคเนื้อเพศเมีย ทางกลุ่มฯ จะเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์ ซึ่งจะไม่เน้นขาย แต่จะขายโคเนื้อเพศผู้ ซึ่งจะขุนขายและเชือดเอง ทั้งนี้เพื่อนำเนื้อไปจำหน่ายและเป็นวัตถุดิบทำอาหาร เช่น ทำลาบ ทำก้อย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และสมาชิก กลุ่มฯ มีฝีมือการทำเมนูอาหารดังกล่าว เคยประกวดแข่งขันและได้รางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด “ร้านลาบแซบ เมืองสกล” ซึ่งขณะนี้ได้สร้างระบบแฟรนไชส์ “ร้านก้อยแซบเมืองสกล” ให้สำหรับคนทั่วไปที่สนใจอยากมีธุรกิจร้านอาหารอีสานของตัวเอง ได้ลงทุนนำไปบริหารสร้างรายได้ต่ออีกด้วย
การจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร
คุณสันติอโศกยังได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร โดยเล่าว่า ย้อนกลับไปประมาณ 2-3 ปีก่อน (พ.ศ.2562) ทางกลุ่มโดยในนามวิสาหกิจชุมชน ได้กู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 10 ล้านบาท (ยื่นเรื่องขอกู้เมื่อปี พ.ศ.2560 และได้รับการอนุมัติเมื่อปี พ.ศ.2562) เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนบริหารจัดการภายในกลุ่มฯ อาทิเช่น เป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือน, ซื้อพันธุ์วัว, ซื้อรถไถ, เครื่องผลิตหญ้า, หญ้าหมัก และ อุปกรณ์การทำเกษตร และ การเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร (ส่วนใหญ่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ John Deere-จอห์น เดียร์ กับ คูโบต้า)
ภายใต้วิสัยทัศน์ของประธานกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร ที่มุ่งมั่นตั้งใจในการผสมเทียมโคเนื้อให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาด ซึ่งด้วยประสบการณ์การเลี้ยงโคเนื้อมากว่า 15 ปี และได้ศึกษาเรียนรู้การผสมเทียมอีกกว่า 5 ปี ทำให้สามารถเรียนรู้เทคนิคผสมเทียมโคเนื้อในฟาร์มและจับสัดได้อย่างแม่นยำ
สำหรับสาเหตุที่ผู้เลี้ยงโคเนื้อผสมไม่ติดนั้นเกิดจากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับแม่พันธุ์และการจับสัด บางครั้งจับสัดถูกต้อง แต่เกิดอาการมดลูกอักเสบ หรือบางครั้งก็อยู่ที่การเลี้ยงแม่พันธุ์ด้วยว่าเอาใจใส่หรือไม่ เช่น หลัง คลอด ผู้เลี้ยงอาจจะไม่ได้ฉีดยาให้กับแม่พันธุ์ โดยจะแนะนำให้ทำการล้างมดลูกก่อนจึงค่อยผสม เป็นต้น
ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากการศึกษาเรียนรู้ และลองผิดลองถูก ซึ่งต้องใช้เวลาและการสังเกต เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการอบรมให้ความรู้อยู่บ่อยๆ ให้กับสมาชิก และชาวบ้านผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยทางกลุ่มฯ ได้มีการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ต้นแบบของปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส. ในระดับจังหวัดสกลนคร เป็นที่เรียบร้อย
การบริหารจัดการฟาร์มวัว
“ในเรื่องกระบวนการผสมเทียม โดยเฉพาะน้ำเชื้อ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์มาโดยตลอด เพื่อช่วย ชาวบ้านบางรายที่อาจจะมีงบประมาณไม่พอในการไปผสมพันธุ์จากข้างนอก ในส่วนของน้ำเชื้อสายพันธุ์ไหนจะดีกว่านั้น เรามองว่าอยู่ที่กระแสตอนนั้นมากกว่า และอยู่ที่แม่พันธุ์ด้วย โดยปกติจะดูจากลักษณะและคุณภาพของแม่พันธุ์แต่ละตัวจะผสมอะไรดี ชาวบ้านก็จะเป็นคนเลือกตัดสินใจกันเอง ทั้งนี้ในส่วนราคาน้ำเชื้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 500-600 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำเชื้อและสายพันธุ์ด้วย”
ด้านการดูแลและบำรุงโคเนื้อของกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร เป็นเคล็ด (ไม่)ลับ ซึ่งเป็นกระบวนการเลี้ยงดูและบำรุงทั่วไป เช่น ให้น้ำ ให้ฟาง หรือ หญ้าสด เช่น หญ้าแพงโกล่า (ทางกลุ่มฯ ปลูกและจำหน่ายด้วย) และมีให้อาหารเม็ดเสริมบ้างสำหรับแม่พันธุ์โค เป็นต้น
ในส่วนหญ้าสด ที่ทางกลุ่มฯ ปลูกและจำหน่ายในขณะนี้ ตอนนี้มีปลูกหญ้าเนเปียร์ และ หญ้าแพงโกล่า และเปิดตลาดในการขายให้เกษตรกร เพราะเกษตรกรมีปัญหาเรื่องเครื่องชอป ด้วยเหตุนี้ตัดความยุ่งยากออกไปด้วยการใช้หญ้า แพงโกล่านำมาให้กินเลย สำหรับหญ้าแพงโกล่านั้น ให้ราคาขายกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งราคาดีกว่าหญ้าเนเปียร์ โดยทางกลุ่มฯ ปลูกแพงโกล่าเกือบร้อยไร่ โดยมีชาวบ้านและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ขอรับซื้อไปเป็นอาหารให้ ม้า แพะเนื้อ/นม เป็นต้น
ด้านระบบการจัดการในฟาร์มหรือคอกเลี้ยงวัวนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในการล้างทำความสะอาดคอกวัวก็จะปล่อยลงบ่อปลา ในฟาร์มมีบ่อปลาเลี้ยงปลาหลายชนิด ซึ่งมีบ่อปลาจำนวน 4 ไร่ โดยปลาที่เลี้ยงไว้ ได้แก่ ปลาเบญจพรรณ และมีลงกุ้งก้ามกรามตัวผู้ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขาย สร้างรายได้เสริมได้อีกหลายช่องทางให้สมาชิกกลุ่มฯ ได้อีกด้วย
การวางแผนงานของกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร
เมื่อถามถึงเรื่องแผนงานของกลุ่มฯ ในปัจจุบัน และเมื่อมองย้อนกลับไป 3 ปีก่อน สำหรับแผนลงทุน 10 ล้านบาท ณ วันนี้ ถือว่ามีการพัฒนา มีความคืบหน้าเป็นไปในทิศทางอย่างไรบ้าง โดยคุณสันติอโศกบอกว่า ตอนนี้ก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ โดยสนับสนุนงบประมาณมาอีก 3 ล้านบาท ซึ่งงบก้อนนี้เป็นงบให้ฟรีของรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อให้มาจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร เช่น รถไถ เครื่องอัดฟาง (ราคาร่วม 1.7 ล้านบาท) เครื่องทำอาหาร EMR (ราคาประมาณ 700,000 บาท) ฯลฯ
“อย่างที่ได้กล่าวไปว่า กลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร ปศุสัตว์แปลงใหญ่ มุ่งหวังการเติบโตและขยับขยาย ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ โดยชาวบ้าน พี่น้องเกษตรกร และ สมาชิกทุกคน จะต้องมีรายได้จากการทำฟาร์มเลี้ยงวัวเนื้อในหลายๆ ช่องทาง ซึ่งขณะนี้เรายังคงเดินหน้าผลิตและขยายพันธุ์โคเนื้อขุนส่งขาย เป็นรายได้หมุนเวียนในกลุ่มฯ ควบคู่กับการผสมเทียม โดยใช้น้ำเชื้อที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ
รวมถึงการขายเนื้อคุณภาพ จำหน่ายออกสู่ตลาด และสร้างแบรนด์ สร้างหน้าร้าน ต้นแบบอาหารอีสาน เมนูเด่นลาบ-ก้อย เข้าสู่ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนสนใจทั่วไปที่มีความฝันอยากเปิดร้านอาหารอีสาน ได้มาลงทุนร่วมกับเรา ซึ่งคนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ร้านก้อยแซบเมืองสกล จะต้องเข้ามาอบรมกับทางเราก่อน เพื่อออกไปบริหารร้านอย่างมืออาชีพ
โดยเครื่องปรุงทุกอย่างต้องสั่งซื้อจากผลผลิตของทางกลุ่มฯ เช่น พริกคั่ว หรือ ข้าวคั่ว ซึ่งจะเป็นข้าวที่ทำเอง ต้องตำเท่านั้น โดยข้าวที่ใช้นั้นเป็นข้าวอินทรีย์ที่ทำเพื่อถวายพระเทพปีละ 1 ตัน ทุกปีอยู่แล้ว เป็นข้าวหอมมะลิ โดยสมาชิกกลุ่มฯ ก็จะได้รายได้จากการขายผลผลิตเช่นนี้เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งก็จะทำให้สมาชิกทุกคนภายใต้กลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคสกลนคร ปศุสัตว์แปลงใหญ่ สามารถยืนหยัดได้ด้วยขาของตัวเองได้ด้วยการมีรายได้ที่มั่นคง และเป็นอาชีพที่ยั่งยืนสืบต่อไปอีกนาน”