“ข้าวโพด” เป็นพืชที่นำมาให้เป็นอาหารสัตว์มากขึ้น เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง และ โปรตีนสูง โดยเฉพาะการนำต้นข้าวโพดระยะให้ฝัก เป็นน้ำนม 50% และเก็บเกี่ยวไว้ในสภาพสุญญากาศ เป็นการถนอมพืชอาหารสัตว์ไว้ในสภาพหมักอยู่ได้นาน คุณค่าทางอาหารไม่เปลี่ยน
ซึ่งข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี ถ้ามีระบบน้ำ ผลผลิตสูง เมื่อนำข้าวโพดมาหมัก ใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง อย่าง โคเนื้อ โคนม ควาย แพะ แกะ จะทำให้สัตว์เหล่านี้โตเร็ว โดยเฉพาะนำข้าวโพดหมัก (corn silage) มาเลี้ยงโคนม จะทำให้นมมีคุณภาพ ไขมันสูง
การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป ต.หัวลำ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี โดยมี นางสุริยา เลิศสรานนท์ เป็นประธานกลุ่ม เริ่มดำเนินการจัดตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2561 จากจุดเริ่มต้นรวมสมาชิกเพียง 34 ราย พื้นที่ปลูก 300 ไร่ ปัจจุบันขยายทั้งสมาชิกและพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 3,000 ไร่ สมาชิกเกษตรกรและเครือข่ายรวม 227 ราย การดำเนินงานทางกลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ ตามนโยบายเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เพื่อมาสนับสนุนจัดซื้อเครื่องจักรขนาดเล็กอัดก้อน ขนาด 60-70 กิโลกรัม และขนาด 40 กิโลกรัม เครื่องจักร double shop รถคีบ และรถบรรทุก 6 ล้อ และใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. จำนวน 10 ล้านบาท มาจัดซื้อเครื่องจักรอัดก้อนขนาด 350-400 กิโลกรัม เพิ่มอีก เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตข้าวโพดหมักอัดก้อน ส่งทั้งในและต่างประเทศ
โดยสมาชิกต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซึ่งทางคณะกรรมการแปลงใหญ่จะเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของผลผลิต เมล็ดพันธุ์แปซิฟิก เมล็ดพันธุ์ ซี.พี. เมล็ดพันธุ์จีที และ เมล็ดพันธุ์ 7321 และเมื่อถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวทางกลุ่มจะมอบหน้าที่ให้ คุณโกศล ศิริ เป็นคณะกรรมการของกลุ่ม ที่มีหน้าที่ออกไปตรวจสอบคุณภาพต้นข้าวโพดของแปลงสมาชิกก่อนจะช็อป และจัดรถไปเก็บเกี่ยวให้แก่สมาชิกโดยตรง
การบริหารจัดการไร่ข้าวโพด
การผลิตข้าวโพดหมักอัดก้อน สมาชิกจะเตรียมพื้นที่ปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี เพราะมีแหล่งน้ำจากการขุดบ่อบาดาล ใช้เป็นระบบน้ำหยดรดต้นข้าวโพด ส่วนสมาชิกใกล้เคียงที่ไม่มีระบบน้ำ จะอาศัยเตรียมพื้นที่และปลูกช่วงฤดูฝน โดยจะใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่แกลบ หรือ ขี้ไก่ไข่ เป็นต้น ส่วนปุ๋ยเคมีจะใช้ช่วงทำรุ่น นิยมสูตร 15-15-15, 16-16-16 ส่วนการให้ปุ๋ยทางใบนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของสมาชิก
ตารางการคำนวณต้นทุนการปลูกข้าวโพด 10 ไร่/รอบ ปี 2565
รายการ | ปริมาณ | บาท |
รายได้ ขายข้าวโพด | 70,000 กก. | 99,000 |
ขั้นตอนการเตรียมการผลิต | ||
-ค่าเมล็ดพันธุ์ | 36-39 กก. | 7,000 |
-ค่าไถ ผาน 3 | 10 ไร่ | 3,500 |
-ค่าไถ ผาน 7 | 10 ไร่ | 2,500 |
-ค่าเตรียมดิน | 10 ไร่ | 2,500 |
ขั้นตอนระหว่างการผลิต | ||
-ค่าปุ๋ยรองพื้น | 5 กระสอบ | 4,500 |
-ค่าแรงงานผ่ารุ่นพร้อมใส่ปุ๋ย | 10 ไร่ | 1,500 |
ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต | ||
-ค่าแรงงานเก็บข้าวโพด | 10 ไร่ | 20,000 |
-ค่าแรงงานเจ้าของแปลง | 2 วัน | 3,600 |
รวมต้นทุน/ค่าใช้จ่าย | 45,100 | |
ต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น | 45,100 | |
กำไร | 53,900 | |
ต้นทุน/กก. | 0.64 | |
ต้นทุน/ไร่ | 10 ไร่ | 4,510 |
กำไร/กก. | 0.77 | |
กำไร/ไร่ | 10 ไร่ | 5,390 |
การปลูกและบำรุงดูแลต้นข้าวโพด
โดยการปลูกข้าวโพดช็อปจะให้ผลผลิตอยู่ที่ 7-12 ตัน/ไร่ ขึ้นอยู่กับการบำรุงและดูแลของแต่ละคน ทางกลุ่มฯ ประกันราคาอยู่ที่ 1,000 บาท/ตัน ปัจจุบันราคาข้าวโพดช็อปอยู่ที่ 1,200-1,400 บาท/ตัน อายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 80-85 วัน ฝักอยู่ในระยะน้ำนม จะใช้เครื่องช็อปที่กลุ่มฯ ได้จัดซื้อจำนวน 2 เครื่อง ทั้งที่เป็นเครื่องช็อปที่ต้องใช้แรงงานคนแบกต้นข้าวโพดที่ตัดออกจากแปลงมายัดใส่เครื่องช็อป และรถตัดช็อปที่ตัดได้เบ็ดเสร็จในแปลง ซึ่งชิ้นข้าวโพดที่ผ่านเครื่องช็อปจะมีขนาด 2 ซม.
จากนั้นนำชิ้นข้าวโพดที่ช็อปแล้วมาใส่ในเครื่องจักรอัดก้อนทั้ง 2 ขนาด คือ 1.เครื่องอัดก้อนแรปพลาสติก ขนาดเล็กน้ำหนัก 60-70 กิโลกรัม/ก้อน กำลังการผลิต 300-400 ก้อน/ชม. 2.เครื่องอัดก้อนขนาดใหญ่น้ำหนัก 350-400 กิโลกรัม/ก้อน กำลังการผลิต 40-50 ก้อน/ชั่วโมง และผลิตข้าวโพดหมักแบบบรรจุถุง ขนาด 25 กิโลกรัม จำหน่ายให้กับลูกค้ารายย่อย โดยใช้เวลาหมัก 14-21 วัน จะทำให้มีกลิ่นหอม
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ข้าวโพดหมัก
กลุ่มลูกค้าหลักในประเทศ คือ ฟาร์มโคนม โคเนื้อ แกะ แพะ เป็นต้น ส่วนลูกค้าต่างประเทศที่ส่งออกจะจำหน่ายไปหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สั่งซื้อจำนวน 4 ตู้/รอบ และประเทศการ์ต้า สั่งซื้อจำนวน 2 ตู้/รอบ ตู้ละไม่เกิน 26 ตัน เป็นต้น
แนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด
ทางกลุ่มฯ จะนำข้าวโพดช็อปที่ผ่านการหมักแล้ว 21 วัน ส่งตัวอย่างไปตรวจคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อาหารสัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา และตรวจสอบหาสารพิษตกค้าง ที่ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด นับว่าเป็นจุดแข็งของทางกลุ่มในด้านของกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง
ขณะเดียวกันทางกลุ่มฯ มีแผนเพิ่มเครือข่ายสมาชิก ขยายพื้นที่เพาะปลูก และเพิ่มด้านของเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการของตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการต่อเนื่อง เป็นวัตถุดิบอาหารโคนม ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง
นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ มีแผนที่จะขยายการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อนำมาผลิตอาหารแห้งอัดก้อนด้วย จำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ โดยให้สมาชิกแบ่งพื้นที่มาปลูกหญ้าเนเปียร์ 3-5 ไร่ เพื่อเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี เพื่อให้สมาชิกปลูกพืชหลากหลาย ก่อให้เกิดรายได้หลายช่องทาง
ติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป บ้านหนองจาน หมู่ 5 ต.หัวลำ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี โทร.081-649-9440, 093-321-4591, 082-239-5357