ทางทีมงานนิตยสารสัตว์บกได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณวิทยา กิตติพันธ์วรกุล เจ้าของกิตติพันธ์ฟาร์ม (เพาะลูกเป็ด) ที่ดำเนินการเพาะเลี้ยงตั้งแต่ปี 2520 ขายมากว่า 40 ปี เริ่มจากเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเข้าสู่การเพาะลูกเป็ดขาย ฟาร์มตั้งอยู่ที่ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี 72230
แรกเริ่มเดิมทีคุณวิทยามาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เลือกที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นผู้เลี้ยงสุกร แต่เมื่อเลี้ยงไปได้ขณะหนึ่งแล้วพบว่าการเลี้ยงสุกรขณะนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่หวังไว้ จึงหาตัวเลือกใหม่ เปลี่ยนมาเลือกที่จะเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง แต่ก็ยังประสบปัญหาต่างๆ มากมาย จึงหันมาเริ่มผู้เพาะลูกเป็ดขาย
คุณวิทยาเล่าว่า “ช่วงที่เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งนั้น ผมไปซื้อลูกเป็ดจากกรุงเทพ ซึ่งสั่งซื้อเป็นรอบๆ ได้ลูกเป็ดครบบ้าง ไม่ครบบ้าง ต่อมาทางฟาร์มที่กรุงเทพไม่ส่งเป็ดตามจำนวนที่ผมสั่งไว้ หรือถ้าเป็ดเหลือมากๆ จากฟาร์มของเขา เขาก็จะมายัดเยียดเป็ดมาเกินที่สั่งในช่วงที่ไม่น่าเลี้ยง (ช่วงที่เกษตรกรไม่ให้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง) ผมรู้สึกน่าโมโหจากการไปซื้อเป็ดครั้งนั้น ก็เลยกลับมานั่งคิดหาวิธีแก้ปัญหา แล้วจึงตัดสินใจซื้อตู้เพาะไข่เป็ดมา 1 ตู้ เพื่อมาลองเพาะเลี้ยงเอง”
การเพาะพันธุ์ลูกเป็ด
ในการเพาะลูกเป็ดขายต้องเริ่มที่จะหาข้อมูลความรู้ คุณวิทยากล่าวว่า “ช่วงนั้นผมได้จ้างเถาจิ้ว (คนดูแลการเพาะลูกเป็ด) มาดูแลในเรื่องของการเพาะลูกเป็ด แต่ตัวของผมก็ไปเป็นลูกมือคอยช่วยงานทุกอย่าง ตั้งแต่เก็บไข่ ดูแลไข่ พลิกกลับไข่ อย่างเช่น วิธีการวัดอุณหภูมิของไข่ในกระบะฟักไข่แบบเก่า
แต่ก่อนเขาก็สอนว่าให้เราเอาไข่เป็ดมาแนบที่หนังตาของเรา ถ้าแนบแล้วเราไม่สะดุ้ง ทนได้ แสดงว่าไข่ก็ทนได้ แต่ถ้าเราทนไม่ได้แสดงว่าอุณหภูมิสูงไป เราต้องเอาน้ำมาฉีดเพื่อลดความร้อน ทุกอย่างเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป พูดง่ายๆ ก็คือ ครูพักลักจำ การไปแอบลักจำไว้นั้นแหละจนเรามีความสามารถที่จะทำเองได้”
ช่วงสมัยที่ทำแรกๆ ทำเป็ดไล่ทุ่งก็ปล่อยให้ลูกน้องเลี้ยงไล่ทุ่ง พอครบ 5 เดือน ก็จับกลับ เพื่อขายเป็ดสาวเข้าฟาร์มนำพ่อพันธุ์เป็ดมาจากกรมปศุสัตว์มาทับกับเป็ดตัวเมียของที่ฟาร์ม สายพันธุ์ของเป็ดที่ใช้ก็จะเป็นพันธุ์พื้นบ้านทั่วๆ ไป ที่เรียก กากี หรือกากีแคมเบลล์ การคัดเลือกแม่พันธุ์สาวจะไม่เอาขาเหลือง หรือไม่เอาลายนกกระจอก
จะเลือกแต่ที่มีสีกากีทั้งหมด จากนั้นก็จะไปซื้อเป็ดตัวผู้จากฟาร์มอื่นๆ มาผสม เพื่อไม่ให้เกิดเลือดชิดในสายพันธุ์ ถ้าหากยังใช้พ่อเป็ดตัวเดิมๆ หลายครั้ง ลูกเป็ดในแต่ละรุ่นก็จะมีขนาดตัวที่เล็กลงเรื่อยๆ
การเก็บไข่เป็ด
การเก็บไข่เป็ด ทางฟาร์มจะเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงตี 5 ของทุกวัน หลังจากนั้นจะนำไข่มาเรียงใส่แผงไว้ เมื่อเก็บสะสมครบ 5 วัน เราจึงนำไข่เป็ดเหล่านั้นใส่แผงเพื่อเตรียมเข้าตู้ฟัก ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อน อย่างช่วงเดือนเมษายน ก็จะเก็บไว้ในห้องแอร์ อุณหภูมิประมาณ 18-20 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถเก็บได้นานถึง 1 เดือน
ที่นำไข่เป็ดเอาเข้าห้องแอร์ก็เพื่อไม่ให้ไข่ที่เก็บมาวันแรกเป็นตัว เพราะเวลาฟักลูกเป็ดจะออกไม่พร้อมกัน แต่ถ้าเป็นในช่วงฤดูหนาวจะเก็บไว้ตามอุณหภูมิห้องปกติ ปล่อยให้ลมโกรก เมื่อครบวันก็นำไข่เป็ดเรียงใส่แผงตู้ฟัก
การฟักไข่เป็ด
ตู้ฟักไข่ของทางฟาร์มกิตติพันธ์เป็นตู้รุ่นเก่าที่ทำจาก “ไม้โอ๊ค” ทั้งตู้ที่คุณวิทยาซื้อต่อมาจากโรงฟักเก่านับรวมแล้วอายุของตู้ฟักไข่ที่นี่น่าจะมีอายุมากถึง 100 ปี ก็ว่าได้ เวลาที่ใช้ในการฟักประมาณ 27-28 วัน ในวันที่ 29 ลูกเป็ดก็เริ่มฟักออกหมดแล้ว อุณหภูมิในตู้ฟักจะใช้ตัวเม็กเมตริกช่วย เราจะตั้งไว้ที่ 99.7-99.8 องศาฟาเรนไฮต์ ในตู้ฟักไข่หนึ่งตู้จะฟักได้ประมาณ 20,000 กว่าฟอง
หลังจากลูกเป็ดฟักออกมาแล้วทางฟาร์มจะคัดแยกเพศเป็นอันดับแรกว่า ตัวไหนเป็นตัวผู้ หรือตัวเมีย แล้วจึงจะนำลูกเป็ดส่งไปตามฟาร์มและเกษตรกรรายย่อยที่สั่งจองไว้ ทางฟาร์มก็จะมีการแบ่งบางส่วนไว้เป็นแม่พันธุ์ของฟาร์มรุ่นต่อไป จะนำเป็ดตัวเมียส่งให้ลูกน้องเลี้ยง โดยจะให้ยาและอาหารไปด้วย พอถึง 25 วัน ก็จะทำวัคซีนดรัคเพ็ก เสร็จแล้วก็ปล่อยลงทุ่ง การทำวัคซีนจะทำทุกเดือน เดือนละ 1 เข็ม ทำให้ครบ 4 เข็ม
ด้านตลาดลูกเป็ด
คุณวิทยาเล่าต่อว่าสำหรับเกษตรกรที่ต้องการลูกเป็ดจะต้องจองล่วงหน้า พร้อมกับวางเงินมัดจำ 30% และเมื่อลูกเป็ดพร้อมส่งแล้วจะแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ พร้อมกับรับเงินสดส่วนที่เหลือ 70% สาเหตุที่ต้องวางเงินมัดจำเพราะเกษตรกรไม่มีความรับผิดชอบ เมื่อสั่งลูกเป็ดกับทางฟาร์มแล้วไม่ยอมรับไปเลี้ยง หรือไปซื้อลูกเป็ดจากที่อื่นบ้าง ทำให้ลูกเป็ดที่เราเตรียมไว้ขายไม่ได้ และเราก็นำลูกเป็ดในส่วนนั้นไปเลี้ยงไล่ทุ่งเอง
ซึ่งมันเป็นต้นทุนของเรา ทั้งค่าแรงงาน และค่าอาหาร สำหรับเป็ดชุดนั้น และทำไมไม่ปล่อยสินเชื่อกับเกษตรกร สาเหตุเพราะเกษตรกรไม่นำเงินค่าลูกเป็ดมาชำระให้ทางฟาร์ม ซึ่งทางฟาร์มเจอหลายราย จึงทำให้ทางฟาร์มประสบปัญหาทางการเงิน
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงเป็ด
ในช่วงหลังๆ มานี้ทางฟาร์มลดการเพาะจำนวนลูกเป็ดน้อยลง เนื่องมาจากเศรษฐกิจไม่ดี อย่างที่ผ่านมาในอดีต จากปกติเคยฟักลูกเป็ดรอบละ 50,000 ตัว แต่ปัจจุบันนี้ฟักรอบละ 20,000 ตัว หายไปประมาณ 60 % ที่ลดลงก็เพราะกำลังการซื้อของเกษตรกรลดลง บางฟาร์มที่เคยทำการค้ากันก็มีการเลิกทำฟาร์มไปก็มาก ฟาร์มใดที่มีการวางแผน มีระบบการจัดการทางการเงินที่ดี ก็ยังสามารถทำฟาร์มเป็ดไข่ต่อได้ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้
แม่เป็ดไข่จะเป็นเป็ดใหญ่ อายุ 5 เดือน ที่จับกลับมาจากการที่ให้ลูกน้องไปเลี้ยงไล่ทุ่ง อันดับแรกก็ทำวัคซีนดรัคเพ็กก่อน หลังจากนั้น 4-5 วัน ก็ทำวัคซีนอหิวาต์ หลังจากนั้นก็ขุนอาหารเต็มที่ประมาณ 15 วัน เป็ดก็เริ่มให้ไข่เยอะขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เป็ดออกไข่มีหลายปัจจัยด้วยกัน นอกเหนือไปจากปัจจัยหลัก อย่างเรื่องของสายพันธุ์เป็ดแล้ว ยังต้องคำนึงและให้ความสำคัญกับเรื่องของ น้ำ อาหาร ฤดูกาล อากาศ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าช่วงที่มีอากาศร้อนมากๆ จะทำให้เป็ดเกิดอาการกินอาหารลดลง อากาศร้อนส่งผลกระทบกับการที่เป็ดออกไข่ลดลงร้อยละ 50 ไข่ลดลง บางครั้งไข่ก็มีขนาดเล็ก ส่วนในช่วงหน้าหนาวที่ไม่หนาวมากเป็ดจะอยู่สบาย เป็ดกินอาหารได้ดีขึ้น ก็ได้ไข่ดีขึ้นด้วย แต่ถ้าเป็นช่วงที่หนาวมากๆ เป็ดจะออกไข่ยากเหมือนกัน
การบริหารจัดการโรงเรือนเลี้ยงเป็ด
โรงเรือนเลี้ยงเป็ดของทางฟาร์มจะเลี้ยงแบบปล่อยพื้นดิน โดยมีการล้อมเล้าด้วยไม้ไผ่ มีรางน้ำให้เป็ดกินได้ตลอดเวลา แต่ไม่มีสระให้เล่น จะเลี้ยงบนพื้นที่แห้ง ขนาดพื้นที่สำหรับการเลี้ยงเป็ดอยู่ประมาณ 6-7 ตัวต่อตารางเมตร โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่ร่ม มีหลังคา สำหรับพักผ่อนในตอนกลางคืน และอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นที่โล่ง รอบๆ โรงเรือนก็จะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นร่มเงา
การให้น้ำทางฟาร์มจะมีรางน้ำ ซึ่งจะเปิดน้ำให้เป็ดอยู่ตลอดเวลาการ ส่วนในเรื่องของการให้อาหารจะให้วันละ 4 ครั้ง ให้ตอนเช้า กลางวัน เย็น แล้วก็กลางคืน แต่เวลากลางคืนถ้าอาหารเดิมจากตอนเย็นยังพอมีอยู่ก็จะยังไม่ให้ ปล่อยให้เป็ดกินให้หมดก่อน ถังอาหารจะประยุกต์ใช้ถังกลของสุกร เพราะเป็ดจะได้กินตลอดทั้งวัน เมื่อก่อนคุณวิทยาจะใช้อาหารผสมเอง แต่ตอนนี้หันมาใช้อาหารเม็ด ถึงราคาจะแพงกว่า แต่ถ้าถามถึงคุณภาพแล้วก็ไม่แตกต่างกัน
เมื่อเทียบกับอาหารที่ผสมเอง และลดปัญหาการจัดซื้อวัตถุดิบเองด้วย รวมไปถึงปัญหาเรื่องแรงงานที่หายากขึ้นทุกวัน ราคาปลายข้าวที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่จำเป็นต้องใช้ส่วนใหญ่โรงงานอาหารสัตว์ใหญ่ๆ เขาจะกว้านซื้อไปหมด และราคาก็จะแพงมาก ประมาณกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท บางทีปลายข้าวยังแพงกว่าเม็ดข้าวด้วยซ้ำ เราก็เลยหาวัตถุดิบยาก
คุณวิทยาจึงหันมาใช้อาหารสำเร็จรูป ลองมาทุกยี่ห้อ สุดท้ายก็มาหยุดที่อาหารของ SUNFEED เนื่องจากคุณภาพอาหารนิ่ง และราคาก็ไม่ต่างกับยี่ห้ออื่นมาก อีกอย่าง SUNFEED ก็เป็นอาหารแบรนด์ ที่ผ่านกาลเวลามาเป็น 10 ปี เขาก็ยังคงอยู่ แสดงว่าเขาดีจริง ไม่งั้นไม่อยู่มานานขนาดนี้ได้ บางยี่ห้ออื่นก็เคยใช้ คุณภาพอาหารจะแกว่ง ดูได้จากคุณภาพไข่ คือ ไข่จะมีขนาดเล็กลง และปริมาณไข่ก็จะลดลง ราคาก็เป็นสิ่งสำคัญในการเลือกใช้ เพราะมันคือต้นทุนของทางฟาร์ม
การจำหน่ายลูกเป็ด
เป็ดที่จะปลดที่อายุ 12 เดือน แต่ยังสามารถขายให้คนเอาไปเลี้ยงไล่ทุ่ง ก็จะเลี้ยงเก็บไข่ได้อีกประมาณ 6-7 เดือน ขายตัวละประมาณ 50-60 บาท ถ้าในกรณีคนเลี้ยงทุ่งไม่มีก็จะส่งเข้าโรงเชือด ราคาก็จะอยู่ที่ตัวละประมาณ 30 บาท แล้วในช่วงนี้ก็มีรถมารับซื้อเป็ดไปขายแถวชายแดนให้ก็ราคาดีเหมือนกัน
ราคาขายลูกเป็ดที่ฟักออกมา ณ ปัจจุบันโดยประมาณ ลูกเป็ดตัวเมีย ราคาตัวละ 18 บาท และลูกเป็ดตัวผู้ ราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งราคาลูกเป็ดจะขึ้นอยู่กับจำนวนการสั่งซื้อของลูกค้า นอกจากนี้ราคาลูกเป็ดจะมีการปรับขึ้น-ลงตามราคาท้องตลาด ณ เวลานั้น ซึ่งปัจจุบันทางฟาร์มได้เลี้ยงพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์เอง เพื่อให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพ สามารถนำมาฟักเป็นลูกเป็ดได้อย่างดี ถึงแม้ตัวผู้จะขายได้ราคาต่ำ แต่เมื่อเฉลี่ยโดยรวมแล้วอาชีพนี้ยังสามารถใช้เลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงขงในหลวงรัชกาลที่ 9
แนวโน้มในอนาคต
คุณวิทยาได้กล่าวกับทางทีมงานว่าตนก็ผ่านงานมานานแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มที่จะปล่อยให้รุ่นลูกเข้ามาดูแลฟาร์มแทน ถึงเวลาที่จะพัก ปล่อยให้ลูกเข้ามาจัดการดูแลบริหาร ทางลูกก็เห็นว่าถ้าสามารถขยายต่อไปได้ก็อาจจะทำเป็นขายไข่เป็ดเพิ่ม
ขอขอบคุณ คุณวิทยา กิตติพันธ์วรกุล กิตติพันธ์ฟาร์ม 504 หมู่ 3 ต.สนามคลี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72230
โทร.081-941-6426, 081-982-4457, 089-743-3384 การฟักไข่เป็ด การฟักไข่เป็ด การฟักไข่เป็ด