เกษตรกรไทยไม่ว่าภาคไหนๆ มักประสบกับปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ และแบกรับหนี้สินครัวเรือนกันทั้งสิ้น ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรต่างดิ้นรนหาทางออก โดยการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการดำเนินงาน ตามแนวทางร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย และร่วมกันรับผลประโยชน์ การเลี้ยงจิ้งหรีด
การเลี้ยงจิ้งหรีด
ฉบับนี้นิตยสารสัตว์บกพามารู้จักกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ที่บ้านจาน ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างของความสามัคคี และการร่วมมือกันสร้างมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดสู่อาหารที่สะอาด และปลอดภัย ระดับโลก
เรื่องนี้ คุณสมศักดิ์ ก๊กศรี ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดนางรองฯ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ว่า “เรารวมกลุ่มกันเพื่อเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ อำนาจต่อรองในการซื้อ-ขายวัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น อาหาร แผงไข่ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในกระบวนการเลี้ยง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกวิธีหนึ่ง รวมถึงช่องทางในการจัดจำหน่ายจิ้งหรีดให้กับพ่อค้าคนกลาง ตลอดจนการปรึกษาหารือ สำหรับแนวทางในการดำเนินงาน และทิศทางของตลาด”
การเข้าร่วมโครงการการเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ
ด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจในเสถียรภาพของโครงการ “การเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ” ที่มี คุณลุธิราช อุปเสน (คุณเอ๊ะ) ผู้ริเริ่มโครงการเมื่อต้นปี พ.ศ.2558 ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดทั้ง 12 ราย ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเล็งเห็นว่าศักยภาพที่มีทั้งทางด้านตลาดและแบบแผนที่ชัดเจน สามารถพัฒนารูปแบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานสู่ตลาดที่มั่นคง และตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
แม้ว่าแต่ละฟาร์มจะมีรูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดที่แตกต่างกันออกไป หรือไม่เคยเลี้ยงกันมาก่อนเกิดโครงการ บางรายเลี้ยงไว้เฉพาะบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น หรือนำบางส่วนไปทอดขายตามตลาดนัดท้องถิ่น ซึ่งมีตลาดไม่กว้างมากนัก และมีปริมาณของจิ้งหรีดไม่มาก
แต่เมื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ “การเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ” รูปแบบการเลี้ยงจึงเปลี่ยนไปจากเดิม โดยได้พัฒนาให้อยู่ในรูปแบบฟาร์มที่มีมาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย มากยิ่งขึ้น และต้องยอมรับว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ของสมาชิกในกลุ่ม
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงจิ้งหรีด
การเริ่มต้นสำหรับโครงการนี้ อุปสรรคที่สำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่นเพื่อพิสูจน์ความคิดที่เป็นไปได้ บวกกับทัศนคติของกลุ่มเกษตรกรว่าโครงการนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะเปลี่ยนแปลงความคิดนั้นได้
“ในช่วงแรกๆ เกษตรกรทุกคนประสบกับปัญหาต่างๆ เช่น จิ้งหรีดตายยกบ่อ หรือได้รับผลผลิตน้อย สาเหตุเนื่องมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยเลี้ยงจิ้งหรีด และเกษตรกรทุกคนเริ่มต้นใหม่กับโครงการนี้ ดังนั้นทางกลุ่มจึงต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น เพื่อนำวิธีการเลี้ยงมาประยุกต์ใช้แต่ละฟาร์ม จนได้รูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน”
ปัจจุบันเกษตรกรในกลุ่มยอมรับแผนการทำงาน โดยที่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย แต่จะช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งในแผนงานนั้น ก็คือ ปริมาณจิ้งหรีดทั้งหมดที่สามารถผลิตได้ในแต่ละรุ่น จากนั้นจะประสานงานกับลูกค้าเพื่อแจ้งจำนวนสุทธิให้ทราบ เฉลี่ยมีอัตราการผลิตอยู่ที่ 3 ตัน/เดือน
แนวโน้มในอนาคต
อนาคตทิศทาง การเลี้ยงจิ้งหรีด ของกลุ่มฯ จะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมั่นคง ส่วนเรื่องของปริมาณการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับนั้น ทางกลุ่มได้มีแผนรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญพร้อมเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆที่ก่อให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาคุณภาพขึ้น โดยจะเลือกใช้วิธีที่เหมาะกับแนวทางปฏิบัติของกลุ่มเพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้การที่จะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ดีและประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีระเบียบวินัย และการวางแผนที่รอบคอบ ทั้งกระบวนการผลิต และการตลาด เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคนๆ เดียว แต่อยู่ที่ความร่วมมือ และความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกัน นั่นคือสิ่งสำคัญบนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
“และสิ่งที่อยากจะฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด คือ ควรศึกษาตลาดให้ดี โดยใช้หลักของการตลาดนำการผลิต เพื่อรองรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้น หรือมาปรึกษาทางกลุ่มฯ ได้ เรายินดีให้คำแนะนำ”
รายได้ของการเลี้ยงจิ้งหรีด
ด้าน คุณที กุมภวา เจ้าของฟาร์ม “ทอฝัน จั๊กหรีด” ตั้งอยู่เลขที่ 132 หมู่ 8 ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดนางรอง กล่าวถึงความรู้สึกว่า“ตั้งแต่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ การเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการตัดสินใจครั้งนั้นทำให้ครอบครัวของตนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอที่จะจุนเจือครอบครัว และที่สำคัญมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
ซึ่งแตกต่างจากการทำนาที่ครอบครัวทำอยู่เดิม โดยที่ไม่สามารถควบคุมทางด้านราคา และไม่สามารถคาดเดากับสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนตลอดทั้งปีได้ ซึ่งบางปีอาจมีฝนตกชุก หรือบางปีแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการทำนา แต่ไม่สามารถเลิกทำได้ เนื่องจากเป็นอาชีพหลักของครอบครัว”
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การเลี้ยงจิ้งหรีด ติดต่อ คุณสมศักดิ์ ก๊กศรี (คุณนิ) ผู้จัดการโทร.082-366-2396 และคุณลุธิราช อุปเสน โทร.096-309-1864