การผลิตน้ำนมอินทรีย์
ในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจในอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น อาหารออแกนิค หรืออาหารที่เป็นอินทรีย์ เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคที่รักสุขภาพส่วนใหญ่บริโภคนมเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เพราะรู้ว่านมนั้นมีประโยชน์มากมายหลายอย่าง แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักสถานที่ที่ผลิตน้ำนมอินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ และความแตกต่างของน้ำนมอินทรีย์กับน้ำนมธรรมดานั้น เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดจนมาถึงกระบวนการแปรรูปเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาอย่างมีคุณภาพ
โดย คุณพฤฒิ เกิดชูเชิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการผลิตนมอินทรีย์นี้ และป้อนเข้าสู่ตลาดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในนามของ “Dairy home” การทำน้ำนมอินทรีย์ต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่า และยังสามารถช่วยในการลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้อยู่รอด ผู้บริโภคเองก็ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ได้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแท้จริง
ส่วนแนวคิดการผลิตน้ำนมอินทรีย์อาจจะสวนทางกับการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันอยู่บ้าง เพราะการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันจะคำนึงถึงปริมาณน้ำนมเป็นหลัก แล้วคุณค่าอื่นๆ ตามมา แนวคิดน้ำนมอินทรีย์นี้ไม่ได้เน้นที่ปริมาณน้ำนมแต่เน้นที่คุณภาพ การผลิตน้ำนมอินทรีย์อย่างพิถีพิถันสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม
แรกเริ่มการการผลิตน้ำนมในประเทศไทยนั้นจุดเริ่มต้นอยู่ที่เมื่อ 60 ปีก่อน มีชุมชนชาวอินเดียที่อาศัยอยู่รอบๆ กรุงเทพฯ เลี้ยงโคนมไว้เพื่อบริโภคเอง หรือเลี้ยงเพื่อจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านที่เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน โคจะเป็นโคอินเดีย และโคลูกผสม
จนกระทั่งปี พ.ศ.2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนเดนมาร์ค ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวเดนมาร์คเลี้ยงโคนมกันอย่างแพร่หลาย สายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงมองเห็นถึงคุณประโยชน์ในการเลี้ยงโคนม ท่านก็เลยแสดงความรู้สึกว่าอยากนำโคนมกลับมาให้คนไทยได้เลี้ยงบ้าง ในปี พ.ศ.2505 กษัตริย์ของเดนมาร์คได้เสด็จเยือนประเทศไทย และได้มอบโคนม ซึ่งเป็นโครงการไทยเดนมาร์ค หรือในปัจจุบัน ก็คือ “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” หรือที่รู้จักในนาม อ.ส.ค. ที่ตั้งอยู่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
สภาพพื้นที่การเลี้ยงโคนม
เดิมทีนั้นคุณพฤฒิเคยทำงานด้านโคนมมาก่อน หรือเคยทำงานที่ไทยเดนมาร์กในโครงการส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี ภายใต้การรับผิดชอบหลักๆ ก็คือ ด้านการปรับปรุงพันธุ์โคนม และการผสมเทียม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ ทำให้คุณพฤฒิมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องโคนมค่อนข้างดี จากนั้นได้ลาออกมาทำธุรกิจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาโคนมให้ยั่งยืน และเริ่มการผลิตน้ำนมอินทรีย์ที่เพิ่มคุณค่าให้แก่น้ำนม และยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย เพื่อเกษตรกรสามารถอยู่ได้ และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ต้นทุนที่สูง และคุณภาพน้ำนมที่ไม่สามารถสู้กับต่างประเทศได้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายน้ำนมดิบ จนเกิดการประท้วง โดยการเอาน้ำนมดิบมาเททิ้งในสมัยก่อน รัฐบาลเลยมีมาตรการมารองรับ ด้วยการทำโครงการนมโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหานี้
การผลิตน้ำนมอินทรีย์ทุกขบวนการนั้นเน้นรักษาสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากการเลี้ยงโคนมที่ปราศจากสารเคมีและยา โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ ที่ธรรมชาติสร้างมาให้เกื้อกูลกัน และช่วยลดต้นทุน ฟาร์มต้นแบบที่คุณพฤฒิสร้างขึ้นมีพื้นที่ 5 ไร่ และมีจำนวนโคนมเพียง 10 ตัว ประกอบด้วยพื้นที่โรงเรือน 1 ไร่ ปลูกพืชอาหารสัตว์ 4 ไร่ อาจจะปลูกมันสำปะหลังไว้ด้วย เพื่อลดต้นทุนในการผลิตอาหารข้น โคจะถูกปล่อยอิสระตลอดเวลา ทำให้โคนมไม่เครียด มีพื้นที่เพียงพอไม่แออัด โคไม่เจ็บป่วยบ่อย มีการจัดการที่ง่าย และสะดวก
การให้อาหารโคนม
ด้านอาหารหลัก คือ หญ้าสด ที่เสริมด้วยอาหารข้นที่มาจากพืชที่เป็นอินทรีย์ เช่น รำจากข้าวที่ทำด้วยวิธีการอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันนี้หาซื้อง่ายกว่าสมัยก่อน เนื่องจากเกษตรกรหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น การเลี้ยงโคนมแบบออแกนิค คือ back to basic น้ำนมนี้ต้องมาจากหญ้า การสร้างโปรตีน ไขมัน วิตามิน มาจากแร่ธาตุในดิน จะทำให้น้ำนมเหล่านี้มีคุณภาพสูง โปรตีนเป็นโปรตีนที่ดี “กรดไขมัน” ในนมที่เลี้ยงแบบออแกนิคจะดีกว่ากรดไขมันนมทั่วไป เพราะมี “โอเมก้า3” ซึ่งจริงๆ แล้วคนทั่วไปคิดว่ามีแต่ในปลาทะเลเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมี CLA เป็นกรดไขมันที่ดี มีสาร Antioxidant หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ได้น้ำนมที่มีคุณค่าต่อผู้บริโภค การเลี้ยงแบบนี้ต่อให้เกษตรกรได้ราคาเดิม แต่ก็ได้กำไร เพราะว่าคุณภาพน้ำนมจะดีกว่า ทั้งด้านเนื้อนมที่สูงกว่า ทำให้ได้ราคาดีกว่า และที่สำคัญมีต้นทุนน้อยกว่าการเลี้ยงโคนมแบบทั่วไปที่เน้นปริมาณนม การที่เลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมที่มาก อาหารข้นที่มาเสริมต้องมากตามจำนวนโคนมไปด้วย
การบริหารจัดการโคนม
การเลี้ยงโคนมจำนวนมากในพื้นที่ที่น้อยแออัดกัน ทำให้เกิดความเครียด เกิดการเจ็บป่วยในโคนมได้ง่าย ต้องอาศัยยามาช่วยในการรักษา เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ใช้ปุ๋ยเคมีมาช่วยเร่งการเติบโตของพืชอาหารสัตว์ การใช้ปุ๋ยเคมีนานๆ จะเกิดภาวะดินแข็งกระด้าง สัตว์ในดินหนี หรือตาย เนื่องจากความสมดุลในดินเปลี่ยนไป ออกซิเจนในดินต่ำ เพราะไม่มีสัตว์ในดินมาทำให้เกิดรูพรุน และยังมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่ลงสู่แหล่งน้ำในดิน เกิดไนเตรท หรือไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ปนเปื้อนแหล่งน้ำเหนือผิวดิน เกิดสาหร่ายและแพลงก์ตอนบูม ทำให้น้ำเน่าเสีย การระเหยเป็นก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซแอมโมเนีย ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
การที่แม่โคนมให้นมปริมาณที่มากจะทำให้ร่างกายโทรม น้ำหนักน้อย ส่งผลให้เกิดการผสมไม่ติด สุดท้ายต้องเกิดการคัดทิ้ง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงมากขึ้น การเลี้ยงโคนมอินทรีย์จะมีต้นทุนที่น้อยกว่า เนื่องด้วยจำนวนโคนมในฟาร์มมีความเหมาะสมต่อพื้นที่การเลี้ยง เป็นแนวทางหนึ่งที่ป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดจากความเครียด
การที่ใช้หญ้าปลูกเองเป็นอาหารหลัก ใช้มูลโคนมเป็นปุ๋ยให้กับหญ้าในแปลง ปุ๋ยคอกช่วยในการหมุนเวียนของแร่ธาตุ สัตว์ในดินไม่หนี หรือตาย เกิดกระบวนการย่อยสลาย พืชสามารถดูดซึมสารอาหารได้ เพราะปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก จะค่อยๆ ปล่อยสารอาหารมาไม่เกินความต้องการของพืชในดิน สภาวะความเป็นกรด-ด่างสมดุล ส่วนเรื่องแมลง จำพวกเห็บ หมัด จะใช้สมุนไพรในการกำจัดหรือไล่ให้ออกไป ตัวอย่างการใช้เมล็ดน้อยหน่าผสมกับเหล้าขาวหมักทิ้งไว้ 1 คืน ฉีดพ่นตามตัวโคนม ปลอดภัยทั้งโค เกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้บริโภค ที่ไม่ได้รับสารเคมีที่ตกค้าง
การทำนมอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการเลี้ยงเหมือนสมัยก่อนที่ไม่ใช้ยา ไม่ใช้สารเคมี แต่การเลี้ยงนั้นจะต้องมีมาตรฐาน ความสะดวก ความสะอาด มีระเบียบ วิธีการ เพื่อให้เกิดการรับรอง เกษตรกรมีการจดบันทึกจำนวนหญ้าที่ให้โคกิน การใช้สมุนไพรในแต่ละวัน มีงานเอกสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ตรวจสอบหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาตรวจสามารถตรวจสอบได้
ด้านตลาดและการจำหน่ายน้ำนมอินทรีย์
คุณพฤฒิยังบอกว่า “หลักการของน้ำนมอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่เสีย ต่อให้คุณเอาทุกอย่างที่เป็นออแกนิค เอามาเลี้ยงให้โคกิน แต่คุณยังเลี้ยงแบบขังคอก มันก็ยังไม่ใช่ นี่คือคอนเซปต์” ปัจจุบันแดรี่โฮมมีเกษตรกรในเครือข่ายที่ผลิตน้ำนมอินทรีย์ในเขตอำเภอมวกเหล็ก และอำเภอปากช่อง ส่วนคุณภาพน้ำนม จุลินทรีย์ต่ำ Somatic cell ต่ำ เนื้อนมดี ไขมันสูง เนื่องจากเกษตรกรเข้าใจ และเปลี่ยนวิธีการ
คุณพฤฒิยังบอกอีกว่า “มีเกษตรบางฟาร์มเคยได้น้ำนมหลายร้อยลิตร เขาเข้ามาศึกษาแล้วเข้าใจ หักดิบคือเลิกเลย นมที่ได้ปริมาณลดลงครึ่งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นปริมาณน้ำนมก็กลับมาประมาณ 60-70% โคป่วยน้อยลง เป็นเต้านมอักเสบน้อยลง ได้คุณภาพนมที่สูงขึ้น ได้ราคาที่สูงขึ้น”
ปัจจุบันแดรี่โฮมได้รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรประมาณ 7ตัน/วัน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำนมอินทรีย์ซึ่งแปรรูปนมประมาณ 10 รสชาติ โยเกิร์ตพร้อมดื่ม 5-6 รส โดยการใช้ ไบโอพลาสติก ที่เกิดการต่อยอดผลงานด้านนวัตกรรมเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อผู้บริโภค ไอศกรีมประมาณ 40 รสชาติ ขนมปังเบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีวางจำหน่ายที่อื่นด้วยในโมเดิร์นเทรดทุกยี่ห้อ และในส่วนต่างจังหวัดก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ของแดรี่โฮมจัดจำหน่าย
ส่วนขนมปังไม่มีจำหน่ายที่อื่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของแดรี่โฮมไม่ใส่สารกันบูด “นมก่อนนอน” เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจ นมที่กินแล้วหลับสบาย มีสารเมลาโทนินที่ได้จากธรรมชาติ ที่ช่วยในการนอนหลับ ตื่นขึ้นมาไม่ปวดหัว คนที่แพ้นมวัวนั้นมีหลายประเภท คือ คนที่แพ้แลคโตส และแพ้โปรตีนในนม จะทานนมไม่ได้ แต่ถ้าคนทานนมแล้วแพ้อย่างไม่ทราบสาเหตุ อาจจะแพ้สารตกค้างในน้ำนม นมอินทรีย์จะช่วยในเรื่องนี้ได้ เพราะนมอินทรีย์ไม่มีสารตกค้างใดๆ เลย
การส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ การเลี้ยงวัวนม
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร ผู้สนใจ มาศึกษาเรียนรู้ ตั้งแต่การเลี้ยงจนถึงกระบวนการแปรรูปน้ำนมอินทรีย์ ในปัจจุบันแดรี่โฮมร่วมมือกับประชารัฐ กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้าใจวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งให้ความรู้ ความเข้าใจ ในระบบเกษตรอินทรีย์ อบรมในการสอนวิธีการปลูกหญ้า ปลูกมันสำปะหลัง ปรับปรุงระบบการเลี้ยงให้ทันสมัยขึ้นตามมาตรฐาน
คุณพฤฒิยังบอกอีกว่า “เรามีการจัดสัมมนาบ่อย ระหว่างนั้นก็มีการประชุมแบบสัญจร แล้วเชิญเกษตรกรมารับฟัง เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจ ใครอยากเรียนรู้ก็เข้ามารับฟังได้ บางครั้งผู้ที่สนใจมาจากที่ไกลๆ ต้องบอกก่อนว่าไม่สามารถไปรับนมคุณได้ เนื่องจากฟาร์มอยู่ไกลกันมาก แต่สอนวิธีการพาสเจอร์ไรส์นมแทน เกษตรกรผู้สนใจสามารถผลิตเอง และจำหน่ายเองได้ เป็นการพึ่งพาตนเอง”
ซึ่งการลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรรายแรกนั้นต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการเลี้ยงวัวแบบอินทรีย์ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด คุณพฤฒิยังเผยอีกว่า “เมื่อเราทำทุกอย่างให้ดี ผลทุกอย่างก็ออกมาดี เราผ่านจุดนี้ไปได้ เท่ากับเราได้รับรองการผลิตกันเองแล้วว่าได้มาตรฐาน ดังนั้นแดรี่โฮมขายน้ำนมอินทรีย์ก่อนที่ประเทศไทยจะรับรองปศุสัตว์อินทรีย์ เมื่อประเทศไทยมีการรับรองระบบอินทรีย์ที่เป็นมาตรฐานขึ้นมา เราก็เอาเกษตรกรของเราเข้าสู่ระบบได้ทันที ฉะนั้นเกษตรกรของเราจึงได้รับการรับรองกลุ่มแรก”
เป้าหมายในอนาคต
การผลิตน้ำนมอินทรีย์ เริ่มต้นจากการได้เจอกับปัญหาต้นทุนในการเลี้ยงโคนม และปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ทำให้ได้แนวคิดในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จนเกิดการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ที่เกื้อกูลกันในด้านสิ่งแวดล้อม และยังช่วยในด้านการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรอีกด้วย ผู้บริโภคยังได้บริโภคผลิตภัณฑ์นมที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี ทำให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่แท้จริง ถึงผลิตภัณฑ์จะมีราคาสูงกว่าราคานมปกติทั่วไปตามท้องตลาด เมื่อเทียบคุณค่าแล้วสำหรับคนที่รักสุขภาพนั้นไม่ใช่ราคาที่สูงมาก
ถึงแม้ว่าบริษัท แดรี่โฮม จำกัด จะสามารถผลิตน้ำนมอินทรีย์คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก แต่เป้าหมายของบริษัทฯ ในอนาคตต้องมีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มีแรงต้านทานต่อปัจจัยภายนอกได้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่แดรี่โฮมมุ่งมั่นพัฒนาทำมาตลอด เพื่อให้ได้ “น้ำนมอินทรีย์ มีคุณภาพที่สุด” การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม
ขอขอบคุณ คุณพฤฒิ เกิดชูเชิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด 100/1 หมู่ 11 ถ.มิตรภาพ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30320 โทร.089-801-9988 การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม การเลี้ยงวัวนม