ในปัจจุบันการเลี้ยงหมูเมื่อเทียบกีบอดีตมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และการเลี้ยงในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยังคงมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงในปัจจุบัน เช่น เรื่องของราคาที่มีความผันผวนตลอดเวลา เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนต่างๆ ที่ขยับเข้าหาฟาร์มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงหมูขุน
ทำให้เจ้าของฟาร์มหรือผู้เลี้ยงต้องคอยปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนเมืองโดยรอบ ซึ่งผลกระทบสำคัญ คือ เรื่องกลิ่น และของเสียภายในฟาร์ม นอกจากนี้ยังต้องเจอกับเรื่องของโรคระบาด ในปัจจุบันมีโรคใหม่เกิดขึ้นมากมาย และโรคที่เกิดขึ้นนั้นก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงหมูในปัจจุบันจึงไม่หมูอีกต่อไป
อย่างไรก็ดีสำหรับผู้เลี้ยงที่ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนและค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ดังเช่น “ศรีสุรภาฟาร์ม” ที่ดำเนินธุรกิจการเลี้ยงหมูมานานหลายปีตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ไปได้ จนกลายเป็นฟาร์มที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการเลี้ยงหมูอีกฟาร์มหนึ่ง
คุณชยุต รุ่งพัฒนาชัยกุล (เฮียตง) เจ้าของศรีสุรภาฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ ม.4 ต.ซำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ บอกว่า ความสำเร็จในการเลี้ยงหมูของตนเกิดจากความใส่ใจ และให้ความสำคัญกับทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องเล็กน้อย เพราะทุกปัญหาหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือขาดความใส่ใจอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่มากขึ้นในอนาคตได้ เป็นการขจัดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
ทั้งในเรื่องของพันธุ์สัตว์ อาหาร และการจัดการภายในฟาร์ม ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเลี้ยงอย่างแท้จริง ถ้าหากสามารถจัดการและควบคุมให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อฟาร์มน้อยกว่าฟาร์มอื่นก็เป็นไปได้
จุดเริ่มต้น การเลี้ยงหมูขุน
ที่มาของฟาร์มแห่งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ ที่เปิดร้านขายอาหารสัตว์เป็นอาชีพหลัก จากนั้นก็เริ่มหันมาเลี้ยงหมูร่วมด้วย ส่วนตัวของเฮียตงเองหลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ ก็ให้ความสนใจและเริ่มหันมาเลี้ยงหมูตามพ่อ แต่เนื่องด้วยตนเองนั้นจบทางด้านบริหารจึงมีแนวคิดว่าเราควรเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์ร่วมด้วย
ปัจจุบันเฮียตงมีการเลี้ยงหมู 2 ฟาร์ม โดยฟาร์มแรกขนาด 8,000 ตัว บนพื้นที่ 75 ไร่ ส่วนฟาร์มที่สองขนาด 12,000 ตัว บนพื้นที่ 140 ไร่ ซึ่งหมูที่เลี้ยงทั้งหมดเป็นหมูขุน มีรวมกันกว่า 20,000 ตัว
การเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีว่าควรมีพันธมิตรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลต่างๆทั้งในเรื่องการจัดการ โรคระบาด ราคาขาย อาหาร และพันธุ์สัตว์ ฟาร์มแห่งนี้ก็เช่นกันถึงจะเป็นการเลี้ยงแบบอิสระแต่ก็ยังคงต้องมีเพื่อนคู่คิดในการดำเนินธุรกิจ ไม่ควรเลี้ยงแบบโดดเดี่ยว โดยเป็นพันธมิตรที่ดีกับบริษัทที่เป็นแนวหน้าในด้านอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทย
เนื่องจากทางฟาร์มเล็งเห็นว่าการเลี้ยงในปัจจุบันต้องมีข้อมูลพื้นฐานในเรื่องของราคา ซึ่งปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเรื่องโรคระบาดยังมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหากไม่ให้ความสนใจหรือรู้ไม่เท่าทันในเรื่องเหล่านี้ก็อาจนำมาซึ่งผลเสียในอนาคต ดังนั้นจึงควรมีพันธมิตรทางการค้าที่เขามีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้มากกว่าเรา ให้เข้ามาคอยส่งต่อข้อมูลให้อัพเดตและเท่าทันโลกอยู่เสมอ เพื่อให้เราสามารถที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราคาการซื้อขายในตลาดกลาง ซึ่งปัจจุบันมีความผันผวนเป็นอย่างมาก หากเราไม่มีพันธมิตรที่จะช่วยอัพเดตข้อมูลพวกนี้ เวลาขายหมูให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ พ่อค้าจะเสนอราคาเท่าไรเราก็ขายราคาเท่านั้น โดยไม่ทราบว่าราคาที่ขายกันจริงเท่าไร เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลในเรื่องของราคาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เราจึงไม่อาจต่อรองราคากับพ่อค้าได้ ดังนั้นเฮียตงมองว่า “การวางแผนการเลี้ยงของเราได้นั้น เราจำเป็นต้องมีพันธมิตรทางการค้า”
เฮียตงกล่าวต่ออีกว่าปัจจุบันการเลี้ยงหมูไม่เหมือนในอดีต เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ทำให้มีปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโรคระบาด ซึ่งปัจจุบันมีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างเตรียมรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายตัวนี้ เพราะหวั่นเกรงว่าเชื่อโรคร้ายตัวนี้จะแพร่ระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทย เนื่องจากทุกพื้นที่และทุกโอกาสมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคร้ายตัวนี้ตลอดเวลา
ซึ่งถ้าไม่เปิดรับข่าวสารใหม่ๆ เอาแต่หมกตัวอยู่ในฟาร์ม ก็ตามไม่ทันข่าวสารเรื่องเหล่านี้ “แต่ถ้าเรามีพันธมิตรทางการค้าที่จะคอยให้ข้อมูล และให้ความรู้ เราก็จะมีแผนที่จะเตรียมรับมือได้ทันก่อนที่มันจะก่อความเสียหายอย่างมหาศาลต่อฟาร์มของเรา” เฮียตงยืนยัน
การบำรุงดูแลลูกหมู
คุณชยุตได้กล่าวถึงการจัดการด้านการเลี้ยงควรให้ความสำคัญกับทุกส่วนงาน เพราะทุกส่วนนั้นมีความสำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่การซื้อลูกหมูเข้ามาเลี้ยง ซึ่งปัจจุบันซื้อมาจากบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เพราะมั่นใจว่าจะได้ลูกหมูที่มีสุขภาพดี โตเร็ว และมีคุณภาพ ซื้อลูกหมูมาตอนลูกหมูอายุ 3 สัปดาห์ น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 7 กิโลกรัม เข้ามาเลี้ยงภายในโรงเรือนระบบปิด (Evap) ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรก ลูกหมูจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากลูกหมูยังไม่แข็งแรง และยังคงต้องได้รับความอบอุ่น จึงจำเป็นต้องมีการกกไฟอุณหภูมิประมาณ 34 องศา ถ้าเป็นช่วงอากาศเย็นอาจจะต้องเปิดไฟกกให้ลูกหมูมากถึง 3 สัปดาห์ เพื่อให้ความอบอุ่นที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกหมู แต่ทั้งนี้การกกไฟก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าด้วย
ในเรื่องการจัดการด้านอาหาร เฮียตงเปิดเผยว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรก ต้องให้เป็นอาหารเปียกก่อน เนื่องจากลูกหมูยังมีลำไส้ไม่แข็งแรง ดังนั้นการให้อาหารจึงควรเป็นอาหารเปียก ซึ่งกินง่ายและมีความน่ากินสูง โดยการนำอาหารเม็ดมาผสมน้ำลงไป อาหารที่ละลายในน้ำจะมีความหอมชวนให้ลูกหมูสนใจเป็นพิเศษ ให้อาหารแบบนี้อยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยๆ ปรับเป็นการให้อาหารแบบเม็ด
และถ้าหากในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก มีลูกหมูตัวใดที่ดูไม่แข็งแรง น้ำหนักน้อย หรือโตช้ากว่าเพื่อน กินอาหารไม่ทันเพื่อน สัตวบาลจำเป็นต้องทำการคัดเลือกลูกหมูออกมาเพื่อให้การดูแลเป็นพิเศษมากขึ้นกว่าตัวอื่น เพื่อให้ลูกหมูตัวนั้นสุขภาพดีขึ้น และโตทันเพื่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพบปัญหานี้ เพราะลูกหมูที่ได้มาจะเป็นลูกหมูที่แข็งแรงอยู่แล้ว
ระยะเวลาใน การเลี้ยงหมูขุน ประมาณ 22 สัปดาห์ นับจากที่รับลูกหมูเข้ามาเลี้ยง แต่ถ้านับตั้งแต่ลูกหมูเกิดจนถึงขุนขายจะใช้เวลาทั้งหมด 25 สัปดาห์ และน้ำหนักที่จะสามารถขายหมูขุนได้ควรจะอยู่ที่ประมาณ 105 กิโลกรัม/ตัว ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เหมาะสมกับต้นทุนการเลี้ยง และความต้องการของตลาดก่อนจะส่งเข้าโรงเชือดดังนั้น การเลี้ยงหมูขุน ให้ได้กำไรตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หมูควรมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
เฮียตงได้กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการฟาร์มว่าจะมีสัตวบาล และคนเลี้ยง คอยช่วยดูแลให้เป็นไปตามตารางหรือโปรแกรมที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันทางฟาร์มเองจะมีคนงาน รวมทั้งสัตวบาล ทั้งหมด 60 คน โดยแบ่งเป็นฟาร์มแรก 25 คน ฟาร์มที่สอง 35 คน โดยคนงานจะคอยดูแลและสังเกตอาการหมู ทั้งคอยให้อาหาร ฉีดวัคซีน ตามที่สัตวบาลสั่ง และคอยสังเกตสุขภาพหมูแต่ละตัว หากพบปัญหาให้รีบแจ้งสัตวบาลทันที ส่วนสัตวบาลจะคอยดูแลภาพรวมการจัดการทั้งหมด ทั้งการจัดการด้านอาหาร โปรแกรมวัคซีน และสุขลักษณะทั่วไป ให้เป็นไปตามที่กำหนด
ในเรื่องของการให้วัคซีน ปัจจุบันทางฟาร์มมีการใช้วัคซีน 3 ตัว คือ วัคซีนเซอร์โคไวรัส จะฉีดเมื่อลูกหมูอายุ 4 สัปดาห์ วัคซีนอหิวาต์สุกร ฉีดเมื่อลูกหมูอายุ 5 สัปดาห์ และวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ฉีดเมื่ออายุได้ 8 สัปดาห์ นอกจากทำวัคซีนเหล่านี้แล้ว ทางฟาร์มยังมีระบบไบโอซีเคียวริตี้ หรือระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ(Biosecurity) ซึ่งเป็นระบบหรือมาตรการที่นำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระหว่างสัตว์สู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คน ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นวิธีการป้องกันขั้นพื้นฐานของฟาร์ม
กลยุทธ์ในเรื่องการจัดการฟาร์มที่น่าสนใจ คือ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการเลี้ยง ถือเป็นนาทีทองของการเลี้ยง เพราะถ้าการจัดการดี ลูกหมูก็โตไว สุขภาพก็ดี ไม่ป่วยและตาย ไม่แคระแกร็น เทคนิคสำคัญอยู่ที่การปรับอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน โดยลักษณะการปรับจะปรับตามช่วงอายุของหมู ในช่วง 4 สัปดาห์แรก มีความเร็วลมที่ต่ำ และเพิ่มสูงขึ้น เมื่อหมูอายุได้ 8 สัปดาห์ และเมื่อหมูอายุได้ 12 สัปดาห์ เราก็ต้องปรับความเร็วลมภายในให้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากหมูที่โตขึ้น มีการกินอาหารที่เพิ่มขึ้น มีการะบายความร้อนมากขึ้น มีของเสียมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สแอมโมเนียภายในโรงเรือนที่มากขึ้น ซึ่งแก๊สนี้หากมีมากเกินไปจะส่งผลให้ลูกหมูรู้สึกอยู่ไม่สบาย และเริ่มกินอาหารน้อยลง ส่งผลให้การโตช้าลง เราจึงต้องมีการปรับความเร็วลมให้เพิ่มขึ้น เพื่อดูดซับกลิ่นและแก๊สแอมโมเนียออกจากโรงเรือน
อีกเรื่องที่ทางศรีสุรภาฟาร์มให้ความสำคัญไม่แพ้กับเรื่องอื่นๆ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางฟาร์มได้นำเอาระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการจัดการด้านของเสียพวกขี้หมูที่เกิดขึ้นภายในฟาร์มได้ดีมาก ซึ่งการจัดการด้วยวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนชุมชนใกล้เคียงลงได้ และยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถนำมูลสุกรมาใช้ประโยชน์ได้สูง
โดยกากที่ได้จากกระบวนการหมักสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ ส่วนแก๊สที่เกิดจากกระบวนหมักนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการปั่นกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในฟาร์ม ซึ่งส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไฟฟ้าลงได้มากถึง 80% เป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงที่ดีมาก
“จุดเด่นของเรา คือ สายพันธุ์ที่ดี การจัดการที่ดี มีอาหารที่ดี เทคโนโลยีที่ดี และทันสมัย ทำให้เรามีต้นทุนในการเลี้ยงที่ต่ำ การสูญเสียน้อย ส่งผลให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะสามารถควบคุมราคาขายตามท้องตลาดได้ แต่เราสามารถลดต้นทุนของเราได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เราก็มั่นใจว่าต้นทุนเราถูกกว่าแน่นอน”เฮียตงให้ความเห็น
แนวโน้มในอนาคตของ การเลี้ยงหมูขุน ในฟาร์ม
ในอนาคตทางฟาร์มวางเป้าหมายว่าจะทำโรงเชือดเอง แต่ปัจจุบันก็ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องการปรับปรุงการเลี้ยง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะชุมชนที่ขยับเข้าหาตัวฟาร์มมากขึ้น และการควบคุมและป้องกันโรคที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากโรคระบาดในปัจจุบันที่เกิดขึ้นมากมาย และมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในตอนนี้ที่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศจีน และมีโอกาสเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งโรคร้ายนี้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่แน่นอน
อย่างไรก็ดีโรคนี้เป็นโรคที่น่ากลัว ส่งผลที่รุนแรง และสามารถแพร่ระบาดเข้ามาได้ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นรถที่ขนส่งหมู หรือคนที่สัมผัสเชื้อร้ายนี้มา ในฟาร์มขนาดกลางอาจจะไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในการป้องกันที่ดี
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เกษตรกรรายย่อยที่ยังคงขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการระบาดที่รุ่นแรง จึงอยากฝากถึงเกษตรกรรายย่อยทุกคนให้หมั่นศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้ให้มาก และร่วมมือกันป้องกันอย่างเต็มที่ เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดใดก็ตามหากเกิดโรคระบาดขึ้นก็ย่อมเกิดความเสียหายมากกว่ากำไรอย่างแน่นอน
สุดท้ายเฮียตงยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “เกษตรกรรายย่อยถ้าคิดจะเลี้ยงก็ควรจะมีเครือข่ายหรือพันธมิตร เพื่อที่เขาจะได้ให้ความช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องโรค ราคา และการจัดการด้านต่างๆ เกษตรกรรายย่อยจะได้อยู่ได้ และถ้าเกษตรกรมีความประสงค์จะเข้ามาเป็นเครือข่ายเดียวกันกับทางฟาร์ม ทางฟาร์มก็ยินดีและเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเราทุกคนก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
สนใจเยี่ยมชมฟาร์มติดต่อ บริษัท ศรีสุรภาฟาร์ม จำกัด โทร.091-015-1115