การเลี้ยงหมู ใช้แม่ TS1 100 ตัว เป็นฐานผลิตลูกสุกร ประกิจฟาร์ม ตอนที่ 1

โฆษณา
AP Chemical Thailand
อาหารสัตว์ เอ พี เอ็ม
อาหารสัตว์ เอ พี เอ็ม

การมีอาชีพเป็นของตัวเอง แน่นอนว่าย่อมดีกว่าการเป็นลูกจ้างคนอื่น เพราะธุรกิจจะเติบโตได้นั้นขึ้นอยู่กับความขยัน ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดั่งเช่น คุณ ประกิจ ยี่หวาวงศ์ ที่ใฝ่ฝันอยากมีอาชีพเป็นของตัวเอง โดยลองผิดลองถูกจนสามารถประกอบธุรกิจฟาร์มสุกรประสบความสำเร็จ ภายใต้ชื่อ “ ประกิจฟาร์ม ”

คุณประกิจ ยี่หวาวงศ์
คุณประกิจ ยี่หวาวงศ์

เล่าให้ ทีมงานนิตยสาร สัตว์บกฟังว่า ตนเริ่มทำอาชีพเลี้ยงสุกรเมื่อปี พ.ศ.2545 โดยก่อนหน้านั้นเป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ทำงานนั้นได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากมาย ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีคนตกงานมาก หากมองถึงอนาคตอาจจะไม่มีความมั่นคง ตนจึงมองหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง จากการค้นคว้าด้วยตัวเองอยู่พักหนึ่ง ก็สรุปว่าอาชีพเลี้ยงสุกรอาจจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้พอสมควร จึงทดลองเลี้ยงไปพร้อมกับการทำงานประจำ

โดยเริ่มซื้อสุกรแม่พันธุ์จากบริษัทรายใหญ่จำนวน 4 ตัว เป็นแม่พันธุ์สองสาย แต่การเลี้ยงมีปัญหาเกิดขึ้นจากตัวสุกรเอง เนื่องจากสุกรแม่พันธุ์ที่ซื้อมานั้นถูกเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด(Evap) ส่วนทางฟาร์มเป็นโรงเรือนเปิดจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น เช่นแม่พันธุ์ตายเพราะคลอดลูกไม่ได้ และผสมไม่ติด จึงทำให้การเลี้ยงสุกรล้มเหลว

ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงสุกรขุน โดยซื้อลูกสุกรจากฟาร์มใหญ่ที่น่าเชื่อถือและเป็นฟาร์มที่เลี้ยงในระบบเปิด เลี้ยงมาเรื่อยๆจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2547 หลังภาวะวิกฤติไข้หวัดนก ประเทศไทยมีจำนวนประชากรสุกรค่อนข้างมาก ทำให้ราคาสุกรถูก ทางฟาร์มจึงแก้ปัญหาด้วยการเปิดเขียงหมูเอง โดยนำสุกรที่เลี้ยงเองมาชำแหละและรับซื้อสุกรจากฟาร์มอื่นในอำเภอด้วย

“พอเปิดเขียงหมูได้ประมาณ 1 ปี คิดว่าจะต้องเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์เอง เพื่อผลิตสุกรขุนเอง แต่ในขณะนั้นยังไม่ทราบว่าจะไปซื้อแม่พันธุ์จากไหน ในเวลาใกล้เคียงกันก็มีเกษตรกรรายหนึ่งที่เคยขายลูกสุกรขุนให้กับทางฟาร์ม เขาประกาศขายพ่อ-แม่พันธุ์ เราจึงเข้าไปติดต่อและซื้อตัวที่มีลักษณะดี ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง”

ต่อมาในปี พ.ศ.2549-2550 เป็นช่วงที่ราคาสุกรร่วงอย่างหนักหลายๆ ฟาร์มได้รับผลกระทบถึงกับเลิกกิจการไป ส่วนทางฟาร์มไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะทางฟาร์มได้ทำเขียงหมูเอง และในช่วงที่สุกรมีราคาตก คุณประกิจได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยคิดว่าหากปรับปรุงพันธุ์ ช่วงนี้คงเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด เพราะฟาร์มใหญ่จะคัดสุกรพ่อ-แม่พันธุ์ออกจำหน่าย จึงไปซื้อแม่พันธุ์ถึงจังหวัดกระบี่ เพราะคิดว่าพ่อ-แม่พันธุ์ที่ซื้อจากฟาร์มอื่นเข้ามาหรือที่มีอยู่ ฟาร์มอาจมีสายพันธุ์เกี่ยวเนื่องกัน เกรงว่าจะเกิดปัญหาเลือดชิดได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ในปี พ.ศ.2551 ราคาสุกรมีการขยับขึ้น หลังจากนั้นฟาร์มก็สามารถอยู่ได้ จึงหยุดการทำเขียงหมูหันมาใส่ใจการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มมากกว่าเดิม เนื่องจากช่วงนั้นมีแม่พันธุ์มากขึ้น ประกอบกับตนยังทำงานประจำอยู่ ไม่สามารถช่วยดูแลได้อย่างเต็มที่ จึงยุติการทำเขียงหมูเปลี่ยนมาผลิตสุกรจำหน่ายให้พ่อค้าแทน”

แม่พันธุ์TS1
แม่พันธุ์TS1

สาเหตุที่เลือกอาชีพเลี้ยงสุกร เพราะเป็นอาชีพเดียวที่เกษตรกรรายย่อยสามารถสู้รายใหญ่ได้ ถ้าหากเลือกทำอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อหรือไก่ไข่จะต้องเลี้ยงแบบระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับบริษัทใหญ่ เพราะเรื่องตลาด การกระจายสินค้าจะสู้รายใหญ่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสุกรจะมีตลาดแน่นอน เช่นเขตเทศบาลตำบล เขตอำเภอ รวมถึงในหมู่บ้านที่สามารถแทรกเข้าไปได้

ปัจจุบันประกิจฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงสุกรทั้งหมด 4 หลัง แบ่งเป็นโรงเรือนสุกรขุน 2 หลัง และพ่อ-แม่พันธุ์ 2 หลัง เป็นโรงเรือนเปิด บนหลังคาโรงเรือนจะติดสปริงเกลอร์ไว้ และมีพัดลมระบายอากาศเพื่อลดความร้อนให้แก่สัตว์เลี้ยง เพราะภาคอีสานในฤดูร้อน สภาพอากาศมีลักษณะร้อนแห้งและแล้งจัด สุกรที่เลี้ยงไว้จะมีอาการหอบ ซึ่งจะส่งผลเสียหลายด้าน เช่น ความเครียด การให้น้ำนม การเลี้ยงลูกสุกร เป็นต้น

ซึ่งตอนนี้ทางฟาร์มได้เตรียมสุกรแม่พันธุ์ TS1 (เป็นแม่พันธุ์ที่เกิดจากพ่อ TT1) ไว้ทดแทน จำนวน 100 ตัว และแม่พันธุ์ยืนกรงอีกจำนวน 40 ตัว การจัดการในแต่ละวันจะมีงานที่ต้องทำเป็นประจำ คือในโรงเรือนแม่พันธุ์จะทำความสะอาด เช็คสัด ตรวจดูกีบเท้าและเต้านมสุกรแม่พันธุ์ ส่วนลูกสุกรในตอนเช้าเช็คสุขภาพพร้อมกับการให้อาหาร และจะตรวจเช็คอีกรอบตอนทำความสะอาด เพราะช่วงอากาศร้อนซึ่งจะมีผลต่อการเลี้ยงสุกรมาก ทางฟาร์มจะมีวิธีแก้ปัญหาโดยปรับสูตรอาหารที่ให้พลังงานลดลง ช่วงเวลาให้อาหารสำหรับแม่พันธุ์จะช้ากว่าเดิม เช่นจากที่เคยให้เวลา 15.00 น. เปลี่ยนเป็น 18.00 น. เนื่องจากการให้ในเวลาเดิมเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน ปรากฏว่าแม่สุกรมีอาการหอบ ซึ่งส่งผลเสียหลายด้าน

ด้านอาหารจะใช้ทั้งอาหารสำเร็จรูปและอาหารผสมเอง โดยอาหารสำเร็จรูปจะให้สุกรอนุบาลหรือลูกสุกรเลียราง ส่วนสุกรเล็กจะให้อาหารสำเร็จรูปจนกว่าน้ำหนักถึง 20 กก. จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นอาหารสำเร็จรูปผสมกับอาหารสูตรของฟาร์มให้กินเพื่อลดความแตกต่างในช่วงที่เปลี่ยนอาหาร จนกระทั่งสุกรมีน้ำหนักถึงประมาณ 40 กก.ขึ้นไป จึงเปลี่ยนเป็นสูตรของฟาร์มทั้งหมด การให้อาหารในแต่ละวัน แม่พันธุ์จะให้กินเพียงหนึ่งรอบ ส่วนสุกรขุนจะให้กินตลอดทั้งวัน

การทำวัคซีนเดิมทำแค่วัคซีนอหิวาต์และพาร์โวไวรัส เนื่องจากประกิจฟาร์มอยู่ห่างไกลจากชุมชนและฟาร์มอื่นมาก ประกอบกับมีการควบคุมการเข้า-ออกฟาร์มเป็นอย่างดี แต่ปี พ.ศ.2556 ช่วงประมาณกลางปี ราคาสุกรดีขึ้น จึงมีการจำหน่ายและขนย้ายพ่อ-แม่พันธุ์จากหลากหลายแห่ง เมื่อมีการขนย้ายกันมากทำให้เกิดโรคขึ้น ทางฟาร์มจึงป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เช่นวัคซีนปากเท้าเปื่อย เซอร์โคไวรัส พิษสุนัขบ้าเทียม และไมโครพลาสมา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในช่วงกลางปี 2557 มีโรคเกิดขึ้น ซึ่งทางฟาร์มเองก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด คุณประกิจจึงคิดที่จะป้องกันโรคในระยะยาวจึงศึกษาข้อมูลจากนิตยสารสัตว์บก และเจอสุกรสายพันธุ์ TT1 ของ ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์ เพราะเป้าหมาย คือ ต้องการหาหมูสายพันธุ์ดีมาผสมเพื่อป้องกันเลือดชิด และสนใจ สมุนไพรENCAPจึงติดต่อกับ ดร.มานิจฯ และได้นำสุกรพ่อพันธุ์ TT1 และสมุนไพรเข้ามาใช้

พ่อพันธุ์TT1
พ่อพันธุ์TT1

จากการนำสุกร TT1 มาเลี้ยงมีข้อสังเกต ดังนี้

  1. ขาแข็งแรง สามารถลดปัญหาแม่หมูหลังคลอด ซึ่งทางฟาร์มเคยเจอปัญหานี้บ้างเป็นบางครั้ง
  2. ท้องอ่างห้อยลงมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการเก็บลูกจำนวนมากในการตั้งท้องแต่ละครั้ง ซึ่งไม่พบในสายพันธุ์อื่น
  3. ปริมาณขนอยู่ในระดับพอดี ไม่หนามาก และไม่บางเกินไป ช่วยป้องกันสัตว์ดูดเลือดได้พอสมควร
  4. ช่วงลำตัวยาวไม่แพ้สุกรพันธุ์แลนด์เรซ แต่แข็งแรงกว่า
  5. 5. อัตราการเจริญเติบโตดีมาก จากการเปรียบเทียบอาหารสูตรเดียวกันกับการเลี้ยงหมูขุน
  6. 6. ความสมบูรณ์พันธุ์ดีมาก ผสมติดง่ายช่วยแก้ไขปัญหาการกลับสัด
  7. 7. ทนร้อนได้ดีกว่าแม่พันธุ์ทั่วไป แข็งแรงสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ดี และเร็ว

ถือได้ว่า TT1 ได้ถ่ายทอดความเป็นแม่ให้กับ TS1 ทุกตัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับการใช้สมุนไพร ENCAP เดิมทางฟาร์มใช้กับแม่พันธุ์ เนื่องจากแม่พันธุ์จะมีปัญหาในเรื่องของการกลับสัด และการเป็นสัดไม่นิ่งประมาณ 10% ต่อเดือน หลังจากได้ใช้สมุนไพรการกลับสัดลดลงเหลือเพียง 1-2% ต่อเดือน และช่วงปลายปีที่แล้วเกิดโรคระบาด จะเห็นว่าหลายๆ ฟาร์มในละแวกนี้ประสบปัญหาเรื่องโรคทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้ประชากรสุกรถูกทำลายและมีแม่พันธุ์ลดลง แต่ทางฟาร์มไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และสามารถจำหน่ายลูกสุกรขุนในช่วงต้นปีถัดมาได้ในราคาสูง ปัจจุบันทางฟาร์มได้นำเอาสมุนไพร ENCAP” มาใช้กับสุกรในฟาร์มทั้งระบบ พบว่าสุกรขุนมีสุขภาพดีขึ้น หากสุกรป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สามารถลดต้นทุนจากความเสียหายจากการตายของสุกรในฟาร์มได้มาก รวมทั้งสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะและเคมีต่างๆ ในการผสมอาหาร

ด้านการผลิตสุกร ทางฟาร์มเปิดจำหน่ายแม่พันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดได้ โดยขายตามราคาประกาศสุกรขุน และจะบวกค่าสายพันธุ์อีก 3,000 บาท ส่วนลูกสุกรมีจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปขุนในราคาเป็นกันเอง

“สำหรับสุกรแม่พันธุ์ TS1 ของประกิจฟาร์ม ที่เกษตรกรซื้อไปมีผลตอบรับที่ดี เกษตรกรบอกว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ หมูสามารถปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง การเจริญเติบโตยังเหมือนเดิม แม้ว่าสูตรอาหารและสถานที่จะเปลี่ยนไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การจัดการสิ่งแวดล้อม ทางฟาร์มจะมีบ่อสำหรับพักน้ำเสียและบ่อตกตะกอน ก่อนที่จะมีการล้างคอกทางฟาร์มจะเก็บกากและมูลที่เป็นก้อนไปตากแดด บรรจุใส่กระสอบจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่ปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย ในราคา 45-50 บาท/กระสอบ

อนาคตคิดว่าจะทำเป็นปุ๋ยมูลสุกรอัดเม็ด คาดว่าจะเริ่มทำในปีหน้า ปัจจุบันอยู่ในช่วงปรับปรุงสถานที่เพื่อสร้างโรงเรือนทำปุ๋ย

อุปสรรคในการทำฟาร์ม มีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องตลาด และโรค ซึ่งปัจจุบันมีโรคเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ส่วนด้านการตลาดฟาร์มขนาดเล็กไม่สามารถสู้รายใหญ่ได้ ทางฟาร์มจึงแก้ไขปัญหาโดยหันมาใส่ใจคุณภาพและสุขภาพของสุกรเป็นหลัก โดยการนำสมุนไพรเข้ามาใช้ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลูกสุกรขุนหลังหย่านมของประกิจฟาร์มประมาณ 90% จะไม่โดนฉีดยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้สมุนไพรจะช่วยให้ลูกสุกรแข็งแรง สุขภาพดี ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ฟื้นตัวเร็ว

“การนำสมุนไพรเข้ามาใช้ มีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถบอกกับชาวบ้านหรือผู้บริโภคอย่างมั่นใจว่าเนื้อหมูของ ประกิจฟาร์ม มีคุณภาพ ปลอดภัย เพราะลดการใช้เคมีหรือยาปฏิชีวนะ นอกจากปลอดภัยต่อผู้บริโภคแล้ว คนเลี้ยงก็ปลอดภัยด้วย เพราะไม่ต้องไปยุ่งกับสารเคมี ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของทางฟาร์ม” คุณประกิจกล่าวเสริม

ผลตอบรับจากเขียงหมูและผู้บริโภค มีการตอบรับดีมาก เพราะปัจจุบันจะเห็นตามสื่อต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์และวิทยุ มีการรณรงค์การใช้และบริโภคสินค้าออร์แกนิค และสมุนไพร เพราะฉะนั้นเนื้อหมูของทางประกิจฟาร์มจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเนื้อหมูของทางฟาร์มก็จำหน่ายในราคาเดียวกับเนื้อหมูฟาร์มอื่น

กลุ่มลูกค้าส่วนมากจะเป็นลูกค้าในพื้นที่และในอำเภอใกล้เคียง ปัจจุบันหมูที่เลี้ยงยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า คาดว่าในเร็วๆ นี้จะสามารถผลิตป้อนให้ลูกค้าได้ตลอดทั้งเดือน เพราะจะให้ความสำคัญด้านตลาดเป็นหลัก จะติดต่อเขียงหมูแต่ละพื้นที่ที่เล็งไว้ ให้เข้ามาดูการจัดการและการเลี้ยงของทางฟาร์ม ในส่วนของแม่พันธุ์สุกร TS1 คาดว่าจะกระจายให้ทั่วภาคอีสาน เพราะอากาศและสภาพแวดล้อมต่างๆใกล้เคียงกัน และเรื่องการขนส่งที่ระยะทางไม่ไกลเกินไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อาชีพเกษตรถ้าจะทำให้ประสบความสำเร็จจะต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอด ควรมีการรวมกลุ่มอาชีพเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษา เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน หรือเกษตรกรลองมองหาทางเลือกใหม่ๆดูบ้าง ไม่ควรแข่งขันกันด้วยราคา เพราะสิ่งที่ได้มาอาจไม่คุ้มค่า ควรหาวิธีลดต้นทุนและการสร้างความแตกต่างในการเลี้ยง ถือว่าเป็นทางออกที่ดีเพื่อหลีกหนีกลไกของตลาดได้ คุณประกิจกล่าวทิ้งท้าย

 

อาหารสัตว์ เอ พี เอ็ม
อาหารสัตว์ เอ พี เอ็ม

tags: การเลี้ยงหมู วิธีการเลี้ยงหมู วิธีเลี้ยงหมู การเลี้ยงหมูแม่พันธ์ TS1 สุกร TT1 ประกิจ ยี่หวาวงศ์ การเลี้ยงหมู วิธีการเลี้ยงหมู วิธีเลี้ยงหมู การเลี้ยงหมู

[wpdevart_like_box profile_id=”1414452475453135″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]