การเลี้ยงแพะ แบบ”กึ่งปล่อย” เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตเร็ว และคลอดปีละ 2 ครั้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจุบันประเทศไทยนิยมเลี้ยงแพะเพื่อผลิตเป็นแพะเนื้อมากขึ้น ทั้งเลี้ยงเป็นแพะพ่อแม่พันธุ์ หรือแพะขุน เนื่องจากมีตลาดรองรับ ทั้งในและต่างประเทศ  ตลอดจนระบบการเลี้ยงที่ง่ายต่อการจัดการต่างๆ การดูแลเอาใจใส่  และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ทำให้เกษตรกรหันมาให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลาย

การสร้างรายได้เพื่อปูทางสู่วัยเกษียณ  พัฒนาเป็นอาชีพที่มั่นคง  โดยยึดหลักการดำเนินชีวิต ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การเลี้ยงแพะ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

1.คอกแพะพันธุ์บอร์
1.คอกแพะพันธุ์บอร์
2.คุณสาโรช-สโมสรสุข-เจ้าของฟาร์มแพะคอกคุณกิม
2.คุณสาโรช-สโมสรสุข-เจ้าของฟาร์มแพะคอกคุณกิม

คุณสาโรช สโมสรสุข วัย 52 ปี เจ้าของฟาร์มแพะ “คอกคุณกิม” ตั้งอยู่ที่ 6 หมู่ 4 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เล่าว่า ตนทำงานเป็นพนักงานการไฟฟ้า ซึ่งเป็นอาชีพหลัก และทำควบคู่กับ การเลี้ยงแพะ ที่ตนชอบ โดยก่อนหน้านี้เพาะพันธุ์สุนัขขาย จากนั้นเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว และเลี้ยงแพะ ตามลำดับ เพราะเล็งเห็นว่าใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นกว่าการเลี้ยงวัว ให้ผลผลิตเร็ว และคลอดปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1-2 ตัว ตลอดจนการให้ผลตอบแทนที่ดี นับเป็นการเริ่มตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันคุณสาโรชเลี้ยงแพะได้เกือบ 3 ปีแล้ว บนเนื้อที่ 3 ไร่

เริ่มต้นทำฟาร์มเลี้ยงแพะ สิ่งสำคัญในการตอบโจทย์ของคนเลี้ยงแพะ คือ รูปแบบการเลี้ยง และพันธุ์แพะที่จะเลี้ยงด้วย เช่น การเลี้ยงแพะเนื้อผลิตเป็นแพะขุนเพื่อป้อนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ หรือการขยายพันธุ์เป็นแพะพ่อแม่พันธุ์ เพื่อใช้ในการปรับปรุงแพะพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดเล็ก และมีน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาให้มีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น มีรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง คุณภาพเนื้อและน้ำหนักที่ดีขึ้น ทางฟาร์มจึงนำแพะสายพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง

3.แพะพันธุ์บอร์
3.แพะพันธุ์บอร์
การเลี้ยงแพะ-พันธุ์คาราฮารี-เรด
การเลี้ยงแพะ-พันธุ์คาราฮารี-เรด

สายพันธุ์แพะ

ปัจจุบันเลี้ยงแพะพันธุ์บอร์ และพันธุ์คาราฮารี เรด จากประเทศแอฟริกา ประมาณ 50-60 ตัว โดยเงินลงทุนครั้งแรกเป็นเงินทุนของตนเอง ซึ่งเป็นทุนที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 5-6 แสนบาท เนื่องจากซื้อพ่อพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์คาราฮารี เรด และสายพันธุ์บอร์ ในราคาค่อนข้างสูง เป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ

โดยสั่งซื้อจาก คุณหนึ่ง รักษ์ฟาร์ม  อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ในช่วงแรกซื้อทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และแพะลูกผสม เข้ามาเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ระหว่างพันธุ์บอร์ และพันธุ์คาราฮารี เรด จะมีจุดสังเกตที่พันธุ์บอร์จะมีลักษณะลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง  ส่วนพันธุ์คาราฮารี เรด จะมีลำตัวสีแดงทั้งตัว

4.โรงเรือนแพะ
4.โรงเรือนแพะ

สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ

สำหรับโรงเรือนทางฟาร์มจะแยกออกเป็นแพะแม่พันธุ์ แพะรุ่น เพศเมีย และเพศผู้ ปัจจุบันมี 3 โรงเรือน ขนาดแตกต่างกัน  โดยเป็นพื้นยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1.20-1.50 เมตร  เพื่อง่ายต่อการเก็บมูล  และทำความสะอาดโรงเรือน  อีกอย่างป้องกันเรื่องโรคต่างๆ ได้ดี รวมถึงมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

ส่วนมูลแพะจะเก็บอาทิตย์ละ 1 ครั้ง บรรจุใส่ถุงขนาด 25-30 กิโลกรัม จำหน่ายให้เกษตรกรผู้ที่สนใจในราคา 20-25 บาท เป็นรายได้อีกทาง

วิธีการเลี้ยงจะเลี้ยงแบบกึ่งปล่อย คือ มีพื้นที่ให้แพะได้เดินเล่น กินหญ้าในแปลง และพวกพืชเถา

5.อาหารหยาบ
5.อาหารหยาบ

การให้อาหารแพะ

ส่วนการให้อาหารจะให้หญ้าเนเปียร์ ต้นข้าวโพดบด กระถิน และหญ้าแพงโกล่า ที่ปลูกไว้ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งทางฟาร์มจะให้แพะกินตามฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนมากจะเป็นกระถิน และฟางข้าว จะให้แพะกินเพื่อช่วยในระบบการย่อยอาหาร ในหนึ่งวันจะให้อาหาร 2 เวลา เช้ากับตอนเย็น

โดยปล่อยให้แพะกินเป็นเวลา สลับกับการปล่อยให้แพะกินในพื้นที่ที่เตรียมไว้ให้ ส่วนอาหารสำเร็จรูปจะเสริมเฉพาะแพะท้องอ่อนในระยะแรก สำหรับแพะท้องแก่จะไม่ให้ ซึ่งทางฟาร์มจะนำอาหารสำเร็จรูป หรือรำละเอียด มาผสมให้แพะกินตามสัดส่วนที่พอเหมาะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ตอนเช้าก็มีน้ำและอาหารเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ส่วนกลางวันก็ปล่อยให้แพะนอน กลางคืนก็มีมุ้งกางให้ พอตอนเช้าและเย็นก็ปล่อยให้ไปกินหญ้า ประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ก็เปิดประตูให้แพะเข้า” คุณสาโรชกล่าวถึงการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก

6.แพะกินอาหาร
6.แพะกินอาหาร

การบริหารจัดการโรงเรือนแพะ

ใน การเลี้ยงแพะ เนื้อสภาพแวดล้อมโดยรวม  ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน  หน้าฝน  หรือหน้าหนาว ไม่มีผลต่อการเลี้ยงแต่อย่างใด หากมีการจัดการที่ดี มีการดูแลเอาใจใส่ ผลลัพธ์ที่ได้ เช่น สุขภาพแข็งแรง ให้ลูกแฝดมากขึ้น อัตราการรอดสูง  เป็นต้น ก็จะเป็นผลพลอยได้ รวมถึงต้องมีความรู้ด้านการรักษาโรคต่างๆ และการสังเกตอาการป่วย

สำหรับ การเลี้ยงแพะ สายพันธุ์จะแตกต่างกับ การเลี้ยงแพะ ขุนตรงที่ไม่จำเป็นต้องให้แพะอ้วน หรือมีน้ำหนักมากเกินไป และที่สำคัญการให้วัคซีนโรคปากเท้าเปื่อย  และโรคต่างๆ จะต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าปกติ  เพราะมูลค่าของ   พ่อ-แม่พันธุ์มีราคาสูง

อาหารที่ฟาร์มค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีให้แพะกินตลอดทั้งปี  ตลอดจนปัญหาเรื่องโรคต่างๆ  ทางฟาร์มจะไม่พบปัญหาดังกล่าว อีกอย่างในพื้นที่ไม่มีใครเลี้ยงแพะ จึงหมดกังวลเรื่องโรคระบาด ส่วนน้ำที่ให้แพะกินจะเป็นน้ำประปา ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำ

ทางฟาร์มมีพนักงาน 1 คน ดูแลทั้งหมด อาศัยอยู่กับคุณสาโรชเหมือนพี่น้อง ส่วนเรื่องวัคซีนปากเท้าเปื่อย ปศุสัตว์จะเป็นคนฉีดให้ โดยจะฉีดให้ก่อนหน้าฝน เนื่องจากโรคปากเท้าเปื่อยจะพบบ่อยในช่วงหน้าฝน ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ  เช่น  คอตีบ ทางฟาร์มสามารถทำเองได้

7.คอกแพะพันธุ์คาราฮารี-เรด
7.คอกแพะพันธุ์คาราฮารี-เรด

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี เป็นต้น ซึ่งทางฟาร์มจะขายในลักษณะพ่อ-แม่พันธุ์ และลูกผสม โดยราคาจะแตกต่างกัน พันธุ์บอร์เลือด 100 แท้ ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 10,000 บาท  แต่ไม่เกิน 25,000 บาท  ส่วนพันธุ์คาราฮารี  เรด  จะอยู่ที่ 35,000 บาท  เป็นราคาซื้อขายกันทั่วไป  ส่วนแพะเลือด 75 ราคาจะถูกกว่าแพะพันธุ์เลือด100

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจุบันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศส่งผลกระทบกับอาชีพเกษตรโดยตรง ทำให้กำลังการซื้อลดลง สินค้าบางชนิดแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น หลายคน หลายครอบครัว ประหยัดกันมากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในวงกว้าง

ส่วนช่องทางในการจำหน่ายจะได้จากปากต่อปาก และลูกค้าเดิมๆ บอกต่อ จนทำให้มีการสั่งออเดอร์เข้ามาทางฟาร์มโดยตรง จะเห็นได้ว่าตลาดแพะพ่อ-แม่พันธุ์ยังมีคนต้องการมาก เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีเลี้ยงแพะพื้นเมืองกันมาก ดังนั้นการนำแพะจากฟาร์มไปปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อยกระดับพันธุ์แพะพื้นเมือง จึงเป็นทางเลือกอีกหลายฟาร์ม ทำให้ตลาดของคุณสาโรชมีความมั่นคง

8.คอกแพะ
8.คอกแพะ

แนวโน้มในอนาคตของ การเลี้ยงแพะ

ในอนาคตทางฟาร์มจะไม่เพิ่มจำนวนแพะให้มากไปกว่านี้ แต่จะพัฒนาในส่วนพ่อ-แม่พันธุ์ให้อยู่ที่ 30-40 ตัว เพื่อสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการจัดการที่ง่าย ไม่เหนื่อย “รักสงบ อยู่อย่างสบายใจ กับธรรมชาติ ดำเนินธุรกิจอย่างเศรษฐกิจพอเพียง” นี่คือแนวทางการทำฟาร์มของคุณสาโรช

“การทำฟาร์มอะไรก็แล้วแต่ อยากให้ทำด้วยความรัก และความตั้งใจ อย่าทำตามกระแส และอย่าคาดหวังว่าทำแล้วจะต้องรวย หากไม่ได้ตามที่คาดหวังอาจต้องล้มเลิกการทำฟาร์มไปในที่สุด อาชีพเลี้ยงแพะ หรือเลี้ยงวัว ปีแรก หรือปีที่ 2 เราจะเลี้ยงเขา แต่พอขึ้นปีที่ 3 สัตว์ที่เราเลี้ยง จากนั้นเขาจะเลี้ยงเรา สามารถทำประโยชน์ให้กับเราได้” คุณสาโรช กล่าวทิ้งท้ายถึงข้อดีของการเลี้ยงสัตว์

ดังนั้น การเลี้ยงแพะ จะเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมจากงานประจำสามารถทำได้ทั้งนั้น อยู่ที่รูปแบบและการจัดการต่างๆ อย่าง “คอกแพะคุณกิม” เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ ขยายพันธุ์ ให้เกษตรกรผู้ที่สนใจพัฒนาแพะพันธุ์พื้นเมืองให้มีลักษณะที่ดีขึ้น ตอบโจทย์ของความต้องการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสาโรช สโมสรสุข โทรศัพท์ 087-531-0909

โฆษณา
AP Chemical Thailand