การเลี้ยงโคขุน
ในประเทศไทยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ อย่าง โค จากการเลี้ยงแบบดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า การเลี้ยงแบบไล่ทุ่งสู่ระบบการเลี้ยงแบบฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพเนื้อและราคา รวมถึงการจัดการในด้านการดูแลและการเลี้ยงได้ดีขึ้น เพราะประเทศไทยมีพันธุ์โคชั้นดีหลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์กำแพงแสน ชาโรเล่ส์ พันธุ์ตาก แองกัส และพันธุ์บราห์มัน เป็นต้น ล้วนเป็นพันธุ์ที่ตลาดทุกระดับต้องการ
นิตยสารสัตว์บกขอนำท่านผู้อ่านมาพบกับ คุณจุน กล่ำขำมี อายุ 57 ปี เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเริ่มเลี้ยงตั้งแต่เป็นวัวไล่ทุ่งประมาณ 40-50 ตัว ปล่อยให้กินหญ้าตามท้องทุ่งนา เพราะพ่อกับแม่ของเขาได้เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ละแวกเดียวกันเริ่มหันมาเลี้ยงวัวขุนกันมากขึ้น ต่างก็บอกว่าเลี้ยงวัวขุนดีกว่า ราคาดีกว่า ตลาดรับซื้อดีกว่า ช่องทางในการขายวัวขุนง่าย และตลาดต้องการมากกว่า
จึงทำให้เขาอยากเลี้ยงวัวขุน และอีกหนึ่งเหตุผล คือ กำไรจากการขายวัวขุนได้มากกว่าการทำอาชีพอื่น เช่น การทำนาต้องทำให้ครบรอบ ประมาณ 1 ปี ถึงจะได้เงินจากการขายข้าว แต่สำหรับวัวแล้วไม่ใช่ สามารถเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน ได้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ 300-700 กิโลกรัม สามารถขายออกสู่ท้องตลาดได้ จึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแบบเดิมๆ เป็นการเลี้ยงวัวขุน โดยแรกเริ่มเลี้ยงประมาณ 10 กว่าตัว เป็นการทดลองเลี้ยง
ในระยะแรกค่อนข้างลำบาก จากเดิมที่เคยเลี้ยงแบบปล่อยต้องดูแลด้านอาหารมากขึ้น อีกทั้งเรื่องของบริเวณพื้นที่ที่ต้องทำเป็นโรงเรือน โดยต้องคำนึงถึงการให้วัวอยู่สบาย มีบริเวณในการเดินเล่น หรือนอน ลดความตึงเครียดให้กับวัวขุน จึงเป็นเหมือนมือใหม่ในช่วงนั้น
ด้านการตลาดโคขุน
ด้านการตลาดและลูกค้าส่วนใหญ่ ทางฟาร์มจะเป็นตลาดที่ซื้อจากบุคคลภายนอก หรือที่เรียกว่า ตลาดแขก เข้ามาติดต่อโดยตรงกับทางฟาร์ม ซึ่งจะมีเวียดนาม มาเลเซีย และจีน ซื้อในราคาค่อนข้างสูงกว่าตลาดทั่วไป “หากมองตลาดในลักษณะนี้เราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ แต่หากเราลดต้นทุนได้ดี จะทำให้เราเหลือกำไรจากการเลี้ยง ซึ่งเป็นกำไรที่เรารับได้ และอยู่ได้ด้วย” คุณจุนกล่าวเพิ่มเติม
เนื่องจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มประเทศเกษตรกรรม และปศุสัตว์ ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ จึงไม่ต่างกัน อาจจะมีบ้างบางครั้งที่อาจจะหันมาซื้อสินค้าการเกษตรจากเรา เราจึงทำในขนาดพอดี ไม่ใหญ่โตจนเกินการควบคุม และที่สำคัญเราต้องอยู่ได้ในการทำธุรกิจ และช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม หรือชุมชน ของเรา ที่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด แล้วคำว่าพอเพียงยังใช้ได้ในยุคปัจจุบัน และที่สำคัญคุณภาพเนื้อ พันธุ์วัว และวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เราดีกว่า
โรงเรือนโคขุน
ปัจจุบันมี 4 โรงเรือน สามารถบรรจุวัวขุนได้หลายร้อยตัว โดยลักษณะของโรงเรือนเน้นให้วัวอยู่สบาย สามารถบังแดด บังฝน และลม ได้เป็นอย่างดี รูปแบบจึงไม่ได้เป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานตายตัว
ส่วนพันธุ์วัวที่ทางฟาร์มเน้นและใช้ขุนเป็นวัวพันธุ์บราห์มัน เพราะเป็นที่ตลาดต้องการ รวมถึงคุณภาพเนื้อ และซากดี รูปร่างโดดเด่น สวยงาม โดยแหล่งซื้อ-ขายลูกวัวที่ฟาร์มนำเข้ามาขุนส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดตาก เพชรบูรณ์ ลำปาง และเชียงราย รวมถึงแถบชายแดนพม่า โดยจะมีคนที่รู้จักและซื้อ-ขายกันมาเป็นเวลานาน ติดต่อกับแหล่งซื้อ-ขายให้กับทางฟาร์ม
โดยคำนึงถึงคุณภาพซาก และราคา เช่น หากซื้อวัวขุนซากเล็ก เมื่อมาขุนภายใน 4 เดือน น้ำหนักจะอยู่ที่ 300-400 กิโลกรัม ส่วนวัวซากใหญ่จะขุนให้อยู่ที่น้ำหนัก 700-800 กิโลกรัม ปัจจุบันทางฟาร์มมีวัวขุน 60 กว่าตัว อาจจะเพิ่มเติมอีก เพราะส่วนใหญ่ฟาร์มจะเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 100 ตัว เหตุเพราะว่าพื้นที่และอาหารที่เตรียมไว้มีค่อนข้างมาก และพอเพียงกับจำนวนวัวที่เลี้ยง
การให้อาหารและน้ำโคขุน
เมื่อเลี้ยงวัวในรูปแบบฟาร์ม การดูแลและวิธีการเลี้ยงจึงเป็นแบบจัดหาอาหารให้ เช่น หญ้า และอาหารผสม สำหรับวัวขุนซึ่งเป็นสูตรเฉพาะ เช่น มัน รำข้าว และปลายข้าวสาลี เป็นต้น โดยการว่าจ้างแหล่งวัตถุดิบดังกล่าวเป็นผู้ผลิตและผสมอาหารตามสัดส่วนที่กำหนดให้ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่และรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเป็นอัตราเฉลี่ย วัวขุนจะกินอยู่ที่ 7-8 กิโลกรัม/ตัว/วัน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ตัวละหนึ่งหมื่นบาท/4 เดือน ส่วนพวกหญ้าเนเปียร์ และอ้อย จะให้ทุกวัน วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น
หากพูดถึงหญ้าเนเปียร์ปลูกไว้สำหรับเลี้ยงวัวขุน โดยเฉพาะประมาณ 5-6 ไร่ ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอในการเลี้ยงของทางฟาร์ม อีกทั้งยังมีอ้อยที่ปลูกอีกประมาณ 15-16 ไร่ ส่วนอ้อยจะเป็นอาหารเสริมชั้นเยี่ยม วัวขุนจะชอบเพราะมีรสชาติหวาน โดยจะหั่นเก็บบรรจุใส่ถุง สามารถเก็บไว้ได้เป็นเดือน สำคัญที่กลิ่น เมื่อเปิดถุงออกจะมีกลิ่นหอม เพราะเป็นเหมือนการหมักอ้อย แต่ไม่เน่าเสียแต่อย่างใด ส่วนค่าใช้จ่ายในการแปรรูปจะจ้างคนงานในพื้นที่มาทำให้ โดยคิดในราคาตันละ 500-600 บาท ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมด เช่น เครื่องหั่นอ้อยเป็นท่อนเป็นของทางฟาร์มทั้งหมด
ด้านน้ำที่ใช้เลี้ยงวัว ทางฟาร์มจะแบ่งเป็น 2 ระบบ 1.ประปาหมู่บ้าน ในส่วนนี้จะใช้ในภาคครัวเรือน 2.ส่วนที่เป็นของฟาร์มเลี้ยงวัวจะเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ของตัวเองสูบน้ำมากักเก็บไว้ โดยมีภาชนะสำหรับใส่เพื่อพักน้ำ จากนั้นจะทำเป็นระบบท่อต่อเข้าโรงเรือนที่มีที่รองน้ำไว้ให้วัวกินอีกที การตรวจสอบคุณภาพน้ำจึงไม่ค่อยได้ทำ เพราะมีการดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแล เช่น การฉีดวัคซีน และคำแนะนำต่างๆ เป็นต้น
การนำมูลวัวใส่ในแปลงพืชไร่
การกำจัดของเสียภายในฟาร์ม เนื่องจากการเลี้ยงในลักษณะทำกันในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ จึงให้ญาติมาเก็บมูลวัวไปทำเป็นปุ๋ยขาย โดยสนนในราคา 5 บาท/กระสอบปุ๋ย แต่ต้องมีการจัดการเองทั้งหมด ตั้งแต่ตักใส่บรรจุถุง การขนย้าย และอื่นๆ เช่น คนงาน ทางฟาร์มจะไม่เข้าไปยุ่ง โดยมูลวัวที่ได้จะนำไปใส่แปลงพืชไร่ ลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยเคมี อีกทั้งยังทำให้พืชผักทั้งหลายเจริญงอกงามเป็นอย่างดี
ปัญหาและอุปสรรค การเลี้ยงโคขุน
เมื่อถามถึงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีผลกระทบต่อการทำฟาร์มเลี้ยงวัวอย่างไร ส่วนใหญ่ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนเป็นสาเหตุหลักๆ เพราะยุงในพื้นที่ค่อนข้างชุม อีกอย่างพื้นที่บริเวณคอกจะเฉอะแฉะ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ส่วนหน้าร้อนจะเหมาะสมในการเลี้ยงวัวมากที่สุด
ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่พบมากในการเลี้ยงแบบไม่ได้เพาะพันธุ์ให้เป็นวัวไว้สำหรับขุน คือ เมื่อทางฟาร์มซื้อวัวมาขุนในราคาสูงกว่าตลาด ทำให้ต้นทุนการเลี้ยง เช่น ค่าอาหารต่างๆ สูงตามไปด้วย เมื่อครบกำหนดเลี้ยงจะต้องนำวัวออกขาย ปรากฏว่าราคาในท้องตลาดลดลง จึงทำให้อาจยืดเวลาในการเลี้ยง หรือชะลอการขายออกไป
ดังนั้นทางฟาร์มมีการแก้ไขปัญหานี้ โดยพยายามลดต้นทุนด้านอาหารให้อยู่ที่ 7,000-8,000 บาท/ตัว/รอบ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ฟาร์มอยู่รอด และมีกำไรจากการผันผวนของตลาด ดังนั้นจึงมีการวางแผนโดยการจดบันทึกเมื่อมีการลงทุนและขายออกไปทุกครั้ง
ฝากถึง…ผู้อ่าน
สิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้อ่าน “ การเลี้ยงโคขุน เป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง อยากให้ศึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือเริ่มเลี้ยงจากทุนน้อยๆ ค่อยๆ พัฒนา เพราะการเลี้ยงโคเราเห็นต้นทุนทั้งหมด คือ ตัวโคนั่นเอง อีกอย่างลดต้นทุนด้านอาหารให้ได้ เพื่อความอยู่รอดของฟาร์ม” คุณจุนได้ฝากทิ้งท้าย การเลี้ยงโคขุน การเลี้ยงโคขุน การเลี้ยงโคขุน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณจุน กล่ำขำมี 33 ต.ทะเลบก อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี โทร.08-9550-3941