ตลาดผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อภายในประเทศมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้พอสมควรตามภาวะเศรษฐกิจด้านการเกษตรที่ส่อเค้าว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และการที่ผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อจัดได้ว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าโปรตีนสูง แต่ราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ประเภทอื่น ก็ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลต่อการขยายตัวของความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อได้ค่อนข้างมากด้วย เช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ หลังจากญี่ปุ่นเพิ่มปริมาณการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยมากขึ้น ส่วนนี้จึงเป็นตัวที่สามารถยืนยันได้ว่าธุรกิจไก่เนื้อสามารถดำเนินงานต่อไปได้เรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรมีความสนใจ และเริ่มหันมามองอาชีพตัวนี้มากขึ้น แต่การประกอบอาชีพใดก็ตามให้ประสบความสำเร็จ ความรู้ ความเข้าใจ ในงานที่ทำ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบอาชีพต้องมี
เช่นเดียวกับ คุณวสันต์ เสือน้อย หนุ่มสุพรรณ ที่จบการศึกษาทางด้านช่างอิเลคโทรนิค แต่ด้วยได้รับคำแนะนำจากบุคคลที่อยู่ในสายอาชีพฟาร์มไก่เนื้อ จึงตัดสินใจลงทุนเปิดฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อภายในพื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อย่าง “กำไรฟาร์ม” พื้นฐานด้านการเลี้ยงสัตว์ไม่เคยมี แต่เมื่อสนใจในอาชีพ สิ่งที่ต้องทำ คือ การเรียนรู้ศึกษาข้อมูลด้านการจัดการ และนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง จนปัจจุบันถือได้ว่าคุณวสันต์เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนี้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่เดินบนทางปศุสัตว์ด้านฟาร์มไก่เนื้อ นี่เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าไก่เนื้อเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ที่ดี
การก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ
เดิมคุณวสันต์ประกอบอาชีพเป็นหัวหน้าชุดจับไก่เนื้อตามฟาร์มไก่เนื้อในแต่ละพื้นที่ ของบริษัท ซีพีเอฟ ทำอาชีพนี้มากว่า 7 ปี จึงมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้จัดการฟาร์มในแต่ละฟาร์ม ได้รับคำแนะนำให้ลองมาประกอบอาชีพตัวนี้ และตนมองว่าเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ดี ประกอบกับช่วงนั้นทางบริษัท ซีพีเอฟ เริ่มจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรให้มาเลี้ยงไก่เนื้อ ตนจึงเริ่มหันมาสนใจ และตัดสินใจทำอาชีพนี้กับบริษัทิซีพีเอฟ
จึงเริ่มก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ ขณะนั้นเงินทุนยังมีไม่มาก โรงเรือนที่สร้างเป็นระบบปิด ทำด้วยไม้ หลังคามุงด้วยใบจาก ขนาดความกว้าง 10 เมตร ความยาว 15 เมตร เลี้ยงไก่ได้จำนวน 6,000 ตัว ในรูปแบบประกัน ตนเลี้ยงได้ราคาตัวละ 11 บาท ถือว่าได้ราคาค่อนข้างสูง รายได้สุทธิช่วงนั้นอยู่ที่รุ่นละ 30,000 บาท ไก่เนื้อรุ่นแรกที่เลี้ยงได้ถือว่าประสบความสำเร็จ จึงเริ่มนำเงินมาสร้างและขยายโรงเรือน
ต้นทุนการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ
เมื่อเลี้ยงไก่เนื้อเข้าสู่รุ่นที่ 3 บริษัทแม่เริ่มบังคับให้เกษตรกรลูกเล้าทำโรงเรือนอีแวป (ระบบปิด) ทั้งหมด ฟาร์มจึงเริ่มปรับปรุงโรงเรือนเดิมให้เป็นระบบอีแวปทั้งหมด พร้อมกับการขยายโรงเรือนเพิ่มปีละ 1 หลัง เป็นจำนวน 4 หลัง เลี้ยงไก่เนื้อ 50,000 ตัว ต้นทุนการสร้างในช่วงนั้นราคาถูกกว่าปัจจุบันมาก ประกอบกับคุณวสันต์มีอาชีพเสริม อย่าง การเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงสามารถเลือกสรรอุปกรณ์การสร้างเองได้
ต้นทุนการสร้างโรงเรือนเฉลี่ยอยู่ที่หลังละ 1 ล้านบาท ช่วงแรกที่เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรือนอีแวป ประหยัดต้นทุนการสร้างด้วยการคัดสรรวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มีราคาสูงมากเกินไป ราคาอยู่ในระดับที่สามารถสร้างได้ เพื่อเลี้ยงไก่เนื้อให้ได้ก่อน
เมื่อเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงเริ่มนำเงินส่วนที่ได้มาพัฒนาโรงเรือน แต่กำไรฟาร์มเองมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของที่ดิน เพราะที่ดินฟาร์มเป็นพื้นที่ของ สปก.ไม่สามารถนำที่ดินไปจำนอง หรือเข้ายื่นเรื่องธนาคารได้ ส่วนเงินมาลงทุนจึงเป็นเงินส่วนตัวทั้งหมด
กำไรฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อกับทางบริษัท ซีพีเอฟ มาได้ 8 ปี บริษัทยกเลิกโครงการส่งเสริมการเลี้ยง จึงเปลี่ยนบริษัทแม่มาเลี้ยงกับทางบริษัท ไทยฟู้ดส์ ก่อนหน้าที่โครงการจะยกเลิกทางบริษัทจัดการประชุมเกษตรกรภายในโครงการ และมีการแนะนำบริษัทรายใหม่ให้กับเกษตรกร โดยแต่ละบริษัทจะส่งตัวแทนมาพูดคุยกับเกษตรกร ซึ่งส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเกษตรกรที่จะเลือกไปทำธุรกิจตัวเดิมกับบริษัทใด จึงตัดสินใจย้ายมาทำธุรกิจตัวนี้กับบริษัท ไทยฟู้ดส์ เพราะมองว่าบริษัท ไทยฟู้ดส์ ในช่วงนั้นกำลังขยายและเร่งทำตลาด น่าจะดีในด้านการลงทุนธุรกิจตัวนี้กับบริษัทนี้
ด้านรายได้ตลอดระยะการเลี้ยง
ด้านรายได้ตลอดระยะการเลี้ยงมีทั้งช่วงที่ได้มาก ได้น้อย ตามสภาพอากาศ และการจัดการดูแล ราคาประกันของบริษัท ไทยฟู้ดส์ จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับราคาต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน หากคิดรายได้ของผู้เลี้ยงจะได้ประมาณ 10% เฉลี่ยทั้งปีไม่ต่ำกว่า 7 บาท แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือและการจัดการของแต่ละฟาร์มด้วย ถ้าการจัดการไม่ดี ถึงแม้บริษัทจะให้ราคาสูงก็สามารถขาดทุนได้เช่นกัน
ปัจจุบันฟาร์มหันมาทำธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อให้กับทางบริษัท เอฟแอนด์เอฟฟู้ดส์ จำกัด บริษัทในเครือกลุ่มอาหารสัตว์ไทย ได้เกือบครึ่งปีแล้ว เนื่องจากรายได้ต่อตัวไก่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งก่อนที่จะมาเลี้ยงกับบริษัทนี้ มีหลายบริษัทที่เข้ามาติดต่อให้ฟาร์มมาเลี้ยงไก่เนื้อด้วย จึงเลือกศึกษาถึงข้อดี ข้อด้อย ของแต่ละบริษัท ประกอบกับพื้นฐานในส่วนของอาชีพการจับไก่ จึงทำให้คุณวสันต์รู้จักกับผู้บริหารและผู้จัดการฟาร์มต่างๆ ล้วนแต่ได้รับคำแนะนำที่ดีบนเส้นทางสายอาชีพนี้ ราคาไก่เนื้อที่เลี้ยงกับบริษัท เอฟแอนด์เอฟฟู้ดส์ จำกัด ประกันราคาอยู่ที่ 45.50 บาท
ฟาร์มเลี้ยงได้ราคา 18 บาท/ตัว ราคาประกันในแต่ละบริษัทไม่ต่างกันมาก แต่ฟาร์มจะได้ในส่วนของราคาลูกไก่ ราคาอาหารที่ถูกกว่าบริษัทเดิม เมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ออก รายได้สุทธิจึงได้มากกว่าบริษัทที่เคยเลี้ยงผ่านๆ มา แต่ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท อย่างบริษัทใหม่ที่ฟาร์มหันมาทำธุรกิจด้วย ส่วนตัวรู้สึกว่าลูกไก่ อาหาร วัคซีน ของทางบริษัทเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
ปัจจุบันฟาร์มไก่เนื้อ กำไรฟาร์ม มีโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อทั้งหมด 5 หลัง จำนวนไก่ 60,000 ตัว และจะเพิ่มอีก 3 หลัง ขนาดโรงเรือนเดิม 14×80 เมตร โรงเรือนที่สร้างใหม่ 18×100 เมตร พัดลมอีแวปใช้ของ บริษัท เกษตรภัณฑ์ แผ่นคูลลิ่งแพดที่เลือกใช้เป็นราคาที่ไม่แพงมาก เพราะที่ฟาร์มไม่มีปัญหาเรื่องของน้ำ เนื่องจากน้ำที่ใช้ราดแพดใช้น้ำซับ (น้ำที่ออกมาจากใต้พื้นเอง) แทนการใช้น้ำบาดาล ทำให้มีปัญหาเรื่องหินปูนน้อย
ฟาร์มตนได้ขุดบ่อขนาดใหญ่ความลึกประมาณ 6 เมตร เพื่อรองรับน้ำที่ออกมาจากพื้นดิน ส่วนน้ำที่ใช้ภายในโรงเรือนเป็นน้ำบาดาล เจาะบ่อลึก 40 เมตร โดยบ่อน้ำบาดาลภายในฟาร์มทำการขุดเจาะตั้งแต่ยังไม่ได้ทำฟาร์มไก่เนื้อ ค่าใช้จ่ายช่วงนั้นราคาไม่แพงมากอยู่ที่ 30,000 บาท ขนาดบ่อที่ฟาร์มขุดอยู่ที่ความลึก 40 เมตร กว้าง 15 เมตร
การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ
ในด้านการจัดการต้องคำนึงเสมอว่าไก่หรือสัตว์ที่เลี้ยงเปรียบเสมือนตัวเราเอง การจัดการภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ 7 วันแรก การกกถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าช่วงนี้มีการจัดการที่ดี อุณหภูมิของไฟกกนิ่ง กล่าวคือ อุณหภูมิกกในช่วงกลางวันและกลางคืนไม่แตกต่างกันมาก ไก่จะมีสุขภาพดี เพราะลูกไก่จะสามารถใช้วิตามินจากไข่แดงที่ได้จากแม่ไก่หมด
ฉะนั้นในช่วง 7 วันแรก ฟาร์มมีการจัดการที่ค่อนข้างเข้มงวด คอยตรวจวัดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเสมอ เพื่อปรับสภาพการทำงานของพัดลม การกกฟาร์มเลือกใช้ระบบฮีตเตอร์มาได้ประมาณ 5 ปี โดยเครื่องฮีตเตอร์ที่ใช้คุณวสันต์และคุณอาที่จบด้านไฟฟ้าร่วมกันสร้างขึ้นใช้เอง พร้อมกับผลิตเพื่อจำหน่ายด้วย
ซึ่งลักษณะเฉพาะของเครื่อง คือ สามารถซ่อมได้ง่าย เพราะเลือกใช้อะไหล่ที่ผลิตภายประเทศ ระบบการทำงานของเครื่องเหมือนกับระบบเครื่องฮีตเตอร์โดยทั่วไปในท้องตลาด ทั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบการกระจายแก๊ส ระบบเซฟตี้ นอกจากนี้ยังประหยัดแก๊สกว่า เปิดเครื่องตลอดเวลาปริมาณการใช้แก๊สอยู่ที่ 1 ชั่วโมง/กิโลกรัม แต่ก่อนที่จะมาใช้ระบบฮีตเตอร์เดิมใช้เป็นแบบฝาชีห้อยด้วยแผ่นเหล็ก และมีหัวแก๊สคอยร่นแผ่นเหล็กให้ร้อนตลอดเวลา
การทำเช่นนี้จะได้ความร้อนที่มากกว่าการใช้หลอดไฟโดยทั่วไป และยังประหยัดไฟ แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงมาก จึงเปลี่ยนมาเป็นระบบฮีตเตอร์แทน การเตรียมฮีตเตอร์ ฟาร์มเลือกตั้งตามแนวขวาง โดยเริ่มต้นจากครึ่งท้ายโรงเรือน ช่วงไก่ 3 วันแรกจะอยู่ตรงกลางๆค่อนไปทางท้าย พอเลย 3 วัน เริ่มปล่อยไปถึงท้ายโรงเรือน
เมื่ออายุ 14 วัน จึงเริ่มปล่อยมาทางด้านหน้า ฟาร์มจะเน้นเลี้ยงไก่ด้านท้ายโรงเรือนก่อน เนื่องจากไก่ที่อยู่บริเวณท้ายอยู่ห่างจากแพด ความชื้นจากน้ำไปไม่ถึงท้าย ไก่จะไม่เป็นหวัด ประกอบกับพื้นแกลบด้านหน้าไม่เสีย เป็นการรักษาพื้นด้านหน้าไว้ และควบคุมอุณหภูมิที่ดีกว่าให้อยู่ด้านท้าย
เมื่อไก่เริ่มมีขนาดใหญ่ เริ่มปล่อยมาด้านหน้าโรงเรือน พื้นด้านหน้าดี ส่งผลให้ไก่ด้านท้ายมีสุขภาพดีไปด้วย ถ้าพื้นด้านหน้าเสียก่อน ไก่จะป่วยทั้งหลัง เพราะลมภายในโรงเรือนจะถูกดูดผ่านจากด้านหน้าไปยังท้าย พื้นที่การเลี้ยงไก่ภายในโรงเรือนเลี้ยงในปริมาณที่ไม่หนาแน่นเกินไป เน้นเลี้ยงบางๆ เฉลี่ย 11 ตัว/ตารางเมตร ช่วงหน้าร้อนลดลงมาเป็น 10 ตัว/ตารางเมตร
การกินน้ำของไก่
การกินน้ำของไก่ต้องเหมาะสมเช่นกัน สอดคล้องกับอุณหภูมิภายในโรงเรือนที่ต้องอยู่ในช่วงที่พอดี ไก่อยู่สบาย เพราะถ้าภายในโรงเรือนร้อนเกินไป ไก่กินน้ำมากท้องจะเสีย แต่ถ้ากินน้ำน้อยเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน ดังนั้นทั้งการกินอาหารและน้ำต้องมีความพอเหมาะกับไก่ เลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท เอฟแอนด์เอฟฟู้ดส์ จำกัด มา 3 รุ่น เฉลี่ยเปอร์เซ็นต์การสูญเสียไม่เกิน 2 % ซึ่ง 2% คือ ลูกไก่ที่แถมมาเพื่อทดแทนลูกไก่ที่สูญเสียระหว่างการเดินทางนั่นเอง
เทคนิคการจัดการเพื่อลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียของฟาร์ม
ส่วนเทคนิคการจัดการเพื่อลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียของฟาร์ม คุณวสันต์บอกว่าจะคัดเลือกลูกไก่ที่สุขภาพไม่ดีออกทั้งหมดภายใน 7 วันแรก เพราะถ้าปล่อยไว้ลูกไก่พวกนี้จะกลายเป็นพาหะนำเชื้อ เนื่องจากความหนาแน่นในพื้นที่การเลี้ยงเยอะ ไก่ที่เลี้ยงเกิดสภาวะแออัด เชื้อสามารถกระจายไปสู่ไก่ตัวอื่นๆได้ง่าย
การลดอัตราการแพ้วัคซีนของไก่
อีกหนึ่งเทคนิค คือ การลดอัตราการแพ้วัคซีนของไก่ ไก่นั้นเมื่อมีการทำวัคซีน ไก่จะแพ้วัคซีนอย่างแน่นอน จากที่คุณวสันต์ได้ศึกษาข้อมูลมาพบว่าวัคซีนรอบแรกทำเมื่อไก่อายุ 7 วัน และทำรอบสองเมื่ออายุครบ 14 วัน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ไก่แพ้วัคซีนมากที่สุด เพราะร่างกายไก่อ่อนแอมาก ฟาร์มจึงเลือกที่จะไม่ทำวัคซีนตามโปรแกรมที่ทางบริษัทกำหนดมาให้ แต่ทำวัคซีน ± ตามโปรแกรมอย่างน้อย 2 วัน เพราะถ้าช่วงที่ร่างกายไก่ไม่แข็งแรง เมื่อมีการเพิ่มเชื้อจากการทำวัคซีนเข้าไป ไก่จะยิ่งอ่อนแอมากขึ้น และกลับมาฟื้นได้ยาก
ดังนั้นถ้าช่วงแรกสามารถลดอัตราการแพ้วัคซีนได้ การเลี้ยงไก่ในช่วงต่อๆไปจะง่ายมากขึ้น โปรแกรมวัคซีนทำวัคซีน ND นิวคาสเซิล ในช่วง 7 วันแรก รอบสองทำวัคซีนกัมโบโรเมื่อไก่อายุครบ 14 วัน และทำ ND ซ้ำอีกหนึ่งครั้งเมื่ออายุ 18 วัน การทำจะพิจารณาจากสุขภาพไก่ และอาการแพ้
แต่ถ้าไก่ไม่มีอาการแพ้จะทำตามโปรแกรมปกติ หลังช่วงอายุ 25 วัน กิจกรรมต่างๆ ที่ไก่ทำต้องลด เพื่อให้ไก่กินเต็มที่ เพราะเป็นช่วงสร้างน้ำหนัก ถ้าแต่ละฟาร์มสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ อาชีพการเลี้ยงไก่ประสบความสำเร็จแน่นอน แต่ในกรณีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพลูกไก่ที่ได้รับมาด้วย เพราะลูกไก่บางรุ่นอาจได้รับเชื้อมาจากไก่แม่พันธุ์อยู่แล้ว
การให้อาหารไก่เนื้อ
การจัดการของกำไรฟาร์มที่แตกต่างจากฟาร์มโดยทั่วไป คือ ฟาร์มไก่เนื้อโดยทั่วไปจะให้ไก่กินอาหารเป็นเวลา ฟาร์มจะเลี้ยงโดยการปล่อยอาหารใส่แพลนตลอด ไก่สามารถกินอาหารได้ตลอดทั้งวัน แต่มาเน้นในเรื่องของการคุมแสง ช่วงที่ไก่อายุ 1-20 วัน ภายในโรงเรือนจะสว่างตามปกติ
เมื่อไก่อายุเกิน 20 วัน เริ่มคุมแสงเหลือประมาณ 5 ลักซ์ โดยการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดไฟขนาดเล็ก และปิดด้านข้างโรงเรือนด้วยผ้าม่านดำ ป้องกันแสงจากภายนอก การเจริญเติบโตภายในฝูงจะสม่ำเสมอ ที่เลือกวิธีการให้ไก่กินอาหารตลอดเวลานั้นดีกว่า เพราะถ้าให้ไก่กินเป็นเวลา ช่วงที่ไก่หิวแล้วไม่ได้กิน ไก่จะเกิดความเครียด
รวมทั้งช่วงที่ให้อาหารไก่จำนวนกว่า 20,000 ตัว กินในเวลาเดียว ต้องมีบางส่วนที่กินไม่ทัน และโดนแย่งอาหาร อัตราการแลกเนื้อจะแตกต่างกัน ถ้าให้กินตลอดเวลาไก่จะไม่มากินอาหารพร้อมในเวลาเดียว การกินน้ำก็เช่นเดียวกัน จึงสามารถช่วยลดการกระเซ็นของน้ำ พื้นแกลบไม่เสีย จึงไม่จำเป็นต้องกลับแกลบบ่อย แต่จะกลับสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
เพราะการกลับแกลบบ่อยมีผลเสียเนื่องจากแก๊สแอมโมเนียลอยตัวขึ้น ทำให้ภายในโรงเรือนมีแก๊สจำนวนมาก ไก่หายใจไม่ออก เป็นหวัด การกลับแกลบจะทำจนไก่อายุ 25 วัน จึงเลือกกลับ ซึ่งปูแกลบหนา 10 เซนติเมตร ต่อในโรงเรือน
การเตรียมโรงเรือนลงไก่เนื้อ
แกลบที่ฟาร์มใช้สั่งโดยตรงจากรถขนส่งแกลบ ต่อครั้งที่สั่งใช้ประมาณ 25-30 ตัน จึงไม่มีปัญหาเรื่องของการหาซื้อแกลบไม่ได้ ราคาแกลบช่วงนี้แพงขึ้นจากเดิมอยู่ที่ตันละ 1,500 บาท รวมค่าขนส่ง จากเดิมที่เริ่มเลี้ยงแกลบที่ใช้นั้นได้มาฟรี เสียเพียงแค่ค่าขนส่ง สำหรับบางฟาร์มที่เลือกใช้วิธีการแลกเปลี่ยนแกลบเก่าเป็นแกลบใหม่
ตรงนี้ฟาร์มมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพื้นที่ที่หาซื้อแกลบได้ยาก แต่ฟาร์มเลือกที่จะขายแกลบขี้ไก่ เพราะส่วนนี้สามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดี ที่ฟาร์มไม่เลือกใช้ขี้เลื่อย เนื่องจากเมื่อใช้ไปนานๆ ขี้เลื่อยจะแน่นจับกันเป็นก้อน การจัดการโรงเรือนหลังจับไก่ทำการเอาขี้ไก่ออกโดยใช้รถไถไถเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวสวนที่มารับซื้อ
รายได้จากการขายขี้ไก่ปนแกลบได้รุ่นละ 1 แสนบาท หลังเอาขี้ไก่ออก ทำการล้างโรงเรือน และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ครั้ง ปูแกลบใหม่พร้อมกับพ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออีก 2 ครั้ง ทำการพักเล้าประมาณ 25 วัน เตรียมลงลูกไก่รุ่นต่อไป
การให้น้ำไก่เนื้อ
ระบบการให้อาหารและน้ำที่ฟาร์มใช้เป็นระบบออโต้ฟีด ระบบน้ำเป็นแบบนิปเปิ้ล ส่วนอาหารใช้ระบบไซโลส่งตามรางอาหารมายังแพลนอาหารไก่ ซึ่งระบบเหล่านี้ฟาร์มเพิ่งนำเข้ามาใช้ได้ 1 ปี ก่อนนี้ใช้เป็นถังใส่อาหารไก่ทั่วไป ต้องยกกระสอบอาหารเข้ามาเท แต่ด้วยไม่ค่อนมีเวลาเพราะทำงานหลายด้าน
จึงมองว่าการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ภายในฟาร์มสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องของแรงงานได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนของการลงทุนระบบออโต้ฟีดทั้งระบบอยู่ที่ราคา 200,000 บาท/หลัง อุปกรณ์อย่างไซโลที่เลือกใช้เป็นของบริษัท เกษตรภัณฑ์ แรงดันน้ำไก่เป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงเช่นกัน แต่ละช่วงอายุความสามารถในการกินน้ำจะแตกต่างกัน
ที่ฟาร์มเลือกใช้ระบบโบราณ โดยการนำเอาแกลลอนใส่น้ำใส่ลูกลอยห้อยไว้ ตัวนิปเปิ้ลจะมีสายยางใสอยู่ที่ท่อนิปเปิ้ลเพื่อเป็นตัวดูระดับน้ำและคอยปรับระดับตามอายุไก่ การทำเช่นนี้ความดันของหัวนิปเปิ้ลจะคงที่กว่าระบบอัตโนมัติ เพราะระบบรุ่นใหม่ความดันจะไม่คงที่
เมื่อเวลาไก่กินน้ำพร้อมกันแรงดันจะต่ำทันที น้ำจะไหลไม่เพียงพอต่อความต้องการไก่ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ไม่มีไก่มากิน น้ำแรงดันในท่อจะสูง เมื่อไก่มากินจะกินได้ลำบาก ส่งผลให้พื้นแกลบบริเวณใต้นิปเปิ้ลเสีย เพราะแรงดันที่สูงเกินไป น้ำจะหยดบริเวณหัวนิปเปิ้ล
ปัญหาและอุปสรรคภายในโรงเรือนไก่เนื้อ
ส่วนของโรงเรือนที่แต่ละฟาร์มควรทำการเพิ่มเติม คือ ระบบ Alarm หรือระบบการแจ้งเตือนภัย เพราะระบบนี้สำคัญ และจำเป็นต้องมีไว้ในทุกฟาร์มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนทุกครั้งที่ภายในโรงเรือนมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟฟ้าดับ ไฟไหม้ ความร้อนภายในโรงเรือนสูง น้ำไม่ไหล เพื่อแก้ไขได้ทันเวลา ลงทุนไม่มาก แต่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง การมีระบบเตือนภัย
สิ่งที่ควรทำเป็นประจำ คือ การตรวจเช็คระบบ และเครื่องสำรองไฟ ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเกิดความผิดพลาดเวลาที่ระบบไม่ร้องเตือน หากถามว่าทำไมต้องลงทุนตรงส่วนนี้ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแล้วถือว่าคุ้มมาก นอกจากนี้ปัญหาเรื่องโรคต้องใส่ใจ ตลอดระยะการเลี้ยงมากกว่า 15 ปี เคยประสบปัญหาโรคนิวคาสเซิลลง 1 หลัง ขาดทุนไป 2 แสนกว่าบาท เป็นในช่วงที่ฟาร์มยังเลี้ยงไก่อยู่กับบริษัท ไทยฟู้ดส์ สาเหตุของโรคมองว่ามาจากตัวบุคคลเลี้ยงที่เป็นตัวนำโรคเข้าไปภายในโรงเรือน
ส่วนขี้ไก่จำหน่ายเป็นปุ๋ย เมื่อก่อนผลิตปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดจำหน่าย โดยการนำแกลบขี้ไก่เข้าเครื่องตีป่นและนำมาเข้าเครื่องอัดเม็ด ราคาขายได้ดีกว่าการขายแกลบขี้ไก่แบบธรรมดา เพราะการทำปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดต้องเพิ่มในส่วนของการหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์ แต่ช่วงนี้หยุดทำ เนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีมีราคาถูก เกษตรกรจึงหันไปเลือกใช้ปุ๋ยประเภทนั้นมากกว่า
ไก่ตายนำเข้าเครื่องบดเพื่อเป็นอาหารของปลาและตะพาบน้ำที่เลี้ยงไว้บริเวณบ้าน นอกจากไก่ตายจากฟาร์มคุณวสันต์ ยังรับซื้อไก่ตายจากฟาร์มอื่นๆ เพราะปลากินอาหารต่อวันมากถึง 500 กิโลกรัม มีบ่อเลี้ยงปลาบนพื้นที่ 10 ไร่
แนวโน้มต่อไปฟาร์มจะดำเนินการขยายโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อเพิ่มอีก 3 หลัง ใช้ระยะเวลาการสร้างประมาณ 3 เดือน วางแผนสร้างเพิ่มทีละ 1 หลัง เพราะเงินทุนที่นำมาลงทุนเป็นเงินส่วนตัว ไม่ใช่เงินกู้ธนาคาร จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้นทุนต่อหลังอยู่ที่ 2,500,000 บาท ขนาดการเลี้ยง 20,000 ตัว
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท
ความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์ และการทำฟาร์ม เหล่านี้ล้วนมาจากการใฝ่รู้ ศึกษาหาความรู้จากทั้งหนังสือ และอินเตอร์เน็ต และทดลองเลี้ยงด้วยตัวเอง สิ่งไหนที่คิดว่าทำแล้วดีจะทดลองทำทันที ซึ่งแต่ละโรงเรือนการจัดการจะแตกต่างกันไป แล้วนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบว่าโรงเรือนที่มีการจัดการแบบใดที่สามารถให้ผลผลิตมากที่สุด และดีที่สุด การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท
อาชีพการเลี้ยงไก่เป็นอาชีพที่ไม่มีทางสิ้นสุด ต้องมีการศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะด้านการจัดการแต่ละปี และแต่ละช่วงเวลา ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศนั้นๆ ถ้าถามว่าอาชีพการเลี้ยงไก่นั้นยากหรือไม่ คุณวสันต์มองว่ามันไม่ได้ยากเกินความสามารถ ถ้ารู้หลัก ให้คิดเสมอว่าไก่ก็เหมือนตัวเรา ถ้าภายในโรงเรือนเราเข้าไปแล้วรู้สึกไม่สบายตัว ไก่ก็ไม่สบายตัวเช่นกัน สำหรับเกษตรกรที่กำลังมองและจะเริ่มต้นอาชีพนี้ อยากให้ศึกษาและพิจารณาให้รอบคอบถึงรูปแบบการเลี้ยง การเลี้ยงระบบประกันราคาได้รายได้ที่ดี รายได้ขึ้นอยู่กับการจัดการของฟาร์มนั้นๆ
ส่วนระบบรับจ้างเลี้ยงรายได้จะค่อนข้างคงที่ และได้น้อยกว่าระบบแรก แต่ถ้ามองในด้านความเสี่ยงระบบประกันราคามีความเสี่ยงสูงกว่า ถ้ามีการจัดการที่ไม่ดี เพราะไก่เป็นสัตว์เล็ก ตายง่าย ด้านทิศทางต่อไปของวงการไก่เนื้อตนมองว่าต่อไปเศรษฐกิจด้านการปศุสัตว์จะดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ รายได้จากอาชีพเหล่านี้ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีเหมือนเทียบกับอาชีพรับจ้างโดยทั่วไป
ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเลี้ยงไก่เนื้อระบบประกันกับคุณวสันต์ โทร.08-1995-4160