การเลี้ยงไก่เนื้อ ข้อดีอย่างที่ทราบกัน คือ เลี้ยงง่าย โตไว เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรผู้เลี้ยงใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน เฉลี่ยเพียง 40-45 วัน ก็สามารถจับไก่ขายสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว
เฉกเช่น คุณประภาส สบายดี เจ้าของ “ประภาสฟาร์ม” ตั้งอยู่เทศบาลเมืองปรกฟ้า อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ปัจจุบันประสบความสำเร็จจาก การเลี้ยงไก่เนื้อ ในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งโดยมีลูกชายที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง คุณภานุพนธ์ สบายดี เข้ามาช่วยดูแลและจัดการฟาร์ม ซึ่งหากย้อนไปในอดีต คุณประภาสเริ่มต้นเข้าสู่วงการเลี้ยงไก่มาร่วม 20 ปี
ต้นทุน และราคาของการเลี้ยงระบบคอนแทรคฯ
ด้านการเตรียมโรงเรือนเลี้ยงไก่แบบฉบับ “ประภาสฟาร์ม” ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ส่วนเรื่องของพันธุ์ไก่ คุณประภาสเลือกเลี้ยงกับบริษัทรายใหญ่รูปแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จึงได้ลูกเจี๊ยบในราคาต้นทุนต่ำ เฉลี่ยตัวละ 10 บาท โดยราคาตลาดทั่วไป เฉลี่ยราคาตัวละ 16-18 บาท ในส่วนอาหารใช้อาหารคุณภาพจากบริษัทชั้นนำของประเทศ
ส่วนการเตรียมโรงเรือนใช้แกลบทั้งหมด 11 ตัน รับซื้อมาในราคาตันละ 2,300 บาท เฉลี่ยจัดสร้าง 2 โรงเรือน ใช้แกลบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 บาท (เฉลี่ยแกลบ กก.ละ 2.30 บาท)
จากเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สู่..รายได้หลัก
แรกเริ่มจากเลี้ยงทำเป็นอาชีพเสริมรูปแบบเล้าเปิด ลงไก่ประมาณ 6,000 ตัว โดยทำควบคู่กับงานประจำที่ทำอยู่ในอดีต คือ ขับรถกู้ชีพในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านบางนา ซึ่งในตอนนั้นมีทั้งขาดทุน ล้มลุกคลุกคลาน แต่ด้วยใจรัก และไม่ย่อท้อ คุณประภาสหมั่นศึกษาหาความรู้ ปรับเปลี่ยนแก้ไขวิธีการบริหารจัดการ กระทั่งค่อยๆ พัฒนามาสู่การเลี้ยงระบบปิด หรืออีแวป (EVAP) ที่ได้มาตรฐานเฉกเช่นทุกวันนี้
คุณประภาสเปิดใจกับ นิตยสารสัตว์บก ถึงการตัดสินใจทำฟาร์มไก่เนื้อว่า ในบรรดาสัตว์เศรษฐกิจทั้งหมด การเลี้ยงไก่เนื้อ เป็นอาชีพที่ได้ผลตอบแทนกลับคืนมารวดเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันไก่เนื้อเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ มีเกษตรกรหลายรายที่เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์กันอย่างจริงจัง และขยายเป็นวงกว้าง
ปัจจุบัน “ประภาสฟาร์ม” เลี้ยงไก่ระบบปิดที่ได้มาตรฐาน ปลูกสร้างโรงเรือนพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 2 โรงเรือน ลงไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด จำนวนกว่า 30,000 ตัว เลี้ยงในระบบระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (บริษัท อรุณการเกษตร โพลทรี่ จำกัด) ประกันราคาอยู่ที่ 32 บาท/กก.
โดยพื้นที่ 2 โรงเรือน ขนาดไม่เท่ากัน โดยมีโรงเรือนขนาดใหญ่ กว้างxยาว 18×64 เมตร และโรงเรือนขนาดเล็ก กว้างxยาว 14×64 เมตร เฉลี่ยพื้นที่ใช้สอยเลี้ยงไก่ 13 ตัว/ตารางเมตร
ข้อดีและประโยชน์จาก การเลี้ยงไก่เนื้อ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงข้อดีและประโยชน์จาก การเลี้ยงไก่เนื้อ ที่ได้สัมผัสกับ “ประภาสฟาร์ม” อาจสรุปได้ คือ
- งานเลี้ยงไก่อยู่ได้กับบุคคลทุกระดับสาขาอาชีพ โดยมีความสำคัญต่อการใส่ใจ ดูแลเช้า-เย็น มีสถานที่ที่สามารถสร้างคอกเลี้ยงไก่ให้ได้อยู่สุขสบาย เลี้ยงดูให้ถูกต้อง ก็จะได้ไก่ไว้กินเนื้อ หรือกินไข่ แล้วแต่ผู้เลี้ยง
- การเลี้ยงไก่ช่วยให้มีพลานามัย เนื่องจากอาชีพนี้อาจเป็นทางเลือกของผู้ที่อยากออกกำลังกาย และสามารถมีรายได้ได้ด้วย เพราะผลผลิตที่ได้นอกจากนำมาประกอบอาหารภายในครัวเรือนแล้ว ยังจำหน่ายเป็นรายได้เสริมเพิ่มเติม ได้อีกด้วย
- การเลี้ยงไก่นั้นสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากอาชีพที่ประกอบกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ทำนา ปลูกข้าว ยังสร้างรายได้ค่อนข้างต่ำมาก จึงควรเลือกที่จะหารายได้เสริมด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ได้ด้วย ก็จะเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
- การเลี้ยงไก่ทำให้แรงงานมีการว่าจ้างตลอดทั้งปี ทำให้คนงานในพื้นที่เกิดอาชีพ มีรายได้ และไม่จำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น
- การเลี้ยงไก่เป็นงานจุกจิก จะช่วยสร้างนิสัยผู้เลี้ยงได้ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ให้มีความละเอียด รอบคอบ และประหยัด การทำงานแต่ละอย่าง จำเป็นต้องตรงต่อเวลา เช่น ให้อาหาร ให้น้ำ เก็บไข่ จึงทำให้มีการฝึกนิสัยให้มีความเป็นระบบ ระเบียบ และตรงต่อเวลา
- มูลไก่เป็นผลพลอยได้ในการบำรุงดิน การเลี้ยงนอกจากจะให้ประโยชน์จากตัวไก่แล้ว ยังนำมูลไก่ไปใส่เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้อีกด้วย โดยเฉพาะปัจจุบันมีการจำหน่ายเป็นปุ๋ยคอกเพื่อใส่ไม้ดอกไม้ประดับกันเป็นจำนวนมาก
ระยะเวลาการจับไก่เนื้อ
ในส่วนการจับไก่จะมีระยะเวลาการจับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของไก่ที่เลี้ยง เช่นไก่เล็ก ไก่ขนาดกลาง และไก่ขนาดโตเต็มที่ คุณประภาสยกตัวอย่าง การจับไก่ขนาดเล็กเริ่มต้นจับในระยะ 30-40 วัน น้ำหนัก 1.5-1.6 กก.(ตัวเมีย) ไก่ขนาดกลางระยะจับ 30 วัน เช่นกัน น้ำหนักที่จับอยู่ที่ 1.8-1.9 กก. /ตัว และไก่โตระยะจับ 40 วันขึ้นไป น้ำหนักเฉลี่ยทั้งตัวผู้ และตัวเมีย เฉลี่ย 3 กก./ตัว เป็นต้น
การกกลูกไก่ในโรงเรือน
สำหรับไก่ที่ “ประภาสฟาร์ม” คอนแทรคนั้น เมื่อคลอดแล้วทำการสเปรย์ยาก็จะขนส่งมาให้ทันที หลังจากนั้นทำการกกในโรงเรือนประมาณ 7 วัน ซึ่งในโรงเรือนตั้งอุณหภูมิไว้ 28-29 องศาเซลเซียส ทั้งนี้หากอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลง ระบบในโรงเรือนจะทำงานโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ ฮีทเตอร์จะทำการเพิ่มความร้อนให้เหมาะสมแล้วตัดอัตโนมัติ ก่อนจะใช้พัดลมเป่าเพื่อดูดอากาศออกไปภายนอก
การเลือกอาหารไก่เนื้อ
เรื่องอาหาร คุณประภาสใช้แบรนด์บริษัทชั้นนำของประเทศ เป็นอาหารคุณภาพบริการจัดส่งถึงหน้าฟาร์ม โดยใช้อาหาร 2 เบอร์ ได้แก่ ไก่รุ่นเล็กใช้อาหารเบอร์ 203 ใช้เลี้ยงจนถึงอายุ 20 วัน พอเข้าสู่วันที่ 21 เปลี่ยนเป็นให้อาหารเบอร์ 204 ซึ่งที่ “ประภาสฟาร์ม” ใช้แค่ 2 เบอร์นี้เท่านั้น
ด้านการให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาป้องกันโรค ไม่ได้ใช้มากนัก จะมีเรื่องของการให้วัคซีน ซึ่งจะให้ตอนไก่อายุ 21 วันไปแล้ว อย่างไรก็ตามคุณประภาสบอกว่าก่อนจะจับไก่ทางฟาร์มจะงดให้ยาก่อน 10 วัน โดยจะมีสัตวบาลของบริษัทคอนแทรคฟาร์มมิ่งคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ข้อดีของการเลี้ยงในระบบอีแวปทำให้ไก่ไม่มีปัญหาเรื่องโรค เพราะอยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสม
“การเลี้ยงไก่ดูเหมือนจุกจิก แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาก ผู้เลี้ยงแค่ต้องใส่ใจดูแลเอาใจใส่ หมั่นสังเกตอาการว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร ยกตัวอย่างไก่ที่เลี้ยง ผมเลี้ยงต้องใส่ใจเรื่อง 3R ได้แก่ อาหาร อากาศ และอาการ โดยเรื่องอาหารต้องให้อาหารที่มีคุณภาพ และต้องไม่มีกลิ่นเหม็นฉุน เพราะไก่จะคุ้ยเขี่ยไม่กิน ส่วนเรื่องของสภาพอากาศไม่ได้เป็นกังวลอะไร เพราะควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ” คุณประภาสเปิดเผย
การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ
ด้านการบริหารจัดการในแต่ละวันของ “ประภาสฟาร์ม” ดูแลกันแบบครอบครัว สำหรับการให้อาหารไก่ใช้แรงงานคนช่วยให้อาหาร กล่าวคือ เทอาหารใส่ถังแขวนเอาไว้ ไม่ใช่ระบบ “ออโต้ฟีด” (Auto Feed) ข้อดีของการใช้แรงงานคนให้อาหารไก่ คือ สะดวกในการจับ เช่น ต้องการจับไก่จำนวน 3,000 ตัว ระบบจะทำงานอัตโนมัติในการยกไลน์อาหารขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ที่ต้องการจับ แต่ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ไก่ยังสามารถกินอาหารได้ตามปกติ
ในส่วนการพักเล้า คุณประภาสกล่าวว่า จะทำพักหลังจับไก่จนหมด โดยปิดเล้าพักเอาไว้ประมาณ 20 วัน แล้วจึงฉีดยาฆ่าเชื้อวันรุ่งขึ้น จากนั้นทำการโกยขี้ไก่กองรวมไว้ แล้วทำการฉีดยาฆ่าเชื้ออีกหนึ่งรอบ ทั้งนี้มูลไก่ทางฟาร์มฯ แบ่งขาย และแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ นำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยบำรุงพืชผักต่อไป
การใช้ฟอยล์ฉนวนกันความร้อนคลุมหลังคาโรงเรือนไก่เนื้อ
เมื่อถามถึงเคล็ดลับใน การเลี้ยงไก่เนื้อ ให้ได้มาตรฐานและประสบความสำเร็จของ “ประภาสฟาร์ม” คุณประภาสบอกว่าอยู่ที่การบริหารจัดการของผู้เลี้ยงเป็นหลัก ตลอดจนการวางระบบโรงเรือนให้ได้มาตรฐานในเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน
ทั้งนี้อยู่ที่การเลือกใช้วัสดุในการจัดสร้างโรงเรือนด้วย ที่เจ้าของฟาร์มไม่ควรมองข้ามนั่นคือ การนำเทคโนโลยี “ฟอยล์ฉนวนกันความร้อน” มาใช้คลุมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น ลดอุณหภูมิภายในบ้าน อาคาร สถานที่ และฟาร์มสัตว์ ทำให้สัตว์เย็นสบาย อารมณ์ดี ผลผลิตดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
เผยเคล็ดลับลดอุณหภูมิโรงเรือน EVAP ได้มาตรฐาน
โดย “ประภาสฟาร์ม” ไว้วางใจ และเลือกใช้บริการของ บริษัท เด่นใหญ่ จำกัด บริษัทแห่งแรกในประเทศไทย ที่ผลิตแผ่นสะท้อนรังสีความร้อนชนิดฟอยล์ (ฟอยล์ฉนวนกันความร้อน) ด้วยวัสดุที่ใช้ได้มาตรฐาน ได้แก่ “อลูมิเนียมฟอยล์” เกรดพรีเมี่ยม นำเข้าจากต่างประเทศ เสริมด้วย PP (Plastic Polypropylene) กันน้ำ ไม่ฉีกขาดง่าย และที่สำคัญสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์
สำหรับมาตรฐานสินค้า ผลิตภัณฑ์ “ฟอยล์ฉนวนกันความร้อน” ภายใต้กระบวนการผลิตและจำหน่ายโดย บริษัท เด่นใหญ่ จำกัด ได้รับหนังสือรับรอง “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” (มอก.) และหนังสือรับรองงานวิจัยการทดสอบวัดค่าการสะท้อนความร้อน ออกให้โดยภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
คุณประภาสเล่าย้อนว่าสมัยก่อนใช้วัสดุพลาสติกใส หรือ “PE” ในการคลุมโรงเรือน และใช้กาวในการยึดติด แต่พอระยะเวลาผ่านไปแค่ 2 ปี เกิดรอยแตกร้าว หลุด ร่วง จึงมองหาวัสดุที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทั่งได้มารู้จักกับ บริษัท เด่นใหญ่ฯ และทดลองใช้ “อลูมิเนียมฟอยล์” นำมาคลุมโรงเรือน ผลปรากฏสิ่งที่เกิดขึ้นพบว่าช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือน และช่วยประหยัดค่าไฟลดลงอีก รวมถึงช่วยปรับอุณหภูมิให้ลดลงได้อีก 3 องศาเซลเซียส อีกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ใช้บริการของอลูมิเนียมฟอยล์ของ “เด่นใหญ่” มาแล้ว เข้าสู่ปีที่ 6 ก็ยังไม่พบปัญหาฟอยล์แตกร้าว หรือรั่วซึม แต่อย่างใด
“โดยส่วนตัวผมประทับใจสินค้าของเด่นใหญ่นะ สินค้าของเขารับประกัน 5 ปี แต่ผมใช้มาแล้วนาน 6 ปี ก็ยังไม่ต้องซ่อมบำรุงอะไร อลูมิเนียมฟอยล์ยังคงใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม อย่างเช่น โรงเรือนเลี้ยงไก่ของผมขนาด 14×72 เมตร ใช้อลูมิเนียมฟอยล์ เบ็ดเสร็จผลลงทุนประมาณ 30,000 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ต้นทุนขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของแต่ละฟาร์ม ซึ่งคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่า หากเปรียบเทียบกับการใช้วัสดุพลาสติก PE คลุม เพราะอายุการใช้งานสั้นแค่ 2-3 ปี แถมยังต้องลงทุนซื้อกาวมาหยอดยึดติดอีก ต้นทุนกระปุกละประมาณ 500 บาท คิดดูว่าต้องซื้อกาวกี่กระปุก” คุณประภาสยืนยัน
การบริหารจัดการระบบครอบครัว
เมื่อถามถึงอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อในปัจจุบัน คุณประภาสบอกว่าแต่ก่อนทำเป็นจ๊อบเสริม แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัว นอกจากนี้ “ประภาสฟาร์ม” บริหารจัดการกันแบบครอบครัว มีเครือญาติพี่น้องมาช่วยดูแลแบ่งหน้าที่การจัดการช่วยกัน กอปรกับการลงทุนนำอุปกรณ์ฟาร์มที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน มาช่วยในการควบคุม ทำให้ การเลี้ยงไก่เนื้อ สะดวก และง่ายขึ้น
สำหรับผลตอบแทนวันนี้จาก การเลี้ยงไก่เนื้อ ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง คุณประภาสเปิดเผยว่ากำไรเฉลี่ยคิดเป็นรอบการเลี้ยง ซึ่งแต่ละรอบได้กำไรประมาณ 15-16 บาท/ตัว/รอบการเลี้ยง
ฝากถึง…ผู้ที่สนใจ การเลี้ยงไก่เนื้อ
“ผมขอฝากถึงผู้ที่สนใจที่จะลงทุนเลี้ยงไก่เนื้อรูปแบบระบบคอนแทรค ปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้น อันดับแรกต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอให้กิน ดื่มกิน นอกจากนี้ผู้เลี้ยงต้องเข้าอบรมการเลี้ยงสัตว์ปีก และต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน แต่จริงๆ แล้ว การเลี้ยงไก่เนื้อ ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่หลายคนคิด มันอยู่ที่การบริหารจัดการ และควบคุมอุณหภูมิให้ได้”
โดย การเลี้ยงไก่เนื้อ ไม่มีวันจบสิ้น ผู้เลี้ยงต้องพัฒนาปรับปรุงระบบต่อไปเรื่อยๆ และไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด เราต้องหมั่นศึกษาพันธุ์ไก่ที่เลี้ยง รวมทั้งอาหาร และยาต่างๆ ซึ่งหากทำได้ตามที่บอก การเลี้ยงไก่จะถือว่าได้ทุนเร็วที่สุด ลองคิดดูว่าคุณลงทุนสร้างระบบโรงเรือน 2,000,000 บาท ลงทุนลงไก่ 20,000 ตัว คิดว่าตีกำไรไปตัวละ 15 บาท ดังนั้นรอบหนึ่งๆ คุณจะได้ 300,000 บาท ซึ่ง 1 ปี ลงไก่ได้ 5 ไฟท์ (เลี้ยงได้ 5 รุ่น) รับรองคุณได้ทุนคืน 1 ปีครึ่งแน่นอน” คุณประภาสกล่าวฝากผู้อ่านในตอนท้าย
ขอขอบคุณ คุณประภาส สบายดี เจ้าของ “ประภาสฟาร์ม” 170 หมู่ 4 เทศบาลเมืองปรกฟ้า อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี 20240