การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา และ ปลูกพืชผสมผสาน ทำเงินหมุนหลายรอบเพราะ ขี้ไก่
อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อดีต คือ แหล่งผลิต “ส้มเขียวหวาน” ใหญ่สุดของประเทศ ปัจจุบันเหลือเพียงตำนาน แต่อาชีพเกษตรผสมผสานพออยู่ได้ มีตัวอย่างของนักสู้ชีวิต นาม สมจิตร บรรณจักร์ วัย 59 ปี และภรรยา
คุณสมจิตรเมื่อเรียนจบ ปวช. ก็มาเป็นลูกจ้างที่บ่อน้ำมันฝางของกรมการพลังงานทหาร ทำงานอยู่ 9 ปี พอแต่งงานกับสาวพยาบาลก็ต้องลาออกจากงานเมื่อปี 2533 ได้หันมาเลี้ยง “ไก่ไข่” โดยเริ่มจาก 500 ตัว และเพิ่มขึ้นตลอดครั้งละ 500 ตัว จนกระทั่งปัจจุบันมีไก่ทั้งหมด 20,000 ตัว ในห้วงเวลา 27 ปี
การเลี้ยงไก่ไข่ 20,000 ตัว บางคนอาจเลี้ยงในโรงเรือนปิด แต่คุณสมจิตรเลี้ยงแบบเล้าเปิดทั้งหมด 5 เล้า เล้าละขนาด 10×70 เมตร หรือ 800 ตารางเมตร บรรจุไก่ได้เล้าละ 5,000 ตัว
การ ปลูกพืชผสมผสาน
เนื่องจากคุณสมจิตรชอบเรื่องการเกษตรตั้งแต่เรียนหนังสือ เริ่มต้น ปลูกพืชผสมผสาน เป็นสวนลิ้นจี่ และสวนส้ม แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ พอรัฐบาลมีโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ปี พ.ศ.2547-2549 จึงได้หันมาปลูก “ยางพารา” และขอรับยางพันธุ์ RRIM600 จำนวน 2,000 กว่าต้น และซื้อเพิ่มจากงบของตนเองจำนวน 2,000 กว่าต้น
เริ่มปลูกบนพื้นที่ 60 ไร่ เข้าปีที่ 10 ส่วน “กาแฟ” ปลูกในพื้นที่ใต้ต้นยางจำนวน 2,000 กว่าต้น เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เก็บผลผลิตไปแล้ว 1 รอบ ปีนี้กำลังเก็บผลผลิตปีที่ 2 ประมาณปลายปีเก็บ และปลูกต้นสัก 10 กว่าไร่ อายุ 10 กว่าปี ผมปลูกช่วงที่ไม้สักทองกำลังบูม นอกจากนั้นก็ปลูกไม้ผล ได้แก่ ลิ้นจี่ 10 กว่าต้น และมะม่วง เก็บไว้กิน และขายบางส่วน
การ เลี้ยงปลา ชนิดต่างๆ
เพื่อให้ครบเครื่องเรื่องเกษตร คุณสมจิตรได้ขุดบ่อเพื่อ เลี้ยงปลา 5 บ่อ ประกอบด้วยบ่อใหญ่ ขนาด 30×70 เมตร จำนวน 2 บ่อ เลี้ยงปลา สวาย กับปลารวม ส่วนบ่อเล็กมีจำนวน 3 บ่อ อยู่ในบริเวณฟาร์ม เลี้ยงปลา ดุก ปลาแรด และปลานิล
การทำเกษตร ปลูกพืชผสผสาน การเลี้ยงปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ มีข้อดีอย่างไร คุณสมจิตรมีคำตอบชัดเจน
เรื่องที่ 1 การลงทุนไม่สูง เพราะคุณสมจิตรเลือก การเลี้ยงไก่ไข่ แบบโรงเรือนเปิด มีเพียงโรงเรือน อุปกรณ์ กรงตับ พันธุ์ไก่ ยา วัคซีน และอาหาร เป็นต้น ลงทุนเพียงล้านกว่าบาท/ไก่ 4,000 ตัว
แน่นอนการลงทุน การเลี้ยงไก่ไข่ ต้องมีความรู้ ซึ่งคุณสมจิตรได้รับการถ่ายทอดวิชาจากคุณชาญวิทย์ ร้าน “รวมพรวิทย์” ที่เชียงใหม่ ที่เลี้ยงไก่เชิงธุรกิจเต็มตัว
ช่วงแรกคุณสมจิตรเลี้ยงพันธุ์ไฮเซกตามที่คุณชาญวิทย์แนะนำ และผสมอาหารเอง ต่อมาได้หันมาใช้สายพันธุ์โรมันซ์บราวของเบทาโกร โดยเลี้ยงเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยแยกเลี้ยงเป็น 2 เล้า ปรากฏว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ไก่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้ไข่ไว และไข่ก็ให้เปอร์เซ็นต์ลงไว้ในระยะเวลา 1 ปี ถึง 4 เดือน ก็เหลือ 5-60% ก็ต้องปลด ไม่คุ้มกับค่าอาหาร แต่ของเบทาโกรไก่พันธุ์โรมันซ์บราวให้ไข่ช้า แต่ยืนกรงได้นาน 1 ปี 6 เดือน ยังอยู่ 6-70% ไข่ของเบทาโกรจะมีสีแดง น่ากิน ลูกค้าที่ซื้อจากฟาร์มจะนำไปทำข้าวผัด หรือข้าวไข่ดาว
การให้อาหาร-ให้น้ำไก่ไข่
ดังนั้นการทดลองเลี้ยงไก่ 2 บริษัท ทำให้คุณสมจิตรพบความจริง จึงเกิดการลงทุนสายพันธุ์ที่ใช้เม็ดเงินไม่สูง แต่ผลผลิตสูง เกือบ 20 ปี ที่ใช้พันธุ์ไก่สาวเบทาโกรมาตลอด เพราะไก่สาวเมื่อนำมาเลี้ยงเพียง 2-3 สัปดาห์ ก็ออกไข่แล้ว และราคาเพียงตัวละ 144 บาท (วันที่ 23 ก.ย. 60) ถูกกว่าเมื่อ 7-8 ปีก่อน ช่วงไก่ขาด ตัวละ 170 บาท
ส่วนเรื่องอาหารซื้อจากเบทาโกร เพราะสะดวก นอกจากนี้คุณสมจิตรจะเน้นเรื่อง “ความสะอาด” ในฟาร์มเป็นพิเศษ แม้จะต้องลงทุนเรื่องค่าแรงงาน คนงาน ให้ทำความสะอาดในเล้า และรอบๆ เล้า ตั้งแต่ 8 โมงเช้า พอเปลี่ยนอาหารไก่แล้วก็เก็บไข่ตอน 10 โมงเช้า จากนั้นก็ให้อาหารมื้อแรก 11.00-12.00 น.
พอเข้าช่วงบ่ายก็ทำโปรแกรมเหมือนช่วงเช้าจนเลิกเวลา 5 โมงเย็นทุกวัน ไข่ที่ได้วันละ 500 กว่าถาด หรือประมาณ 15,000-16,000 ฟอง ขนาดเบอร์ 1, 2 และ 3 ก่อนเข้าเล้าจะมีน้ำยาฆ่าเชื้ออยู่หน้าเล้าทุกเล้าเพื่อป้องกันโรค ส่วนวัคซีนผมจะให้วัคซีนรวม หลังจากปลดไก่ไข่แล้วจะพักเล้าประมาณ 1½ เดือน เพื่อให้คนงานทำความสะอาดเล้า ฉีดยาฆ่าเชื้อ
ซึ่งกระบวนการทำงานทั้งหมดใช้คนงานโรงเรือนละคนเท่านั้น ค่าแรงวันละ 300 บาท มีอาหารและที่พักให้ ไม่เสียค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
การป้องกันโรคระบาดไก่ไข่
การที่คุณสมจิตรเน้นเรื่องความสะอาดด้วยการฉีดสเปรย์ก่อนที่ใครๆ จะเข้าฟาร์ม และภายในฟาร์ม ก็เข้มงวดเรื่องความสะอาด ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันโรคต่างๆ นั่นเอง เพราะการเป็นโรคแต่ละครั้งมันคือความเสีย และการสูญเสียโอกาส
รายได้จาก การเลี้ยงไก่ไข่
เมื่อพูดถึง “รายได้” ปรากฏว่าฟาร์มแห่งนี้มี 2 ทาง จากไก่ไข่ คือ ขายไข่ และขายไก่ปลดระวาง และขาย ขี้ไก่ ดังนั้นคุณสมจิตรจึงต้องมีโรงเรือนเก็บ ขี้ไก่ โดยเฉพาะ เพราะราคากระสอบละ 40 บาท หน้าฟาร์มนั้นไม่ธรรมดา
เรื่องที่ 2 ใช้ ขี้ไก่ เลี้ยงปลา ประหยัดค่าอาหารสำเร็จรูป
ในการ เลี้ยงปลา หนัง และปลาเกล็ด ดังกล่าว ทั้งเลี้ยงแบบบ่อเดี่ยว และบ่อรวม ทั้งบ่อเล็ก และบ่อใหญ่ คุณสมจิตรยอมรับว่าให้ “ ขี้ไก่ ” เป็นหลัก เสริมด้วยอาหารสำเร็จรูปของเบทาโกรแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าเลี้ยง 6 เดือน ก็จับขาย โดยบ่อใหญ่ให้คนที่เหมามาจับ “เฉลี่ยแล้วบ่อเล็กผมขาย กก.ละ 35 บาท ราคาเท่ากันทุกสายพันธุ์ ส่วนราคาสำหรับคนที่เหมาบ่อใหญ่จะเหมาประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท ส่วนบ่อเล็กราคาบ่อละหมื่นกว่าบาท” คุณสมจิตรเปิดเผยถึงกลยุทธ์การขายของตน
เรื่องที่ 3 ใช้ ขี้ไก่ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ใส่พืช ประหยัดปุ๋ยเคมี
เนื่องจากแต่ละเดือนมี ขี้ไก่ เพิ่มขึ้นตลอด ทำให้คุณสมจิตรต้องนำ ขี้ไก่ ไปใส่สวนยาง และพืชอื่นๆ แต่ละปีประหยัดปุ๋ยเคมีได้มาก จนกระทั่งได้ผลผลิตที่คุ้มค่า เช่น ยางก้อนถ้วย ราคา กก.ละ 25-26 บาท (ราคา ณ ปัจจุบัน) กาแฟที่ปลูกใต้ต้นยางเพิ่งเก็บผลผลิตชุดแรกเมื่อปีที่แล้วประมาณ 900 กก. เมื่อมาทำเป็นเมล็ดกาแฟ ราคา กก.ละ 100-110 บาท ปีนี้จะเก็บปลายเดือนตุลาคมนี้
รายได้จาก การเลี้ยงไก่ไข่ – ปลูกพืชผสมผสาน
จึงเห็นได้ว่า การเลี้ยงไก่ไข่ ได้มูลไก่ที่ก่อให้เกิดการลดต้นทุนในการ เลี้ยงปลา และการปลูกพืชเศรษฐกิจ ยาง และกาแฟ และทำให้มีรายได้ตลอดปี คุณสมจิตรจึงฝากเรื่องนี้ว่า “คิดว่าการทำเกษตรผสมผสานเป็นการเกื้อกูลกัน ถ้าทำอย่างเดียวก็ได้อย่างเดียว ทำผสมผสานหมุนเวียนได้ตลอดปี ผมจึงยึดหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตลอดไป”
นี่คือ สมจิตร บรรณจักร์ ผู้รักการเกษตร ที่มีความเชี่ยวชาญใน การเลี้ยงไก่ไข่ ปลาน้ำจืด และพืชเศรษฐกิจ ผู้ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขอขอบคุณข้อมูล คุณสมจิตร บรรณจักร์ อาจารีย์ฟาร์ม 376 หมู่ 5 ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110 โทร.089-999-9744