กำนันเมืองพัทลุง เลือกอาชีพเสริมด้านการเกษตร เลี้ยงหมูสาวคอนแทรค ร่วมกับปลูกพืช ผสมผสาน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในปัจจุบันนอกจากอาชีพหลักแล้ว คนส่วนใหญ่มักมองหาอาชีพเสริมมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้เพียงพอไม่เกิดหนี้สิน ทีมงานสัตว์บกจะพาไปรู้จักกับ คุณบรรฑิต หน้องมา หรือที่ชาวบ้านตำบลตะโหมด จังหวัดพัทลุง เรียกกันว่า กำนันเริญที่มีการทำเกษตร ผสมผสาน เป็นอาชีพเสริม

1.คุณบรรฑิต หน้องมา
1.คุณบรรฑิต หน้องมา

การปลูกพืชผสมผสาน

กำนันได้เริ่มจากการทำสวนเกษตรผสมผสาน ที่ปลูกพืชผักไว้กว่า 10 ไร่ ก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้ของกำนันได้ปลูกเพียงยางพาราอย่างเดียว แต่เมื่อราคายางตกต่ำ ทำให้ขาดรายได้ จึงปรับเปลี่ยนอาชีพ โดยได้ไปศึกษาดูงานที่ โครงการช่างหัวมัน แล้วได้กลับมาโค่นสวนยางพาราทิ้ง พร้อมกับจัดสรรการปลูกพืชใหม่ เป็นพืชผักระยะสั้น ระยะกลาง และ ยืนต้น

นอกจากจะปลูกพืชสร้างรายได้แล้ว กำนันตำบลตะโหมดยังหาพันธุ์ข้าวไร่ หอมดอกพะยอม มาหว่านไว้ในแปลง เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองไว้ด้วย เนื่องจากข้าวพันธุ์นี้มีกลิ่นหอม น่ารับประทาน และได้เปิดเป็น จุดเรียนรู้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่

นอกจากจะมีสวนยางพาราแล้ว ยังรับเหมาก่อสร้าง แต่ทำมาหลายปี ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ดีขึ้น จึงตัดสินใจปรับตัวเอง หันมาทำไร่ผสมผสาน ซึ่งตลอด 2 ปี ที่ทำมา ชีวิตมีความสุข และได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ลูกบ้านเข้ามาศึกษา จนขณะนี้มีลูกบ้านหลายคนปรับเปลี่ยนอาชีพทำตามแล้วเช่นกัน เพราะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี กำนันกล่าวเพิ่มเติม

2.โรงเรือนหมู
2.โรงเรือนหมู

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงหมู

ต่อมาได้มีการเข้าร่วมโครงการเลี้ยงสุกรสาวเพื่อเป็นแม่พันธุ์กับทาง บริษัท เบทาโกร จำกัด โดยเริ่มต้นเลี้ยงครั้งแรก 400 ตัว เป็นสุกรน้ำหนัก 90-100 กิโลกรัม นำมาเลี้ยงขุนต่ออีก 3 เดือน จะได้เป็นสุกรสาวพร้อมผสม เพื่อนำไปเป็นแม่พันธุ์ต่อในอนาคต

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพคนเลี้ยงสุกร กำนันได้ให้เหตุผลว่า ส่วนตัวแล้วเรียนจบด้านเกษตรมา และได้ทำสวนเกษตรผสมผสานแล้ว จึงสนใจอยากทำด้านปศุสัตว์ ประจวบกับตอนนั้นทางเบทาโกรมีโครงการเลี้ยงสุกรสาว จึงได้ศึกษาเรียนรู้ และสอบถามผู้มีประสบการณ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ตอนแรกตั้งใจจะเลี้ยงหมูขุน แต่ตอนนั้นโครงการหมูขุนของเบทาโกรเต็มแล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงหมูสาวเพื่อเป็นแม่พันธุ์แทน ก่อนเลี้ยงก็ได้ไปขอคำปรึกษาจากเพื่อนๆ ที่เคยเลี้ยง ตอนนี้ก็เลี้ยงมาได้ 3 ปี ก็ถือว่าเป็นอีกอาชีพที่ดี ได้ผลตอบแทนดี กำนันเผยถึงที่มาของฟาร์มหมูสาว

3.การให้อาหารหมู
3.การให้อาหารหมู

การบริหารจัดการฟาร์มหมู

สำหรับการดูแลจัดการในช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยง ทางเบทาโกรจะมีการจัดอบรมวิธีการเลี้ยง และมีทีมงานมาให้คำปรึกษาแนะนำ จึงทำให้การเริ่มเลี้ยงสำหรับมือใหม่ไม่ยาก

การเลี้ยงสุกรจะประสบความสำเร็จ ถ้าเอาใจใส่เรื่องการเลี้ยง และการดูแลสุกรอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะสุกรสาว แม้จะใช้ระยะเวลาเลี้ยงเพียง 3 เดือน ก่อนจะนำไปเป็นแม่พันธุ์ แต่ต้องมีการดูแลจัดการที่ดี เพราะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่การผลิตสุกรที่ดี เพื่อนำไปเป็นแม่พันธุ์ที่ดี ที่จะผลิตลูกสุกรที่ดี เพื่อผลิตเป็นสุกรขุนที่มีคุณภาพ

การเตรียมคอกก่อนนำสุกรสาวเข้า ต้องพ่นล้างทำความสะอาดคอกให้สะอาด รวมทั้งอุปกรณ์ให้น้ำ ให้อาหาร พ่นฆ่าเชื้อให้ทั่วบริเวณ ทั้งพื้นคอก ผนังคอก อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงหลังคาโรงเรือน พักคอกอย่างน้อย 7 วัน ก่อนนำสุกรพันธุ์เข้าเลี้ยง และควรมีพื้นที่ต่อตัวไม่น้อยว่า 1.5 ตารางเมตร ในสุกรสาว

การให้อาหารหมู

ส่วนอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์พันธุ์ของสุกร หากจัดการในจุดนี้ไม่ดีพอก็จะทำให้เกิดความชะงักของร่างกาย จะส่งผลโดยตรงถึงระบบสืบพันธุ์ และความคงทน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งทางเบทาโกรจะเป็นคนจัดการเรื่องอาหาร เพื่อให้เหมาะสมตามความต้องการของสุกรสาวในช่วงน้ำหนัก 90-100 กิโลกรัม ส่วนทางฟาร์มคอยตรวจเช็คอุปกรณ์ให้อาหารให้มีความพร้อมในการใช้งาน ก่อนนำสุกรเข้าเลี้ยง

สำหรับการให้อาหาร ในสัปดาห์แรกควรให้อาหารปริมาณ 1.0-1.5 กิโลกรัมต่อตัว โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) พร้อมทั้งสังเกตดูการกิน และสุขภาพสุกร หากมีความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันท่วงที ถัดจากช่วงนี้ไปก็ให้อาหารแบบกินได้เต็มที่ตลอดเวลา เพื่อเร่งให้เกิดความสมบูรณ์ของร่างกายโดยเร็วที่สุด

4.หมูแข็งแรง โตเร็ว
4.หมูแข็งแรง โตเร็ว

การบำรุงดูแลหมู

ควรเลี้ยงและจัดการสุกรสาวให้มีการระบายอากาศที่ดี เทคนิคเพิ่มเติม คือ ต้องดูแลจัดการให้สภาพแวดล้อมแห้ง เย็น และสะอาด จะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่จะเข้าไปก่อผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ ลดปัญหาหนองไหลในสุกรสาวได้ดี

อีกจุดหนึ่งที่แนะนำ ก็คือ เรื่องของจำนวนตัวที่เลี้ยงต่อคอก ควรเลี้ยงอยู่ที่ไม่เกิน 8-10 ตัวต่อคอก จะช่วยให้การตรวจเช็คสัดและการกระตุ้นสัดเป็นไปได้อย่างทั่วถึง

ในช่วงการรับเข้าเลี้ยงใหม่ควรมีการให้ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์กว้างในรูปแบบฉีด หรือผสมอาหารให้กินเป็นระยะเวลา 7-14 วัน ของการเข้าเลี้ยง ในช่วงแรกหลังจากสุกรสาวปรับตัวเข้าเลี้ยงในโรงเรือนได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว ต้องพิจารณาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรค ที่สำคัญด้วยการทำวัคซีนตามโปรแกรมที่ทางสัตวแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณบรรฑิต หน้องมา หรือกำนันเริญ 35 ม.1 ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง 93160 และคู่มือการเลี้ยงสุกรสาวเบทาโกร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 338