“ไข่เป็ด” ก็มีคุณค่าทางสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในการเผาผลาญไขมัน ในไข่เป็ดนั้นยังมีสารช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วย
ส่วน “เนื้อเป็ด” เป็นอาหารโปรตีนหลากหลายเมนูของคนไทย
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงเป็ดไข่
ดังนั้น “เป็ดไข่” จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากขึ้น ในหลายจังหวัด ทั้งเลี้ยงแบบเป็ดไล่ทุ่ง และการเลี้ยงระบบฟาร์ม เป็นต้น ดั่งเช่น “ขวัญข้าวฟาร์ม” เจ้าของ บริษัททัวร์ สู่ เจ้าของฟาร์ม เป็ดไข่ คุณเนตรนภา ภูคะฮาด ที่ได้เริ่มการเลี้ยงเป็ดไข่ 2,000 ตัว จากวิกฤตโควิด 19 เมื่อปลายปี 2563 เติบโตเข้าสู่ 40,000 ตัว ในปี 2566
คุณเนตรยอมรับ การเลี้ยงเป็ดในระบบฟาร์มมีต้นทุนที่สูง ทั้งโรงเรือน สายพันธุ์เป็ด คนดูแล อาหาร ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยในการเลี้ยง แต่ก็ยังมีกำไร เมื่อมีตลาดไข่เป็ดมากขึ้น จึงต้องขยายฟาร์มต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อ “ลูกค้า” ซึ่งมีทั้งไข่สด และเข้าโรงงานแปรรูป เป็น ไข่เยี่ยวม้า ไข่เค็ม และ โรงงานทำขนมหวาน เป็นต้น
ทำไมเลี้ยงเป็ดไข่สายพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ เป็นสายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก ของกรมปศุสัตว์ มีการพัฒนาสายพันธุ์ตลอด เพื่อทนโรค และไข่ทน สามารถไข่ได้ปี 280-300 ฟอง/ตัว ซึ่งคุณเนตรเลี้ยงแล้วได้ผลผลิตที่ดี
“ทำไมมั่นใจว่าเลี้ยงเป็ดมันจะดี ช่วง 2,000 ตัวแรกที่เลี้ยง พอมีกำไรบ้างค่ะ และมองเห็นว่าเป็นธุรกิจที่เป็นพื้นฐาน นั่นคือ “อาหาร” น่าสนใจ จึงมุ่งมั่น ตั้งใจทำ ด้วยทำเลที่ตั้งฟาร์มใกล้ กทม. และ ชลบุรี ซึ่งมีผู้บริโภคมาก “แรกเริ่ม” เราทำเพจเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักฟาร์ม และเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ในการสอบถามข้อมูล และได้ลงตลาดสดใหญ่ๆ เพื่อหาลูกค้าหลากหลายเพิ่มขึ้น
การบริหารจัดการฟาร์มเป็ดไข่
คุณเนตร เปิดเผยถึงการขยายฟาร์มในการเลี้ยงเป็ดไข่มากขึ้น ด้วยมีตลาดรองรับที่เพิ่มขึ้นมา ฐานลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้สินค้าไม่เพียงพอ เลยได้หาฟาร์มที่มีการจัดการฟาร์มที่ดี สินค้ามีคุณภาพ ตรงตามที่ต้องการ และไม่เกิดปัญหา หรือผลกระทบต่อฟาร์มของคุณเนตรเองเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อลูกค้าของฟาร์ม แน่นอนว่าต้องมีคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า เพราะนั่นคือ “หัวใจหลักของฟาร์ม”
จากการที่คุณเนตรทำตลาดเอง จึงได้เข้าใจผู้บริโภคว่า ความต่อเนื่องของสินค้าที่มีเพียงพอจะสามารถทำให้มีตลาดแน่นอน และมีตลาดมากขึ้น
ฟาร์มได้มีการสอนระบบการดูแลจัดการฟาร์มให้ถูกต้องแก่พนักงานในฟาร์ม เพื่อให้ได้เข้าใจการเลี้ยงเป็ดไข่ที่ถูกวิธี ตั้งแต่เป็ดสาวเข้าฟาร์มมา ก็ต้องทำโปรแกรมวัคซีน ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดนก, อหิวาต์ ตามด้วย วัคซีนกาฬโรคเป็ด เป็นต้น ซึ่งก็มีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำ ความสะอาดของเล้า และอื่นๆ มีส่วนทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของเป็ด เพราะความใส่ใจเป็นสิ่งที่สำคัญ
ซึ่งคุณเนตรจะนำฟาร์มเข้าสู่มาตรฐาน GAP ของกรมปศุสัตว์ในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องยิ่งทำให้ดีขึ้นไป เพื่อการันตีว่า สินค้าของฟาร์มมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ที่ดีต่อผู้บริโภค
ปัญหาและอุปสรรคของเป็ดไข่
การเลี้ยงเป็ดไข่ แม้ว่าจะมีการทำวัคซีนแล้วก็ตาม ก็ยังสามารถเกิดโรคได้ ทำให้เกิดความเสียหาย ฟาร์มเองก็เคยเจอ ก็ต้องคอยสังเกตุอาการเป็ด ส่วนมากก็จะมากับฝูงเป็ดไล่ทุ่ง ที่มีการย้ายหาแหล่งอาหารอยู่ตลอด เข้ามาใกล้เขตบริเวณของฟาร์ม เพราะที่ตั้งฟาร์มเป็นท้องทุ่ง ก็จะมีฝูงเป็ดไล่ทุ่งเข้ามา ในช่วงเกษตรกรเก็บผลผลิตแล้วก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
ทางฟาร์มเองก็มีสัตวบาลประจำฟาร์ม และ ยังได้ที่ปรึกษาคนเก่ง อ.สพ.ญ.ดร.โชติกา ทิวาลัย (อาจารย์เปิ้ล) อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มาให้คำแนะนำและจัดอบรมการทำวัคซีนที่ถูกวิธีให้แก่ฟาร์ม
อย่างไรก็ดี การเลี้ยงเป็ดสายพันธุ์กากีฯ เรื่องคุณภาพของแม่เป็ดเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณเนตรยืนยันได้ว่าทางฟาร์มจะซื้อเป็ดสาวกับผู้เลี้ยงเองเข้าฟาร์ม ไม่ผ่านนายหน้า แหล่งเป็ดมาจาก ชัยนาท สิงห์บุรี นครสวรรค์ ซึ่งมีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งที่เยอะที่สุดในประเทศ เลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็ดสาวต้องมีอายุ 22 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้ไข่ได้ และพร้อมเข้าฟาร์ม
โดยทางคุณเนตรเองจะมีการซื้อเป็ดสาวเข้าฟาร์มอย่างน้อยปีละ 2-3 รุ่น โดยประมาณ ต้องจ่ายเงินปีนึง 1-2 ล้านบาท ก็ต้องมั่นใจในผู้เลี้ยงและคุณภาพของแม่เป็ด ซึ่งเราก็ใช้เจ้าประจำที่ค้าขายกันมานาน เพื่อให้ได้เป็ดสาวที่แน่นอน และอายุได้ ที่สามารถให้ผลผลิตไข่ได้ดี
ถามว่าทำไมคุณเนตรไม่ผลิตลูกเป็ด และเป็ดสาวเอง “เราเคยคิด ถ้าวันหนึ่งเราเลี้ยงมากขึ้น ก็อยากจะลองเลี้ยงเอง ตั้งแต่ลูกเจี๊ยบ ไปจนถึงพร้อมไข่ เป็นโปรเจคในอนาคต เพราะขณะนี้เป็ดในฟาร์มเกือบ 4 หมื่นตัว อยากให้ง่ายต่อการจัดการเวลาเอาเป็ดเข้าฟาร์ม และคุณภาพตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง” คุณเนตร เผยว่าแนวคิดในการลงทุนทำโรงเรือนเลี้ยงเป็ดเล็กจนพร้อมไข่ ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ ต้องมารอดูกันค่ะ จะเกิดขึ้นได้ไหม ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อย
นอกจากนี้ “อาหารสำเร็จ” ที่มีราคาแพงขึ้นมาก จากเมื่อก่อน 350-380 บาท/ถุง ปัจจุบันขยับมา 500-570 บาท/ถุง จนทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกกิจการก็มี
จึงเป็นไปได้ที่ทางฟาร์มอาจต้องลงทุนผลิตลูกเป็ด และเป็ดสาวเอง ในอนาคตอันใกล้
“อาหารสำเร็จ ที่ฟาร์มใช้อยู่จะเป็น ยี่ห้อเพอเฟคค์ โปรตีน 19% และ CP 21%” ถามว่าราคาอาหารขนาดนี้ฟาร์มเล็กๆ จะอยู่ได้อย่างไร นี่ยังไม่รวมเป็ดไล่ทุ่ง ที่ราคาถูกกว่า ทำให้มีผลกับราคาไข่ฟาร์ม เพราะเขาไม่มีต้นทุนของอาหาร
การบำรุงดูแลเป็ดไข่
เมื่อถามถึงศัตรูของเป็ดไข่ คุณเนตรเผยว่า ต้องระวังเรื่อง “นก และ ยุง” เพราะทั้งคู่เป็นตัวพาหะที่นำโรคมาสู่ฟาร์มได้ ฟาร์มเองก็จะมีการป้องกันให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญต้องมีระบบจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดโรค
ในโรงเรือนแต่ละหลังได้เทพื้นซีเมนต์และรองด้วยแกลบ ทั้งหมด 8 โรงเรือน เพื่อดูแลรักษาความสะอาดของโรงเรือนได้ง่าย และก็จะมีพนักงานประจำแต่ละโรงเรือน คอยดูแลเรื่องอาหาร เรื่องน้ำ เปลี่ยนทุกวัน ต้องทำความสะอาดรางน้ำตลอด บางครั้งต้องเสริมวิตามินในน้ำให้กิน เพื่อให้เป็ดแข็งแรง
ด้วยเหตุนี้การออกแบบฟาร์มจึงต้องแบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนนอน โซนกิน และ โซนรีแลค ให้เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการจัดการฟาร์มให้สะอาด ต้องมี บ่อน้ำ นอกโรงเรือน ให้เป็ดเล่น ซึ่งเรื่องนี้เป้าหมายเพื่อให้เป็ดอยู่สบาย ไม่มีมลพิษ แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคนั่นเอง “โรงเรือนของเนตรออกแบบเกินมาตรฐาน พยายามจัดภูมิทัศน์ดูแลเขาดี เพราะเขาให้ผลผลิตที่ดีแก่เรา ไข่ก็จะปรับจากไซซ์จิ๋วเป็น 4 เป็น 3 เป็น 2 เป็น 1 ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะเป็นไข่ใหญ่” คุณเนตร ให้ความเห็น
แต่การเลี้ยงเป็ดไข่ ระบบฟาร์ม แม้สายพันธุ์ดี อาหารดี การจัดการดี แต่เรื่อง “อากาศ” ก็เป็นปัจจัยหลักเช่นกัน เช่น หน้าฝน หน้าร้อน อาจเกิดโรคท้องเสีย และไข้หวัด ไข่จะน้อย ส่วนหน้าหนาว เป็ดชอบ อากาศดี จะให้ไข่ดก สังเกตจากต้นปีไข่ราคาตก เพราะผลผลิตเยอะ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่เป็ด
เนื่องจากฟาร์มยังต้องใช้คนในการเข้าไปเก็บไข่ในทุกๆ เช้าอยู่นั้น พนักงานจะเริ่มเข้าโรงเรือนเก็บไข่กันตั้งแต่เวลา 5.00-6.00 น. จากนั้นก็จะนำไข่ทั้งหมดออกมาชั่งน้ำหนักของแต่ละโรงเรือน เพื่อเช็คยอดไข่ % ไข่ในแต่ละวัน ของแต่ละโรงเรือน เวลา 6.00-7.00 น. จะเทอาหารให้เป็ด และทำความสะอาดโรงเรือน เป็นแบบนี้ในทุกๆ เช้า หลังจากนั้นไข่ทั้งหมดก็จะใส่แผง คัดแยกไซส์ จากเครื่องคัดแยกไซส์ ออกเป็นแต่ละเบอร์ และส่งตรงถึงลูกค้าในทุกๆ วัน “ส่วนมากแล้ว” ไข่เป็ดนิยมขายเป็นกิโล จะมีน้ำหนัก 20, 21, 23 หมายถึง ไข่ 10 แผง ชั่งน้ำหนักได้ 19-20 กิโล จะเป็นไข่เล็ก
ไข่ 10 แผง ชั่งน้ำหนัก ได้ 21 กิโลกรัม จะเป็นไข่กลาง
ไข่ 10 แผง ชั่งน้ำหนัก ได้ 23 กิโลกรัม จะเป็นไข่ใหญ่
แต่ที่ฟาร์มจะทำการคัดแยกไซส์ขายเป็นไข่เบอร์เหมือนไข่ไก่เลยตั้งแต่เริ่มขาย เพราะฐานลูกค้าแรกเริ่มจะเป็น ล้งไข่ไก่ หรือ แม่ค้า พ่อค้า ที่ขายไข่เบอร์อยู่แล้ว
ส่วนราคาขายนั้น ก็จะมีราคาประกาศ 3 โซน ที่ฟาร์มเป็ดไข่ใช้เป็นราคากลาง ซึ่งมีทั้งของ สหกรณ์สุพรรณ, ผู้เลี้ยงเป็ดไข่ภาคกลาง และ ราคาผู้เลี้ยงเป็ดทางภาคตะวันออก (ชลบุรี)
จากเป็ดสาว 22 สัปดาห์ หรือ 5 เดือนครึ่ง เข้าฟาร์ม และเลี้ยงไปอีก 18 เดือน เอาไข่ ระยะเวลาจากนั้นเป็ดก็จะเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง และไข่เริ่มเปลือกบาง ก็ต้องปลดเป็ดออกไป และเอาเข้าเป็ดสาวรุ่นใหม่เข้ามา เป็ดที่ปลดออกไปนั้นก็จะมีทั้งเอาไปเลี้ยงเป็นเป็ดไล่ทุ่งต่อ หรือเอาเข้าโรงเชือด ซึ่งก็จะมีเจ้าประจำที่ซื้อขายเป็ดปลดกับฟาร์ม
แนวโน้มของตลาดไข่เป็ด
เมื่อถามถึงทิศทางของตลาดไข่เป็ด คุณเนตรมองว่า ยังเติบโตได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะสถานการณ์อะไร โรคระบาด หรือสงคราม คนก็ยังต้องกิน “อาหาร” เพราะคือสิ่งจำเป็น “ไข่เป็ด” ก็เป็นทางเลือกนึงที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมาย แถมยังทานได้ทุกวันค่ะ
คุณเนตรจึงพร้อมให้คนสนใจ เลี้ยงเป็ดไข่รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จาก ขวัญข้าวฟาร์ม โทร.090-981-2962