การใช้ ข้าวโพด เป็น วัตถุดิบอาหารสัตว์ ชนิดต่างๆ
ข้าวโพด (Corn หรือ Maize : Zea mays) เป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในสูตรอาหารสุกร และสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ในประเทศไทย (ยกเว้นเป็ด) มาเป็นเวลานาน ข้าวโพด ที่ปลูกและใช้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยเป็นชนิดเม็ดแข็ง (dent corn)
- มีโปรตีนโดยเฉลี่ยประมาณ 8%
- มีไขมันประมาณ 3% และ
- มีเยื่อใยประมาณ 2-2.5%
ข้าวโพด เป็นธัญพืชที่ไม่มีสารพิษ หรือสารขัดขวางโภชนะ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้าวโพด จึงมีคุณสมบัติไม่มีขีดจำกัดการใช้ในสูตรอาหาร และสามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ (100%) ในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ
แป้งใน ข้าวโพด
แป้งในข้าวโพดเป็นชนิดแป้งแข็ง (hard starch) จึงเป็นแป้งที่ดูดน้ำเข้ามาในโมเลกุลช้า ทำให้การย่อยแป้งข้าวโพดในระบบทางเดินอาหารช้าตามไปด้วย ดังนั้นข้าวโพดจำเป็นต้องถูกบดให้มีขนาดชิ้นเล็ก หรือบดให้ละเอียดก่อนใช้เลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดที่บดละเอียดเป็นอย่างดีจะทำให้ร่างกายสามารถย่อย และใช้ประโยชน์ข้าวโพดได้ดี อีกทั้งทำให้ข้าวโพดมีค่าพลังงานใช้ประโยชน์ได้สูงตามไปด้วย
ไขมันในข้าวโพดเป็นไขมันเหลว และเป็นไขมันไม่อิ่มตัว มีกรดลิโนเลอิคซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นในอาหารเป็นองค์ประกอบ 50% นอกจากนี้ข้าวโพดยังมีสารแซนโทฟิลล์ (xanthophylls) ได้แก่ สารซีแซนติน (Zeasanthin) และสารลูเตอิน (lutein) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยก่อให้เกิดสีเหลือง-เหลืองส้มในไข่แดง และทำให้เกิดสีเหลืองที่ผิวหนัง และแข้งของไก่กระทงในปริมาณสูง ข้าวโพดจึงถูกใช้เป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานหลักในสูตรอาหารไก่ ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ รวมทั้งอาหารนกกระทาไข่
คุณค่าทางอาหารของข้าวโพด
อย่างไรก็ตามข้าวโพดก็ถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี และข้าวโพดในเขตร้อนชื้นมักจะประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อรา ได้แก่ สารพิษอะฟลาทอกซิน สารพิษซีราลีโนน สารพิษโวมิทอกซิน ฯลฯ อยู่เสมอ ซึ่งสารพิษเชื้อราเหล่านี้มีผลทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโต และมีประสิทธิภาพของการใช้อาหารด้อยลง ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ด้อยลงด้วย แม่สุกรแท้งลูกขณะอุ้มท้อง การให้ผลผลิตของสัตว์ เช่น ไข่ และนม ลดลง อีกทั้งยังมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ และการสร้างภูมิต้านทานโรคของสัตว์ด้วย
ข้าวโพดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์จึงควรมีความชื้นต่ำไม่เกิน 13-14% และที่สำคัญ คือ ต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา หรือสารพิษของเชื้อราต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อตัวสัตว์ ซึ่งข้าวโพดดังกล่าวจะมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับปลายข้าว หรือใกล้เคียงกับวัตถุดิบอาหารพลังงานชนิดอื่นๆ
ข้าวโพดยังใช้เป็น วัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงานทดแทนปลายข้าว
ข้าวโพดถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานที่ใช้เลี้ยงสัตว์ปีกชนิดต่างๆ มาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ข้าวโพดยังใช้เป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานทดแทนปลายข้าวในสูตรอาหารสุกรระยะรุ่น-ขุน และพ่อแม่พันธุ์ ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ข้าวโพดเป็นอาหารสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ กับวัตถุดิบอาหารพลังงานชนิดอื่น
จะเห็นได้ว่าข้าวโพดสามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานหลักในอาหารสัตว์ทุกชนิด นอกจากนี้ข้าวโพดยังใช้เป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานหลักในอาหารไก่เนื้อ ไก่ไข่ และนกกระทา ทั้งนี้เพราะข้าวโพดเป็นแหล่งให้กรดไขมันลิโนเลอิค และเป็นแหล่งให้สารสีกับสัตว์ปีกดังกล่าว
การใช้ข้าวโพดในสูตรอาหารเป็ดชนิดต่างๆ ยังมีน้อยมาก หรือไม่มีเลย ทั้งนี้มิใช่ว่าตัวข้าวโพดเองไม่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารแก่สัตว์เหล่านี้ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ในประเทศไทยมักมีการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อตัวเป็ดมาด้วยเสมอ อีกทั้งเป็ดเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อสารพิษอะฟลาทอกซินในอาหารมาก
ดังนั้นผู้เลี้ยงเป็ดจึงมักหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวโพดในสูตรอาหารเป็ด เนื่องจากผู้เลี้ยงเป็ดอาจไม่สามารถจัดซื้อข้าวโพดคุณภาพดีที่ปลอดจากสารพิษเชื้อราได้ตลอดเวลานั่นเอง อย่างไรก็ตามมีการศึกษาทดลองในระดับฟาร์มของเกษตรกร (ข้อมูลไม่ได้ตีพิมพ์) พบว่าเป็ดไข่ที่กินอาหารที่มีการใช้ข้าวโพดที่มีคุณภาพดีเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ ข้าวโพดที่ผ่านการอบแห้งทันทีหลังการเก็บเกี่ยว มีความสะอาดสูง และไม่มีการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซิน นอกจากเป็ดไม่ตายแล้ว ตัวเป็ดยังสามารถให้เปอร์เซ็นต์การไข่ดีมาก ไข่ฟองโต รวมทั้งมีอายุการไข่ยาวนานด้วย
ข้าวโพดมีกรดไขมันจำเป็นในอาหาร
ทั้งนี้เนื่องจากข้าวโพดมีกรดไขมันจำเป็นในอาหาร ได้แก่ กรดลิโนเลอิคสูง ซึ่งเป็ดเป็นสัตว์ปีกที่มีความต้องการกรดไขมันดังกล่าวเช่นเดียวกับสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ จึงทำให้ข้าวโพดคุณภาพดีที่ปลอดการปนเปื้อนสารพิษเชื้อรา เป็นวัตถุดิบอาหารที่มีความเหมาะสมในการใช้เป็นอาหารเป็ดเช่นกัน
ลักษณะของเมล็ดข้าวโพด
ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ควรมีลักษณะเมล็ดสะอาด มีการเจือปนของซังข้าวโพด หรือวัสดุอย่างอื่นน้อย หรือไม่มีเลย ไม่มีมอด แมลง รบกวน และไม่มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง ที่สำคัญคือ ต้องไม่ขึ้นรา หรือต้องแน่ใจได้ว่ามีการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซินมาน้อยที่สุด หรือมีอยู่ในระดับไม่เกิน 30 ส่วนต่อพันล้าน (พีพีบี) หรือไม่มีเลย ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อาจทำได้ดังนี้ คือ
1.ควรใช้ข้าวโพดอบแห้ง หรือข้าวโพดไซโลที่ผ่านการอบแห้งทันทีหลังการเก็บเกี่ยว ความชื้นของเมล็ดข้าวโพดจะถูกลดลงอย่างรวดเร็ว โดยที่เชื้อรายังมิทันเกิด หรือเพิ่มปริมาณ ทำให้ข้าวโพดไซโลมีการปนเปื้อนสารพิษเชื้อราต่ำ และมีความปลอดภัยที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์
2.ควรซื้อเมล็ดข้าวโพดมาบดเอง เพราะข้าวโพดเมล็ดสามารถตรวจสอบคุณภาพความสะอาด และสิ่งเจือปนต่างๆ รวมทั้งตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อราได้ง่าย เพียงดูด้วยตาเปล่าเท่านั้นก็เห็นแล้ว ข้าวโพดที่บดมาแล้วจะไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพ โดยเฉพาะการปนเปื้อนของเชื้อราได้ด้วยตาเปล่า จึงมีความเสี่ยงในการใช้เป็นอาหารสัตว์มาก การที่เกษตรกรบดอาหารเองยังสามารถบดข้าวโพดได้ละเอียดตามความต้องการ ซึ่งช่วยทำให้การย่อยได้ และการใช้ประโยชน์ได้ของข้าวโพดเพิ่มมากขึ้น
3.การบดข้าวโพดเอง ยังสามารถทำความสะอาดเมล็ดข้าวโพดได้ โดยการฝัดเมล็ดข้าวโพดก่อนการบดละเอียด ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถลดปริมาณสารพิษเชื้อราที่ปนเปื้อนมากับข้าวโพดดีมาก เพราะละอองฝุ่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดข้าวโพด ซึ่งมักเป็นเชื้อรา และสปอร์ของเชื้อรา ที่เป็นแหล่งของสารพิษเชื้อรา จะถูกฝัดหรือเป่าออกไปก่อน จึงทำให้มีปริมาณการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซินลดลงมาก และทำให้เมล็ดข้าวโพดมีความปลอดภัยในการใช้เป็นอาหารสัตว์มากขึ้น
4.หากไม่แน่ใจในความสะอาด และคุณภาพของข้าวโพดที่ซื้อมา หรือเมื่อใช้ข้าวโพดในสูตรอาหารแล้ว สัตว์มีการเจ็บป่วยบ่อยหรือมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าอาหารนั้นมีสารพิษเชื้อราต่างๆ ปนเปื้อนมา ในกรณีนี้อาจแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการใช้สารดูดซับสารพิษเชื้อราในอาหาร ได้แก่ สารพวก HSCAS (hydrated sodium calcium aluminosilicate) หรือสารซีโอไลท์ (zeolites) หรือสารเบนโทไนท์ (bentonite) ที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยใช้ในระดับ 1-1.5% ในอาหาร เพราะสารเหล่านี้มีสารอะลูมินาออกไซด์ และซิลิกาออกไซด์ เป็นองค์ประกอบหลัก และมีความสามารถในการดูดซับสารพิษเชื้อราในระบบทางเดินอาหารได้ดี การเสริมสารเหล่านี้ในอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อราจะช่วยลดการเป็นพิษของสารพิษเชื้อราได้ และช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดี แข็งแรง และมีการเจ็บป่วยลดลง
หากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องกักตุน หรือเก็บข้าวโพด ไว้ใช้เป็นระยะเวลานาน ควรเก็บข้าวโพดที่มีความชื้นไม่เกิน 14 % หรือที่ความชื้นต่ำกว่านี้ยิ่งดี หากความชื้นเมล็ดข้าวโพดสูงกว่านี้ต้องอบแห้ง หรือตากแห้ง เมล็ดข้าวโพดที่มีความชื้นต่ำลง ก่อนทำการเก็บข้าวโพดนั้น หรืออาจต้องคลุกเมล็ดข้าวโพดดังกล่าวกับสารกันราก่อน ซึ่งจะทำการเก็บหรือตุนข้าวโพดไว้เป็นระยะเวลานานได้
ข้าวโพดคุณภาพดีสามารถใช้เป็น วัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้ดี ทั้งในอาหารสุกร และอาหารสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ นกกระทาไข่ ฯลฯ ทุกระยะ อย่างไรก็ตามในเชิงปฏิบัติ ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวโพดที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถหาซื้อได้ทั่วไป มักมีการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อราอยู่เสมอ เพิ่มความปลอดภัย จึงไม่แนะนำให้ใช้ข้าวโพดในอาหารสุกรอุ้มท้อง และแม่สุกรเลี้ยงลูก เพราะสารพิษเชื้อรา
โดยเฉพาะสารพิษชีราลีโนนจะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้ใช้ข้าวโพดในสูตรอาหารลูกสุกรหย่านม เพราะแป้งในข้าวโพดเป็นแป้งแข็ง ลูกสุกรไม่สามารถย่อยได้ดี ยกเว้นจะทำให้ข้าวโพดสุกก่อน เช่น การทำเป็นข้าวโพดอบไอน้ำ หรือเป็นข้าวโพดเอ็กซ์ทรูดก่อน การใช้ข้าวโพดในอาหารสุกรอาจมีผลทำให้ไขมันในตัวสุกรมีสีออกเหลือง วัตถุดิบอาหารสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์
ทั้งนี้เนื่องจากมีการสะสมสารสี หรือสารแซนโทฟิลล์ ที่มีในข้าวโพดในไขมันในตัวสุกรนั่นเอง การใช้ข้าวโพดในอาหารเป็ดจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และต้องแน่ใจว่าข้าวโพดมีคุณภาพดีจริงๆ ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา ถ้าไม่มั่นใจว่าข้าวโพดนั้นมีคุณภาพดีพอ ก็ไม่ควรใช้ข้าวโพดในอาหารเป็ดเป็นอันขาด เนื่องจากเป็ดมีความไวต่อสารพิษอะฟลาทอกซินในอาหารสูง ควรใช้วัตถุดิบอาหารทดแทนชนิดอื่นที่มีปัญหาเรื่องสารพิษอะฟลาทอกซิน เช่น ปลายข้าว ข้าวฟ่าง หรือมันสำปะหลัง จะปลอดภัยกว่า
การใช้ข้าวโพดในสูตรอาหารสัตว์จำเป็นต้องมีการบดละเอียดก่อน
การใช้ข้าวโพดในสูตรอาหารสัตว์จำเป็นต้องมีการบดละเอียดก่อน เพื่อเพิ่มการย่อยได้ และการใช้ประโยชน์ได้ของข้าวโพด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงยุคใหม่ ทั้งสุกร และสัตว์ปีก ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้มีการให้ผลผลิตมาก ประสิทธิภาพการย่อยอาหารของสัตว์เหล่านี้มักลดต่ำลง ยิ่งทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องการข้าวโพดมีการบดละเอียดขึ้น เพื่อทำให้การย่อยและการใช้ประโยชน์ได้ของข้าวโพดเป็นไปอย่างเต็มที่
จากการปฏิบัติในภาคสนามพบว่าข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสุกรรุ่น-ขุน และใช้เลี้ยงไก่เนื้อ ควรบดละเอียดด้วยตะแกรงบด ขนาดรูตะแกรง 2 มิลลิเมตร ซึ่งจะให้ข้าวโพดบดมีขนาดชิ้นประมาณ 500 ไมครอน ในขณะที่ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ และสุกรพ่อแม่พันธุ์ ควรบดด้วยตะแกรง ขนาดรูตะแกรง 3-4 มิลลิเมตร ซึ่งจะให้ขนาดชิ้นของข้าวโพดบดประมาณ 700 ไมครอน ซึ่งให้ผลการเลี้ยงเป็นที่น่าพอใจ
ขอขอบคุณข้อมูลแหล่งที่มา: อาหารสุกรและสัตว์ปีกเชิงประยุกต์
โดย รองศาสตราจารย์อุทัย คันโธ