เพียง 20 ปี ที่เข้มข้นอยู่กับการเลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์ต่างประเทศ ของชาย ชื่อ คมสัน เอี่ยมธรรม วันนี้เขากลายเป็น “นักปราชญ์” ไก่เนื้อ ที่ยักษ์ใหญ่ไก่เนื้อจากอเมริกา นาม “คาร์กิลล์ฯ” ได้มอบรางวัลผลประกอบการเลี้ยงดีเด่นให้ฟาร์มคมสัน เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และครอบครัว
การเลี้ยงไก่เนื้อ
คุณคมสัน เอี่ยมธรรม เป็นคนชัยนาท เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว เมื่อพี่ชายที่เป็นนายตำรวจเลี้ยงไก่เนื้อให้ บริษัท ซันแวลเลย์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในตอนนั้นเขาได้เข้ามาช่วยเลี้ยงไก่ในตำแหน่งผู้จัดการฟาร์ม เมื่อปี 2547
“มาใหม่ๆ ผมไม่รู้เรื่องไก่เลย ครูคนแรกของผม คือ คนงานเลี้ยงไก่ ผมถามไก่เป็นแบบไหน ขี้ไก่แบบไหนดี เขาก็หยิบขี้ไก่มาบี้ให้ดู ขี้ไก่บี้แล้วต้องละเอียด แสดงว่ามันแลกเนื้อได้ดี เพราะอาหารดี ถ้าขี้ไก่บี้แล้วเป็นเม็ดอาหารอยู่ แสดงว่าอาหารไม่ดี มันไม่แลกเนื้อ เวลาเราเข้าเล้าแต่ละหลังผมก็ศึกษา มีหมอไปด้วย ค่อยๆ เรียนรู้ ทีละวัน ทีละเดือน ทีละปี”
คุณคมสัน เปิดเผยถึงการเรียนรู้จากคนงาน จากสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม ดังนั้น ขี้ไก่ คือ ตัวชี้วัด “คุณภาพ” อาหารไก่โดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นจากการสังเกต พูดง่ายๆ ทุกเรื่องในกระบวนการเลี้ยงไก่ตั้งแต่อายุแรกเข้าโรงเรือน จนกระทั่งไก่โตได้ขนาดเข้าโรงฆ่า จะต้องรู้ทุกเรื่อง แม้แต่ “การกกไก่” ที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่คุณคมสันมองว่าเป็นเรื่องใหญ่
“การเลี้ยงไก่แต่ละรุ่น อันดับ 1 คือ การกกไก่ มันเป็นพื้นฐาน ทุกฟาร์มต้องเข้ม อุณหภูมิต้องได้ สุขภาพไก่ ไข่แดงต้องหมดไว เหมือนผู้หญิงคลอดลูก ถ้าอยู่ไฟดีๆ ลูกก็แข็งแรง ไก่ก็เหมือนกัน ถ้ากกดี ไก่จะแข็งแรงยันจับ สุขภาพจะไม่อ้อแอ้ แต่ถ้ากกอุณหภูมิไม่ได้ ไม่ละเอียดพอ ไก่จะเจ็บออดๆ แอดๆ ไม่ถึงวันจับตายไปบ้าง เป็นโรคบ้าง อันนี้คือปัจจัยของผม ดังนั้น 4-5 วันแรก ผมจะเน้นห้องกก อุณหภูมิต้องเป๊ะ 34 องศาเซลเซียส จนถึง 8 วัน หยุดกก” คุณคมสัน เปิดเผย
และในการกกไม่ได้ใช้โปรแกรมเป็นหลักเสมอไป แต่ใช้การสังเกตพฤติกรรมของไก่ เช่น กระจายกันวิ่งเล่น แสดงว่าไก่สบาย แต่ถ้าไก่สุมหัวกัน แสดงว่าอุณหภูมิไม่ได้ แม้อุณหภูมิ 27-28 องศาเซลเซียส ถ้าไก่ยังกระจายตัวดีอยู่ ยังไม่ต้องเปิดแก๊ส แต่เมื่อ 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน อากาศเริ่มเย็น จึงเอาผ้าขึ้น และจุดกกแก๊สจนถึง 8-9 โมงเช้า
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่เนื้อ
ยังมีอีกหลายๆ เรื่อง ที่คุณคมสัน “ตีบทแตก” จนผลผลิตแต่ละรุ่นเป็นไปตามเป้าหมายของคาร์กิลล์ฯ จนผู้บริหารใหญ่เห็น “ฝีมือ” ของเขา ได้ให้ “โควตา” เลี้ยงไก่ ทำให้หลายๆ คนทึ่ง เพราะโควตาไม่ใช่ใครก็ได้ มันเป็นเรื่องยากมากๆ นอกจากฝีมือแล้ว คุณคมสันยังใจกว้าง ให้ความรู้แก่ฟาร์มทั้งหลาย โดยไม่ปิดบัง ทุกคนที่มาดูฟาร์มที่เขาเป็นผู้จัดการ จะได้รับคำอธิบายตั้งแต่ลงลูกไก่กระทั่งจับ “คาร์กิลล์ฯ ก็เลยให้โควตาไก่แก่ผม ซึ่งผมมาจากศูนย์ แต่ก็พยายามจนมาสร้างฟาร์ม กำลังทรัพย์ไม่มี ต้องกู้แบงก์กรุงไทย วงเงินครั้งแรก 10 ล้านบาท” คุณคมสัน เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นการสร้างฟาร์ม
เงิน 10 ล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย ทำอะไรได้ไม่มาก ได้เพียงโรงเรือน 2 หลัง และ เครื่องปั่นไฟอัตโนมัติ ยี่ห้อคัมมินส์ 271KVA เมื่อไฟดับมันสตาร์ทได้เอง เรียกระบบ ATS
จากเลี้ยงไก่ของคาร์กิลล์ฯ ไม่กี่หมื่นตัว อีก 2 ปีกว่าๆ เพิ่มอีก 2 โรงเรือน รวมเป็นแสนตัว/รุ่น อีก 2 ปีต่อมา เพิ่มอีก 4 หมื่นตัว สุดท้ายเพิ่มอีก 2 หมื่นกว่าตัว โรงเรือนทั้งหมด 7 หลัง รวม 165,000 ตัว บนพื้นที่ 43 ไร่ “บริษัทต้องการให้ขยาย แต่ผมตั้งใจทำที่เดียวให้ดีที่สุด เพราะผมไม่มีทายาท แฟนเป็นครู แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้ว จากไม่มีอะไรเลย จนมีที่ดิน 43 ไร่” คุณคมสัน เปิดเผยถึงการรู้จักประมาณตน แม้แต่ บ้านพัก และ สำนักงาน ก็อยู่ในฟาร์ม จึงเห็นรายละเอียดทั้งหมดของการเป็นลูกเล้าเลี้ยงไก่เนื้อให้คาร์กิลล์ฯ
ประกอบกับเขาเป็นคนใฝ่รู้ น้ำไม่เต็มแก้ว เรียนรู้จากทุกคนในการเลี้ยงไก่เนื้อ โดยเฉพาะฟาร์มใหม่ๆ ของคนอื่นๆ คือ แหล่งเรียนรู้ที่ดี เห็นอะไรดีๆ ก็นำมาใช้ในฟาร์มของตน เขาจึงกล้าฟันธงว่า การเลี้ยงไก่เนื้อ ระบบฟาร์มปิด ต้องมีความละเอียดมากๆ จะต้องกินอยู่ในฟาร์มตลอด “คนที่ทำฟาร์มไก่ ไม่พักในฟาร์ม อันตรายมาก ทุจริตเยอะ ขนาดผมอยู่ในฟาร์มยังต้องละเอียดมากๆ พนักงานแต่ละคนก็ไม่ได้ทำตามหมอหรือสัตวบาล ก็ทำแค่หน้าที่ อย่างผมต้องประชุมทุกอาทิตย์ ชั่งไก่เสร็จต้องประชุมรายละเอียดเพื่อดูว่าน้ำหนักไก่เป็นอย่างไร สุขภาพไก่เป็นอย่างไร เราเอาใจใส่ตลอด” คุณคมสัน ยืนยันถึงเหตุผลต้องนอนในฟาร์ม
การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ
เนื่องจากคุณคมสันเป็นคนชอบความสะอาดเป็นพิเศษ ต้องตัดหญ้าให้สั้นรอบๆ ฟาร์ม ต้องใช้เครื่องพ่นควันไล่ยุงฆ่าแมลง และให้ยาฆ่าเชื้อไปฉีดตามบ้านหลังต่างๆ ของชาวบ้านรอบๆ ฟาร์ม เพื่อให้ชุมชนไม่เดือดร้อน และเป็นคนเก็บรายละเอียดทุกอย่าง เอาใจใส่ลูกน้อง ให้ทำงานตามโปรแกรมอย่างรัดกุม แม้แต่การลงลูกไก่ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก
“ผมให้โบนัสลูกน้อง ตั้งแต่ลงไก่วันแรก 2 ชั่วโมง ในเล้า ต้องสอนไก่ ดูแลไก่ ให้กินน้ำ กินอาหาร ให้มันเรียนรู้ ต้องเทสต์ดู จับกระเพาะว่ามันกินอาหารมั๊ย จิกหัวนิปเปิ้ล ให้ไก่เรียนรู้ว่า แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร อยู่ไหน นี่คือพื้นฐานของคนดูแล” คุณคมสัน เปิดเผยเรื่องความสำคัญของการฝึกลูกไก่ ไม่เว้นแม้แต่รายละเอียดของแรงดันน้ำ ต้องเหมาะกับอายุของไก่ เพราะถ้ากินหกพื้นก็เปียก น้ำมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะในช่วง 14 วัน ของการลงไก่ ต้องค่อยๆ ปล่อยให้เต็มเล้า
และการ “กลับแกลบ” ก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณคมสันก็ได้ความรู้จากคนที่เลี้ยงไก่ในจีนว่าช่วงที่กกไข่ไม่ต้องกลับแกลบ โดยใช้ไม้ไส แต่ใช้รองเท้าบูทปาดไปมาให้ถึงพื้น ไก่จะเขี่ยเอง พื้นจะร่วน พอเข้า 10 กว่าวัน ก็ใช้ไม้กลับแกลบไส “การใช้ไม้กลับแกลบต้องมีเทคนิค เมื่อก่อนใช้แค่ตรงกัน แต่ละซี่ 5 ซี่ เท่ากัน แต่หมอแนะนำให้เอาอันใหญ่อัน 1 แบบ pvc ทำให้แบนๆ ขันน๊อตไปใหญ่อัน เล็กอัน เวลาไสแกลบจะแตกง่าย ถ้าเรากลับแกลบดี พื้นเล้าดี การใช้แกลบเสริมก็น้อยลง และดีที่สุด คือ ไม่มีฮอกเบิร์น หรือข้อด้าน
ตอนนี้ทุกบริษัทให้ความสนใจฮอกเบิร์นมาก ผลิตไม่ทัน ฮอกเบิร์นหรือฟู้ทแพดมันจะค่อยๆ เกิด ถ้าพื้นไม่ดี พื้นเป็นแผ่น มันจะสะสมไปจนวันจับ แล้วจะถูกบริษัทหัก แต่ถ้ากลับแกลบดีๆ แกลบร่วนๆ จะเป็นแค่ 2-3% ซ้ำยังได้โบนัสจากบริษัทอีก” คุณคมสัน เปิดเผยถึงความสำคัญของการกลับแกลบ และยืนยันว่า แกลบคือยาวิเศษ เพราะไม่ว่าจะจัดการฟาร์มสมบูรณ์อย่างไร สุดท้ายอยู่ที่การกลับแกลบ ดังนั้นแกลบโรยพื้นต้องไม่เปียกแฉะ ต้องสะอาด ร่วน สวย ไร้แอมโมเนีย จะทำให้ไก่กินอาหารดี ดังนั้นแกลบถุงใหญ่ 50-60 กก. ต้องโรยพื้นตั้งแต่เลี้ยงกระทั่งวันจับจำเป็นมากๆ
การให้อาหารและน้ำ
ต่อมาเป็นเรื่องของสายพันธุ์ คุณคมสันเลี้ยง “ตัวเมีย” แม้จะโตช้ากว่า โบนัส 500 บาท พออาทิตย์ที่ 2 เพิ่มอีก 500 กรัม โบนัส 500 บาท ดังนั้นใน 2 อาทิตย์ เมื่อโครงสร้างไก่ใหญ่ขึ้น มันจะเลี้ยงง่าย “โปรแกรมแสงให้พักนอนกลางวัน 3 ชั่วโมง กลางคืน 3 ชั่วโมง ค่อยๆ เขยิบโปรแกรมแสง เลี้ยงตัวเมียใช้แสงกระตุ้นดีที่สุด แสงมาปั๊บมันจะรุมกินอาหารและน้ำ” คุณคมสัน เปิดเผยว่า ช่วง 4 อาทิตย์ ไก่จะสลัดขน เนื้อเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้ต้องดูแลเต็มที่ “ผมประทับใจอาหารคาร์กิลล์ฯ กินเท่าไหร่ออกเท่านั้น แต่ของบริษัทอื่นที่พรรคพวกเลี้ยง กินแล้วมันไม่ออก หรือออกน้อย FCR สูง แต่จัดการเรื่องน้ำให้ดี มันกินอาหาร 1 เท่า แต่กินน้ำ 2 เท่า”
เรื่องการกินน้ำ กินอาหาร ของไก่แต่ละวัน เป็นเรื่องที่คุณคมสันต้องดูจากสมุดการ์ดหน้าเล้าไก่ เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง เช่น ไก่กินน้ำน้อย หรือเห็นไก่ตาย ก็ต้องเช็คทันที ต้องย้ำกับหมอประจำฟาร์ม โดยเฉพาะอาหารแต่ละเบอร์ของคาร์กิลล์ฯ สัมพันธ์กับ “อายุ” ของไก่อยู่แล้ว อย่าง เบอร์ 1 ช่วงการกินแค่ 10 วัน ซึ่งตารางเปอร์เซ็นต์การกินอาหารจะระบุชัดเจน ดังนั้นพอวันที่ 11 จะต้องกิน เบอร์ 2 กินประมาณ 1.35 กก./ตัว ดังนั้นไก่อายุ 24 วัน ต้องกินเบอร์ 2 ให้หมด พอ 25 วันขึ้นไป ต้องกิน เบอร์ 3 หรือ เบอร์ 1404 เพราะไก่เริ่มจะแลกเนื้อ ซึ่งเรื่อง เม็ดอาหาร คุณคมสันต้องตรวจสอบทุกครั้งที่บริษัทมาส่งว่าเม็ดดีมั๊ย
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่
เนื่องจากคุณคมสันเป็นคนใฝ่รู้ทุกเรื่อง แม้แต่ โรงเรือน ระบบอีแวป ก็ไปขอพิมพ์เขียวจากเพื่อน จากนั้นก็จ้างช่างมาวางรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งฟาร์มของเขาเกิดจากเจ้าของเดิมได้ขายลิขสิทธิ์ฟาร์มให้ในราคา 15,000 บาท คุณคมสันได้ดูทิศทางลม จึงออกแบบโรงเรือนให้ “พัดลม” หันไปทางตะวันออก เพื่อเลี้ยงไก่ตามตะวัน “มันดีกว่าขวางตะวัน เพราะถ้าขวางแดดมันส่อง ไก่จะหนีตรงที่แดดส่องตอนบ่าย และที่ต้องหันพัดลมทางทิศตะวันออก เพราะ 1 ปี มีหน้าหนาว 3 เดือน แรงต้านพัดลมแค่ 3 เดือน
และหน้าร้อนไปถึงหน้าฝน ลมจากตะวันตกเฉียงใต้มันจะมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หน้าหนาวลมมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นแรงต้านของพัดลมมันจะช่วยเราได้มากกว่า วันนี้คือศาสตร์ของการเรียนรู้จากธรรมชาติ พัดลมมันต้านมากเกินไปก็ไม่ดี แต่ถ้า 9 เดือน มาทางนี้ พัดลมก็ออกไปอย่างนี้ ผมต้องวางเรียงเล้า” คุณคมสัน เปิดเผยถึงการรู้จักธรรมชาติมาออกแบบเล้า และยืนยันว่า การสร้างเล้าไก่ต้องเข้าใจธรรมชาติ แม้แต่ “ขนาด” ของเล้าก็สำคัญ ทางคุณคมสันเลือกสร้างเล้าขนาด 16×120 เมตร 3 หลัง เลี้ยงไก่ 22,000 ตัว/หลัง และขนาด 22×110 เมตร 4 หลัง เลี้ยง 25,000 ตัว
แม้อุปกรณ์หลายๆ อย่างในเล้าอีแวป คุณคมสันก็ให้ความสำคัญ เช่น พัดลม ได้ใช้ มัลติแฟน แบบกรวย 3 ใบพัด วัสดุแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน หรือ ผ้าฟอยล์ ที่ทำให้อุณหภูมิในเล้าลดลง ถ้าเป็นพีวีซีสีดำรุ่นเก่าๆ พอกาวหมดอายุ หรือถูกลม ก็ฉีกขาดหลุดง่าย
ข้อดีของแอร์โรฟอยล์
ดังนั้นคุณคมสันได้ใช้ “แอร์โรฟอยล์” ของ บริษัท เด่นใหญ่ จำกัด ที่เย็บอย่างดี ไม่ต้องเปลี่ยน หรือ ซ่อมทุกๆ 3 ปี สามารถสะท้อนรังสีความร้อน ลดอุณหภูมิในเล้า เซฟค่าไฟ ใช้ทนทาน ประหยัดต้นทุนในการสร้าง หรือปรับปรุงเล้า ไก่ก็โตดี อีกทั้งยังมีทีมเซลล์ บริษัท เด่นใหญ่ จำกัด ที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ และมีทีมเซลล์เข้าให้บริการดูแลทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง
“ลูกน้องไม่เหนื่อย เพราะฟอยล์เขาติดตั้งง่ายด้วยการเย็บ ทำให้อายุการใช้งานยาวนานกว่าการทากาว สำหรับฟาร์มที่กำลังจะปรับปรุงหรือพัฒนาโรงเรือน ถ้าคิดจะเปลี่ยนผ้าพีวีซีดำ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นผ้าแอร์โรฟอยล์ดีกว่า คุ้ม ประหยัด ใช้งานได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าบ่อยๆ แถมลดอุณหภูมิลงได้เยอะ ไม่แพง ความเย็นดีกว่าเมทัลชีท อุณหภูมิต่ำกว่า 3-4 องศาเซลเซียส พอเราเข้าไปแล้วจะรู้เลย” คุณคมสัน ยืนยันถึงคุณภาพของ แอร์โรฟอยล์ ที่ขึ้นชื่อในวงการเล้าอีแวป
ซึ่งขณะเลี้ยงไก่ต้องบริหาร อุณหภูมิ ให้เหมาะสม แอร์โรฟอยล์จึงเป็นกลไกตัวหนึ่งในกระบวนการช่วงกกไก่อุณหภูมิประมาณ 34 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นค่อยๆ ลด จนอายุ 28 วัน จะปรับ 29.5 องศาเซลเซียส พอ 35 วัน หรือ 29 องศาเซลเซียส เมื่อก่อนเคยใช้ 28 องศาเซลเซียส แต่คุณคมสันเห็นว่าความชื้นมากเกินไป ดังนั้น 29 องศาเซลเซียส ไก่แลกเนื้อดี แม้ข้างนอกจะถึง 40-41 องศาเซลเซียส ก็ไม่เป็นไร แต่ช่วงบ่าย 2-3 โมง อุณหภูมิในเล้าต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เมื่อไก่ 14 วันขึ้นไป ไก่ใหญ่ ถ้าอุณหภูมิสูง ต้องบอกหมอว่าน้ำในโรงแพดพอหรือไม่ มีทางม้าลายหรือเปล่า ถ้ามีแสดงว่ามันตัน หรือปรับระดับปั๊มน้ำให้สัมพันธ์กัน
“การเปิดพัดลมก็เปิดตามอายุไก่ หรือหน้าฤดูการเลี้ยง หน้าหนาวไม่ต้องเปิดไว ไม่ใช่ใช้สเต็ปเดียวตลอด หน้าร้อนต้องเปิดพัดลมก่อน 1 วัน หน้าหนาวไม่ต้องรีบเปิด การกกไก่ก็เหมือนกัน ต้องขยายไก่ช้า จาก 3 วัน เป็น 4-5 วัน” คุณคมสัน ให้ความเห็น และยืนยันว่า “แรงลม” ถ้าดีจะทำให้ไก่โตไว โดยเฉพาะเล้าเล็กของคุณคมสันใช้พัดลม 3 ใบพัด เปิดใหม่ๆ ลมแรง มันดึงของเสียออกได้ไว ดังนั้นขนาดของเล้าที่แนะนำ 16×120 เมตร จะเอาของเสียออกไวมาก แต่มีข้อเสีย คือ ใช้พื้นที่เยอะ อย่างไรก็ดี เล้า 16×120 เมตร ไก่จะโตไวกว่า และดูแลได้ง่ายกว่า
การบำรุงดูแลไก่เนื้อ
ในเรื่อง เวชภัณฑ์ คาร์กิลล์ฯ ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ และวิตามิน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม ส่วนยากันบิดได้ใส่มาในอาหาร เรื่องวัคซีน คาร์กิลล์ฯ ก็จัดให้หมด “จะเอาแบบไหน ยี่ห้ออะไร อยู่ในลิสต์ อย่าเอาข้างนอกมีปัญหาแน่ ถ้าเขาเจอไม่ให้เลี้ยงแน่นอน เราต้องอยู่ในระเบียบวินัย” ถ้าใครแอบใช้ ตรวจเนื้อเจออาจถูกปรับเป็นล้าน เพราะทำให้เขาต้องรื้อไลน์ผลิตในโรงฆ่าทิ้ง
ดังนั้นในช่วง 42 วัน ของการเลี้ยง ต้องทำตามโปรแกรมภายใต้ระเบียบวินัยของบริษัทอย่างเข้มงวด เพราะบริษัทมี “มาตรฐาน” การเลี้ยงสูงมาก แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็ห้ามเลี้ยงภายในบริเวณฟาร์ม แค่รูแสงแดดเท่าหัวไม้ขีดก็เกิดไม่ได้ หรือมีรอยร้าวก็ถูกหักคะแนน แม้จับไก่แล้วก็ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อ บนพื้นแกลบขี้ไก่ พ่นที่บ้านพัก หรือพ่นจุดที่จับไก่ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้คุณคมสันจึงต้องฝังตัวในเล้าตลอดเวลา “การเลี้ยงไก่ 99% อยู่ที่การจัดการ ถ้าลูกน้องจัดการได้ตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเจอลูกน้องไม่ดี สัตวบาลหมกเม็ด เขี้ยวเยอะ อันตราย” ด้วยเหตุนี้คุณคมสันจึงต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแนะนำให้ดู พฤติกรรม ไก่เป็นหลัก ถ้าไก่อยู่สบาย มันจะนอนเต็มเล้าแบบกระจาย หากเดินเข้าเล้าแล้วหายใจอึดอัด หรือมีกลิ่น แสดงว่ามีปัญหากับไก่แน่นอน
การจับไก่
คมสันฟาร์ม นอกจากเป็นฟาร์มมาตรฐานของคาร์กิลล์ฯ แล้ว ยังเป็นฟาร์มมาตรฐานของราชการ ทุกๆ 3 ปี จะถูกตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาต หากถูกชุมชนร้องเรียน “อบต.” ก็ไม่ออกใบ อพร 2 ให้ ซึ่งจะต้องต่อปี/ปี
ถามว่าเหนื่อยหรือไม่ คุณคมสันยอมรับว่าเหนื่อย แต่ต้องทำตามมาตรฐานของคาร์กิลล์ฯ และ อบต. “ผมชอบเขามาก เขาดูแลเอาใจใส่เรา บริษัทอื่นไม่มี ตัวที่เรายิงอุณหภูมิความร้อนตัวละ 3 แสนกว่าบาท เขาให้ใจเรา ให้ความสำคัญกับพาร์ทเนอร์ ไก่ที่ผมเลี้ยงเป็นไก่ของเขาๆ อุตส่าห์จ้างเลี้ยง เราก็พยายามให้ตายน้อยที่สุด” คุณคมสัน ให้ความเห็น และเปิดเผยว่า 1 ปี เลี้ยงได้ 5 รุ่น เพราะต้องพักเล้า 28 วัน หรือ 30 วัน
สุดท้ายทีมจับไก่ที่อยู่ในการคอนโทรลของคาร์กิลล์ฯ คุณคมสันเปิดเผยว่า ชุดส่งเสริมของบริษัทจะดูแลทีมจับไก่ที่ผลัดเวรกัน ระหว่างทีมกลางคืน และทีมกลางวัน ซึ่งจะต้องช่วยกันรักษาความสะอาด ห้ามยุ่งกับอุปกรณ์ในเล้า ห้ามจับไก่รุนแรง ใส่กรงกระแทกแรงๆ “ผมต้องประชุมทุกรุ่น เพราะผมเป็นคนจ่ายเงินค่าจับ ต้องทำตามที่ผมขอร้องก่อนจ่ายเงิน ต้องทำความสะอาดด้วย”
ด้วยความซื่อสัตย์และภักดีต่อคาร์กิลล์ฯ ของคุณคมสัน ทำให้เขาชื่นชมตลอดเวลา ไม่มีวันที่เขาจะเลี้ยงไก่ประกันให้บริษัทอื่นเป็นอันขาด และยินดีให้คำปรึกษาการเลี้ยงแก่ทุกคน โทร.089-897-6464