กว่า 40 ปี ที่ คุณสมนึก นะชินรัฐกุล รับมรดกจากเตี่ย เรื่องการเลี้ยงหมูที่เมืองโพธาราม จังหวัดราชบุรี ล้มแล้วลุกหลายครั้ง จนกระทั่งได้ที่ดิน 60 ไร่ ในบ้านโป่ง และโพธาราม รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ จากการเลี้ยงหมูอย่างเดียว บางคนถูกหมูกินโฉนดก็มีมาก แต่คุณสมนึกมีแต่แปลงหมูเป็นโฉนด เพราะเป็นนักสู้ที่ไม่เปลี่ยนอาชีพนั่นเอง
การเลี้ยงหมู
ศักราช 2525 ชินรัฐฟาร์ม ได้พัฒนาพันธุ์สุกร โดยการไปซื้อหมูพันธุ์ดี พ่อ 1 ตัว แม่ 2 ตัว เป็นเงิน 150,000 บาท “ผมก็ขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ หมูอังกฤษบ้าง เดนมาร์กบ้าง ที่เขานำเข้ามา เราก็ซื้อมาขยายพันธุ์ จนถึงปี 42 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จากเปลี่ยนสายยุโรปมาเป็นอเมริกา” คุณสมนึก เปิดเผยถึงเหตุแห่งการเลี้ยงสายอเมริกา และในปี 2552 เกิดไข้หวัดนก ส่งผลให้ไก่เนื้อหายไปจากตลาด คนก็หันมากินหมูมากขึ้น วงการหมูฮือฮา
ด้วยวิสัยทัศน์ที่ฉีกตลาด ผู้เลี้ยงสุกรของ “เสี่ยแร่” ที่กล้าเปิดตลาดหมูอเมริกาในไทย ทำให้ผู้เลี้ยงหมูหลายคนเปลี่ยนจากหมูยุโรปมาเป็นหมูอเมริกา โดยเฉพาะคุณสมนึกศรัทธาหมูอเมริกามาก “อเมริกาช่วงแรกๆ ก็ไม่เก่งนะ พัฒนายังไงไม่รู้ FCR ดีขึ้น กินน้อย กิโลฯ กว่า เทียบได้กับเบลเยียม มันโตช้า แต่อัตราการโต ADG กิโลฯ กว่าๆ เหมือนกัน” คุณสมนึก เปรียบเทียบ
เมื่อหมูอเมริกาได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ “น้ำเชื้อ” พ่อตัวดังๆ ระดับแชมป์ ราคาขึ้นตลอด จากโด๊สละ 1,000 กว่าบาท เป็น 2,000 กว่าบาท เป็น 6,000 กว่าบาท เป็น 10,000 กว่าบาท และตอนนี้ 5,000-6,000 บาท ที่ต้องใช้น้ำเชื้อ เพราะรู้ค่าตัวพ่อเป็นๆ ราคาหลายล้านบาท ไม่ไหว ไม่มีฟาร์มไหนกล้าลงทุน โดยเฉพาะพ่อดังๆ ระดับแชมป์ ที่รัฐโอไฮโอ ชื่อดังระดับโลก
สายพันธุ์หมู
การพัฒนาพันธุ์หมูอเมริกา โดยการผสมเทียมของคุณสมนึก จนได้สายพันธุ์เป็นของฟาร์ม ต้องใช้ฝีมือมากๆ ต้องใช้ คุณภาพ เป็นจุดขาย เพราะประเทศไทยนิยมเลี้ยงหมูสายยุโรปเป็นหลัก แม้พันธุ์ของ ชินรัฐฟาร์ม เมื่อลูกค้าซื้อไปเลี้ยงแล้ว ตอบโจทย์ทางธุรกิจ เห็น “กำไร” ชัดเจน
โดยเฉพาะหมูอเมริกา การให้ลูกดก แต่จุดอ่อน คือ รูปร่างไม่สวย เมื่อคุณสมนึกพัฒนา กินน้อย ให้ลูกดก โครงสร้างเล็กกว่ายุโรป ก็ได้รับความนิยมมาตลอด “กินน้อย โตไว ซากดี” จุดเด่นที่คนในวงการ ยอมรับหมูของชินรัฐฟาร์ม
ตอนไข้หวัดนก ราคาขยับจาก 800-1,000 บาท/ตัว มาเป็น 1,500 บาท น้ำหนัก 12 กก.
แม้หมูยุโรปจะมีจุดเด่นเรื่องลูกดก แต่ความแข็งแรง โตไว และซาก ยังเป็นรองหมูอเมริกา คำว่า กินน้อย หมูยุโรป กินตัวละ 2 กก.กว่าๆ แต่หมูอเมริกากิน 1 กก.กว่าๆ ต่างกัน 4-5 ขีด ถ้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ก็เอาเรื่องเหมือนกัน
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงหมู
เมื่อโรค ASF ทำลายหมูตาย เหลือพ่อ 1 ตัว และแม่ 10 กว่าตัว ซึ่งตัวที่รอดย่อมมีภูมิคุ้มกันดี ต้องเร่งขยายผลผลิต ด้วยการผสมไปเรื่อยๆ ครั้นจะซื้อหมูจากที่อื่นมาเพิ่มก็ไม่กล้า เพราะไม่มั่นใจว่ามีเชื้อโรคหรือไม่??
ปี 66 ทั้งปี คุณสมนึกให้ความเห็นว่า ได้เพิ่มขึ้นอีก 50 แม่ ก็ถือว่าเก่งแล้ว
อย่างไรก็ดี หมูอเมริกาที่ผลิตโดย ชินรัฐฟาร์ม กระจายไปทางอีสานมาก โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย คุณสมนึกพยายามรวบรวมเป็นเครือข่าย เพื่อพัฒนาให้ดีกว่าเดิม
สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องหมูอเมริกา ติดต่อ คุณสมนึก โทร.089-897-4894