มหาวิกฤตรอบด้าน โควิด 19 สงครามยูเครน-รัสเซีย และสารพัดโรค ในการทำธุรกิจปศุสัตว์ แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพี) หรือ ไทยฟู้ดส์ 2 บริษัทมหาชน ไม่ท้อ และ ไม่ถอย ต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยง สุกร และ ไก่เนื้อ ในโรงเรือนอีแวปต่อไป
แน่นอน บริษัททั้งหลายที่อยู่ใน 2 อุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ต้องหาทางทำธุรกิจต่อไป ยกเว้นบางบริษัทที่หมดหน้าตัก ก็ต้องพักรบ รอจังหวะที่จะกลับเข้ามา หรือทำธุรกิจอย่างอื่น กรณี “ซีพี” ชื่อนี้ คือ บรรษัทข้ามชาติ ดังนั้นจึงเป็น “เสาหลัก” ของคนในวงการ
การเลี้ยงหมู
คนอย่าง สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ เจ้าของฟาร์มสิทธิภัณฑ์ ฟาร์มสุกรชื่อดังในเมืองชัยภูมิ ที่ยังดำรงตนเดินหน้าผลิตลูกสุกรหลายพันธุ์ของซีพี ได้ขยายฟาร์มเพิ่มไปที่ ต.โพนทอง อ.เมือง จนวันนี้มีแม่สุกรจำนวน 5,000 ตัว ไม่กลัวโรค ASF แต่อย่างใด
“เขามีเงินทุน ไม่ต้องการกำไรมาก ต้องการปริมาณ ก็อยู่ได้แล้วสบายๆ เพราะทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งวงจร ก็กำไรอยู่ดี ไม่ว่ากัน เพราะเขาลงทุนเยอะ แต่ภาครัฐควรเข้ามาให้ ถูกที่ ถูกเวลา และไม่ควรเข้มงวดกับเกษตรกรมากเกินไป” คุณสิทธิพันธ์ ให้ความเห็นถึงธุรกิจบริษัทขนาดใหญ่ครบวงจร
แต่ระดับเกษตรกรไม่ควรเข้มงวดเกินไป เพราะการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่รวมตัวเป็น สมาคม และ ชมรม นอกจากเจอโรค ASF อย่างหนักแล้ว ต้องเจอกับวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง อย่าง ปลายข้าว และ รำข้าว ก็หายากขึ้น เพราะโรงสีใช้เทคโนโลยีการแปรรูปที่ดีขึ้น ปลายน้อยมีน้อยลง ส่วนรำข้าวก็น้อย เพราะคนหันมาบริโภคข้าวไม่ขัดขาวมากขึ้น
โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก จะต้องลงทุนวางระบบการเลี้ยง และโรงเรือน ตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ก็ต้องมีทุนทุกคน ต้องดิ้นรนหาทุน ถ้าต้องการเดินหน้าในอาชีพ โดยเฉพาะ “ลูกหมู” ราคาแพงขึ้น อันเนื่องมาจากแม่หมูถูกทำลายด้วย ASF ขนาด 16 กก. ตัวละ 3,000 บาท และ “แม่หมู” พันธุ์ดีๆ 2 สาย ก็หายากมากขึ้น
“ผมไม่ได้ห่วงรายใหญ่ แต่ รายกลาง รายเล็ก นี่แหละลำบาก ถ้าจะให้ปลอดภัยจริงๆ ต้องทำระบบก่อน ตอนแรกรัฐจะนำเงินมาช่วย ก็จะเป็นหนี้อีก หากระบบยังป้องกันไม่ได้ จะเป็นดินพอกหางหมู ตอนนี้โฉนดอยู่ ธกส. เกือบทั้งหมด” คุณสิทธิพันธ์ นายกสมาคมหมูอีสาน ให้ความเห็นถึงระบบความปลอดภัยในการเลี้ยงสำคัญมาก
เพราะบทเรียนที่ตนเสียหายไม่มาก เหมือนหลายๆ ฟาร์ม เพราะได้ลงทุนสร้างความปลอดภัยในฟาร์มตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว โดยเบื้องต้นที่ตั้งฟาร์มต้องห่างไกลชุมชน มีรั้วสูง 2 เมตร ติดตั้งระบบอีแวป ระบบอุโมงค์ลม ช่วงแรก ทีมซีพี เป็นพี่เลี้ยง จนรับการถ่ายทอดระบบการจัดการฟาร์มทั้งหมด ซึ่งช่วงแรกเลี้ยง “หมูขุน” อย่างเดียว ต่อมาเริ่มเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกหมู กระทั่งวันนี้ฟาร์มแรก ผลิตหมูขุน 50% หมูพันธุ์ 50% แต่ฟาร์ม 2 ผลิตหมูขุนอย่างเดียว โดยบุตรชายเป็นคนบริหารจัดการ
การเพาะพันธุ์หมู
การเลี้ยงทั้ง หมูขุน และ หมูพันธุ์ ก็เหมือนหลายๆ ฟาร์มในไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงในเรื่องราคาหมูตกต่ำ อีกอย่างการเอาลูกหมูของตัวเองไปขุน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าลูกหมูมีคุณภาพ ไปเลี้ยงแล้ว “กำไร” แน่นอน
โดยเฉพาะพ่อแม่พันธุ์ CPF ได้พัฒนามาตลอด เป้าหมายเพื่อให้แม่มีลูกดก ปีละ 30 ตัว/แม่ แต่ถ้าให้ลูกมากกว่านี้ คุณสิทธิพันธ์มองว่า ไม่ดี หมูจะอ่อนแอ และมีไขมันสูง
อย่างไรก็ดี การเลี้ยงหมูภาคอีสานที่ยังมีรายย่อย/รายกลาง เยอะกว่าภาคอื่น คุณสิทธิพันธ์มองว่า อีสานพื้นที่กว้างใหญ่ ไม่กระจุกรวมกัน และกรมปศุสัตว์ก็ดูแลอย่างดี ไม่มีปัญหา เรื่องใหญ่ คือ ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น แต่ราคาเนื้อถูก “กรมการค้าภายใน” ล็อคไว้ เพราะเกรงคนกินเนื้อหมูจะเดือดร้อน
เป็นอันว่า คุณสิทธิพันธ์วันนี้ได้ค้าขายกับซีพีอย่างเหนียวแน่น เพราะได้วัดใจกันหลายอย่าง ประกอบกับทางฟาร์มได้วาง ระบบไบโอซีเคียว ไว้อย่างดี และบริหาร “แรงงาน” อย่างรัดกุม ภายใต้คำแนะนำจากนักวิชาการซีพีอย่างดี ทำให้คุณสิทธิพันธ์พอมีเวลาไปช่วยสมาคม ในฐานะนายก ซึ่งจะต้องเสียสละเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดงานประชุมทางวิชาการ ให้ความรู้แก่สมาชิก เรื่อง ป้องกันและกำจัดโรค ASF ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเงินบริจาคจากฟาร์มใหญ่ ที่เป็นกรรมการสมาคม รวมทั้ง บริษัทผู้ค้าปัจจัยการผลิต และ ซีพี ทำให้เกิด ความรัก ความเห็นใจ และ ความสามัคคี ที่จะลุกขึ้นสู้เลี้ยงหมูต่อไป
การพัฒนาพันธุกรรมหมู
ในเรื่อง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารฯ (CPF) ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรนั้น ยอมรับว่า หลายทศวรรษที่บุกเบิกและพัฒนาพันธุกรรมสุกร ซึ่งเป็นสุกรที่ตะวันตกได้พัฒนา เมื่อ CPF มาทดลองและพัฒนาให้เหมาะกับประเทศไทย จนกระทั่ง ปี 64 ได้ พ่อพันธุ์ CP31 อายุ 53 สัปดาห์ ราคา 25,000 บาท พอวันที่ 10 มกราคม 65 ปรับราคาเป็น 30,000 บาท พ่อพันธุ์ V-BOAR อายุ 16 สัปดาห์ ตัวละ 1,000 บาท
ลูกหมูหย่านม อายุ 15 สัปดาห์ ปี 64 ราคาตัวละ 2,400 บาท อายุ 20 สัปดาห์ ปรับราคาลงเหลือ 2,300 บาท อายุ 37 สัปดาห์ วันที่ 6 ก.ย. 64 ลงเหลือ 1,200 บาท อายุ 48 สัปดาห์ วันที่ 15 พ.ย. 64 ปรับขึ้นเป็น 2,100 บาท วันที่ 10 ม.ค. 65 ปรับเป็น 3,100 บาท จากนั้นราคาก็ลดลง ลูกสุกร CP ขุนเล็ก W (FREE PRRS) อายุ 15 สัปดาห์ เม.ย. 64 ราคา 2,500 บาท เคยลงถึง 1,300 บาท แต่ปี 65 อายุ 1 สัปดาห์ 3 ม.ค. ราคา 3,200 บาท จากนั้นราคาก็ลดลงเรื่อยๆ ต่ำสุด 2,400 บาท
ลูกสุกร CP ขุนเล็ก W (FREE PRRS) อายุ 16 สัปดาห์ 12 เม.ย. 64 ตัวละ 2,900 บาท ราคาลดลงไม่ต่ำกว่า 1,700 บาท ปี 65 10 ม.ค. 3,800 บาท ต่ำสุด 2,800 บาท และ ลูกสุกร CP ขุนเล็ก W (FREE PRRS) อายุ 16 สัปดาห์ ปี 64 ราคา 2,800 บาท ราคาต่ำสุด อายุ 33 สัปดาห์ 9 ส.ค. 64 ราคา 2,000 บาท อายุ 37 สัปดาห์ 6 ก.ย. ราคา 1,600 บาท และกลับมาขึ้น 3,200 บาท อายุ 53 สัปดาห์ วันที่ 27 ธ.ค. 64 พอวันที่ 3 ม.ค. 65 อายุ 1 สัปดาห์ ราคา 3,500 บาท
สำหรับ ลูกสุกรพันธุ์ PS เพศเมีย 16 สัปดาห์ วันที่ 12 เม.ย. 64 ราคา 6,000 บาท ยืนพื้นราคานี้ ทั้งปี 64 และ ปี 65 เห็นได้ชัดว่า CPF มีการวางแผน การผลิต และ การตลาด ทั้ง แม่ และ ลูกพันธุ์ อย่างเป็นระบบ
การส่งเสริมการเลี้ยงหมู
สำหรับรูปแบบการเลี้ยง รู้กันดี CPF ส่งเสริมการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล ใช้ยาปฎิชีวนะ ด้วยความรับผิดชอบ ภายใต้ “หลักอิสระ 5 ประการ” เพื่อมิให้ หมูหิว และ กระหาย ไม่สบายกาย ทุกข์ทรมาน และ บาดเจ็บ พูดว่า เลี้ยงตามหลัก 3’TS ในโรงเรือนปิด ที่ระบายอากาศได้ดี พยายาม ลด ละ เลิก การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสุกร ในปี 2562 ประเทศไทยได้ยกเลิกการตัดหางสุกรกว่า 7 แสนตัว เลิกการตัดเขี้ยวกว่า 2 ล้านตัว ริเริ่มยกเลิกการตัดหางลูกสุกรกว่า 3,000 ตัว และยกเลิกตัดใบหูกว่า 3 ล้านตัว
เรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรตาม พรบ.เกษตรพันธสัญญา ของ CPF นั้น ได้ทำมาก่อนจะมี พรบ.รองรับ แต่เมื่อมี พรบ. ทำให้ CPF กลายเป็น “เสาหลัก” ของอุตสาหกรรมสุกรแบบพันธสัญญา ที่หลายๆ บริษัท นำไปใช้
โดยเฉพาะ บริษัท ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มี ตระกูลเตียวสมบูรณ์กิจ เป็นผู้สถาปนา ก็ได้เดินหน้า ธุรกิจสุกร ควบคู่กับ ธุรกิจไก่เนื้อ และ ธุรกิจอาหารสัตว์ ครบวงจร ได้จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมารับภารกิจแต่ละอย่าง โดยมีผู้ร่วมหุ้นดังต่อไปนี้ 1.บริษัท นิวสตาร์ วิคเตอร์ จำกัด 1,576,401,396 หุ้น 2.นายวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ 1,008,034,278 หุ้น ที่เหลือเป็นนักลงทุนจากฮ่องกง ส่วนการบริหารนั้น คุณวินัยเป็นประธานซีอีโอโดยตรง
ด้วยทุนจดทะเบียน 6,138,160,412 หุ้น ชำระแล้ว 5,113,305,700 หุ้น จึงเห็นได้ว่า ไทยฟู้ดส์พร้อมเปิดรับนักลงทุนตลอดเวลา
ไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ เงินต้น หรือ ดอกเบี้ย ของตราสารหนี้ หรือผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ
วันที่ 31 ธ.ค. 60 ได้ทำสัญญากับเกษตรกร เพื่อเลี้ยง สุกร และ ไก่เนื้อ ซึ่งสัญญาแต่ละฉบับมีรายละเอียดแตกต่างกัน และมีข้อกำหนด/หลักการสำคัญ ในลักษณะเดียวกัน เช่น การเข้าทำสัญญาโดยบริษัทย่อย เรื่องไก่เนื้อ เกษตรกรตกลงรับไก่เนื้อจากบริษัทขณะยังเป็นลูกไก่ และได้รับ อาหารไก่ และ เวชภัณฑ์ ที่จำเป็น ในการรับซื้อคืนไก่เนื้อต้องมีอายุระหว่าง 37-45 วัน น้ำหนักเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1.60 กก./ตัว ณ วันที่รับซื้อตามที่กำหนด
เกษตรกรจะได้รับค่าตอบแทนในการเลี้ยงไก่ตามที่ตกลงตามเกษตรพันธสัญญา โดยบริษัทใช้ระบบประกันราคา ได้ค่าตอบแทนตามน้ำหนักของไก่ คิด หน่วย เป็นกิโลกรัม หลังหักค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว เกษตรกรต้องชำระค่าปรับตามที่กำหนดในสัญญา หากจะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งล่วงหน้า 45 วัน หรือ 1 รุ่น การเลี้ยง
ในกรณีที่เกษตรกรกู้ยืมเงินจากบริษัท หรือได้รับเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่บริษัททำกับสถาบันการเงิน สัญญาจะไม่สิ้นอายุ เกษตรกรไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ จนกว่าบริษัท หรือ สถาบันการเงิน จะได้รับชำระคืนเงินกู้ยืมเต็มจำนวน และเกษตรกรไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงไก่ของบุคคลภายนอกในฟาร์มแห่งเดียวกับที่ใช้เลี้ยงไก่ของบริษัท และยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ อาหารสัตว์ หรือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ของบุคคลภายนอก
และเกษตรกรต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าตรวจสอบสถานที่เลี้ยงเป็นประจำ เพื่อจะได้ประเมินสภาพแวดล้อม ดูแลไก่ ของบริษัท หากพบว่าสถานที่เลี้ยง หรือ สุขอนามัย ไก่ ไม่อยู่ในสภาพที่ดี บริษัทอาจเรียกให้เกษตรกรชำระค่าปรับ หรือยกเลิกสัญญาได้
จึงเห็นได้ว่า สัญญาธุรกิจของบริษัทมีความรัดกุม เพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติตามนโยบายและข้อกำหนดของบริษัท เพื่อให้การเลี้ยงไก่เนื้อแต่ละรุ่นประสบความสำเร็จ ทั้ง บริษัท และ เกษตรกร แม้ในยามเจอวิกฤต โควิด 19 บริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ ก็วางมาตรการเข้มงวดในฟาร์มหลายอย่างจนผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
ลูกเล้าไทยฟู้ดส์กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ละรายเข้ามาด้วยความมั่นใจบริษัทว่า เมื่อเป็น “ลูกเล้า” แล้ว จะมีรายได้ตามสัญญา แต่บางราย อย่าง คุณบุญสม โปรยสุรินทร์ เจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ ส.สุวารินทร์ฟาร์ม ราชบุรี ตัดสินใจลงทุนเลี้ยงไก่เนื้อกับไทยฟู้ดส์ โดยไม่ลังเล ทั้งๆ ที่ไม่เคยเลี้ยงมาก่อน แต่เพราะ ปลัด อบต. ชักชวน เพราะเห็นว่าคุณบุญสมมีประสบการณ์เลี้ยง โค และ แพะ นั่นเอง ทำให้คุณบุญสมตัดสินใจฉับไว
ไทยฟู้ดส์ ใจปั้ม ลงทุนสร้างโรงเรือน / อุปกรณ์ อาหาร และ พันธุ์ไก่ ให้ก่อน มูลค่า 5 ล้านบาท ปรากฎว่าก่อสร้างไปแล้วบานปลาย เป็น 7 ล้านบาท “ถ้าเจ๊งก็เจ๊ง ผมถือว่าไม่ได้ขายที่ ถ้าขายที่มันหมด แต่ถ้าเป็นหนี้ มีโอกาสคืนทุน” คุณบุญสม เปิดใจ พร้อมๆ กับ คุณวารินทร์ ภรรยาคู่ใจ ที่สนับสนุนเต็มที่
จากนั้นก็ทำแผนธุรกิจร่วมกับ ไทยฟู้ดส์ ยื่นกู้ ธกส. จำนวน 9 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4%/ปี “ถ้าเลี้ยงไก่รอด ไม่ตาย หักส่วนต่างแล้วได้ 10 กว่าบาท/กก. ก็พอใจแล้ว” คุณบุญสม ยืนยันถึงความคุ้มค่าในการกู้เงินลงทุน
เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์เลี้ยงไก่เนื้อโรงเรือนอีแวป ปรากฏว่า “ไฟดับ” เพราะอุบัติเหตุจากเครื่องปั่นไฟ ไก่ตายครึ่งเล้า ไม่ท้อ เดินหน้าเรียนรู้ต่อไปแน่นอน ความใจถึงของสามี / ภรรยา คู่นี้ ชนะใจทีมงานไทยฟู้ดส์เป็นอย่างยิ่ง
ในที่สุด 2 ลูกชาย และ 2 ลูกสะใภ้ ก็มาช่วยในฟาร์ม แต่ถ้างานมากเกินกำลังก็จ้างแรงงานข้างนอกเป็นจ๊อบๆ
“บริษัทดีมาก รุ่นแรกหักแต่ต้นทุน ไม่หักกำไร ที่เหลือไว้งวดหน้า ค่อยว่ากัน” คุณบุญสม เปิดเผยถึงความแฟร์ของไทยฟู้ดส์
การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ
ด้วยความที่คุณบุญสมมีประสบการณ์สูงเรื่องการเลี้ยงสัตว์ไม่นาน ก็เรียนรู้เรื่อง จุดอ่อน-จุดแข็ง เลี้ยงไก่เนื้อโรงเรือนอีแวป
เมื่อไก่ 35 วัน “มูลไก่” จะเยอะ มีแก๊สแอมโมเนีย เขาจึงต้องผลิตจุลินทรีย์ EM ผสมน้ำให้ไก่กิน เพื่อลดกลิ่นเหม็นจากแก๊ส และไก่จะไม่เครียด
อุณหภูมิ ในเล้าก็สำคัญ คุณบุญสมยืนยัน “พัดลม” ระบายอากาศ ต้องสัมพันธ์กับอุณหภูมิ เพราะอากาศร้อน / เย็น มีผลต่อไก่ทั้งสิ้น
จาก 5 หลัง ลงทุนเอง อีก 7 หลัง ทำให้ฟาร์มผลิตไก่รุ่นละ 1.4 แสนตัว ปีละ 3 รุ่น ประกันราคา กก.ละ 37 บาท ค่าคนจับตัวละ 50 สตางค์
ผลงานการเลี้ยงไก่เนื้อ 3 รุ่น ของเขา ทำให้ ไทยฟู้ดส์ และ ธกส. มั่นใจ
แม้ต้นทุนบางอย่าง เช่น “แกลบ” เพื่อรองพื้น ราคาพุ่งขึ้นตันละ 2,200-2,300 บาท แต่ละรุ่นต้องใช้ 55 ตัน
ก็ไม่หวั่นว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเขายังมี วัวเนื้อ และ แพะเนื้อ ที่ราคาดี มาจุนเจือฟาร์มไก่เนื้อนั่นเอง
การที่ นิตยสารสัตว์บก ได้หยิบยก ซีพี และ ไทยฟู้ดส์ มาเสนอคนในวงการ สุกร และ ไก่เนื้อ ก็เพราะเป็น บริษัทมหาชน ใช้ พรบ.เกษตรพันธสัญญา เป็นกลไกในการผูกพันกับเกษตรกร เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า “พรบ.” เป็นเพียงตัวเตือนความทรงจำทางธุรกิจ แต่ ความเข้าใจ ทั้ง 2 ฝ่าย คือ หัวใจในการยึดโยงไปสู่เป้าหมาย ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน จะเป็น “สายใย” ให้ธุรกิจเดินหน้า โดยเฉพาะธุรกิจสุกร ที่อ่อนไหวเรื่องโรค ประการที่ 2 บริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจเกษตรพันธสัญญา จะต้องมี จุดแข็ง หลายประการ โดยเฉพาะทีมงานทั้ง 2 ฝ่าย ที่ทำงานร่วมกัน
จุดอ่อน อาจมีบ้าง เช่น โรงเรือน อุปกรณ์ อาหาร เวชภัณฑ์ แม้แต่ “พันธุ์สัตว์” ที่บางอย่างกลับเดินตามนวัตกรรม ที่บางบริษัทล้ำหน้าไปแล้ว