ฐิติรัตน์ฟาร์มไก่เนื้อ ยืนยันรายได้ต่ำกว่า กก.ละ 7 บาท เจ๊งแน่นอน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม้ผล ที่ชื่อ “มะม่วง” กลายเป็นผลไม้อินเตอร์ ตลาดต่างประเทศต้องการพอสมควร ผู้ส่งออกต้องลงทุนติดตั้งเครื่องไอน้ำจากญี่ปุ่น เพื่อฆ่า แมลงวันทอง ในมะม่วง

วันนี้มะม่วงไทยในตลาดโลกมีบทบาทน้อยลง เพราะเหตุผลทางธุรกิจหลายอย่าง

1.ฐิติรัตน์ฟาร์ม01

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่เนื้อ

ชาวสวนมะม่วงหลายคนเลิกอาชีพ เช่น คุณธนชัย ราตรี จังหวัดสิงห์บุรี ขายให้ผู้ส่งออกเข้าสู่ประทศจีน เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เมื่อมะม่วงเหลือ กก.ละ 10 บาท สู้ไม่ไหว ต้องตัดสินใจเลี้ยง “ไก่เนื้อ” หลังจากเข้ารับการอบรมการเลี้ยงสัตว์ปีก และได้เรียนรู้การเลี้ยงจากฟาร์มของญาติไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยการกู้เงินธนาคารมาลงทุน เริ่มต้นจากการเลี้ยง 1 ฟาร์ม ปรากฏว่ากำไรดี จนต้องขยายฟาร์มเพิ่มขึ้นจาก 1 โรง เป็น 4 โรง ภายในเวลา 13 ปี

ขนาด “โรงเรือน” ฟาร์ม 1 18×100 เมตร โรง 2 ขนาด 20×100 เมตร โรง 3 ขนาด 20×120 เมตร และ โรง 4 ขนาด 20×120 เมตร ทั้งหมด เป็นโรงเรือนมาตรฐาน ออกแบบและติดตั้งโดย บริษัท การุณ บราเธอร์ส จำกัด ที่มี คุณมณเฑียร การุณยศิริ ผู้คร่ำหวอดในวงการ เป็นเจ้าของ

2.ฐิติรัตน์ฟาร์ม02

ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงไก่เนื้อ

ฐิติรัตน์ฟาร์ม เลี้ยงไก่เนื้อแบบลูกเล้า หรือพันธสัญญากับบริษัทต่างๆ ล้มเหลวบ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง ต้องลุ้นรุ่น/รุ่น ว่าจะได้ “กำไร” มั๊ย ช่วงแรกๆ ก็ดี ซื้อตามราคาที่ตกลง แต่เริ่มเข้ารุ่น 2 หรือ 3 ทางบริษัทเพิ่มเงื่อนไขลดสิทธิ์ต่างๆ ลง ด้วยการสร้างกติกาที่เอาเปรียบ เช่น ตกลงราคาลูกไก่ 14 บาท พออีกรุ่นเพิ่มอีก 1 บาท หรือเพิ่มอาหาร กก.ละ 50 สต. เป็นต้น

“เขาวางแผนเอาคืน อย่าง ไก่ และ อาหาร มันมีตัวที่ทำให้โตไว เร่งเนื้อให้โต ตัวนี้แพง ถ้าไม่ใส่ในอาหารลูกจะหายทันที ใส่ครั้งละ 2 ขีด/กระสอบ 30 กก. ถ้าไม่ใส่ไก่หายตัวละ 2 ขีด ไก่ 2 แสนตัว ขายไป 2 แสนขีด หรือ 20 ตัน ถ้าไม่พอใจก็ย้ายบริษัทได้ เขาไม่ง้อเรา เพราะถ้าเราไม่เข้า คนอื่นเข้า ทุกบริษัทเหมือนกันหมด ไม่งั้นเสี่ยวินัย ไทยฟู้ดส์ เริ่มจากแพะ 50 ตัว ตอนนี้มีเป็นหมื่นล้าน ช่วงเวลาแค่ 30 ปี” คุณธนชัย ยืนยัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ปัจจุบันทางฟาร์มได้เลี้ยงไก่ของ บริษัท เควีเอส เฟรชโปรดักส์ จำกัด กว่า 2 รุ่น แรกๆ ก็ได้ 13 หรือ 14 บาท ต่อมาก็ 10 บาท และถ้าต่ำกว่า กก.ละ 7 บาท ขาดทุนแน่นอน เพราะ ต้นทุน การเลี้ยงไก่เนื้อสูงขึ้น เช่น แกลบ ตันละ 400 บาท ตอนนี้ตันละ 1,800-2,000 บาท ขึ้น 5 เท่าตัว เพราะ โรงไฟฟ้า ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าไฟที่ใช้ในฟาร์มก็ขึ้น

วันนี้เกษตรกรที่เป็นลูกเล้าไก่เนื้อเปลี่ยนบริษัทยากขึ้น เพราะบริษัทก็เลี้ยงเองด้วย แม้จะเพิ่มเล้าให้มากขึ้น เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนก็ไม่ง่าย ดังนั้นลูกเล้าไก่เนื้อวันนี้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทเจ้าของสัญญา เพราะ ลูกไก่ อาหาร ยา วัคซีน และ หมอ เป็นของบริษัทผู้ลงทุน หรือเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง

ต้นทุนค่าไฟ/รุ่น 2 บาท/กก. แกลบ 1 บาท ค่าลูกน้อง 1 บาทกว่าๆ ค่าจับ 50 สต. และค่าขนส่งประมาณ 60-70 สต. รวมแล้วต้นทุน 6 บาท/กก. แต่ถ้าไม่เลี้ยงก็ต้องเสียค่าไฟขั้นต่ำ 2 หมื่นบาท อย่างค่าไฟเดือนตุลาคม 1.8 แสนบาท ค่า FT 5 หมื่นกว่าบาท รุ่นละ 42 วัน ซึ่งการลงลูกไก่ของบริษัทประมาณ 10-12 ตัว/ตรม. เล้าใหญ่จะได้เปรียบ และทำแรงลมได้ “ต้องใช้อีแวปทั้งหมด เพราะถ้าไม่ใช้มันควบคุมโรคไม่ได้ ต้องมีมาตรฐานฟาร์ม GAP ต้องมี Q เพื่อเข้าบริษัท พอเราเลี้ยง 2 รุ่น ก็เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ต้องมีรั้วรอบขอบชิด ต้องแบ่งเป็นสัดส่วน บ้านพักคนงาน กับบ้านพักของเรา” คุณธนชัย เปิดเผยถึงเหตุผลต้องเลี้ยงในโรงเรือนอีแวป GAP

3.ฐิติรัตน์ฟาร์ม03

การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ

อย่างไรก็ดี เมื่อโรงเรือนมีอายุ 10 ปีขึ้นไป ก็เสื่อม ต้องลงทุนปรับปรุง เพื่อให้ “ความเย็น” ในโรงเรือนสม่ำเสมอ อย่าง การใช้ แอร์โร่ฟอยล์ ติดใต้หลังคาโรงเรือน ก็จำเป็น เพราะพอติดตั้งแล้วอุณหภูมิลดลง จาก 33 องศาฯ อยู่ที่ 28-29 องศาฯ

ไก่ที่ตายวันละ 20 ตัว ก็ลดเหลือ 10 กว่าตัว และบางวันไม่ตายเลย ดังนั้นถ้าลดต่ำกว่า 30 องศาฯ ไก่ไม่เป็นโรค และไม่ตายแน่นอน โดยเฉพาะ “ไก่น็อค” จากการกินอาหารแล้วตาย จะไม่เกิด ดังนั้น หน้าร้อน อันตราย ต้องทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนต่ำกว่า 30 องศาฯ ดังนั้นการติดตั้งแอร์โร่ฟอยล์ อายุการใช้งานกว่า 10 ปี จึงต้องลงทุน

ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ในโรงเรือนอีแวป เช่น แพด ของจีน อายุไม่เกิน 5 ปี ก็ต้องเปลี่ยน หรือ พัดลม ก็มีอายุการใช้งาน หมดอายุก็ต้องเปลี่ยน แม้แต่ รอยรั่ว ที่เกิดขึ้น ก็ต้องอุด พูดง่ายๆ ว่า การเลี้ยงไก่แต่ละรุ่นต้องเสียค่าซ่อมบำรุง 1-2 บาท/กก.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับอุปกรณ์ให้น้ำและอาหารก็เป็นออโต้ทั้งหมด เพื่อให้ได้มาตรฐานฟาร์ม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนทั้งนั้น แม้แต่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ก็ต้องสำรองเมื่อไฟดับ ไม่งั้นไฟดับ 5 นาที ไก่ตายนับร้อยตัว เพราะพัดลมหยุดทำงาน อุณหภูมิขึ้น ไก่เครียด และ แอมโมเนีย จากขี้ไก่ก็ขึ้นมา จึงต้องลงทุนเครื่องปั่นไฟ

การเลี้ยงไก่โรงเรือนละ 24 หมื่นตัว 1.8 หมื่นตัว ตามขนาดของแต่ละหลัง โดยใช้คนงาน 2 คน/หลัง ดูแล ต้องเลี้ยงให้ไก่รอดเกิน 90% ต้องใช้ฝีมือ ดังนั้นเมื่อพักเล้าต้องให้เขากลับบ้านพักผ่อน

ในเรื่องโรคระบาด คุณธนชัย กล่าวว่า ไข้หวัดนก ก็ต้องระวัง สัตว์พาหะ เช่น นก อพยพ เป็นต้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกไก่ ต้องฉีดวัคซีนครบทุกชนิดตามโปรแกรมของบริษัท ถ้าไก่ป่วย หมอจะมาตรวจสอบหาสาเหตุแล้วแก้ไข

4.ฐิติรัตน์ฟาร์ม04

คุณสมบัติของแอร์โร่ฟอยล์

สุดท้ายคุณธนชัยได้พูดถึงบทบาทของ แอร์โร่ฟอยล์ ว่า “ทั้ง 2 รุ่น มันควบคุมได้ ลดต้นทุนได้ แรงลมไม่หลุด ไม่รั่ว แค่ 2 อย่าง ก็คุ้มแล้ว เพราะมันเป็นฝ้าเพดาน” ซึ่งการติดตั้งก็ง่าย ดูจากคลิปวิดีโอ แล้วช่างของฟาร์มติดตั้งได้เลย เพียงแต่ละฟาร์มใช้เทคนิคต่างกันบ้าง อย่าง ฟาร์ม 3 ต้องใช้จักรเย็บ แต่ฟาร์ม 4 ต้องใช้ทั้งจักรและตะปู “มันแล้วแต่เทคนิคของช่างแต่ละคน แต่ละเล้าไม่เหมือนกัน ระยะเวลาไม่เหมือนกัน พอคล่องแล้วจะไวขึ้น แต่ละโรงเรือน 2 วันเสร็จ” คุณธนชัย ให้ความเห็น

เมื่อถามถึงปัญหาการเลี้ยงไก่เนื้อแบบพันธสัญญาของเกษตรกร คุณธนชัยเปิดเผยว่า รัฐบาลควรดูเรื่อง “เงื่อนไข” ทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ ที่ส่งเสริมเกษตรกร “ทำอาหารให้ได้คุณภาพ ถ้าเราเรียกร้องได้ เขารู้ว่าเราอยากได้อะไร แต่เขาไม่ทำ ยากมาก เกษตรกรแย่หมด”

แต่เนื่องจากคุณธนชัยเลี้ยงไก่เนื้อ เลี้ยงแพะเนื้อ 50 แม่ และปลูกข้าว เพื่อกระจายความเสี่ยง เมื่อไก่เนื้อราคาตก ก็พอประคองธุรกิจไปได้ ยกเว้นไก่เนื้อ ราคาต่ำกว่า 7 บาท ขาดทุนแน่นอน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณ คุณชนชัย ราตรี (เฮียอ้วน) 16/2 หมู่ 9 ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี โทร.092-498-9959

สนใจผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์ โทร.02-805-3616-20

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 367