กินไข่ทุกวัน สุขสันต์แข็งแรง ทั้ง ไข่ขาว และ ไข่แดง ล้วนมีคุณค่าสูงทางโภชนาการ เป็นอาหารของคน ทุกเพศ ทุกวัย กินได้ทุกศาสนา
ดังนั้นไข่ไก่จึงเป็นอาหารเพื่อมนุษยชาติโดยแท้ แต่การผลิตไข่ไก่ 1 ฟอง ต้นทุน แต่ละประเทศ และแต่ละฟาร์ม ไม่เท่ากัน ดังนั้นไข่ไก่จึงเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของโลก
ยิ่งกว่านั้น ผู้ผลิต พ่อแม่พันธุ์ และ ปู่ย่าพันธุ์ ยังมีอำนาจเหนือตลาด
ปัญหาและอุปสรรคไข่ไก่
ประเทศไทยเลี้ยงไก่ไข่มาหลายทศวรรษ มีการจัดตั้งสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เช่น สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ เป็นต้น แต่ไข่ไก่ก็ยังเข้าไม่ถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ เพราะบางช่วงไข่แพงมาก และบางช่วงไข่ล้นตลาด
รัฐบาลจึงต้องจัดตั้งคณะกรรมการไก่ไข่ หรือ “เอ็กซ์บอร์ด” ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการไข่ให้สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
ในธุรกิจไก่ไข่ นอกจากผู้ผลิตพันธุกรรมอยู่ในมือนักลงทุนตะวันตก ซึ่งเป็นผู้กุมเกม ธุรกิจต้นน้ำ และต้นทุนการเลี้ยงแล้ว อาหารไก่ไข่ ก็เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในมือ เจ้าสัว ไม่กี่ตระกูล โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจในการจัดหาและครอบครอง “วัตถุดิบ” สำคัญ เช่น ข้าวโพด และ กากถั่ว เป็นต้น ระยะหลังการเลี้ยงไก่ไข่กลายเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง ทั้งในเรื่อง ที่ตั้งฟาร์ม โรงเรือน และ อุปกรณ์ เป็นต้น จนเกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ผลิตอุปกรณ์อีแวป และไซโล ลุยตลาดทั้งในและต่างประเทศ เปลี่ยนฐานะจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออก
ผู้เลี้ยงระดับ 2 แสนตัวขึ้นไป วันนี้ที่อยู่รอดในธุรกิจล้วนเป็น “เซียน” ทั้งนั้น ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายฟาร์มกระจายไปทั่วประเทศ แม้แต่ ภาคใต้ ที่เกิดฟาร์มขนาดใหญ่หลายจังหวัด และรวมตัวกันเป็นสมาคม ในนาม “สมาคม” โดยมี คุณสุเทพ สุวรรณรัตน์ เป็นนายกฯ จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่สมาชิก โดยมีภาคเอกชน อย่าง บริษัท สค็อฟ เอเซีย จำกัด เป็นต้น แต่เมื่อข้าวโพดราคาแพง บางรายเลิกเลี้ยง ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมยังแก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ และสมาคมอื่นๆ ก็พยายามจะแก้ปัญหาให้สมาชิก แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมติของ เอ็กซ์บอร์ด นั่นเอง
การเลี้ยงไก่ไข่
คนที่อยู่รอดมี กำไร จากการเลี้ยงไก่ไข่เชิงธุรกิจ ขนาด 2 แสนกว่าแม่ อย่าง บริษัท ตรัยมงคลกูลฟาร์ม จำกัด ที่มี คุณสมชัย ตรัยมงคลกูล เป็นประธาน และ คุณมงคล เอมโอด เป็นผู้จัดการฟาร์ม ใช้ที่ดินเพียง 20 ไร่ ใน ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยใช้อาหารของ CPF วันละ 20-30 ตัน นำ “ไก่สาว” จาก 3 บริษัท มาเลี้ยงเมื่อปี 2558 โดยเริ่มจาก 1 โรงเรือน 36,000 ตัว และเพิ่มโรงเรือนทุกปี จนถึง 6 โรง มีประชากรไก่ 2 แสนกว่าตัว ไก่ที่ให้ไข่ 85% หรือ 2 แสนกว่าฟอง/วัน ขายเป็น “ไข่คละ” หน้าฟาร์ม กำไรเฉลี่ยหลายหมื่นบาท/วัน และหากย้อนไปดู “รายได้” ปรากฏว่า ปี 64 จำนวน 120 กว่าล้านบาท และปี 65 กระโดดเป็น 200 ล้านบาท แสดงว่าบริษัทมีฝีมือในการทำธุรกิจ ไข่พรีเมียม ชัดเจน
ทั้งคู่ได้เปิดใจกับ “สัตว์บก” ว่า ก่อนเข้าสู่ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ ได้ยึด ค้าไข่ เป็นอาชีพหลักร่วม 20 ปี เป็นรายแรกที่นำไข่ขึ้นห้างโมเดิร์นเทรด วันละ 3 แสนฟอง ลูกค้าหลักๆ อยู่ภาคใต้ เพราะมีการเลี้ยงไก่น้อย ใช้แบรนด์ “ไข่สด CF” แต่ก็ต้องออกจากวงการ เพราะกว่าจะได้เงินจากโมเดิร์นเทรด 60 วัน ประกอบกับการหา ไข่คุณภาพ ไม่แน่นอน จึงตัดสินใจลงทุนเลี้ยงไก่ไข่เมื่อปี 58 โดยใช้ที่ดิน 20 ไร่ สตาร์ทจาก 1 โรงเรือน จนปัจจุบัน 6 โรงเรือน
การบริหารจัดการฟาร์มไก่ไข่
การเป็นผู้ค้าไข่มาเป็นผู้ผลิตไข่ มีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง??
คุณมงคล (เฮียหมง) ให้ความเห็นว่า “เราเป็นผู้ซื้อไข่มาก่อน เจอปัญหาแต่ละฟาร์ม เมื่อเรามาเป็นเจ้าของฟาร์ม ก็ต้องไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดกับลูกค้า เราบอกลูกค้าว่าเราเป็นผู้ซื้อมาก่อน ผมซื้อเยอะ และการซื้อขายต้องจริงใจกัน”
ในการลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ ทางบริษัทใช้เงินในระบบถึง 80% อีก 20% กู้ธนาคาร ทำให้การบริหารไม่เครียด
ช่วงแรกโรงเรือน และอุปกรณ์อีแวป ใช้บริการของ บิ๊กดัชแมน แต่เมื่อขยายโรงเรือน จนวันนี้ 6 หลัง ประชากรไก่กว่า 2 แสนตัว ใช้บริการของ บริษัท ตรัยมงคลกูลฟาร์ม จำกัด ซึ่งโรงเรือนก็คือ “บ้าน” ของไก่ ที่เย็นสบาย ปราศจาก ศัตรู หรือ พาหะ ที่จะเข้าบ้าน แม้แต่ “แมงมุม” ตัวเดียว ก็เข้าไม่ได้ “ไก่เห็นมันก็คัต ตัวอื่นเห็นก็คัตเหมือนกัน มีผลกระทบต่อการผลิตไข่ ไก่ตกใจ กินน้อยลง มันตกใจ เครียด ทั้งกลางวัน กลางคืน ต้องบล็อกหมด ป้องกันสัตว์ต่างๆ แม้แต่สิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามา คนเลี้ยง เปลี่ยนหน้า คนแปลกหน้า ไก่มันจำ คนเลี้ยงต้องเป็นเพื่อนมัน เพราะคอยส่งเสียงคุ้มครองความปลอดภัยให้มัน เห็นคนเลี้ยงจำได้ เรื่องนี้ไม่มีในตำรา มันเป็นของจริง ต้องใส่ใจจริงๆ ต้องดูหน้าตาไก่ว่าเป็นยังไง สดใสมั๊ย หน้าแดงมั๊ย ขี้เป็นยังไง ฯลฯ” เฮียหมง เปิดเผย
ดังนั้นการบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่อุณหภูมิในโรงเรือนแต่ละฤดูก็ต่างกัน แม้จะคุมได้ด้วยเทคโนโลยีให้อยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส และหน้าร้อน 30-31 องศาเซลเซียส ก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่กลัวไฟดับ เนื่องจากมีเครื่องปั่น 2 เครื่อง ลงทุนเกือบ 2 ล้านบาท จึงไม่เคยอุบัติเหตุไฟดับ ไก่ตาย นอกจากนี้ทุกวันจะต้องเอา มูลไก่ ออกขายให้ผู้ซื้อเป็นคันรถวันละหลายตัน ป้องกันมิให้เกิด ก๊าซแอมโมเนีย ทำให้ไก่อ่อนแอ เป็นโรคได้
สายพันธุ์ไก่
เรื่อง “พันธุ์ไก่” เป็นเรื่องใหญ่ ทางบริษัทใช้ไก่สาว HI-SEX LOMAN BROWN และ HY-LINE BROWN จาก 3 บริษัทมืออาชีพ เพื่อให้การจัดซื้อได้ตามจำนวนที่ต้องการ บางบริษัทกว่าจะได้ใช้เวลา 1 ปี บางบริษัท 3 เดือน ซึ่งประสบการณ์ 7 ปี ที่เลี้ยงไก่ไข่ สามารถคัดสรรไก่สาวที่มีคุณภาพได้ “ฟาร์มที่ทำไก่ให้เรา เขาตรวจสอบ ถ้าไม่ดี เราจะสรรเสริญเขาได้ ยังไงคนรู้จักเราเยอะ เราไม่ใช่ ตาสี ตาสา ที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ เพราะฉะนั้นใครที่เอามาให้ต้องอย่างดี” เฮียหมง ยืนยันคุณภาพไก่สาวของคู่ค้า ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์ คุณสมชัยให้ความเห็นว่า บางพันธุ์ไข่ดก ลูกเล็ก บางพันธุ์ไข่ใหญ่ แต่ไข่น้อย ดังนั้นระยะเวลา 80, 82 หรือ 83 สัปดาห์ จะรู้เลยว่าพันธุ์ไหนดีที่สุด ดังนั้นบางโรงเรือนวันละ 4 หมื่นฟองก็มี
การให้อาหารไก่ไข่
ส่วน “อาหาร” ทางบริษัทใช้ของซีพีเท่านั้น เพราะมีความมั่นใจ แต่อนาคตอาจเปิดกว้างมากขึ้น แม้จะให้อาหารด้วย ออโต้ฟีด แต่ก็ต้องผ่านโปรแกรม โดยมีคนปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแต่ละฟาร์ม ทาง บริษัท ตรัยมงคลกูลฟาร์ม จำกัด ยืนยันว่า 7 ปี ไม่เคยใช้วัคซีนและยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด เพราะต้องการให้ไข่มีคุณภาพ เป็น “ไข่พรีเมียม” หรือไข่สุขภาพ เพื่อผู้บริโภคจริงๆ “โรคไม่มี ทั้งๆ ที่มีฟาร์มไก่เนื้อโดยรอบ หลายๆ คนบอกว่าเราแหกวิชา นักศึกษาเข้ามาฝึกงานก็งง ไม่มีแบบนี้ในวิชาที่เรียน เรายึดหลักความเป็นจริง ไก่กินได้ นอนหลับสบาย ที่คนอื่นไม่ทำตาม เพราะต่างคนต่างความคิด ต่างความฝัน บางคนคิดว่าเขาดีกว่า มันอยู่ที่ผลลัพธ์แต่ละคน” ผู้จัดการฟาร์ม ให้ความเห็น
เมื่อไก่กินอิ่ม นอนอุ่น อารมณ์ดี ไม่เครียด ภายใต้การบริหารจัดการที่ใส่ใจสุขภาพไก่ มันก็ให้ไข่คุณภาพ “ความเย็นต้องสม่ำเสมอ อาหารต้องนิ่ง เรื่องน้ำขาดไม่ได้ ต้องป้องกันโรคอย่างดี” เฮียหมง ยืนยัน ดังนั้นแม้สายพันธุ์จะเหมือนกันแต่ละฟาร์ม แต่ คุณภาพไข่ ต่างกัน หรือ “ไก่ปลด” จะได้ราคาตามไก่เนื้อหรือไม่อยู่ที่การบริหารจัดการฟาร์มนั่นเอง
จุดเด่นของไข่ไก่
วันนี้ไข่ทุกฟองของฟาร์มมีหลายไซส์ แต่คุณภาพเหมือนกันทั้ง 6 ฟาร์ม แต่ไม่เหมือนไข่ที่อื่น เพราะเมื่อเห็นภายนอก ไข่มีสีมันวาว กลมอ้วนคล้ายลูกข่าง เปลือกหนาและมัน ไม่แตกง่าย ฉีกยาก ที่ทรงไข่อ้วนแป้นเพราะความสมบูรณ์ มันจะถ่ายทอดให้ขยายออกด้านข้าง ไข่ขาว จะเป็นสีอำพัน และยกช่อคลุมไข่แดง ดังนั้นไข่ของฟาร์มจึงเก็บได้นานในห้องเย็น 2 เดือน ยังสด นอกจากนี้ ไข่แดง ก็มาก “มันจะเหนียวมากกว่า จะทำให้ไข่อยู่ได้นานขึ้น เยื่อมันหนาเหมือนกระดาษ A4 แบบถูกกับแพง หนาก็จับรู้ว่าฉีกยาก บางก็ฉีกง่าย เวลาทอดไม่กระเด็น ไข่ที่ทอดแล้วกระเด็น เพราะเก็บไว้นาน มันมีน้ำ ไม่สด” เฮียหมง เปิดเผยคุณภาพไข่ของฟาร์มที่แตกต่างจากไข่ในตลาด
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่ไก่
จึงไม่ต้องแปลกใจ ลูกค้าจากพังงาขับรถกว่า 1,000 กม. เพื่อซื้อไข่ครั้งละแสนฟอง แม้โรงแรม 5 ดาว หลายแห่ง ก็เป็นลูกค้าประจำ แม้ทุกรายเป็นลูกค้ามานาน ก็ซื้อขายด้วย “เงินสด” ทั้งหมด เพราะขายคุณภาพ และราคาเป็นธรรม
วันนี้มี “ออเดอร์” มากขึ้น แต่ขยายฟาร์มเลี้ยงเป็นฟาร์มที่ 7 ไม่ได้ ด้วยเหตุหลายประการ เช่น คนอื่นจะขยายตาม ทำให้ไข่ล้น ราคาทั้งประเทศตกต่ำ “ไม่ใช่ดันทุรังอย่างเดียว อีกอย่างการขยายฟาร์มควบคุมคุณภาพได้ระดับหนึ่ง และเดี๋ยวนี้ขยายยาก แค่บอกว่าจะสร้างฟาร์มชาวบ้านก็มากันเยอะ ถ้าทำจริงมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน วุ่นวาย” คุณสมชัย เปิดเผยถึงอุปสรรคการขยายฟาร์ม
ดังนั้น บริษัท ตรัยมงคลกูลฟาร์ม จำกัด จึงต้องยืนหยัดเลี้ยงไก่ไข่ 6 ฟาร์ม เกือบ 3 แสนตัว เพื่อรักษาปริมาณ/คุณภาพไข่/วัน ให้เพียงพอต่อลูกค้า เก็บเกี่ยว “กำไร” ปีละหลายล้านบาท มีความสุขพร้อมๆ กับไก่ เป็นฟาร์มตัวอย่างที่รู้จักประมาณตนโดยแท้
แต่ทางฟาร์มก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องธุรกิจไก่ไข่กับทุกคน