จากเซลล์ขายยาสัตว์ที่มีความฝันว่าสักวันจะต้องมีธุรกิจฟาร์มสุกรเป็นของตัวเอง ผันตัวสู่เจ้าของฟาร์มจนประสบความสำเร็จ อย่าง คุณวิทยา ชัยนิคม หรือคนในวงการรู้จักในนาม หมอมด เจ้าของ “วิทยาฟาร์ม” เลขที่ 83/2 ม.11 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
หมอมดเล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบสาขาเทคโนโลยีการผลิตสุกร จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำงานเป็นเซลล์ขายยา และมีโอกาสรู้จักกับเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรหลายฟาร์ม จากนั้นได้รู้จักฟาร์มสุกร ชื่อ“ไต้หวันฟาร์ม”อยู่อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยเจ้าของฟาร์มจะหยุดเลี้ยง
หมอมดจึงเช่าฟาร์มต่อเพื่อเลี้ยงเป็นของตัวเอง “ผมโชคดีเพราะสนิทกับเจ้าของฟาร์มเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ ตอนนั้นเช่าฟาร์มเดือนละ 30,000 บาท สานต่องานเดิม ซึ่งมีแม่สุกรจำนวน 200 แม่ โดยลูกสุกรหย่านมตัดให้เจ้าของเก่าไป ส่วนลูกสุกรที่อยู่กับแม่ และกำลังอุ้มท้องจะเป็นของเรา ในส่วนที่ลูกสุกรที่อยู่กับแม่ก็เลี้ยงจนหย่านมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เท่ากับเขาไปเลี้ยงหนึ่งเดือนได้ผลผลิตสามารถนำไปจำหน่ายได้” หมอมดย้อนอดีต
สภาพพื้นที่เลี้ยงหมู
หลังจากเช่าฟาร์มเลี้ยงสุกรได้ประมาณ 10 ปี พื้นที่เขตบางแพเริ่มมีปัญหา เนื่องจากความเจริญเข้ามา และที่ฟาร์มก็ไม่สามารถขยายต่อไปได้ และในปี พ.ศ.2549 จึงย้ายไปตั้ง “วิทยาฟาร์ม” ณ ปัจจุบัน เพราะบริเวณนั้นเป็นเขตสำหรับทำฟาร์มสุกร ซึ่งมีฟาร์มสุกรรายใหญ่อยู่หลายฟาร์ม เนื่องจากเขตอำเภอจอมบึงเป็นเขตที่มีการปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการใช้น้ำสูง จึงนำน้ำทิ้งจากฟาร์มไปใช้ในแปลงอ้อย
จึงสามารถลดปัญหาเรื่องมลภาวะลงได้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2552-2553 เริ่มมีการนำระบบอีแวป (Evap) เข้ามาใช้ โดยเลือกใช้บริการของ บริษัท ฟาร์มโปร จำกัด เพราะมีคนดูแลเรื่องระบบทั้งหมด และด้านราคาก็ถือว่าโอเค ตอนนั้นออฟฟิศอยู่ที่อำเภอโพธารามถือว่าอยู่ใกล้ฟาร์ม สะดวกในการคุยงาน แต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่อื่น
สายพันธุ์หมู
ปัจจุบันทางฟาร์มมีแม่พันธุ์ประมาณ 300 แม่ และสุกรขุนประมาณ 1,000 ตัว สายพันธุ์ที่เลี้ยงจะเป็นสายเดนมาร์ก ช่วงแรกจะสั่งซื้อมาจากปฐมฟาร์ม จากนั้นได้มีโอกาสรู้จักกับ อาจารย์ศักดิ์ชัย โตภาณุรักษ์ จึงได้เรียนเชิญอาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาด้านพันธุกรรม ประมาณ 3-4 ปี พอสามารถดำเนินการเองได้จึงเริ่มปิดฝูงโดยไม่นำพันธุ์เข้า และพัฒนาพันธุ์เองโดยใช้ชื่อ VTY1 หรือ VTY2 นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำเชื้อเข้ามาบ้าง และจากการแนะนำของคนในวงการ ทำให้เกิดความอยากรู้ อยากลอง จึงมีการนำเข้ามาทดลองเลี้ยงบ้าง โดยมีข้อแม้ว่าสุกรต้องปลอดโรค AD
“แรงจูงใจในการทำฟาร์มสุกร เราคลุกคลีกับวงการนี้เพราะเป็นเซลล์ขายยา และได้เห็นว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่สุกรก็ยังสามารถขายได้เรื่อยๆ และตอนนั้นที่จบมาใหม่ โอกาสจะรวยก็มีน้อย เพราะการเป็นเซลล์ขายยาก็จะเป็นได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น พอถึงช่วงเวลาหนึ่งก็คงต้องหยุด และส่วนหนึ่งก็มองหาอาชีพอย่างอื่นทำหลังจากการเป็นเซลล์ และเห็นว่าเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อเทียบกับเกษตรกรชนิดอื่น” หมอมดกล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาในวงการ
การให้อาหารและน้ำหมู
การจัดการด้านอาหาร ช่วงแรกจะผสมอาหารใช้เองโดยซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป ต่อมาประสบปัญหาด้านขั้นตอนการผสม เนื่องจากทางฟาร์มยังใช้แรงงานคน ทำให้ไม่สามารถควบคุมสูตรอาหารให้นิ่งได้ โดยเฉพาะอาหารสุกรแม่พันธุ์จะต้องอาศัยความนิ่งของสูตรอาหารค่อนข้างสูง
ปัจจุบันเลือกใช้อาหารของ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด และบริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด ส่วนอาหารผสมก็ยังมีใช้สำหรับสุกรอนุบาล สุกรเล็ก สุกรรุ่นและสุกรขุน โดยสั่งซื้อวัตถุดิบจากตัวแทนจำหน่ายทั่วไป โดยวัตถุดิบหลักจะใช้ปลายข้าว กากถั่วเหลือง รำละเอียด รำสกัด และข้าวโพด เป็นหลัก
การบริหารจัดการฟาร์มหมู แบบอิสระ
การป้องกันโรค เริ่มจากการควบคุมการเข้า-ออกภายในฟาร์ม ทั้งรถ และคน นอกจากนี้จะมีการทำวัคซีนตามโปรแกรม เนื่องจากจอมบึงเป็นเขตพื้นที่การเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่น จึงจำเป็นต้องใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
ส่วนมุมมองการทำฟาร์มแบบอิสระ หากเปรียบเทียบกับการทำฟาร์มแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง บางฟาร์มทำแล้วดี แต่บางฟาร์มทำแล้วก็ขาดทุน แต่การเลี้ยงแบบคอนแทรคฯจะมีข้อดีตรงที่คนเลี้ยงไม่จำเป็นต้องหาตลาด มีราคารับซื้อที่แน่นอน แต่รายได้ที่ได้ค่อนข้างถูกจำกัด
การควบคุม ต้นทุนการเลี้ยงหมู
ส่วนทางฟาร์มคิดว่าการเลี้ยงแบบอิสระเหมาะกว่า เพราะมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ช่วงแรกการทำฟาร์มแบบอิสระเจอปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็ดีกว่าการเลี้ยงแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ตรงที่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต และสามารถเลือกใช้อาหารเองได้ ส่วนช่วงที่ราคาสุกรขึ้น ฟาร์มที่เลี้ยงแบบอิสระจะมีกำไรมากกว่า โดยเป็นไปตามกลไกของตลาด
สำหรับการเลี้ยงแบบอิสระในช่วงที่ราคาสุกรไม่ค่อยดี ทางฟาร์มก็ต้องประคองให้อยู่รอดให้ได้ อย่างเช่น ช่วงที่สุกรราคาตกต่ำ ก็มีการปรับสูตรอาหาร โดยสั่งกากถั่วเหลืองที่เป็นบายโปรดักส์เข้ามาผสมในสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรเพื่อลดต้นทุน เกษตรกรบางรายถึงกับต้องเลิกกิจการไป
และอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้องสู้ เพราะต้องหาเงินมาชำระธนาคาร หากเลิกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นคิดว่าน่าจะถึงจุดที่ต่ำสุด ถ้าหากผ่านจุดนี้ได้ทุกอย่างจะดีขึ้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปีกว่า จึงจะฟื้นตัว
“เราเปลี่ยนกลยุทธ์หลายๆ อย่าง และคิดว่าขายหมูขุนอย่างเดียวคงไม่ได้ จึงขายลูกสุกรด้วย เพราะเห็นว่าตัวเลขการจำหน่ายลูกสุกรยังพอมีกำไรอยู่บ้าง และเพื่อให้ได้เงินกลับเข้ามาในวงจร ปัจจุบันทางฟาร์มจำหน่ายทั้งสุกรขุนและลูกสุกร ดังนั้นการเลี้ยงสุกรแบบอิสระ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การบริหารต้นทุน”
หลักในการบริหารฟาร์มสำคัญทุกจุด แต่สิ่งแรก คือ เรื่องคน ถ้าสามารถบริหารคนได้ เรื่องโรค เรื่องการจัดการทุกอย่างก็จะง่ายตาม ข้อสอง คือ ระบบ หากทุกคนเข้าใจว่าจะต้องทำอะไรบ้างตามระบบของมัน เช่น โรงเรือนผสมพันธุ์ ตื่นเช้ามาจะต้องรู้ว่าในการผสมพันธุ์จะต้องเตรียมอะไรบ้าง ข้อสาม คือ องค์ความรู้ จะต้องหาความรู้ใหม่ๆ มาอบรมคนงานบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการ หรือเรื่องวัคซีน เป็นต้น
ด้านตลาดหมู
ด้านตลาด ส่วนหนึ่งทางฟาร์มจะจำหน่ายในพื้นที่อำเภอจอมบึง และส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้กับลูกค้าประจำที่จังหวัดนครปฐม “ผมโชคดีที่อยู่ในวงการนี้มาก่อน ทำให้รู้จักผู้ที่ทำอาชีพเลี้ยงสุกร ปรึกษาและแนะนำพ่อค้าที่ดีให้ ส่วนหนึ่งมาจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี” หมอมดกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ส่วนอนาคตคาดว่ายังไม่มีแนวโน้มที่จะขยายฟาร์ม แต่จะเน้นการดูแลและการจัดการโดยทำผลผลิตให้ดีขึ้น และลดทุน เพื่อให้มีกำไรและสามารถอยู่ได้
ขอขอบคุณ คุณวิทยา ชัยนิคม “วิทยาฟาร์ม” เลขที่ 83/3 ม.11 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 70150