ทิศทางปศุสัตว์ไทย ภายใต้กติกาคาร์บอนต่ำ
การจัดสัมมนา เชิงยุทธศาสตร์ปศุสัตว์ปลอดสารคาร์บอนต่ำ สู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์สีเขียว
โดย สมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ (สพส.) โดย นายพายัพ ยังปักษี เลขาธิการฯ ภายใต้การสนับสนุนจากภาคีธุรกิจต่าง ๆ เมื่อ 19 มิ.ย 2567 นั้น นายสัตวแพทย์โอฬาร กิจปรีดาบริสุทธิ์ สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษกลุ่มมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ วิทยากรคนสำคัญได้ให้มุมมองเรื่อง
น.สพ.โอฬาร กิจปรีดาบริสุทธิ์ ให้มุมมองเรื่องการเกิดก๊าซเรือนกระจก
การเกิดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ว่าเริ่มตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยโลกใบนี้ มีแผ่นก๊าซเชื่อมเคลือบไว้แล้วสะท้อนกลับแสงอาทิตย์ ข้อดีของก๊าซเรือนกระจกคือจะเก็บ “ความร้อน” ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทำให้โลกอุ่นทุกชีวิตอยู่รอด แต่เมื่อมันสะสมความร้อนมากไปเหมือนปัจจุบัน ความร้อนก็มากขึ้นจนขั้วน้ำแข็งละลายเกิดปรากฏการณ์
เอลนีโญ และ ลานีญา ในมหาสมุทรก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิดแต่นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ 7 ชนิด ที่ดูดความร้อนได้ดี เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ และ มีเทน เป็นต้น โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 48,900 ล้านต้น ถ้าลูกบอลบรรจุก๊าซ 1 ตันก็เท่ากับปล่อยลูกบอลปีละ 48,900 ลูก ดังนั้นโลกต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง “ เราจะเห็นหลาย ๆ ประเทศตื่นตัววิเคราะห์กันว่าใครมีมากมีน้อยอย่างที่เห็น จีน อเมริกาใหญ่ๆ ทั้งนั้นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกไทยอยู่ลำดับที่ 23 ” คุณหมอโอฬาร เปิดประเด็น
แล้วขยายความต่อว่า ทางยุโรปเริ่มจะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สินค้าที่จัดการก๊าซเรือนกระจกไม่ดี 7 ชนิด เก็บภาษีแพงขึ้นแม้สินค้าเกษตรไม่อยู่ใน 7 ชนิด แต่อย่าชะล่าใจเขาเริ่มเก็บข้อมูลแล้วพอมีมาตรการทาง “ปศุสัตว์” ก็ไม่รอด “ทางกรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ มีแผนพัฒนาด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะมีการทำไบโอแก๊ส 10 ปี ที่เก็บข้อมูลทั้งหมด โดยเฉพาะฟาร์มสุกร ทำไบโอแก๊สลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 3 ล้านตัน คาร์บอนทั้ง ๆ ที่กระทรวงตั้งไว้ 1 ล้านตัน ภาคปศุสัตว์เป็นผู้นำได้อานิสงส์จากผู้ประกอบการที่จัดสรรหาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นพลังงานทดแทนในฟาร์ม ยังลดปัญหาเรื่องกลิ่น ทำให้ภาครัฐนำไปต่อยอดการพัฒนา” คุณหมอโอฬาร ให้ความเห็นว่า อาหารสัตว์ จะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ดี ตอนนี้หลาย ๆ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทำเรื่องนี้ บางแห่งได้หาวัตถุดิบมาผสมอาหารสัตว์เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก “ แนวทางการจัดการภาคปศุสัตว์ จะเน้นเรื่องมูลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะโค ถ้าจัดการที่ดีจะลดก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด วันนี้กรมปศุสัตว์ได้ทดลองทำไบโอแก๊สในฟาร์มโคนม 20 แห่ง เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องพฤติกรรมการเลี้ยงได้ดีขึ้น ลดก๊าซเรือนกระจกดีขึ้น เพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้น ”
กรมปศุสัตว์ได้เดินหน้าเรื่องปศุสัตว์คาร์บอนต่ำชัดเจน
ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วน / ภาพประกอบจากงาน สัมมนาปศุสัตว์ปลอดสารคาร์บอนต่ำ
วันที่ 19 มิ.ย 67
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับ 377 (ก.ย 67)