เนื้อ นม ไข่… 3 พยางค์ ที่เป็นอาหารหลักของมนุษย์ เพราะมี “โปรตีน” ให้ร่างกายได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ “น้ำนมวัว” ที่มีธาตุอาหารสูง ได้รับการบริโภคจากชาวโลกมานาน
เมื่อปริมาณความต้องการมากขึ้น จึงต้องพัฒนา “พันธุกรรม” และ “รูปแบบการเลี้ยง” ให้ได้น้ำนม/ตัว/ปีที่มากขึ้น การวิวัฒน์ของนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปน้ำนมดิบเป็นอาหารเป็นไปอย่างรวดเร็ว กระจายไปทั่วโลก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่มีบทบาทสำคัญในหลายประเทศ รวมทั้ง “ประเทศไทย”… เมืองร้อนชื้น ที่ท้าทายการเลี้ยงวัวนมเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องนี้ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล (ร.9) ทรงเห็นความสำคัญของการเลี้ยงวัวนม จึงทรงสนับสนุนด้วยการทดลองเลี้ยงวัวนมพันธุ์แท้ในสวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร แล้วแปรรูปเป็น นมผง นม UHT และ เนยแข็ง เป็นต้น ให้เป็นต้นแบบของธุรกิจวัวนมแบบพอเพียง เมื่อปี 2504 ซึ่งเป็นปีเดียวกับ รัฐบาลไทย และ รัฐบาลเดนมาร์ก จับมือกันส่งเสริมการเลี้ยงวัวนมที่มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
จากนั้นรัฐบาล กรมปศุสัตว์ และ ภาคเอกชน ก็เดินหน้าส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ทั้งในรูป “สหกรณ์” และ “กลุ่ม” เป็นต้น โดยเฉพาะที่ ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เลี้ยงกันจริงจัง จนน้ำนมดิบล้นตลาด ขาดทุน จนกรมปศุสัตว์นำแกนนำเข้าเฝ้าในหลวง จนได้รับพระราชทานเงินทุนตั้งโรงงานนมผงอัดเม็ด และได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนกระทั่งวันนี้
การผลิตน้ำนมดิบ
6 ทศวรรษเศษ กิจการโคนมในไทย วันนี้เป็น “อุตสาหกรรมนม” เต็มรูปแบบ เพราะได้พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งไทยและเทศ เป็นผู้เล่น ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อยล้มหายตายจากมากขึ้นทุกปี ตรงกันข้ามบริษัทที่ทำธุรกิจวัวนมครบวงจร มีอำนาจในการผลักดัน ผลิตภัณฑ์นม สู่ตลาดมากขึ้น ไม่หวั่นประเทศคู่แข่งที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดในไทย
ยกตัวอย่าง บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ตั้งบริษัทเมื่อปี 2532 มีคณะกรรมการ ได้แก่ คุณพงษ์เทพ เจียรวนนท์ คุณประเสริฐ พุ่งกุมาร และ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ เป็นต้น ปี 2564 มีรายได้ 9,500 ล้านบาท และ บริษัท คันทรีเฟรชแดรี่ จำกัด ในเครือแหลมทองสหการ ก่อตั้งปี 2531 มี ตระกูลคณาธนะวนิชย์ เป็นคณะกรรมการบริษัท ปี 2564 มีรายได้ 1,700 ล้านบาท
ทั้ง 2 บริษัท ทำธุรกิจเกษตรครบวงจรมาหลายทศวรรษ มี “กลไก” ธุรกิจที่แหลมคม ปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา เช่น ซีพี-เมจิ และได้จับมือกับ ประทีปเดลิฟาร์ม จัดซื้อ “น้ำนมดิบ” ปีละหลายตัน เพราะเห็นว่า คุณประทีป แก้วนันท์ (เฮียกถิน) รักการเลี้ยงวัวนมเป็นชีวิต ได้บุกเบิกและพัฒนาการเลี้ยงวัวนมย่านหนองสาหร่าย ต.วังไทร อ.ปากช่อง มานาน มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงวัวนมลูกผสมเลือดต่ำจนถึงเลือด 96 และยังถ่ายทอดองค์ความรู้ไปให้ชาวโคนมในพื้นที่ แล้วรับซื้อน้ำนมดิบตามเกรด กระทั่งวันนี้มีสมาชิกกว่า 200 คน
ซึ่งเรื่องนี้ คุณอำนาจ ปัญญาปรุ ผจก.ฟาร์ม ผู้เชี่ยวชาญการบริหารฝูงและฟาร์มวัวนม เปิดเผยว่า เวลานี้ น้ำนมดิบ ขาดตลาด วันละ 700-800 ตัน ต้องซื้อนมลิตรละ 22-25 บาท ปี 65 หน้าหนาว นมก็ขาด ปีนี้หน้าร้อน นมก็ขาด เหตุเพราะเกษตรกรเลิกเลี้ยงกันมากขึ้น “ทำให้ฟาร์มใหม่ๆ จะเกิด ฟาร์มเก่าๆ ก็จะขยาย อย่างของผมเป้าหมาย 400-500 แม่รีด แต่ได้แค่ 200 กว่าแม่ และการเพิ่มแม่รีดก็ไม่ง่าย เพราะวัวในฟาร์มไม่มีมาก และข้างนอกก็เลิกเลี้ยง วัวสาวทดแทนที่จะเข้าฝูงจึงยาก เป็นอะไรที่โยงกันไปหมด แต่เราต้องเดินไปให้ถึง เพราะเราก่อสร้างไปแล้ว”
การบริหารจัดการฟาร์มวัวนม
คุณอำนาจ ยอมรับว่าจะต้องจัดหาแม่รีดให้ครบ 500 แม่ แน่นอนวิธีการหนึ่ง คือ ซื้อ วัวสาว จากเกษตรกรทั้งฝูง ซึ่งตอนนี้วัวตัวเมียหลายตัวไม่ท้อง ก็ต้องเลี้ยงในฟาร์ม เพื่อช่วยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของศูนย์รับน้ำนม ซึ่งจำเป็นต้องขายยกฝูง โดยเฉพาะค่าอาหารวัว ทั้ง อาหารสด อาหารแห้ง อาหารหมัก และ อาหารเม็ด วัวกินอาหารหมักวันละ 9 ตัน หญ้าแห้งวันละ 2 ตัน ต้องใช้เม็ดเงินเยอะ ครั้นจะเพิ่มอาหารสด เช่น หญ้าเนเปียร์ ก็ไม่ง่าย เพราะใช้พื้นที่มากในการปลูก และใช้น้ำมาก และเมื่อให้วัวนมกิน น้ำนมจะลด
นอกจากนี้พืชสดถูกกำหนดด้วยเงื่อนเวลาในการตัด เช่น ตัดเมื่ออายุ 45 วัน ดีที่สุด และวัวกินวันเดียวหมดมั๊ย หรือถ้า 3 เดือน ตัด คุณภาพหญ้าก็เปลี่ยนไป หรือถ้าฝนตกหนักก็ตัดไม่ได้ ตรงกันข้ามถ้าปลูกหญ้าให้วัวเนื้อกินจะทำได้ ดังนั้นทางฟาร์มจึงต้องทำ “ข้าวโพดหมัก” 8 บ่อๆ ละ 350 ตัน วัวนม 800 กว่าตัว กินบ่อละเดือนๆ ละ 7 แสนกว่าบาท
เมื่อถามถึง “ใบกระถิน” ก็ได้รับคำตอบว่า “ดีมาก ความจริงผมเคยอยู่กองอาหารสัตว์มาก่อน พืชตระกูลถั่วดีที่สุด แต่คนเอามาใช้ไม่เป็น ปากช่องเป็นเมืองกระถิน และพันธุ์แคระใบเยอะ ช็อปได้ทั้งหมด กระถินทั่วไปเอามาไว้ลานปูน เคาะเอาแต่ใบใส่ถุง ผสมอาหาร TMR ได้ดี ต้นเอาไปทำฟืน” คุณอำนาจ เปิดเผยถึงพืชกระถิน แต่ด้วยความที่ปัจจุบันคนเลี้ยงวัวนมทุกคนไม่ได้เก่งเรื่องหญ้าอาหารสัตว์ จึงต้องซื้อจากคนที่ทำอาชีพด้านนี้ ข้อดี คือ กระจายรายได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ด้วยปรัชญา “ให้วัวเลี้ยงคน ไม่ใช่คนเลี้ยงวัว” ที่คุณอำนาจยึดถือปฏิบัติ จึงต้องบริหารวัวนมทั้งหมด ให้ผลิตน้ำนมดิบ/ตัวที่สูง คุ้มค่าแก่การลงทุน ซึ่งเป็นงานยากที่สุด เป็นงานปราบเซียน
ดังนั้นพื้นที่ฟาร์ม 8 ไร่ และที่กำลังจะขยายอีก 22 ไร่ จะต้องทำให้พื้นที่ทุกส่วนทำเงินด้วยธุรกิจวัวนม โดยจะต้องบริหารรายจ่าย/เดือน ให้น้อยกว่ารายได้
การพัฒนาสายพันธุ์วัวนม
เรื่องแรก “พันธุ์วัว” คุณอำนาจยอมรับว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์วัวนมมากกว่า 60 ปี จนได้พันธุ์ลูกผสมเลือด 96% ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมเมืองไทย แต่ถ้าเลี้ยงแม่เลือด 100% ให้นมได้ดี แต่วัวป่วย และตายง่าย ไม่กินอาหาร น้ำลายยืด และหอบ เป็นต้น ต่างจากวัวที่ถูกพัฒนาด้วยการผสมพันธุ์จนได้เลือด 75% ขึ้นไป ที่ทนแล้ง ทนโรค เพราะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ให้น้ำนมคุ้มค่า จึงไม่ต้องนำเข้าพันธุ์แท้จากเมืองนอก สั่งน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ตัวดังๆ เข้ามาผสมเทียมก็เพียงพอ
ซึ่งอำนาจมุ่งพัฒนาพันธุกรรม ด้วยการลงทุนติดตั้งโปรแกรมอัจฉริยะที่ตัววัวทุกตัว ควบคุมและเก็บรวบรวมพันธุ์ประวัติต่างๆ เช่น การกินอาหาร และการให้น้ำนม/วัน เป็นต้น โดยเช็คประวัติแต่ละตัวทางโทรศัพท์มือถือ พอ 305 วัน ก็สรุปว่าตัวไหนให้นม 5,000 กก.ขึ้นไป หรือเฉลี่ยวันละ 16 กก. ตัวนั้นก็จะถูกนำไปผสมเทียมกับพ่อตัวดัง ลูกที่ได้เลือดจะสูงขึ้น ซึ่งเวลานี้วงการวัวนมที่เกษตรกรเลี้ยง วันนี้ถ้าเลือด 75% ต้องเลิกเลี้ยง ไม่คุ้ม เลือด 87% ก็เหลือน้อยลง แต่ถ้า 93-96% กำลังดี
“ถ้าเกษตรกรเลี้ยง 96% จะได้น้ำนม และง่ายต่อการจัดการฟาร์ม อย่าไปเอาวัวที่ให้น้ำนมมาก เพราะไม่ได้กำไรเสมอไป เพราะการเลี้ยงให้ได้กำไรมันอยู่ที่การบริหารต้นทุน และผลผลิตที่จะได้” คุณอำนาจ ฟันธง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า 60 กว่าปี ประเทศไทยได้น้ำนมเฉลี่ยไม่ถึง 14%/ตัว/วัน ดังนั้นเรื่องสายพันธุ์ไม่ใช่ปัญหา แต่การจัดการเป็นเรื่องใหญ่
การบำรุงดูแลวัวนม
2 เรื่องการบริหารต้นทุน… เป็นหัวใจของการลงทุนฟาร์มโคนม โดยเฉพาะคนที่กู้เงินมาลงทุน ต้องจัดการเรื่องต้นทุนและผลผลิต ให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ ซึ่ง ประทีปฟาร์มฯ วันนี้สอบผ่าน เพราะบริหารต้นทุนทุกตัวไม่ให้สูงเกินกว่ารายได้/ปี เช่น วางโปรแกรมไว้ว่าเอาน้ำนมเฉลี่ย 15 ลิตร/ตัว ขายลิตรละ 20 บาท ก็ต้องบีบค่าอาหารข้น/อาหารหยาบ ไม่เกิน 150 บาท และต้องดูด้วยว่าอาหารที่ให้วัวกินหมดมั๊ย ถ้าไม่หมดเพราะอะไร หญ้าเน่าบูด ฟางเหนียว กากถั่วขึ้นรา หรือเปล่า วัวจึงไม่กิน และจะเอา “ฤดูกาล” ว่า อากาศแปรปรวน หนาว ร้อน ฝน ส่งผลให้วัวไม่กินอาหาร เครียด และเป็นโรค ไม่ได้ จะต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผน พูดง่ายๆ ว่าไม่มี “ข้ออ้าง” นั่นเอง
โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ทางฟาร์มได้ให้ความสำคัญ เช่น ลงทุนบ่อหมัก 8 บ่อ เพื่อผลิตอาหารหมักจากข้าวโพด เป็นต้น โดยการส่งเสริมชาวไร่ให้ปลูกข้าวโพดส่งทางฟาร์ม แล้วเอา น้ำหมัก ไปใส่แปลงข้าวโพดฟรี เพราะแต่ละปีใช้กว่า 300 ตัน ต้องหาซื้อจากที่อื่นด้วย แม้ราคาข้าวโพดจะขึ้น จาก กก.ละ 1.60 บาท เป็น 2.30 บาท ก็ต้องซื้อ เพราะจำเป็น แม้แต่ มันเส้น กก.ละ 9 บาทกว่า ก็ต้องใช้ เพราะเป็นแหล่งพลังงานของวัวนม
“ผมเลี้ยงวัว พยายามเน้นอาหารหลักก่อน ถ้าไม่ไหวค่อยนำอาหารเสริมมาใช้ ทุกวันนี้อาหารทั้งหมดแพง ตัดสินใจยาก หากเอาอาหารเสริมเข้ามา ต้องมองว่าวัวมีปัญหาอะไร” คุณอำนาจ เปิดประเด็นเรื่องการใช้อาหารหลัก และ อาหารเสริม เช่น ถ้าเจอปัญหาระบบการสืบพันธุ์ อาจต้องใช้อาหารเสริมมาช่วย หรือถ้าวัวกินแต่อาหารหยาบหมักแล้วเจอโรคกีบ อาจต้องให้กิน ไบโอติน 10 กรัม/ตัว เป็นต้น
วันนี้ทางฟาร์มได้ใช้ แร่ธาตุผง ให้วัวเลียราง แต่ แร่ธาตุก้อน วัวสาวชอบ 3 วัน กินหมด เพราะมันกินอาหารข้นน้อย และแร่ธาตุก้อนส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นเกลือ ขณะนี้ (10 เม.ย. 66) วัวนม 800 กว่าตัว รีดนมได้ 260 ตัว วัวดรายท้องเกือบ 200 ตัว มีวัวที่กินอาหาร แต่ไม่ทำรายได้ให้ฟาร์ม 500 กว่าตัว นี่คืองานท้าทายของคุณอำนาจ ผจก.ฟาร์ม
ดังนั้น วัวสาว บางตัว ได้รับจ้างอุ้มท้อง คือ รับฝาก ตัวอ่อน วัวเนื้อพันธุ์ดี ของคุณหมอพี เจ้าของสันติฟาร์ม สีคิ้ว พอติดท้องได้ 5 เดือน ขายให้หมอพี ตัวละ 70,000 บาท ปีละไม่ต่ำกว่า 5 ตัว ดังนั้นวัวสาวที่ผสม 2 ครั้ง แล้วไม่ติด จึงต้องนำมาเลี้ยงในฝูง ให้เป็นภาระของฟาร์ม
จุดเด่น-จุดด้อยของหัวรีดอัตโนมัติ
แม้แต่เรื่อง คอก และ เครื่องรีด ก็ต้องหาทางให้ใช้นานที่สุด เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะการรีดนม ถ้าใช้คนและเครื่องรีด ต้นทุนสูง ต้องลงทุนติดตั้งเครื่องรีดอัตโนมัติ ยี่ห้อ SCR ISRAEL นำเข้าโดย บริษัท เกิร์ด แดรี่ โซลูชั่น จำกัด ที่มี คุณอมรศักดิ์ เลิศศักดิ์วิมาน เป็นเจ้าของ จำนวน 24 หัวรีด เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ใช้งบลงทุน 4 ล้านบาท เริ่มรีดนมเมื่อ เม.ย. 62 เมื่อรีดเสร็จหัวรีดจะถอดโดยอัตโนมัติ ควบคุมการรีดด้วยโปรแกรมอัจฉริยะ และหากเครื่องเสียทางบริษัทได้บริการอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าช้าทางฟาร์มจะเสียหายมาก “มันควบคุมด้วยหัวปั๊ม ตัวรีดแค่เสียบปลั๊กก็ใช้ได้ ตัวนี้ดี พอนมหมด ถอดหัวรีดเอง ต่างจากรีดมือ คนต้องยืนเฝ้า วัวเยอะ นมน้อย บีบนมนาน นมก็ช้ำ “คุณอำนาจ ยืนยันถึงข้อดี
แต่ก็มองเห็นจุดอ่อนของเครื่องอยู่ที่ เต้านม วัวนมของไทยเล็กกว่าเต้านม วัวนมเมืองนอก สวมใส่ไม่ง่าย เวลาตั้งอัตราการไหลของน้ำนม เต้าเล็ก เต้าใหญ่ ต่างกัน ต้องใช้ เทคนิค การตั้งค่าอัตราไหล ถ้าผิดจะเกิดการอักเสบของเต้านม เป็นต้น ของนอกที่ฝรั่งทำ แต่ไทยใช้ ต้องใช้ให้เป็น ไม่งั้นจะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ “วัวบ้านเราเกือบ 100% ไม่เคยพัฒนา เต้านมฝรั่งได้พัฒนาเต้าให้สมดุลกับหัวรีด ที่ฟาร์มก็มีเต้านมไม่เท่ากัน ต้องหมั่นสังเกตหน้างาน” คุณอำนาจ ให้ความเห็นถึงจุดเด่น-จุดด้อยของหัวรีดอัตโนมัติ
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงวัวนม
และได้พูดถึง คอกกั้นวัว ว่า การใช้เหล็ก 100% ไม่เกิน 5 ปี ขาด เพราะความเป็นกรดของ ขี้ เยี่ยว วัว จึงต้องสวมท่อพีวีซีป้องกัน ไม่งั้น 4 ปี ขาดทั้งหมด ก็เป็นการประหยัด และ ซองนอน ก็ใช้เหล็กชุบกัลวาไนซ์นอกใน จะมีอายุนานขึ้น แม้โรงรีดก็ใช้เหมือนกัน ในการทำธุรกิจฟาร์มวัวนม และศูนย์รับน้ำนมดิบ “ไฟฟ้า” ก็เป็นต้นทุนชนิดหนึ่ง ที่ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะ “แท้งก์เย็น” เพื่อเก็บน้ำนมดิบ ต้องใช้ไฟเยอะ เพราะต้องรับน้ำนมดิบจากเกษตรกร 24 ชั่วโมง
ทางฟาร์มได้เข้าร่วมโครงการกับ กระทรวงพลังงาน ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปรากฏว่า ประหยัดค่าไฟไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท/เดือน เป็นงบให้เปล่า โดยติดตั้งฟรีทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าการบริหารต้นทุนเพื่อลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ ต้องทำทุกทาง จึงสรุปได้ว่าการบริหารฟาร์มวัวนมให้มีกำไร รวมทั้งทำให้ชาววัวนม 200 กว่าคน อยู่รอด ต้องใช้ฝีมือล้วนๆ
“ฟาร์มวัวนมหาคนรู้จริงยาก พอทำให้เขาไม่ได้ ใจไม่สู้ งานเทคนิคสัตวบาลทำเป็น แต่บริหารฝูงไม่ได้ นมไม่ได้ วัวจะคลอด จะดราย วันไหน วางแผนไม่ได้ ทำให้ธุรกิจฝูงไม่นิ่ง จะเพิ่มฝูงก็ดรายน้อย เอาวัวคลอดเข้ามาจะลดฝูง ก็ดรายมาก จะรักษาน้ำนมกี่ตัน/วัน ตัวไหนควรคัดเก็บไว้ มองไม่ออก แต่ผมพูดแทนเจ้าของการทำฟาร์มเชิงพาณิชย์ ต้องมืออาชีพ วัวทุกตัวเป็นค่าใช้จ่าย พนักงานเดินไปมาเป็นค่าใช้จ่าย รถเสียสึกหรอ คอกเข้าปีที่ 5 เพิ่มพังต้องซ่อม” คุณอำนาจ เปิดเผยถึงสารพันปัญหาฟาร์มวัวนมเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องมีประสบการณ์เก๋าในวงการ จึงบริหารงานได้ และ คุณประทีป แก้วนันท์ เจ้าของฟาร์ม พร้อมลูกชาย 3 คน ก็มาช่วยในฟาร์มและศูนย์รับน้ำนม ดังนั้นการบริหารวัวนมให้ได้ น้ำนมดิบ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ทำให้ ซีพี-เมจิ และ เครือแหลมทอง มั่นใจจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นคู่ค้าถาวร
จึงไม่แปลกใจที่วันนี้คุณอำนาจต้องเป็นที่ปรึกษาฟาร์มวัวนมให้ อสค. เพื่อยกระดับเป็น ฟาร์มโคนมไฮเทค ต้นแบบของประเทศได้สำเร็จ
คุณอำนาจ ปัญญาปรุ โทร.081-790-6608