ป.พัฒนะฟาร์ม กว่า 3 ทศวรรษ กับธุรกิจ สุกร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในปัจจุบันมีการระบาดของโรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ในคน หรือ ในสัตว์ ในแต่ละธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หาวิธีรับมือ แก้ไขปัญหา เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพามารู้จักกับฟาร์ม สุกร ที่มีการดูแลจัดการ ตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์ ถึงสุกรขุน เมื่อเจอวิกฤตของโรคระบาด ทำให้ทางฟาร์มต้องมีการปรับตัว หาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อให้ธุรกิจฟาร์มสุกรสามารถดำเนินต่อได้จนถึงปัจจุบัน

1.คุณวรวรรณ กิตติศักดิ์ชนะ หรือ พี่ปุ้ย
1.คุณวรวรรณ กิตติศักดิ์ชนะ หรือ พี่ปุ้ย

การเลี้ยงหมู

.พัฒนะ ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีการดำเนินธุรกิจสุกรมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันบริหารจัดการโดยทายาทรุ่นที่สอง คุณวรวรรณ กิตติศักดิ์ชนะ หรือ พี่ปุ้ย เป็นฟาร์มสุกรที่มีการดูแลจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ และกลางน้ำ เป็นฟาร์มมาตรฐาน GMP GFM และได้รับการรับรองว่าเป็นฟาร์มที่ปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดง

“ฟาร์มเราทำมาแล้ว 30 กว่าปี ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ปุ้ยเองเริ่มเข้ามาดูแลต่อแบบจริงจังตอนปี 57 เดิมทางฟาร์มเริ่มเลี้ยงตั้งแต่หมูพ่อแม่พันธุ์ จนถึงหมูขุน ตั้งแต่รุ่นคุณพ่ออยู่แล้ว ทำให้ปัจจุบันทางฟาร์มมีวงจรการผลิตที่ครบ ตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์จนถึงลูกหมูไปถึงระยะขุน” พี่ปุ้ยกล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของฟาร์ม

เดิมทางฟาร์มมีสุกรแม่พันธุ์ 1,000 ตัว แต่เนื่องจากสถานการณ์ของโรคระบาด ทั้งในคน และในสัตว์ ทำให้ทางฟาร์มต้องลดกำลังการผลิตลง ปัจจุบันทางฟาร์มมีสุกรแม่พันธุ์ประมาณ 600 ตัว โดยทางฟาร์มได้ทยอยปลดสุกรแม่พันธุ์ในช่วงที่ราคายังดีอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาในภายหลัง

“ในช่วงที่เริ่มมีข่าวของโรคระบาดเข้ามา เราก็ได้วางแผนทยอยปลดแม่พันธุ์ ในตอนที่ราคาแม่พันธุ์ยังดีอยู่ เราจะคัดเลือกจากแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตไม่ดี ท้องเริ่มแก่แล้ว ปลดออกไปก่อน ตัวไหนยังให้ผลผลิตดีอยู่ หรืออยู่ในช่วงท้อง 2- 3 จะยังเก็บไว้ก่อน” พี่ปุ้ยให้ความเห็นเพิ่มเติม

นอกจากปรับตัวเรื่องการปลดแม่พันธุ์แล้ว ในส่วนของอาหารนั้น พี่ปุ้ยเผยว่า เมื่อก่อนเคยซื้อวัตถุดิบแล้วนำมาผสมเอง แต่เมื่อมีปัญหาของเรื่องโรคระบาดเข้ามา จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นอาหารสำเร็จรูป เพื่อลดจำนวนรถที่จะเข้าออกฟาร์ม และป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะมากับรถขนวัตถุดิบต่างๆ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะผสมอาหารใช้เอง แต่เมื่อมีโรคระบาดเกิดเราก็ต้องลดการติดต่อกับรถส่งวัตถุดิบที่จะเข้ามาในฟาร์ม ถ้าเราผสมอาหารเองอย่างน้อยก็ต้องมีวัตถุดิบไม่ต่ำกว่า 10 อย่าง รถขนวัตถุดิบก็จะเข้ามาฟาร์มเยอะมาก แต่พอเราเปลี่ยนมาใช้อาหารสำเร็จรูปก็จะมีเข้ามาอาทิตย์ละ 1-2 คัน” พี่ปุ้ยเผยเหตุผลเพิ่มเติมที่เปลี่ยนมาใช้อาหารสำเร็จรูป

2.เล้าคลอด
2.เล้าคลอด

ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มหมู

เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคที่เจอสำหรับการทำธุรกิจนี้ พี่ปุ้ยได้เผยว่า “จริงๆ แล้วในเรื่องของการเลี้ยงหมูมันเจอปัญหามาตลอด อยู่ที่เราจะป้องกันหรือแก้ไขมันยังไง มีปัญหาในเรื่องของการตลาดราคาหมูที่ผันผวน หรือจะเป็นเรื่องของโรคระบาดที่มีมาเรื่อยๆ เราก็ต้องคอยทำวัคซีนป้องกัน ดูแลจัดระบบในฟาร์มให้ดี เราต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์นั้นๆ หาทางแก้ และเรียนรู้อยู่ตลอด”

สำหรับสุกรขุนที่ฟาร์มจะเป็นสุกรขุนสามสายพันธุ์ และมีสุกรสองสองบ้างเล็กน้อยไว้สำหรับผสมกับน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีๆ จากข้างนอก เพื่อนำมาเป็นแม่พันธุ์ทดแทนในฟาร์ม ส่วนสุกรขุนที่ได้จะนำขายส่งตลาดสุกรขุนทั่วไป

สุกรขุนที่ฟาร์มจะใช้ระยะเวลาขุน 6 เดือน นับตั้งแต่คลอด จะได้น้ำหนักจับขายอยู่ที่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ทางฟาร์มจะมีสุกรขุนขายออกประมาณ 500-600 ตัว/เดือน

น้ำเชื้อเข้มข้น ผสมติดดี ป.พัฒนะฟาร์ม

ส่วนการขยายพันธุ์จะใช้วิธีการผสมเทียม โดยที่ฟาร์มจะมีสุกรพ่อพันธุ์ แต่หากต้องการพัฒนาสายพันธุ์ ทางฟาร์มจะซื้อน้ำเชื้อพ่อพันธุ์สายพันธุ์ดีๆ จากข้างนอกเข้ามาใช้ และนอกจากนี้ทางฟาร์มยังมีจำหน่ายน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ของฟาร์มแก่เกษตรกรที่สนใจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“พ่อพันธุ์ดีๆ ที่ฟาร์มเราค่อนข้างเยอะ เราจึงต้องนำมาเวียนรีดน้ำเชื้ออยู่เป็นประจำ เพราะหากปล่อยไว้นานอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเชื้อ ทำให้น้ำเชื้อของฟาร์มเราค่อนข้างเข้มข้น เพราะเราจะใส่สารละลายเจือจางน้อยกว่าปกติ จะทำให้เกษตรกรที่ซื้อน้ำเชื้อจากฟาร์มเรามีอัตราการผสมติดที่ดี” พี่ปุ้ยให้ความเห็นถึงน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ของฟาร์ม

3.โรงเริอนหมู
3.โรงเริอนหมู

การบริหารจัดการโรงเรือนหมู

สำหรับโรงเรือนที่ฟาร์มจะแบ่งออกสำหรับสุกรระยะต่างๆ เพื่อให้การดูแลจัดการสะดวก และป้องโรค เพราะสุกรในแต่ละระยะมีภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน หากนำมาเลี้ยงรวมในโรงเรือนเดียวกันจะทำให้มีการแกว่งไปมาของโรค อย่างสุกรสาวทดแทนก่อนจะนำมาเป็นแม่พันธุ์ก็ต้องมีการปรับตัวก่อน

“หมูเด็ก หมูสาว หมูแก่ ภูมิคุ้มกันโรคจะไม่เหมือนกัน ก็เหมือนเด็กกับผู้ใหญ่ เราต้องมีการดูแลจัดการให้ ในหมูสาวก่อนจะมาเป็นแม่พันธุ์ก็ต้องมีการเตรียมหมูสาวให้ดี ทำวัคซีน มีการคลุกหมูให้ดี ควรนำแม่หมูลำดับท้องสูง หรือแม่หมูแก่ ที่มีสุขภาพดี เข้ามาคลุกกับสุกรสาว เพื่อหวังผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค พี่ปุ้ยกล่าวเพิ่มเติม

เนื่องจากโรงเรือนที่ฟาร์มเป็นระบบเปิด ทำให้สภาพอากาศมีผลค่อนข้างเยอะกับการดูแลจัดการ ทางฟาร์มจึงมีการติดตั้งพัดลมเพื่อระบายอากาศ และติดตั้งสปริงเกลอร์บนหลังคาเพื่อช่วยระบายความร้อน และจะใส่ใจทุกขั้นตอนการดูแลฟาร์ม

เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญในการเลี้ยงสุกรนั้น พี่ปุ้ยได้เผยว่า “หากให้พูดถึงหัวใจสำคัญของการเลี้ยงหมูในปัจจุบันนี้ ปุ้ยคิดว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เพราะต่อให้เรามีสายพันธุ์ที่ดี หรืออาหารที่ดี แต่ถ้าเราบริหารจัดการไม่ดี มันก็จะมีปัญหาต่างๆ ตามมา”

4.หมูอ้วนสมบูรณ์ ได้น้ำหนัก
4.หมูอ้วนสมบูรณ์ ได้น้ำหนัก

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงหมู

สุดท้ายพี่ปุ้ยได้ฝากทิ้งท้ายถึงการทำธุรกิจว่า “ถ้าให้พูดถึงความยากง่ายก็มีอยู่ในทุกอาชีพ ไม่ว่าอาชีพไหนก็ต้องมีการศึกษาเรียนรู้ก่อนที่จะลงมือทำ ไม่มีอาชีพไหนง่ายหรือยาก ทุกอาชีพย่อมเจอปัญหาและอุปสรรค อยู่ที่เราจะรับมือและแก้ไขมันยังไง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับอาชีพเลี้ยงหมูนั้น ถ้าหากสนใจก็ลองดูได้ แต่ลองจากหมูขุนก่อนก็ได้ เพราะมีการดูแลจัดการที่ง่าย หากตัดปัจจัยเรื่องโรคออกไป การดูแลจัดการก็ไม่มีอะไรมาก และระยะเวลาในการคืนทุนก็น้อย แต่หากเป็นแม่พันธุ์ต้องเป็นคนที่มีเวลา ต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ การจัดการจะค่อนข้างเยอะกว่าหมูขุน วงรอบการผลิตแม่พันธุ์กว่าจะให้ผลผลิตค่อนข้างนาน ทำให้ระยะเวลาคืนทุนนานกว่าหมูขุน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณวรวรรณ กิตติศักดิ์ชนะ หรือ พี่ปุ้ย ป.พัฒนะฟาร์ม 57/9 หมู่ 10 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 70120

หากผู้อ่านท่านใดสนใจน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่  Facebook : ป.พัฒนะฟาร์ม หรือ โทร.062-249-4163

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 339