ผู้เลี้ยงไก่เนื้ออิสระรายย่อย จะตายเพราะ “ลูกไก่” แพง??

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในสภาวะที่ผู้เลี้ยงไก่เนื้อประสบปัญหาในขณะนี้ คือ การแบกรับต้นทุนการผลิต ทั้งค่าอาหารสัตว์ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าแกลบ ที่สำคัญคือ “ค่าลูกไก่” ที่มีราคาแพงขึ้นมากๆ ในทางกลับกันผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงมีราคาไม่สมดุลกับต้นทุน

ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยที่ต้องซื้อลูกไก่จากบริษัทผู้เล่นหลักมีราคาสูง บางครั้งต้องรอคิวการฟักเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงรายย่อยต้องหาทางออกที่ดีที่สุดในการลดค่าใช้จ่ายในฟาร์มของตนเองมาโดยตลอด เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าแกลบ และค่ายาปฏิชีวนะ เป็นต้น เพื่อให้ฟาร์มอยู่ต่อไปได้

แต่วันนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยที่ไม่เป็น “ลูกเล้า” ยักษ์ใหญ่ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศหลาย 1,000 ฟาร์ม เดือดร้อนหนัก เพราะราคา “ลูกไก่” แพงมาก ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อก็สูงขึ้นตลอด ผู้เลี้ยงไก่เนื้ออิสระไม่กี่รายที่ขยายธุรกิจครบวงจร เช่น มี โรงเชือด และ โรงอาหารสัตว์ เอง นอกนั้นมีรายได้ทางเดียว จึงอยู่ลำบาก

1.คุณณัฐวุฒิ เรืองนิพนธ์กิจ (คนที่ 5 จากซ้าย)
1.คุณณัฐวุฒิ เรืองนิพนธ์กิจ (คนที่ 5 จากซ้าย)

สถานการณ์ของผู้เลี้ยงไก่เนื้อ

วันที่ 24 ธันวาคม 2565 ชมรมผู้เลี้ยงไก่เนื้ออิสระ นำโดย คุณณัฐวุฒิ เรืองนิพนธ์กิจ ประธาน เป็นต้น ได้ประชุมกันเพื่อหาแนวทาง เช่น เจรจากับ สมาคมผู้ผลิตไก่พันธุ์ ให้ลดราคาลูกไก่ แต่ไม่สำเร็จ

คุณณัฐวุฒิ ประธานชมรมฯ กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของผู้เลี้ยงรายย่อยว่า ต้นทุนการผลิตการเลี้ยงไก่เนื้อช่วงนี้ราคาขายต่ำกว่าทุน โดยเฉพาะต้นทุนค่าอาหาร ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบันนี้ราคา 18 บาท/กิโลกรัม และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น ค่าไฟ ค่าคนงาน ค่าแกลบ ฯลฯ

ในขณะเดียวกันการจัดซื้อ “ลูกไก่” เป็นต้นทุนที่ผู้เลี้ยงรายย่อยไม่สามารถควบคุมได้ และจำเป็นต้องสั่งซื้อลูกไก่จากบริษัทผู้ผลิตที่มีไม่กี่บริษัท ช่วงเวลาที่ผ่านมาถ้าช่วงไหนราคาไก่เนื้อตกต่ำ ราคาลูกไก่จะปรับลดราคาตาม แต่ปัจจุบันราคาลูกไก่ขยับขึ้นจาก 13 บาท เป็น 19-20 บาท/ตัว ไม่ปรับลดราคาลงตามไก่ใหญ่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะต้นทุนการเลี้ยง 43 บาท/กก. แต่ตลาดปลายน้ำรับซื้ออยู่ที่ 40 บาท/กก. เท่านั้น ทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุน ตั้งแต่นำลูกไก่เข้าฟาร์ม และเลี้ยงให้ได้น้ำหนัก 2.5 กก./ตัว ซึ่งทำให้ขาดทุน 3 บาท/กก. หรือขาดทุน 7-8 บาท/ตัว

จึงมีการนัดหมายรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องเรื่องต้นทุนราคาลูกไก่ให้ปรับลงบ้าง เพื่อช่วยคนเลี้ยงรายย่อย ต้นทุนอาหารสัตว์ก็ปรับสูงขึ้น 70-80% ของการเลี้ยง ถ้าไม่เคลื่อนไหวผู้เลี้ยงรายย่อยจะอยู่ไม่ได้ โดยเรียกร้องให้ผู้ผลิตลูกไก่ขายราคาไม่เกิน 15 บาท/ตัว

ด้าน คุณหมอสมเกียรติ อภิญญพานิชย์ ได้กล่าวเสริมว่า “ผมมองว่าผู้ผลิตลูกไก่ กำไร 40-50% ต้นทุน 12-13 บาท/ตัว กำไรยังสูง ทางกลุ่มได้ขอร้องไปแล้วแต่ไม่คืบหน้า”

2.คุณวิฑูรย์ สุวรรณวานิชกุล
2.คุณวิฑูรย์ สุวรรณวานิชกุล

การเลี้ยงไก่เนื้อ

ด้าน คุณวิฑูรย์ สุวรรณวานิชกุล กล่าวว่า ตนเป็นผู้เลี้ยงรายย่อยรายหนึ่งที่อยู่ในวงการไก่เนื้อมา 50 ปี มีโรงเชือดเป็นของตนเอง ในอดีตมีผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายย่อยค่อนข้างเยอะ ตอนนี้เหลือไม่กี่คน วงการไก่เนื้อเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ แต่เดิมเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อแล้วก็แข่งขันกันเองภายในหมู่เกษตรกร ซึ่งมันไม่ค่อยมีความแตกต่างระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองเท่าไหร่

แต่พอบริษัทใหญ่เข้ามา กลายเป็นการแข่งขันกัน ระหว่างเกษตรกรรายย่อย รายกลาง กับบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งครบวงจร ส่งเสริมการเลี้ยงครบวงจร ผู้ผลิตรายใหญ่ผลิตลูกไก่เนื้อเอง มีอาหารสัตว์เอง มียาเอง มีวัคซีนเอง และมีการรับซื้อเข้าโรงเชือดเอง ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วๆ ไป เลี้ยงไก่เนื้ออย่างเดียว หรือมีการผสมอาหารใช้เองบ้างเพื่อลดต้นทุน แต่ก็สู้ต้นทุนของบริษัทที่ทำครบวงจร ย่อมถูกกว่าผู้เลี้ยงรายย่อย 5-7 บาท/กก. ไม่ไหว

“ผมทำได้แค่พยายามลดต้นทุนครับ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด เกษตรกรแต่เดิมอาจจะเลี้ยงไก่เนื้อ ผสมอาหารเอง แล้วขายไก่ให้โรงเชือดแล้วอยู่ได้  แต่ถ้าไม่มีพันธุ์สัตว์เอง รายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย มันก็ลำบากขึ้น ส่วนผมเองก็ต้องปรับตัวจากเลี้ยงไก่เนื้อป้อนโรงเชือด ก็ต้องขยับมาลงทุนทำโรงเชือดเอง ขายเอง แต่ยังไม่สามารถผลิตลูกไก่เองได้ ไม่มีโอกาสโต มีแต่จะตายไปจากวงการ ต้องผลิตไก่เองเท่านั้น หรือไม่ก็ผลิตลูกไก่เพื่อเลี้ยงของตัวเอง และลดต้นทุนเอง ลดต้นทุนให้ได้ทุกมิติคุณวิฑูรย์สะท้อนปัญหา

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.บรรยากาศภายในฟาร์ม
3.บรรยากาศภายในฟาร์ม

ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงไก่เนื้อ

สรุปได้ว่า วันนี้ทางชมรมประชุมคณะกรรมการ เพื่อสรุปถึงต้นเหตุลูกไก่แพง โดยหวังจะให้รัฐบาลได้รับรู้ แต่ในวงการธุรกิจผู้ผลิตลูกไก่ ล้วนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ครบวงจร มีการรวมตัวเป็นสมาคมที่แข็งแกร่ง จึงยากที่จะลดราคาเพื่อลูกค้ารายย่อย ยกเว้นทางชมรมมีกลยุทธ์การต่อสู้ที่แหลมคม งัดอาวุธ แล้วยักษ์ใหญ่ต้องยอม

อีกอย่างทางชมรมก็มี “จุดอ่อน” เช่น การต่างคนต่างซื้อลูกไก่ และวัตถุดิบอาหารไก่ ทำให้ไม่เกิดพลังต่อรองทางธุรกิจ ดังนั้นการต่อสู้ในนามชมรมไม่กี่ฟาร์มจึงขาดพลังในสายตายักษ์ใหญ่ แต่ถ้ายกระดับชมรมเป็น “สหกรณ์” มี พรบ.รองรับ รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จากหนักก็จะเบา ซึ่งวันนี้ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ บางอย่างยังพอประคองธุรกิจไว้ได้

แต่ถ้าชมรมยังหา “ดาบ” เล่มใหม่ที่คมไม่ได้ โอกาสแบกต้นทุนลูกไก่ที่แพงยังจะมีต่อไป บางรายทนไม่ไหวอาจต้องออกจากวงการ

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 357