“คนทำธุรกิจต้องกล้าทำ กล้าเจรจา และกล้าเสี่ยง ต้องใจนักเลง ผมมองการทำเกษตรและทำฟาร์มปศุสัตว์เปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์ ซึ่งต้องมีเลือดมาหล่อเลี้ยง เพราะถ้าไม่ให้เลือด คนก็ต้องตาย ซึ่งการทำธุรกิจขนาดใหญ่ โดยในที่นี้ หมายถึง ฟาร์มปศุสัตว์ก็เช่นกัน ฟาร์ม คือ ร่างกายที่ต้องเติบใหญ่ เพราะฉะนั้นก็ต้องการกระแสเงินสดมาหล่อเลี้ยงร่างกายให้เติบโต ขาดเงิน คือ ธุรกิจเจ๊ง ฉันใดก็ฉันนั้น”
การเลี้ยงหมู และเกษตรผสมผสาน
นิตยสารสัตว์บก ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับ “คุณไพโรจน์ พ่วงศิริ หรือ “ป๋าโรจน์” แห่ง “ฟาร์มไผ่สิงห์ทอง” โดยคำกล่าวข้างต้นเป็นบางช่วง บางตอน ที่ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ป๋าโรจน์” เกี่ยวกับประวัติการจัดตั้ง “ฟาร์มไผ่สิงห์ทอง” ในสมัยอดีต
จนกระทั่งประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในปัจจุบันเช่นทุกวันนี้ กับอาณาเขตฟาร์มฯ ที่กินพื้นที่ร่วม 1,200 ไร่ ใน 3 ตำบล (ต.ไผ่ดำพัฒนา ต.นรสิงห์ ต.เอกราช) กับ 2 อำเภอ (อ.ป่าโมก อ.วิเศษไชยชาญ) ใน จ.อ่างทอง
ภายใต้การทำ ฟาร์มปศุสัตว์ แบบผสมผสาน เลี้ยงสุกร ไก่ไข่ วัว และ ปลาเบญจพรรณ ด้วยระบบมาตรฐาน “ไบโอ ซิเคียวริตี้” (Bio-secure system) ป๋าโรจน์ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการทำงาน การบริหารฟาร์ม จากการได้ทำงานกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพี” ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี มาปรับใช้บริหารฟาร์มของตนเองแห่งนี้
ในวงการปศุสัตว์และอาหารสัตว์ในประเทศไทย ไม่มีใครที่ไม่รู้จักป๋าโรจน์ เพราะเมื่อก่อน “ลูกหม้อซีพี” อย่างแท้จริง เป็นหนึ่งในคณะทำงานยุคสมัยบุกเบิกของ ประธานฯ ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งร่วมบริหารจัดการและพัฒนาด้านการเลี้ยง/ผสมพันธุ์สุกร ให้กับซีพีมาอย่างยาวนาน โดยผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มาแล้ว ทุกยุค ทุกสมัย
อย่างไรก็ตามหลังจากเข้าสู่ช่วงปลายของการทำงานที่ซีพี หลังจากนั้นตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันป๋าโรจน์ยังคงจับธุรกิจฟาร์มสุกรเป็นหลัก ด้วยวัยย่างเข้า 67 ปี และพร้อมเปิดเผยเรื่องราวการทำงานตลอดกว่า 4 ทศวรรษ ที่อยู่ในแวดวงปศุสัตว์ไทยให้กับผู้ประกอบการฟาร์มคนรุ่นใหม่
ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีในการนำไปปรับใช้บริหารฟาร์มของแต่ละคนให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างสูง ต้องบอกว่าการทำงานในสมัยก่อนซึ่งเป็นยุคบุกเบิกการทำฟาร์มหมู ทั้งหมูขุน และแม่พันธุ์ เป็นเรื่องที่ยาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ มาสนับสนุน เช่นเดียวกับประวัติชีวิตของป๋าโรจน์กับการเข้าทำงานกับซีพีที่ไม่มีอะไรง่าย แต่ก็พิสูจน์ให้คนรุ่นน้องๆ รุ่นลูก รุ่นหลาน ให้ประจักษ์แล้วว่าไม่มีปัญหาใดที่หาทางออกและแก้ไขไม่ได้
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
สำหรับป๋าโรจน์ในอดีตเป็นเด็กจังหวัดอ่างทอง เติบโตที่นี่ ก่อนย้ายเข้าไปเรียนระดับมัธยมในกรุงเทพฯ ที่ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ฝั่งธนฯ ย่านภาษีเจริญ ซึ่งกระซิบบอกทีมงาน “สัตว์บก” ด้วยว่า ตนเองเรียนรุ่นเดียวกับ “นายกฯ ประยุทธ์” อีกด้วย
ต่อมาป๋าโรจน์เข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา สมัยระบบเอนทรานซ์ โดยสมัยนั้นเลือกเรียนด้านการทำเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งหลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานทันทีกับบริษัท “อาร์เบอร์เอเคอร์ส” ประจำอยู่ในพื้นที่ อ.บางปู จ.สมุทรปราการ เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานที่อาร์เบอร์ฯ อยู่ประมาณ 2 เดือน จนกระทั่งได้รับหนังสือจาก ม.เกษตรฯ ได้สิทธิ์ศึกษาต่อระดับ ป.โท จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทฯ มุ่งมั่นศึกษาด้านบริหารจัดการฟาร์มฯ ต่อ จนจบ ป.โท (พ.ศ.2518-2520)
อย่างไรก็ตามด้วยความสามารถของป๋าโรจน์ เมื่อศึกษาจบ ป.โท จึงมาสมัครงานกับซีพี บริหารจัดการด้านการดูแลสุกร ทำเล้าคลอด ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ร่ำเรียนศึกษามา ป๋าโรจน์มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำงาน จนกระทั่งไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับผู้จัดการขององค์กร ต่อจากนั้นได้รับการสนับสนุนจากบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง ให้เดินทางไปทำงาน
โดยบริหารจัดการฟาร์มสุกรที่ประเทศสิงคโปร์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2533 ได้กลับมาประเทศไทย และใช้ประสบการณ์จากการทำงานในต่างประเทศ เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาทุ่มเทการทำงานให้กับบริษัทฯ
จุดเริ่มต้นในการทำฟาร์มหมู
จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ.2550 ป๋าโรจน์เป็นช่วงปลายในการทำงานให้กับซีพี และตัดสินใจออกมาบริหารจัดการอุตสาหกรรมสุกรของตนเองอย่างเต็มตัว ทว่าการก้าวออกมาบริหารฟาร์มสุกรไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และถือเป็นเส้นทางที่น้อยคนจะเลียนแบบได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
โดยป๋าโรจน์เผยว่า กว่าจะเนรมิตอาณาจักรฟาร์มสุกรบนพื้นที่ 1,200 ไร่ เฉกเช่นปัจจุบัน ตนใช้เวลาร่วม 10 ปี โดยค่อยๆ ขยับขยายธุรกิจเรื่อยมา โดยในชีวิตป๋าโรจน์เคยเป็นหนี้สถาบันการเงินจากการกู้มาลงทุนสร้างอุตสาหกรรม และฟาร์มสุกร ของตนเอง ร่วม 650 ล้านบาท
“ผมเริ่มต้นจัดสร้างฟาร์มสุกร จากที่ดิน 13 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกคุณแม่ โดยตลอดชีวิตได้กู้เงินจากธนาคาร 4 ก. เพื่อนำมาลงทุนสร้างฟาร์ม และขยับขยายธุรกิจเรื่อยมา ได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงศรีฯ และ ธ.กสิกรไทย ซึ่งเริ่มต้นจากการเลี้ยงหมูขุน และกระทั่งการลงเลี้ยงแม่พันธุ์ โดยสมัยก่อนขายหมูกำไรดีมาก กำไรตัวละไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท เรียกว่า ทำธุรกิจปีเดียว มีเงินคืนแบงก์ตัวเลข 7 หลัก ได้แล้ว ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการบริหารฟาร์มที่เจอมาหนักสุดเท่าที่จำได้ ยกตัวอย่างเช่น วิกฤติน้ำท่วมหนัก ปี 2549 และปี 2554 แต่ก็ประคับประคองธุรกิจมาได้”
ฟาร์มปศุสัตว์ แบบผสมผสาน
โดยปัจจุบันที่ฟาร์มฯ เน้นขุนลูกหมูส่งจำหน่าย และซื้อแม่พันธุ์สุกรเข้าฟาร์มฯ พร้อมกับทำโรงผลิตอาหารสัตว์ (สุกร) ซึ่งก็เพียงพอต่อจำนวนสุกรทั้งหมดในฟาร์มฯ ตลอดจนเตรียมพื้นที่ทำเกษตร/เลี้ยงสัตว์ผสมผสานควบคู่อย่างครบวงจร ได้แก่ ฟาร์มไก่ไข่ (คอนแทรคไก่ไข่ และอาหาร กับซีพี), เลี้ยงวัว และขุดบ่อเลี้ยงปลาเบญจพรรณ (ปลานิล ปลาสวาย ปลายี่สก ปลาจีน)
“ปัจจุบันผมวางระบบทำ ฟาร์มปศุสัตว์ ไว้ครบวงจร ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยเรียบง่าย แต่ก็เน้นมาตรฐานและความปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์มสุกรนั้นทางฟาร์มฯ บริหารจัดการไปได้ด้วยดี เลี้ยงตามโปรแกรม โดยมีพนักงานในฟาร์มฯ ช่วยกันดูแลในแต่ละวัน
การให้อาหารและน้ำไก่ไข่
ในส่วนของฟาร์มไก่ไข่ คอนแทรคกับซีพี ไม่มีปัญหาเรื่องไก่หรืออาหารแต่อย่างใด อีกทั้งใช้ระบบอัตโนมัติในการควบคุมโรงลี้ยงไก่ทั้งหมด เช่น ระบบการเก็บไข่ไก่ โปรแกรมแสงช่วยสนับสนุนในการกระตุ้นให้ไก่กินอาหารได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น เพื่อให้ฟักไข่ออกมีมาตรฐานตามความต้องการของตลาดอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ในส่วนของระบบฟาร์ม เช่น ระบบน้ำในฟาร์ม มีระบบน้ำประปาที่มีค่าความสะอาดได้มาตรฐาน โดยอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติสูบขึ้นมาใช้ผ่านระบบการกรองที่ได้มาตรฐาน และมีการจัดสร้างบ่อไบโอแก๊ส เพื่อบริหารจัดการของเสียจากฟาร์มสุกร เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในฟาร์มฯ ต่อไป”
การป้องกันกำจัดโรคระบาดในฟาร์มหมู
ในตอนท้ายนี้ป๋าโรจน์ยังได้กล่าวฝากถึงอุตสาหกรรม/ธุรกิจสุกรไทย ตลอดจนเกษตรกร และผู้ประกอบการฟาร์มสุกร ในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า ขณะนี้ราคาหมูยังทรงๆ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับโรคระบาดที่หลายคนทราบกันดี คือ “แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์” (African Swine Fever : ASF) ซึ่งล่าสุดระบาดอย่างรุนแรงในประเทศจีน เชื้อแพร่กระจายไปได้ทุกพื้นที่อย่างรวดเร็ว โชคดีตรงที่ว่าไม่ได้ติดจากสัตว์สู่คน
“เพราะฉะนั้นเกษตรกรและผู้ประกอบการต้องตระหนักให้ความสำคัญ และเฝ้าระวังสังเกตการณ์และดูแลสุกร ตลอดจนเข้มงวดในเรื่องมาตรการความสะอาด และความปลอดภัย ในฟาร์มของตนเองอย่างใกล้ชิด เพราะเชื้อโรคนี้หากเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
แม้ประเทศไทยยังไม่เผชิญกับโรคนี้ แต่ก็ไม่ควรประมาท ในส่วนเรื่องราคาตลาดขอให้ทุกคนอยู่อย่างอดทน และร่วมฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน ทั้งนี้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด มีขึ้น มีลง และเชื่อว่าในปี 2562 หากเศรษฐกิจดีขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยจะได้รับข่าวดี”
ขอขอบคุณข้อมูล คุณไพโรจน์ พ่วงศิริ หรือป๋าโรจน์ แห่งฟาร์มไผ่สิงห์ทอง 9/9 หมู่ 6 ต.นรสิงห์ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โทร.035-864-294