นิตยสารสัตว์บก บุกมาถึง “บริษัท พี.เอ.เจริญทรัพย์ จำกัด” โดยทีมงานฯ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณเจริญศักดิ์ ชัยเลิศ ประธานกรรมการบริหารฯ และเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร ชื่อดังรายใหญ่อันดับต้นๆ ที่เมืองโคราช
คุณเจริญศักดิ์ปัจจุบันนำบริษัท พี.เอ.เจริญทรัพย์ จำกัด โกอินเตอร์ ด้วยการขยับขยายตลาดส่งออกสุกรจำหน่ายปลายทางที่ สปป.ลาว ซึ่งจริงๆ แล้วส่งออกมาแล้วเป็นเวลากว่า 3-4 ปีแล้ว รูปแบบหมูอนุบาล ซึ่งขายให้กับลูกค้า และลูกเล้าที่ สปป.ลาว นำไปเลี้ยงเป็นหมูขุน และจำหน่ายภายในประเทศอีกทอดหนึ่ง
การเลี้ยงหมู
ปัญหาราคาสุกรตกต่ำในประเทศ ทั้งนี้ในทุกๆ วิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ เฉกเช่นกับวิกฤตราคาหมูในประเทศตกต่ำ หากแต่ดันทุรังปรับราคาแข่งขันฟาดฟันกันอยู่แต่ในประเทศ ก็รังแต่จะห้ำหั่นกันเอง จึงควรทอดสายตามองออกไปให้กว้างไกลที่รอบๆ บ้านเราในเวทีระดับอาเซียน นั่นคือ การทำตลาดส่งออกหมู ทั้งหมูเป็น หมูเนื้อ หมูแช่แข็ง หรือแม้แต่หมูอนุบาล ส่งขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังมีความต้องการบริโภคอีกเป็นจำนวนมาก ตลาดไม่มีทางตันเหมือนกับบ้านเราในขณะนี้ และหนึ่งในประเทศที่มีอนาคตสดใสสำหรับการส่งออกสุกรนั่นก็คือ สปป.ลาว นั่นเอง
คุณเจริญศักดิ์ ชัยเลิศ ประธานกรรมการบริหารฯ และเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร จ.นครราชสีมา
“ผมเริ่มทำ ฟาร์มหมู ครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 ที่โคราช โดยเลี้ยงหมูขุน 4,000 ตัว ช่วงแรกๆ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อีกอย่างคือผมเลี้ยงรูปแบบอิสระ จึงต้องใช้เวลา ค่อยๆทำตลาด หาฐานลูกค้า สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ กระทั่งปี พ.ศ.2554 กรุงเทพฯ และหลายๆ จังหวัดเจอวิกฤตน้ำท่วม กระทบต่อฟาร์มโดยตรง
ทำให้ประสบสภาวะขาดทุนเช่นกัน ทั้งนี้ผมก็ประคองธุรกิจผ่านวิกฤตนั้นมาได้ จึงเริ่มพอมีลู่ทาง และรู้จักกับบรรดาลูกเล้าและคู่ค้าทางธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจุดเปลี่ยนอีกครั้งในอาชีพ คือ การเริ่มต้นกับตลาดส่งออกหมูที่ สปป.ลาว ทำให้พลิกชีวิตและกิจการ ฟาร์มหมู ของผมก็ว่าได้” คุณเจริญศักดิ์ กล่าว
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงหมูและตลาดต่างประเทศ
คุณเจริญศักดิ์เปิดเผยว่าปริมาณการผลิตสุกรที่ สปป.ลาว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคชาว สปป.ลาว เพราะฉะนั้นจึงต้องนำเข้ามาจากหลายๆ ประเทศโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศไทย โดยรายใหญ่ผูกขาดนั่นเอง และด้วยเหตุนี้ในวิกฤตย่อมต้องมีโอกาสอยู่เสมอ
หลังจากคุณเจริญศักดิ์ ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ สปป.ลาว พม่า กัมพูชา และประเทศจีน ก็พบว่าความต้องการเนื้อสุกรยังมีอีกมากในแต่ละประเทศดังกล่าว จึงไม่รอช้าเริ่มศึกษาข้อมูลการส่งออกสุกร พร้อมกับเริ่มต้นทำตลาดส่งออกสุกรไปที่ สปป.ลาว อย่างจริงจัง ในเวลาต่อมา รวมระยะเวลาจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 3-4 ปีแล้ว
ทว่าตลาดส่งออกไปที่แขวงสะหวันนะเขตถึงปัจจุบันนี้ก็นับว่าไปได้สวย โดยคุณเจริญศักดิ์ส่งออกหมูไป สปป.ลาว เป็นหมูอนุบาล หรือหมูอนุบาลตามสเป็คที่ลูกค้าต้องการ พร้อมสำหรับส่งออกให้กับลูกเล้าที่ สปป.ลาว เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นขุนและทำตลาดต่อไป
คุณเจริญศักดิ์เผยว่าปัจจุบันผลิตหมูอนุบาลส่งออก สปป.ลาว เฉลี่ย 5,000 ตัว/เดือน ทั้งนี้การเลี้ยงหมูอนุบาลแล้วส่งขาย มีข้อดีโดยเป็นการตัดวงจร ร่นระยะเวลาการจัดการ และลดความเสี่ยงไม่ต้องเลี้ยงขุนขายเอง เพราะเสี่ยงเกิดโรค ต้องแบกรับราคาต้นทุนอาหาร ต้องดูแลรักษาหมูอย่างใกล้ชิด อีกทั้งไม่ต้องกังวลกับราคาตลาดในประเทศที่ผันผวน และราคายังไม่ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย
สภาพพื้นที่เลี้ยงหมู
บริษัท พี.เอ.เจริญทรัพย์ จำกัด ปัจจุบันมีด้วยกัน 2 ฟาร์ม ในพื้นที่เลี้ยงโดยประมาณ 20 ไร่ ในนครราชสีมา ซึ่งทั้ง 2 ฟาร์ม ห่างกันประมาณ 20 กิโลเมตร โดยฟาร์มแรกเลี้ยงเป็นหมูอนุบาล ส่วนฟาร์มที่สองเป็นฟาร์มเลี้ยงเฉพาะพ่อแม่พันธุ์ (บริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ เช่า และบริหารจัดการเอง )
ด้านลูกหมูที่นำมาลงเลี้ยงอนุบาลรับซื้อจากฟาร์มรายใหญ่ของประเทศ (ขอสงวนชื่อ) ในส่วนอุปกรณ์ฟาร์ม คุณเจริญศักดิ์เลือกใช้ของ บริษัท เอเซีย เวท เทค จำกัด และอาหารสุกรเลือกใช้ “ของดีราคาถูก”
ส่วนการอนุบาลหมู คุณเจริญศักดิ์บอกว่าเริ่มต้นซื้อลูกหมูทูไซด์ น้ำหนักตัวๆ ละ 6-7 กก. เลี้ยงให้น้ำหนักประมาณ 16-25 กิโล ก็จะเริ่มโต ถึงส่งขายได้ วงจรเลี้ยงก็จะเลี้ยงวนๆ กันไปเช่นนี้ ทั้งนี้ในส่วนของการขนส่งไปที่ สปป.ลาว ทางฟาร์มฯ มีรถขนส่งเป็นของตนเอง ใช้เวลาขนส่งที่รวดเร็ว และเป็นมาตรฐาน ถึงแขวงสะหวันนะเขตเฉลี่ยไม่เกิน 7 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการดูแลของพี่ชาย (คุณวีระศักดิ์ ชัยเลิศ)
คุณเจริญศักดิ์กล่าวต่อว่าการเลี้ยงหมูอนุบาลไม่มีอะไรยุ่งยาก มีด้วยกัน 3 ปัจจัยหลักๆ ด้วยกัน คือ
- สายพันธุ์
- อาหาร
- การเลี้ยงการจัดการ
ยกตัวอย่าง เมื่อได้ลูกหมูมา ทางฟาร์มฯ จะนำลูกหมูเข้าสู่กระบวนการ “กก” ซึ่งใช้ไฟกกในอุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศในแต่ละช่วงเวลานั้นด้วย
การให้อาหารลูกหมู
ส่วนเรื่องของ “อาหาร” ปัจจุบันคุณเจริญศักดิ์ยังคงใช้อาหารที่มีคุณภาพ เน้นในเรื่องราคา ซึ่งก็ให้ตามโปรแกรม ไม่มีเทคนิคอะไรพิเศษ จะเลือกใช้อาหารวนไปแต่ละบริษัท หากเจ้าไหนมีราคาไม่แพง เนื่องจากคุณภาพอาหารแต่ละบริษัท ผู้ผลิตต่างก็ได้มาตรฐาน ไม่แตกต่างกันมากนัก
นอกจากนี้ก็มีการทำวัคซีนให้ครบตามมาตรฐานการเลี้ยง โดยจะมีคุณหมอ-สัตวบาล เข้ามาคอยช่วยดูแลการตรวจสอบป้องกันโรคภายในฟาร์มฯ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกหมูสุขภาพแข็งแรง กินอิ่ม นอนหลับ ถึงระยะส่งต่อไปที่ สปป.ลาว ได้อย่างราบรื่น
ด้านตลาดลูกหมู
ด้านตลาดในต่างประเทศ อย่างที่กล่าวไปดูเหมือนว่ากิจการส่งออกลูกหมูให้กับลูกค้า และลูกเล้าที่ สปป.ลาว ของคุณเจริญศักดิ์นั้นดูราบรื่น ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะการมีคอนเน็คชั่นและความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างผู้ประกอบการฟาร์มสุกรที่เป็นชาว สปป.ลาว ที่คอยช่วยเหลือคุณเจริญศักดิ์ในการเสาะแสวงหาตลาดเพื่อขยับขยายรองรับการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไปในอนาคต
และส่งผลให้ปัจจุบันคุณเจริญศักดิ์ และเจ้าของฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นชาว สปป.ลาว กลายเป็นทั้งเพื่อน คู่ค้าทางธุรกิจ และหุ้นส่วนที่ไว้วางใจต่อกัน โดยได้ร่วมลงทุนลุยซื้อที่ดินร่วม 300 ไร่ ใน สปป. ลาว เพื่อจัดสร้างฟาร์มสุกรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ พร้อมกับเตรียมแผนจัดสร้างโรงเชือด-โรงแช่ อย่างครบวงจรในอนาคต เพื่อเนรมิตเป็นศูนย์กลางการผลิตสุกรคุณภาพ และกระจายตลาดออกสู่ประเทศจีน พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ต่อไป
การวางแผนก่อสร้างฟาร์มหมู
ทั้งนี้แผนการก่อสร้าง ฟาร์มหมู ที่ สปป.ลาว จะแล้วเสร็จประมาณต้นปี พ.ศ. 2562 และพร้อมลงหมูเลี้ยงทันที ซึ่งคุณเจริญศักดิ์ตั้งเรือธงในใจเอาไว้แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกลงหมูให้ครบจำนวน 2,400 แม่พันธุ์ ซึ่งภายในเป็นระบบปิด ได้มาตรฐาน ได้รับการออกแบบให้เป็นเล้าผสม, เล้าตรวจกักกันโรค เป็นต้น เช่นเดียวกับเฟส 2 ที่จะลงหมูจำนวน 2,400 แม่ รวม 4,800 ตัว
เมื่อถามถึงเรื่องการวางแผนการตลาด เมื่อสร้างฟาร์มสุกร ที่ สปป.ลาว เสร็จแล้ว คุณเจริญศักดิ์เล่าว่าตั้งใจจะนำโครงสร้างหลักการ “ประกันราคา” ไปอธิบายทำความเข้าใจให้กับลูกเล้าที่เป็นลูกค้าเดิม และรายใหม่ๆ ของฟาร์มฯ โดยปัจจุบันเกือบทั้งหมดของคนเลี้ยงหมูชาว สปป.ลาว จะเลี้ยงรูปแบบอิสระ และรับจ้างเลี้ยงให้กับบริษัทรายใหญ่อย่างที่หลายคนทราบกันดี
ทว่าการเลี้ยงรูปแบบประกันราคาจะมีประโยชน์และข้อได้เปรียบมากกว่า เพราะผู้เลี้ยงไม่ต้องแบกรับราคาหมูที่เลี้ยงในเรื่องของอาหาร และเรื่องของตลาด ซึ่งคุณเจริญศักดิ์จะเป็นผู้จัดหาหมู อาหาร และรับซื้อกลับ ประกันราคาให้ลูกเล้าชาว สปป.ลาว ทั้งหมด อีกทั้งลูกเล้าก็จะได้กำไรจากการเลี้ยงหมู/ตัว ซึ่งมากกว่าการรับจ้างเลี้ยงอีกด้วย
ด้านตลาดหมูในอนาคต
“ตลาด สปป.ลาว ยังไม่มีคู่แข่ง ถ้าไม่นับเจ้าพ่อรายใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าขณะนี้ผมได้ปูทางธุรกิจฟาร์มสุกรเอาไว้แล้ว ซึ่งถือว่านำหน้านักธุรกิจไทยอีกหลายๆ คน ที่คิดจะไปทำ ฟาร์มหมู ที่ สปป.ลาว อยู่ 1 ก้าว เพราะผมสร้างฟาร์มแล้ว 300 กว่าล้าน ซึ่งต่อไปจะทำโรงเชือด-โรงแช่ อย่างครบวงจร พร้อมที่จะส่งต่อไปยังประเทศจีน
นอกจากนี้เรื่องการทำตลาด ผมได้หุ้นส่วนที่ดี เป็นนักธุรกิจ สปป.ลาว ชื่อ ท่านสีสุวัน วิไลทอง เจ้าของวันทวีชัยฟาร์ม ที่ สปป.ลาว ซึ่งหุ้นส่วนคนนี้ขายหมูส่งเข้าไปโรงเชือดภายในประเทศ วันละประมาณ 500-600 ตัว ทุกๆ วัน เราจะทำประกันราคาใน สปป.ลาว ก็เพื่อเราจะซื้อหมูกลับมาจากลูกเล้า และนำหมูกลับมาเพื่อนำไปส่งให้กับตลาดของลูกค้าอีกทอดหนึ่งนั่นเอง
โดยท่านสีสุวันก็มีทั้ง ฟาร์มหมู ของตนเอง และก็ยังเป็นโบรกเกอร์ คอยไปดิวจับหมูจากลูกเล้าต่างๆ ของคนอื่นๆ ไปส่งให้ลูกค้าของเขาอีกทอดหนึ่งอีกด้วย เพราะฉะนั้นหมูที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์มของผมทั้งที่เมืองไทย และหุ้นส่วนของผมที่ สปป.ลาว ณ ตอนนี้ดูยังไงๆ ก็ยังผลิตไม่พอต่อความต้องการตลาดในอนาคต อย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นตลาดที่เราส่งออกหมูในขณะนี้ยังมีความต้องการอีกมาก เรายังสามารถขยับขยายที่ สปป.ลาว ต่อไปได้อีก และไปต่อที่ประเทศจีน และประเทศอื่นๆ อย่างที่ผมได้วางแผนเอาไว้ ดังนั้นตลาดที่ สปป.ลาว คือ เรือธงที่เราจะต้องสร้างระบบให้เป็นมาตรฐานให้เสียก่อน ส่วนการส่งออกไปที่ประเทศจีน คือ เรื่องของอนาคต เพราะนักธุรกิจทุกๆ คนทั่วโลกก็ต่างมองตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้” คุณเจริญศักดิ์กล่าว
การบริหารจัดการ ฟาร์มหมู
คุณเจริญศักดิ์ยังกล่าวถึงการพยายามสร้างตลาดส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างน่าสนใจด้วยว่า ได้เอาทุกสิ่งที่ตนเองมี ทั้งความรู้ ประสบการณ์ เงินทุน และคอนเน็คชั่น ไปโฟกัสที่ สปป.ลาว ด้วยความตั้งใจจริงที่จะขยายตลาดสุกรไทยให้เติบโตไปยังต่างแดน
“ประเทศไทยทุกวันนี้ ปัญหาคือ เลี้ยงหมูแล้วจะขายให้ใคร โดยผู้เลี้ยงหมูส่วนมากถ้าสายป่านไม่ยาวพอก็จะโดนรายใหญ่ทุบเจ๊งหมด ดังนั้นผมจึงพยายามสร้างคอนเน็คชั่นไว้ที่ สปป.ลาว นั่นเอง ซึ่งวันนี้ไปได้สวยตามแผนที่วางเอาไว้
สำหรับคุณสมบัติการเป็นลูกเล้าที่ สปป.ลาวกับผม ไม่มีอะไรมาก ขอให้สร้างระบบการเลี้ยงเป็นเล้าปิดที่ได้มาตรฐานก็พอ ทั้งนี้ผู้เลี้ยงหมูชาว สปป.ลาว ไม่ได้มีพันธะสัญญาอะไรกับการรับจ้างเลี้ยงให้กับรายใหญ่ๆ อยู่แล้ว ซึ่งมันแตกต่างกับคนเลี้ยงหมูในบ้านเราที่เจอสัญญาผูกมัดเยอะ มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยโครงการประกันราคาหมูที่ สปป.ลาว ที่ผมจะทำนี้ ผมใช้คอนเน็คชั่นที่ผมมีที่เมืองไทย และหุ้นส่วนของผมที่เขาก็มีคอนเน็คชั่นเยอะที่ สปป.ลาว
ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ผมเชื่อมั่นว่ายากที่ใครจะคิดทำแบบผม ซึ่งผมใช้เวลาศึกษาการทำตลาด กับประเทศเพื่อนบ้านจริงๆ จังๆ มาเกือบ 10 ปี รวมทั้งเดินทางไปด้วยตัวเอง เพื่อไปศึกษาอุปกรณ์ฟาร์มที่ประเทศจีน เพื่อจะลงทุนซื้อและนำมาติดตั้งใช้งานที่ฟาร์มฯ ที่ สปป.ลาว
เพราะฉะนั้นผมไม่ได้มาเล่นๆ โดยผมและหุ้นส่วนเราพยายามออกแบบโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการฟาร์มสุกร คือ ทำทุกอย่างให้เหมือนโครงสร้างของบริษัทรายใหญ่ที่เขาทำกัน ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว เราแค่มาศึกษาในสัญญาเพิ่มเติม และปรับให้เข้ากับตัวของเราและลูกเล้าของเรา แค่นั้นก็ลุยไปพร้อมกันได้แล้ว”
ฝากถึงคนเลี้ยงหมู หรือ สนใจทำ ฟาร์มหมู
ในตอนท้ายคุณเจริญศักดิ์กล่าวฝากถึงคนเลี้ยงหมูอีกด้วยว่า การทำเกษตร-ปศุสัตว์ หรือไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็แล้วแต่ มันย่อมมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่อย่าไปกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นให้มากเกินไป เพราะจะทำให้คุณกลัว กังวลเกินเหตุ และไม่กล้าลงมือทำในที่สุด
“วงการเกษตรและปศุสัตว์ เราทุกคนอยู่กับกลไกของตลาด เพราะฉะนั้นราคาผลผลิตมีขึ้น มีลง ผันผวนเป็นธรรมดา สิ่งสำคัญ คือ การวางแผนและเตรียมการรับมือ ตลอดจนการรู้จักปรับตัวของเกษตรกร และเจ้าของฟาร์ม เพื่อความอยู่รอด ทุกคนต้องปรับตัว มิเช่นนั้นคนที่อ่อนแอก็ต้องพ่ายแพ้ไป
ซึ่งผมพยายามปรับตัวและสร้างฐานตลาดในประเทศให้มั่นคง เพื่อกรุยทางไปต่างประเทศ หลายคนเคยถามผมว่า เหนื่อยไหม ยากไหม กับการทำตลาดในต่างแดน ซึ่งก็ต้องตอบตามตรงว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เกินความสามารถที่จะทำ หากมุ่งมั่นตั้งใจ ขึ้นอยู่ที่การดัดแปลงและวางแผนการทำงานของแต่ละบุคคล และต้องมีใจกล้า กล้าที่จะทดลอง และเสี่ยง
อย่างเช่น ผมเคยทดลองส่งหมูออก สปป.ลาว ไปก่อนสักพัก เพื่อทดลองดูว่าตลาดไปได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ลงแรง ทุ่มเททุกอย่าง ทำอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณ และให้เครดิตกับหุ้นส่วนของผมด้วยที่ไว้ใจ และให้เกียรติช่วยเหลือ เปิดใจคุยได้ทุกเรื่อง ทำให้เราเติบโตร่วมกันมาจนถึงจุดนี้ได้”
นอกจากโครงการหมูที่ สปป.ลาว แล้ว คุณเจริญศักดิ์ยังเล่าต่อว่ามีโครงการเลี้ยงไก่ที่กบินทร์บุรี จำนวน 6 แสนตัว ซึ่งลงทุน 200 กว่าล้าน แต่ไม่จบเท่านั้นยังมีเขียงหมูในตลาดเทิดไทที่โคราช และมีรถขนส่งหมูเองอีกด้วย ซึ่งกิจการในเมืองไทยทั้งหมดยกให้คุณวีระศักดิ์ ชัยเลิศ ซึ่งเป็นพี่ชาย เป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมด ส่วนตัวเองจะไปดูแลกิจการที่ สปป.ลาว
ขอขอบคุณ คุณเจริญศักดิ์ ชัยเลิศ และคุณวีระศักดิ์ ชัยเลิศ บริษัท พี.เอ.เจริญทรัพย์ จำกัด
ที่อยู่ติดต่อ เลขที่ 173 หมู่ 11 ต.หลุ่งประดู่ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา 30240 โทร.061-964-9541 ฟาร์มหมู