เป็ดนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกหนึ่งตัวที่มีความสำคัญในระบบปศุสัตว์ไทย อาจไม่ใช่ธุรกิจที่ใหญ่โตเทียบเท่าสุกร และไก่ แต่คนส่วนใหญ่ก็นิยมบริโภคไม่น้อย ทั้งนำมาประกอบอาหาร ทำขนมต่างๆ และราคาไข่เป็ดในประเทศไทยนั้นมีราคาสูงกว่าไข่ไก่ ปัจจุบันหน้าฟาร์มขายฟองละ 3.30 บาท การเลี้ยงเป็ดไข่จึงเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรเพิ่มขึ้น ด้วยราคาที่สูง และยังเป็นผลผลิตที่ตลาดมีความต้องการ ฟาร์มเป็ดไข่
จุดเริ่มต้นการทำ ฟาร์มเป็ดไข่
ในประเทศไทยเขตจังหวัดที่นิยมเลี้ยงเป็ดไข่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี เป็นต้น ซึ่งการเลี้ยงเป็ดในแบบปล่อยไล่ทุ่งนั้นเริ่มเลือนหายไป เกษตรกรหันมาเลี้ยงเป็ดในโรงเรือนแบบเล้าลอย และเล้าดิน มากขึ้น และมีการให้อาหารในรูปแบบอาหารเม็ดมากขึ้น เพื่อผลผลิตที่ดี และมีคุณภาพ “คุณสำราญ ธรรมชาติ” เกษตรกรท่านหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี ได้ให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสารสัตว์บก ถึงเรื่องการจัดการ ฟาร์มเป็ดไข่ ในแบบเกษตรชาวบ้าน ว่าเลี้ยงอย่างไรให้ไข่ดก และมีคุณภาพ
สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่
คุณสำราญเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงเป็ดไข่ว่า ตนทำอาชีพเลี้ยงเป็ดไข่มาได้ 7 ปี ก่อนหน้านี้มีอาชีพทำนาข้าวมาก่อน แต่ด้วยความที่ทำนาอย่างเดียวก็ไม่ค่อยดี จึงเริ่มหาอาชีพเสริม ประจวบกับตนมีที่ดินเหลือประมาณ 3 ไร่ จึงลงมือขุดบ่อน้ำ และสร้างโรงเรือนขึ้นบนบ่อน้ำ รองรับเป็ดไข่ได้สูงสุด 1,800 ตัว ส่วนในบ่อเลี้ยงปลานิล และปลาสวาย เป็นหลัก
“อาชีพหลัก คือ ทำนาข้าว ส่วนการเลี้ยงเป็ดไข่ และบ่อปลา เป็นอาชีพเสริม ก็อาจไม่ได้ทำใหญ่โตมากมายนัก ด้วยความที่ติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องเงินทุน พื้นที่การเลี้ยง และแรงงาน (ใช้แรงงานแบบครอบครัว) แต่ถึงแม้จะเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพเสริม แต่การเลี้ยงเป็ดก็ต้องอาศัยความใส่ใจพอสมควร ใช่ว่าคิดอยากเลี้ยง ก็เลี้ยง แต่กลับไม่ใส่ใจดูแล ปล่อยให้กินตามมีตามเกิด ผลผลิตย่อมต่ำ และอาจขาดทุนอีกด้วยซ้ำไป ” คุณสำราญกล่าวเสริม
นอกจากนี้คุณสำราญยอมรับว่าตนและครอบครัวไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ดไข่เลย แต่ได้รับความรู้มาจากทาง “ปรานีฟาร์ม” ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับไข่เป็ดมายาวนาน ทางปรานีฟาร์มมีการจัดฝึกอบรม ให้ความรู้เกษตรกรในเครือข่าย ตนจึงมีโอกาสได้เข้าร่วมบ้าง และนำมาปรับใช้ อาศัยถามคนที่เคยเลี้ยงมาก่อนบ้าง จนทำให้ตอนนี้สามารถเลี้ยงเป็ดไข่ได้อย่างสบาย และได้ผลผลิตดีตามที่ตั้งเป้าไว้
คุณสำราญยังถือโอกาสนี้ขอบคุณทางปรานีฟาร์มเป็นอย่างมาก ที่ให้ความช่วยเหลือตนและครอบครัวตลอดมา หากตนมีปัญหาในการเลี้ยงก็สามารถขอคำปรึกษาจากทางปรานีฟาร์มได้เลย และปรานีฟาร์มยังให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเงิน คือ สามารถให้นำอาหารมาเลี้ยงเป็ดก่อน เมื่อจบรอบการเลี้ยงแล้วจึงนำเงินไปจ่ายคืนได้ จุดนี้เองที่ทำให้คุณสำราญและครอบครัวอยากจะขอบคุณทางปรานีฟาร์มมากเป็นอย่างสูง
เทคนิคการเลี้ยงเป็ดไข่
คุณสำราญยังยินดีเปิดเผยแนวทางในการเลี้ยงเป็ดไข่แบบง่ายๆ ว่า เป็ดแข็งแรงกว่าไก่แน่นอน การจัดการนั้นไม่ยุ่งยากเท่าไก่ เพียงแค่ต้องมีโรงเรือนที่กันแดด กันฝน และอากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น เป็ดก็สามารถโตและให้ผลผลิตได้ดีแล้ว
“ชีวิตประจำวันในการเลี้ยงเป็ดไข่ คือ เช้า เก็บไข่ ให้อาหาร ล้างคอกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค ประมาณ 14.00 น. ให้อาหารรอบที่สอง สังเกตอาการผิดปกติของเป็ด ตกเย็นตรวจความเรียบร้อยในเล้า ไล่เป็ดเข้าเล้า เป็นเช่นนี้ทุกวัน จนกระทั่งปลดเป็ด
ในส่วนของสายพันธุ์เป็ดนั้นขึ้นกับรอบการเลี้ยงในแต่ละรอบ เป็ดที่รับซื้อมาเป็นเป็ดสาวที่พร้อมให้ไข่ ซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางในราคาตัวละ 105 บาท นำมาเลี้ยงไม่เกิน 1 เดือน เริ่มให้ไข่ และให้ไข่ทุกๆ วัน อัตราการให้ไข่เฉลี่ยวันละ 1,300 ฟอง เป็นไข่ขนาดประมาณ 23 กรัม ราคารับซื้อหน้าฟาร์ม 3.40 บาท/ฟอง
ข้อดีของอาหารไฮโปรไวท์ 544-21
สิ่งสำคัญต่อมาในการเลี้ยงเป็ดไข่ คือ อาหาร ที่ฟาร์มแห่งนี้ใช้อาหารของซีพี ไฮโปรไวท์ 544-21 เป็นสูตรอาหารสำหรับเป็ดไข่โดยเฉพาะ ราคาอาจจะสูงอยู่บ้าง แต่ผลผลิตที่ได้รับออกมาก็นับว่าคุ้มค่า ไข่ดี ไข่ดก และมีคุณภาพ เคยลองเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น เป็ดไข่ไม่ค่อยดีเหมือนกินไฮโปรไวท์ สุดท้ายจึงหันกลับมากินไฮโปรไวท์เหมือนเดิม” คุณสำราญกล่าวถึงการเลี้ยงเป็ดไข่ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และยืนยันว่าอาหารเป็ดของซีพี เป็ดกินดี ไข่ก็ดี
การบริหารจัดการโรงเรือนเป็ดไข่
ใช่ว่าเรื่องอาหารเท่านั้นที่สำคัญในการเลี้ยงเป็ดไข่ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมรอบโรงเรือนก็มีผลกับการเลี้ยงเช่นกัน เป็ดไข่ก็ไม่ต่างจากไก่ไข่ มีอาการตกใจง่าย และขี้กลัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออัตราการให้ไข่ของเป็ดโดยตรง จุดนี้จึงทำให้คนเลี้ยงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเป็ดตกใจ เป็ดจะไม่ออกไข่นานหลายสัปดาห์ ซึ่งนั่นคงไม่ใช่ผลดีสำหรับคนเลี้ยงเป็ดไข่ทุกคนแน่นอน
คุณสำราญยอมรับว่า ในช่วงฤดูร้อนถือว่าเป็นช่วงที่เลี้ยงเป็ดยากที่สุด ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้เป็ดเครียด กินน้อยลง ไข่ลดลง และมีขนาดฟองเล็ก จึงต้องมีการให้วิตามินเสริมในอาหาร โดยวิตามินเสริมนี้ซื้อมาจากทางปรานีฟาร์ม ได้รับการรับรองมาตรฐาน และอยู่ในการควบคุมของสัตวแพทย์แน่นอน
ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเป็ดจนกระทั่งปลด 1 ปี กับอีก 5 เดือน สามารถเลี้ยงเกินได้ แต่อัตราการให้ไข่จะลดลง และคุณภาพเปลือกไข่ต่ำ ขายได้ราคาถูก ทำให้เกษตรกรขาดทุนได้ง่าย เป็ดที่ปลดขายจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าฟาร์ม ราคาขายประมาณ 50-80 บาท (ขึ้นกับราคา ณ เวลานั้น)
รายได้จากผลผลิตไข่เป็ด
คุณสำราญยังกล่าวเพิ่มเติมถึงรายได้ในการทำอาชีพเลี้ยงเป็ดว่า “รายได้ที่ได้รับจากการเลี้ยงเป็ดไข่หนึ่งรุ่นนั้นก็ดีอยู่ระดับหนึ่ง ยังสามารถเสริมร่วมไปกับการทำนาข้าวได้ นับว่าเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจ สำหรับคนที่พอมีพื้นที่เลี้ยง อาจไม่ต้องใหญ่โตมาก เพราะการเลี้ยงเป็ดไข่คุณจะมีรายได้เข้ามาทุกวัน เพราะไม่มีวันไหนที่เป็ดไม่ออกไข่
ผมทำนาข้าว 40 ไร่ เลี้ยงเป็ดไข่ 1,600 ตัว และเลี้ยงปลาร่วมด้วย รายได้ที่ได้รับก็ประมาณ 70,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งมันก็พอจะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนได้ อาจไม่ร่ำรวยมาก แต่ก็ไม่ขัดสน”
คุณสำราญเปิดเผยถึงปัญหาที่พบในการเลี้ยงเป็ดไข่ว่า เคยพบปัญหาเป็ดท้องเสีย และล้มตายเป็นจำนวนมาก สาเหตุเพราะการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด และมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สิ่งนี้ทำให้คุณสำราญตระหนักได้ว่าสิ่งสำคัญในการเลี้ยงเป็ดไข่ คือ ความใส่ใจ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเล้า การทำความสะอาด เลี้ยงดู จนกระทั่งปลดขาย เลี้ยงเป็ดก็ควรเลี้ยงด้วยใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ดี
ฝากถึงเกษตรกร และผู้ที่สนใจ เลี้ยงเป็ดไข่
สุดท้ายคุณสำราญยังฝากข้อความถึงเกษตรกร และผู้ที่สนใจจะเลี้ยงเป็ดไข่ว่า “อาชีพเลี้ยงเป็ดถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นอาชีพที่เราจะได้เงินทุกวัน หากอยากเลี้ยงก็ไม่ยาก เพียงแค่มีพื้นที่และความพร้อมในการเลี้ยง ต้องใส่ใจและดูแลเหมือนลูกคนหนึ่ง ใช่ว่าจะปล่อยทิ้งขว้าง เพราะสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ ตัวเราเอง อยากได้เงินมากก็ต้องใส่ใจมาก และขยันหน่อย”
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ คุณสำราญ ธรรมชาติ เจ้าของฟาร์มเป็ดสำราญฟาร์ม เลขที่ 115 ม.10 ต.หัวโพธิ์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 72110