เรื่อง โลกเดือด กระแสชาวโลกตอบรับมากขึ้น นั่นเพราะตระหนักดีว่า มหันตภัย จากสภาวะโลกเดือดจะทำลายมนุษย์โดยตรง
เป็นไปตามกฎฟิสิกส์ เมื่อมีแรงกิริยาก็ต้องมีแรงปฏิกิริยา หรือเมื่อเหตุเกิด ผลย่อมตามมา
มนุษย์ย่ำยีธรรมชาติ ก็ต้องทวงคืนที่รุนแรงกว่าเสมอ
ในวงการปศุสัตว์เริ่มมีผลจากสภาวะโลกเดือดมากขึ้น เพราะ มีเทน จากโคเนื้อ หรือโคนม ที่ระบายออกมารุนแรงกว่า29 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลายเท่า
การสัมมนา ฟาร์มโคนม BCG นวัตกรรมสู่ชุมชน คาร์บอนต่ำ และเศรษฐกิจยั่งยืน
วันที่ 5 มกราคม 2567 มีการสัมมนาที่ อสค. มวกเหล็ก เรื่อง “ฟาร์มโคนม BCG นวัตกรรมสู่ชุมชน คาร์บอนต่ำ และเศรษฐกิจยั่งยืน” โดยมีวิทยากรชื่อดังหลายคน ได้แก่ ผช.ศ.ดร.ชุติมา ไวศราวุธ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผช.ศ.ดร.ศศวุธ ใจจิตร คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ผช.ศ.ดร.ประชุม คำพุด คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ดร.นฤเทพ เล็กศรีวิไล ที่ปรึกษาด้านการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์ และ คุณมาลินีย์ สุขสะอาด กรรมการ บริษัท อิโคโนเวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมี ดร.ณัฐพร แก้วปทุม เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา
โดยกล่าวเกริ่นต่อผู้ร่วมสัมมนาว่า หัวข้อเรื่องสภาพอากาศ วิถีดำเนินชีวิต เป็นเทรนด์ของโลก เพราะทุกประเทศตระหนักดีถึงภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงของภาวะโลกร้อน ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทุกประเทศต้องดำเนินการในประเทศของตัวเอง ให้มีเป้าหมาย มีแผน มีนโยบาย ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรม โดยไทยมีเป้าหมายในระดับนานาชาติว่า ปี 2030 จะไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 2 องศาเซลเซียส ไทยได้ทำข้อตกลง CORP 26 ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า ต้องเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งท้าทายจะไปได้อย่างไร และ CORP 27 จะต้องเร่งลดการปล่อยให้มากขึ้น และ CORP28 จะต้องลดพลังงานฟอสซิลให้น้อยลง
การออกแบบวิจัย BCG IN ACTION
เช่นเดียวกับ อสค. ที่จะต้องทำตามแผน ซึ่ง ผช.ศ.ดร.ชุติมา ได้ออกแบบงานวิจัย BCG IN ACTION เพราะ อสค. ได้มองเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่ง อสค. เกิดจากปรัชญาความพอเพียง โดยสร้างองค์กรขึ้นมาบนความแข็งแรงของตัวเอง และ “อาหารนม” เป็นอาหารที่คนไทยต้องการ และตัดสินใจทำโครงการต่างๆ บนชุดความรู้แบบองค์รวม ทั้งมิติสังคมและเศรษฐกิจ อสค. ได้ใช้ KNOWLEDGE PLACE เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เน้นความยั่งยืนของเกษตรกรในการขับเคลื่อนธุรกิจโคนม โดยมีฟาร์มสคูล มี DAILY NUT RITION โภชนะของสัตวบาล ได้ทำจีโนมิล มีบิลท์บอร์ดในการทำ SCHOOL MILK เพื่อให้เป็นพื้นฐานของเกษตรกร
จากนั้นเมื่อ อสค. อายุ 60 ปี ก็เข้าสู่อุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบครบวงจร พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และได้พัฒนา “บุคลากร” ของ อสค. ให้มีประสิทธิภาพทำงานในเชิงนวัตกรรมทางธุรกิจได้ พร้อมๆ กับการเปิดตัวในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมนมในระดับนานาชาติ เพื่อให้เห็นถึงความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเน็ตเวิร์คต่างๆ ทำงานข้ามหน่วยงาน ด้วย ชุดความรู้ เพื่อคาร์บอนต่ำ หรือ CARBON NEUTRAL เดดไลน์ 2050 ด้วยเหตุนี้จึงต้องเกิด BCG IN ACTION และ อสค. หลัง 60 ปี จะต้องเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ อสค. ทำมา 2 ปี ชัดเจนมากๆ เช่น การแปรรูป มูลโค เป็นวัสดุประสาน หรือ กระถางต้นไม้ ซึ่งดินแดนที่ อสค. อยู่ คือ แหล่งท่องเที่ยวของคนไทย และชาวต่างชาติ
การเปิดโครงการ THE BALANCE SCORE AND FARM COMMUNITY PROJECT
อสค. จึงเปิดโครงการ THE BALANCE SCORE AND FARM COMMUNITY PROJECT เพราะมูลโคเป็นต้นเหตุของ ก๊าซมีเทน อสค. จึงต้องเลือกฟาร์มที่เข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นต้นแบบ และ อสค. ต้องการให้เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมโคนม รักษ์โลก ในเขตร้อนชื้น “คอนเทนท์ มวกเหล็ก สระบุรี เป็นจังหวัดแรกที่เอาความตะวันตกเข้ามาผสานกับความเป็น LOCAL ของไทย และยังรักษามาตรฐานโลก ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการเติบโตของสังคม นั่นคือที่มาว่าทำไมเราทำอิฐและกระถาง ซึ่งมันเป็นซอฟเพาเวอร์”
เนื่องจาก อสค. โตมาจากฟาร์มโคนม ต่อมาก็ต่อยอดไปสู่การแปรรูปน้ำนมดิบเป็น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นการทำเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกก็จะต้องเริ่มต้นจากฟาร์มก่อนแล้วขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ในเรื่องฟาร์ม ผช.ศ.ดร.ศศวุธ หรือ อาจารย์ต่าย ยืนยันว่า การให้ฟาร์มนำมูลโคมาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำปุ๋ยอัดเม็ด ได้ราคาดีกว่าขายเป็นกระสอบ ต่อมาทาง อสค. ต้องการเพิ่มมูลค่ามูลโคให้มากกว่านี้ จึงต้องทำอิฐบล็อก และกระถาง ซึ่งต้องศึกษาเชิงลึกว่ามูลโคแปลงเป็นอะไรได้บ้าง ต้องใช้เทคโนโลยีอะไร นอกจากนี้สถานที่ก็สำคัญ จึงตัดสินใจใช้พื้นที่ ตำบลมิตรภาพ เป็นที่ตั้งโรงงานผลิต อิฐบล็อกประสาน จากกากมูลโค ส่วนน้ำเสียก็ผลิต ไบโอแก๊ส น้ำที่เหลือจากไบโอแก๊สก็เอาไปใช้ต่อ
ข้อดีของมูลโค
เรื่องนี้ ผช.ศ.ดร.ประชุม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งเก่งในเรื่องวัสดุ โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เมื่อได้รับโจทย์ให้เอามูลโคมาทำอิฐบล็อกประสาน และกระถาง ความเป็นไปได้ของการทำอิฐบล็อกประสาน ต้องมองในอดีตว่าเราใช้ทำที่พักอาศัย ใช้ดิน ใช้มูลสัตว์ ทำยุ้งฉาง การใช้ฟางข้าว หรือขี้วัว มาผสมทำยุ้ง ก็เก็บความชื้นรักษาเมล็ดพันธุ์ได้ดี ระบายอากาศดี เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาประยุกต์ใช้ “ข้อดี คือ เราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ใช้ปูนน้อยลง ใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อิฐบล็อกประสาน การก่อ หรือการทำผนังต่างๆ เป็นลักษณะของเลโก้ อาจไม่ใช้ปูนก่อเลย ไม่ต้องฉาบ ประยุกต์ได้หลากหลาย เช่น จัดสวน บ่อปลา หรือบ่อกุ้ง กากมูลโคเป็นเส้นใยธรรมชาติ ถ้าทำส่วนผสมให้เหมาะจะลดการแตกร้าว เพราะมันคงทน ไม่ย่อยสลาย เมื่อโดนน้ำฝนชะล้าง จึงต้องเคลือบช่วย”
การจัดการกากมูลโคก็ไม่ได้ง่าย ไม่เหมือนการนำวัสดุแผ่นมาขึ้นรูปจะง่ายกว่า ถ้ากากมูลโคใหม่ๆ ไม่ได้ทิ้งไว้นาน ให้จุลินทรีย์ย่อยจนเส้นใยน้อยลง สามารถขึ้นรูปด้วยตัวมันเองได้เลย โดยผสมกับแป้งเปียกหรือกาวเป็นวัสดุประสาน แต่กาวเมื่อถูกน้ำจะสลายตัว ต้องเคลือบด้วยยางพารา เรื่องกากมูลโค อาจารย์ประชุมเปิดเผยว่า สามารถไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ผนังแผ่นเรียบ เป็นฉนวนกันความร้อน หรือ รั้วกั้นวัว เป็นต้น
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร
สำหรับทีมที่ปรึกษา คุณมาลินีย์ สุขสะอาด ซึ่งเข้ามาช่วย อสค. ตั้งแต่ปี 60 ให้มุมมองว่า จะอธิบาย 2 เรื่อง ได้แก่ สภาวะโลกร้อนกับการผลิตนม และประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์ของ อสค. เนื่องจาก บริษัท อิโคโนเวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ได้รับความไว้วางใจให้ทำเรื่องประสิทธิภาพเชิงนิเวศ อสค. ตั้งแต่ปี 60 แต่บริษัทจัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 59 ทีมงาน 4 คน ได้ทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศกับจังหวัดสระบุรี ซึ่ง ดร.นฤเทพ เล็กศรีวิไล ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสภาวะก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลว่า เรื่องโลกร้อน คือ “โลกเดือด” เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนอุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจาก ภาคพลังงาน รุนแรงมาก
นอกจากนี้ ก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรก็มากขึ้น “ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เผาไหม้เชื้อเพลิง และทุกคนมีส่วนร่วมทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ตัวที่ 2 จากการหมักโดยไม่ใช้อากาศใน ท้องวัว หรือนาข้าว ที่การผันน้ำไม่เติมอากาศ เกิดก๊าซมีเทน ตัวที่ 3 ไนตรัสออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกินความจำเป็น” ดร.นฤเทพ ให้ความเห็น และยืนยันว่า วัวนม 1 ตัว ปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าคน 1,000 เท่า หรือปล่อย 120 กก./ตัว/ปี ถ้าเป็นวัวเนื้อปล่อย ก็ปล่อย 60 กก./ตัว/ปี
แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หากมองทั้งอุตสาหกรรมจะพบว่ามีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ในสัดส่วนที่ต่างกัน ถ้าเริ่มตั้งแต่ อาหารสัตว์ ฟาร์ม การขนส่งน้ำนม โรงนม การแปรรูป แต่รวมๆ แล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปอยู่ที่ฟาร์มกว่า 80% (อาหาร 30% และฟาร์ม 50%) หากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องเริ่มจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชอาหารและการจัดการโภชนะอาหาร ต้องใช้เทคโนโลยีบางอย่าง ลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการหมักในกระเพาะอาหาร การจัดการมูลวัว และน้ำเสีย เพื่อลดก๊าซมีเทน และการใช้พลังงานทดแทนในฟาร์มที่เหมาะสม เพราะฟาร์มวัวนมมีการใช้เครื่องจักรกลต่างๆ ที่ต้องใช้ไป “ถ้าเรามีการจัดการที่ดี ให้อาหารอย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพมากขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก/ตัว จะลดลง โครงการของเราจึงเน้นประสิทธิภาพเพื่อให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ได้ผลผลิตมากที่สุด”
โดยเฉพาะในต่างประเทศ ได้ศึกษาเรื่องนี้ มีผลงานวิจัยรองรับชัดเจน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ เช่น ต้นน้ำใช้วัวพันธุ์ดี ลดก๊าซมีเทนได้ 15% กินน้อย ให้ผลผลิตเยอะ ลดได้ 15% เพิ่มอาหารโปรตีน เช่น ถั่วลิสง ลดได้ 20% ฉีดวัคซีนต้านการสร้างมีเทนในตัววัว ลดการเกิดมีเทน 5-20% การจัดการมูลวัวที่ดี ลดได้ 30% มีการศึกษาว่าถ้าเติม สาหร่ายสีแดง ในอาหาร ก็ลดมีเทนได้ หรือให้วัวกินสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขมิ้น แก้ท้องอืด ท้องเรอ ก็ลดก๊าซมีเทนได้ แต่ต้องรองานวิจัยว่าลดได้เท่าไหร่ แม้แต่การจัดการฝูงวัว ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคต่างๆ ก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ รวมทั้งน้ำเสียในโรงนม ก็สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานได้ดี
การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
เรื่องนี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อสค. รัฐวิสาหกิจที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลด้านการพัฒนาเกษตรกรให้เลี้ยงโคนมควบคู่กับการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม จึงเปิดทางให้ บริษัท อิโคโนเวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อวางรูปแบบประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่ง คุณมาลินีย์ สุขสะอาด ให้ความเห็นว่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ มันคือกระบวนการดำเนินงานที่จะสร้างธุรกิจ สร้างคุณค่าให้เติบโต ภายใต้การใช้ทรัพยากร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยลง โดยแต่งตั้งคณะทำงาน มีการศึกษาขอบเขตการทำงาน มีตัวกำหนดชี้วัด มีการเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และปรับปรุงแก้ไข
ปีแรก 2560 ได้เตรียมพร้อมคณะทำงานใน อสค. ทั้ง 5 ภาค และตัวแทนเข้ามาเป็นคณะทำงานประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ เพื่อเรียนรู้ว่าเกณฑ์การประเมินเป็นอย่างไร พอปี 2562 ก็มีแนวทางการประเมินว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจคืออะไร จำนวนน้ำที่ผลิตได้เท่าไหร่/ปี และตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจมาตลอด โดยมีซอฟท์แวร์ให้แต่ละภาคกรอกข้อมูลแล้ววิเคราะห์ด้วยตนเอง เป็นข้อมูลรายเดือน รายไตรมาส เพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ เรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ร่วมกับที่ปรึกษา เอาข้อมูลทางวิชาการไปให้คณะทำงาน แล้วลงพื้นที่ปฏิบัติการจริง เก็บข้อมูลจริงๆ ตั้งแต่ปี 2560-2566 และปี 2567 นี้ จะทำกิจกรรมกับฟาร์ม เรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปี 67-69 จะประเมินวัดผลจัดทำข้อมูลพื้นฐาน และปี 2570 จะประเมินผลทั้งหมดของ อสค. ทั้ง 5 สำนักงานภาค
การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยเฉพาะฟาร์มวัวนมของเกษตรกร ที่ชัดเจนในด้านการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่าง ฟาร์มสุกิต ที่ผลิตไบโอแก๊สจากมูลวัว ทำกระถางต้นไม้จากกากมูลวัว หรือ ชัยยุทธ์ฟาร์ม ที่น้ำพอง ขอนแก่น ติดตั้งโซลาเซลล์ สูบน้ำลงแปลงหญ้า ลดการใช้พลังงาน หรือ ศูนย์รับน้ำนมดิบกงไกรลาศ ก็ทำเรื่องพลังงาน หรือ ฟาร์มจักรพันธ์ ติดตั้งเครื่องแยกกากเพื่ออัดเป็นปุ๋ย หรือ เฉลียวเฟรซวิลฟาร์ม ได้รับทุนให้ทำ ให้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข เป็นต้น ดังนั้นฟาร์มที่มีองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการฟาร์มจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน “จะมีการสำรวจข้อมูลฟาร์ม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบสหกรณ์ เพื่อดูว่าเขามีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วจะประเมินก๊าซเรือนกระจกก่อนจะมีโครงการต่างๆ ว่าตัวเลขเท่าไหร่ หลังมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนแล้วสามารถลดการปล่อยได้เท่าไหร่ โดยมีหลักสูตรใส่เข้าไปในหลักสูตรของ อสค. แล้วให้เกษตรกรเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ในอนาคต ต่อยอดในเรื่องประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจของ อสค. และตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน” คุณมาลินีย์ ให้ความเห็น
การติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป / โซลาร์ฟลอตติ้ง
อสค. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำธุรกิจนมครบวงจร คู่ขนานกับอุตสาหกรรมนมไทย ของภาคเอกชน แต่ในหลายๆ ภารกิจ ก็ได้ร่วมงานกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป และ โซลาร์ฟลอตติ้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมี นายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่า PEA และ นายชัยณรงค์ เปาอินทร์ รองผู้อำนวยการ อสค. ลงนามที่ อสค.ประจวบคีรีขันธ์ โดยติดตั้งที่ อสค.สระบุรี อสค.ขอนแก่น อสค.สุโขทัย และ อสค.ประจวบคีรีขันธ์ มีขนาดกำลังการผลิตรวม 4,851.99 กิโลวัตต์ สูงสุด ซึ่ง PEA จะดูแลบำรุงรักษาตลอดเวลา 20 ปี ทำให้ อสค.ลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน
นี่คือการผนึกกำลังของ 2 วิสาหกิจเกรด Aในเรื่องส่งเสริมอุตสาหกรรมโคนมอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจที่ชูธง ESG และ BCG อย่างโดดเด่น
ยอมรับว่า PEA มีความเชี่ยวชาญเรื่องโซลาร์เซลล์ ทั้งบนหลังคา และลอยน้ำ ซึ่งต้องใช้เทคนิคหลายๆ อย่าง เป็นเรื่องของทีมงานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพราะมีประสบการณ์ในการลดต้นทุนด้านพลังงานให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ
การส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนม
สำหรับภาคเอกชนก็ได้ทำงานร่วมกันหลายบริษัท เช่น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดย นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กับ นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ อสค. ได้ลงนามเดินหน้า “โครงการประสานสร้างความยั่งยืนโคนมไทย” โดยนำ “จุดแข็ง” ของ 2 องค์กร มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมนมไทยทั้งห่วงโซ่ 7 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วประเทศ คาดว่าจะมีประชากรวัวนมกว่า 12,000 ตัว เพื่อเข้าสู่ “การเกษตรแบบแม่นยำ” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลการเลี้ยงมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาพัฒนาให้ตรงจุด วัดผลได้ เพื่อสร้างผลผลิตน้ำนมคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน อสค. ก็ได้จับมือกับ บริษัท ออลเทค ไบโอเทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมด้านโภชนาการด้านสุขภาพสัตว์ระดับโลก ได้บันทึกลงนามกับ อสค. เรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของสมาชิกสหกรณ์ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” เป็นเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งสวัสดิภาพวัวนม โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “WORKING TOGETHER FOR A PLANET OF PLENTY” ร่วมกันทำงานเพื่อโลกแห่งความอุดมสมบูรณ์ สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลก ที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ที่มี นายสมพร ศรีเมือง เป็นผู้อำนวยการ ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมวัวนมของ อสค. พัฒนาตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้ BCG MODEL อย่างชัดเจน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก การเสวนาวิชาการ งานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2567