จ่าสิบเอกธวัชชัย ซ่อนกลิ่น หรือ “จ่าอ๊อด” อายุ 62 ปี อดีตข้าราชการที่เกษียณอายุออกมาเพื่อประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ โดยการเลี้ยงไก่เนื้อ ด้วยเล็งเห็นว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
จ่าอ๊อดจบการศึกษาจากโรงเรียนนายกวัฒนากร ปากพลีวิทยา อำเภอปากพลี หรือที่เรียกกันติดปากว่า นวก 3 ด้วยความที่ชื่นชอบในด้านเกษตรกรรมเป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนราชการ หรือเออรี่รีไทน์ เพื่อที่จะได้มีเวลาให้กับอาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มที่ โดยได้ใช้เวลาถึง 2 ปี เพื่อศึกษาการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ไก่ หมู และ วัว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจ่าอ๊อดก็ตัดสินใจทำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ ภายใต้ชื่อ “จ่าอ๊อดฟาร์ม” โดยให้เหตุผลว่า
- การเลี้ยงไก่เนื้อใช้พื้นที่น้อย แต่รายได้ดี
- สิ่งปฏิกูลทั้งหลาย เช่น มูลไก่ ไม่รบกวนชาวบ้านในชุมชนมากนัก การจัดการถือว่าง่าย ถ้าคนละเอียดก็ไม่ยุ่งยาก แล้วแต่คน แต่จ่าอ๊อดเคยรับราชการทหารมาก่อนเลยเป็นคนละเอียดพอสมควร โดยจ่าอ๊อดจะดูแลและจัดการฟาร์มเองทั้งหมด นอกจากมีงานที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ จะจ้างคนมาช่วย
- การเลี้ยงไก่เนื้อ บริหารและจัดการได้โดยใช้แรงงานไม่มาก
จุดเริ่มต้นเลี้ยงไก่เนื้อ
ด้านเงินลงทุนเริ่มแรกได้มาจากเงินบำเหน็จประมาณ 300,000 บาท ในตอนนั้นจ่าอ๊อดได้ไปดูงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อระบบปิดแถบชลบุรี-ระยอง เมื่อศึกษาดูงานจนเห็นว่าการเลี้ยงไก่เนื้อระบบปิดให้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงตัดสินใจทำฟาร์มในระบบอีแวป โดยเริ่มเลี้ยงครั้งแรกจำนวน 3,000 ตัว เมื่อการเลี้ยงครั้งแรก และการเลี้ยงครั้งที่ 2 ได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ จึงตัดสินใจขยายจาก 3,000 ตัว เป็น 7,000 กว่าตัว
จนปัจจุบันสามารถเลี้ยงไก่เนื้อได้ถึง 11,000 ตัว ตอนนั้นอุปกรณ์ยังไม่ทันสมัย ระบบยังไม่เป็นอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติ แต่ยังไม่ทันสมัยมาก มีทันสมัยแค่ระบบการให้อาหาร ส่วนการใช้กล้องวงจรปิด เคยคิดแต่ยังไม่ทำ แต่คิดว่าพื้นที่น้อย เดินไปดูก็ได้ บางทีใช้กล้องวงจรปิดมันอาจจะไม่ชัด
ปัจจุบันโรงเรือนมีขนาดความกว้าง 14 ม. ยาว 80 ม. จากการเลี้ยงครั้งแรก ที่สามารถเลี้ยงได้ 11,000 ตัว เห็นว่าพอมีกำไร จึงตัดสินใจขยายฟาร์มเพิ่มอีก 1 โรงเรือน ปัจจุบันทางฟาร์มมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 22,000 ตัว
สายพันธุ์ไก่เนื้อ
ส่วนพันธุ์ไก่ที่เลี้ยงจะเป็นพันธุ์อาร์เบอร์ เอเคอร์ส โดยเป็นคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท พงศ์ศักดิ์การเกษตร จำกัด เมื่อถามถึงข้อดีและข้อเสียของพันธุ์ไก่ที่บริษัทนำมาให้ จ่าอ๊อดกล่าวว่า “ไม่เห็นตอนเขาคัดไก่ แต่เห็นตอนที่ลูกไก่มาที่ฟาร์มแล้ว เพียงแค่สังเกตว่าลูกไก่ที่ลงให้ตัวเล็กหรือแข็งแรงดีหรือไม่ แต่ไม่ได้ดูลึกซึ้งถึงพ่อแม่พันธุ์ แล้วก็ติดสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท เมื่อบริษัทให้ลูกไก่อะไรมาก็ต้องเลี้ยง 7 วันแรกผู้เลี้ยงจะรู้เลยว่าได้ลูกไก่พันธุ์ดี ไม่ดี ถ้าตายมาก สูญเสียมาก ก็ถือว่าได้ลูกไก่ไม่ดี แต่โดยรวมจากที่เลี้ยงมาหลายรุ่นถือว่าดี” ส่วนการกำจัดซากไก่ตายจะทำโดยการฝัง บางครั้งอาจเผาแล้วนำไปให้ปลากินเป็นอาหาร
โดยการเลี้ยงแบบประกันราคา 36 บาท/กก. โดยให้เหตุผลว่าการเลี้ยงแบบประกันราคาจะได้ใช้ความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้ามีการจัดการดูแลดี การตอบแทนก็สูงขึ้นตามไปด้วย การดูแลไก่ตั้งแต่แรกเข้า เริ่มจากการเตรียมเครื่องกกให้พร้อม มีการจำกัดพื้นที่เพื่อให้ลูกไก่ได้รับความอบอุ่นอยู่เกณฑ์ประมาณ 32 องศา โดยใช้เวลา 3 วัน
การให้อาหารลูกไก่
การให้อาหารช่วงลูกไก่แรกเข้าจะใช้ภาชนะใส่อาหาร ที่มีลักษณะเป็นแอ่ง โดยอาหารจะไหลลงเรื่อยๆ เมื่อลูกไก่กินด้วยวิธีการนี้ จึงทำให้การจัดการให้อาหารลูกไก่เพียง 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง กกไปจนลูกไก่อายุครบ 7 วัน เป็นอย่างน้อย แล้วปล่อยลูกไก่ให้กระจายเต็มเล้า ที่ต้องขยายพื้นที่ออกเพราะลูกไก่เริ่มโตขึ้น การที่ลูกไก่อยู่อย่างแออัดเกินไป ส่งผลให้ลูกไก่ตายได้ หลัง 7 วัน ก็เริ่มให้อาหารทางไลน์อัตโนมัติ
จนกระทั่งทางบริษัทมาจับไป ส่วนในเรื่องอาหารนั้นจะใช้อาหารที่บริษัทนำมาให้ ส่วนวิธีการให้อาหารเพื่อให้ไก่โตเร็วนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคน เช่น บางคนอาจให้อาหารแบบกินเต็มที่ หรืออาจให้วันละ 3-4 เวลา
การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ
หลังจากจับไก่ออกจากโรงเรือนเสร็จ ก็ทำความสะอาด ล้างเล้า ส่วนจะฆ่าเชื้อก่อนล้าง หรือล้างแล้วพ่นฆ่าเชื้อ ก็เป็นเรื่องเทคนิคของแต่ละบุคคล จากนั้นก็ล้างอุปกรณ์ทั้งหมด พักเล้าเป็นเวลา 1 อาทิตย์ ถือว่าใช้ได้แล้ว บางเล้าหากจำเป็นจริงๆ ทำให้ไม่สามารถพักเล้าได้ เนื่องจากต้องรีบลงไก่ ก็อาศัยวิธีใช้พัดลมเป่าแห้งแล้วลงแกลบเลย หากทางบริษัทเร่งอัตราการผลิต แต่ถ้าให้ดีต้องอย่างน้อย 14 วัน
แกลบที่ได้นั้นเป็นแกลบที่จ่าอ๊อดใช้มูลไก่เนื้อแลกมา ทำให้ลดต้นทุนวัสดุรองพื้นไปในตัว ในด้านการเลี้ยงไก่เนื้อจนถึงจับนั้นใช้เวลา 42 วัน ตามข้อตกลงกับทางบริษัท อาจจะจับก่อน จับหลัง แต่ก็จะอยู่ในช่วงไม่เกิน 45 วัน จับทีเดียวหมดเล้า เนื่องจากไก่จะได้ไม่ตกใจหลายรอบ ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพเนื้อของไก่ได้ ไก่ที่จะจับไปนั้นก็แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า บางครั้งก็จับที่ 1.8 กิโลกรัม เป็นใช้ได้ ต้องการไก่ใหญ่ก็อยู่ที่ระยะเวลาเลี้ยง 42-45 วัน
ด้านรายได้ เนื่องจากฟาร์มมีพื้นที่ไม่มาก ได้ขนาดนี้ก็ถือว่าดี เป็นที่น่าพอใจสำหรับจ่าอ๊อด เพราะใน 1 ปี สามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 4 รุ่น เมื่อคำนวณแล้วราคาไก่เนื้อต่อตัวก็ประมาณ 10 บาท หมื่นตัวก็ไม่เบาเหมือนกัน หักค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารแล้ว หลังจากขาย 4 รุ่น/ปี มีรายได้ประมาณ 50,000 บาท/รุ่น และมีเวลาอยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวด้วย
การจัดการเรื่องน้ำ การใช้ยาและวัคซีน
การจัดการเรื่องน้ำ จ่าอ๊อดใช้ระบบประปาหมู่บ้านของกรมชลประทาน และมีบ่อบาดาลของตัวเอง เพื่อลดภาระการใช้น้ำประปาของหมู่บ้าน โดยน้ำที่ให้ไก่เนื้อกินนั้นได้ประสานงานให้กรมปศุสัตว์ได้นำน้ำไปตรวจสอบทุกปี จึงไม่มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนในน้ำ
ส่วนการใช้ยาและวัคซีนในไก่ก็อยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์ ซึ่งจะมีตารางการให้ยาและวัคซีนเสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีสารพิษตกค้างในเนื้อไก่ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ด้านตลาดไก่เนื้อ
เนื่องจากอำเภอบางพลีเป็นละแวกที่มีผู้นิยมเลี้ยงไก่เนื้อมาก ทีมงานจึงถามถึงการแข่งขันเกี่ยวกับตลาดของไก่เนื้อ แต่จ่าอ๊อดกล่าวว่า “ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลย กลับมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเสียด้วย เพราะคนชอบเลี้ยงก็มาปรึกษากันในเขตพื้นที่ บางเล้าก็เลี้ยงบริษัทเดียวกัน ก็คุยปรึกษากันได้
ส่วนเล้าต่างบริษัทนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กัน เพราะวิธีการเลี้ยงไก่ให้โตเร็ว และแข็งแรงนั้น การเลี้ยงไก่ก็ไม่ต่างกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อจะมาคุยกันว่าเลี้ยงแบบไหนผลผลิตจึงจะออกมาดี แต่ละบริษัทมีปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อพิจารณาการเข้าร่วม หรือถ้าราคาบริษัทไหนราคาดี ดูแลลูกเล้าดี ก็บอกต่อ แล้วเข้าร่วมบริษัทนั้นด้วยกัน การพูดคุยกันนี้ก็ทำให้เกิดกลุ่มเล็กๆขึ้น มีเจ้าของฟาร์มมาเข้าร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ประมาณ 10 กว่าราย ซึ่งส่งผลดีมากกว่าผลเสีย”
ปัญหาและอุปสรรคใน ฟาร์มไก่เนื้อ
นี่คือเหตุผลที่จ่าอ๊อดเลือกใช้ลูกไก่ของ บริษัท พงศ์ศักดิ์การเกษตร จำกัด เนื่องจากต้องการทดลองเลี้ยง และด้วยการทำสัญญาที่ไม่ผูกมัด รวมถึงการเลือกบริษัทที่มีลูกไก่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำให้จ่าอ๊อดมีทางเลือกในการทำธุรกิจร่วมกับบริษัทที่ตนพอใจ ทั้งหมดนี้ดูราวกับว่าการเลี้ยงไก่ของเขาจะดูราบรื่น แต่การทำเกษตรกรรมหากไม่มีอุปสรรคความชำนาญก็จะไม่บังเกิด
ปัญหาโดยรวมของฟาร์มจะอยู่ที่การลงลูกไก่ บางครั้งต้องรอคิว เพราะลูกไก่มีไม่เพียงพอ ในส่วนการเลี้ยงบางทีเจอไก่ไม่แข็งแรง บางรุ่นเจออัตราการตายประมาณ 5 -7% ซึ่งก็ยังถือว่าปกติ ช่วงที่ตายเยอะที่สุดจะเป็นช่วงไก่เล็ก ยิ่งถ้าเป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว ไก่เล็กจะเสียหายค่อนข้างมากกว่าไก่ช่วงอื่น อาจตายวันละตัว สองตัว หรือมากกว่านั้น
แนวโน้มในอนาคต
แม้ว่าจะชอบอาชีพเกษตรกรรมการเลี้ยงไก่ และคิดจะขยายการเลี้ยงในอนาคต แต่ยังติดข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ในการเลี้ยง รวมถึงด้านปศุสัตว์จากภาครัฐ เพราะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ต่างๆ แต่ก็คิดว่าจะทำฟาร์มที่มีอยู่ไปจนกว่าจะทำไม่ไหว เพราะตนชื่นชอบอาชีพนี้จริงๆ
“อาชีพเลี้ยงไก่เนื้อเหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด และห่างจากชุมชน หากมีพื้นที่พอสำหรับสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่สัก 10,000-20,000 ตัว ก็ถือว่าสามารถเลี้ยงได้ ข้อสำคัญต้องศึกษาข้อมูลของบริษัทที่จะร่วมทำข้อตกลงให้ละเอียด” จ่าอ๊อดกล่าวทิ้งท้าย