มะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ GI 4 แผ่นดิน
เพิ่มความหอมหวานด้วยขี้ไก่งวง
น้ำจากเทพที่หอมหวานตามความเชื่อของ “ชาวจีน” กลายเป็น “น้ำเกลือแร่” ที่มนุษย์นิยมดื่มมากขึ้น
แต่ “ความหอมหวาน” มิได้เกิดในมะพร้าวทุกสายพันธุ์เกิดเฉพาะในพันธุ์ก้นจีบ และปลูกในพื้นที่ปากแม่น้ำที่อตีตเคยมีน้ำทะเลท่วม และมี น้ำจืด จากแม่น้ำมาผสมผสานโดยมี “ชุดดิน” ในพื้นที่ดำเนินฯ จะเหนียว และดินดำเพราะมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งกระจุกอยู่ในบางอำเภอของจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม เท่านั้น
ดังนั้น ดินและน้ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้มะพร้าวน้ำหอม ก้นจีบ มีอัตลักษณ์ที่เป็น “จุดขาย” ของตัวเอง
คุณศิริพร จูประจักษ์ ผอ.สศท.10 ราชบุรี ได้ศึกษาจนสรุปว่า มะพร้าวน้ำหอมก้นจีบปลูกในจังหวัดราชบุรี เป็นอันดับ 1 หรือ 34.68% ของพื้นที่ทั้งประเทศเป็นจังหวัดที่ ครม. อนุมัติให้จัดทำโครงการพัฒนา ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมโดย สวทช. และ วว. ภายใต้ BCG Model และเมื่อ
วันที่ 29 ธันวาคม 2558 กรมทรัพย์สินทางปัญญาโดย นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีได้ลงนามให้มะพร้าวน้ำหอมก้นจีบเป็นมะพร้าว GI ทะเบียนเลขที่ สช 60100097
เมื่อมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบดำเนินสะดวก เป็นพื้นที่หลักของกลุ่ม (จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี) ดังนั้น ส่วนราชการอย่าง กรมส่งเสริมการเกษตร และ
กรมวิชาการเกษตร จึงต้องเข้าไปส่งเสริมด้วยรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผลักดันชาวมะพร้าวน้ำหอมให้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น ดังนั้น ผู้นำท้องถิ่นอย่าง กำนันเสน่ห์ ชูนิตย์ ผู้ปลูกมะพร้าวมืออาชีพ ได้รับการยอมรับให้เป็นอุปนายกคนที่ 1 ของสมาคมมะพร้าวน้ำหอมประเทศไทย
กำนันเสน่ห์ ชูนิตย์ ให้แนวทางการปลูกมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ GI
วันที่ 9 ตุลาคม 67 เขาได้เปิดใจกับ พายัพ ยังปักษี เลขาธิการสมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ(สพส.) องค์กรภาคพลเมือง และบรรณาธิการอาวุโส นิตยสารสัตว์บก และ เว็ปไซต์ พลังเกษตร.com ว่าตนเป็นประธานแปลงใหญ่ระดับเขต และระดับจังหวัด ดังนั้น ศูนย์วิจัยพืชสวน ทั้งชุมพร และจันทบุรีได้มาทำการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษา ว่ามะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ GI ต้องการดิน ธาตุอาหาร แสงแต่ละช่วงอายุเป็นอย่างไร โดยใช้ นักวิชาการ และ อุปกรณ์ทันสมัย มาศึกษาเชิงลึกแม้กระทั่งศึกษาว่าปากใบเปิดรับอาหารตอนไหน เป็นต้น โดยกำนัน เสน่ห์ ร่วมศึกษาอยู่กับมะพร้าวมานาน การศึกษาของนักวิชาการเหมือนกับศึกษาเรื่องปาล์มน้ำมัน “ เรื่องราก ใบ ต้น สำคัญหมด แต่มะพร้าวยากกว่าปาล์ม มันต้องหอมต้องหวาน หาเหตุไม่ติดลูกเพราะอะไร ติดแล้วมีแต่น้ำไม่มีเนื้อเพราะอะไร ดังนั้น มะพร้าวใช้ความหอมเป็นตัวชี้วัดมันยากขึ้น” กำนันเสน่ห์ ให้ความเห็น
ในฐานะที่ มะพร้าวน้ำหอม ของไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลกแต่ก็มีประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องพัฒนาตลอดโดยเฉพาะ
“สายพันธุ์” ซึ่งเรื่องนี้กำนันเสน่ห์เปิดเผยว่าทาง สมาคมมะพร้าวน้ำหอมประเทศไทย ที่ตนเป็น
อุปนายกได้ตัดสินใจนำเสายพันธุ์มะพร้าวแก่กับมะพร้าวน้ำหอมผสมกันเพื่อให้ได้ ลูกผสม ที่ลูกใหญ่ขึ้นและน้ำยังหอมเหมือนเดิม เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวสวนที่มีมะพร้าวลูกเล็กต้องขายควบ 2 ลูก นับเป็น1ลูก ขณะนี้ได้ทดลองปลูกแล้วแต่ยังไม่ออกผลซึ่งการผลิตพันธุ์ลูกผสมมี ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มาร่วมวิจัยด้วยทั้งต้นพ่อและต้นแม่ได้คัดเลือกอย่างดี โดยเฉพาะความหอมของต้นแม่ต้องสุดยอดจริง ๆ จึงนำมาเป็นแม่พันธุ์
แม้แต่เรื่อง อุณหภูมิ ที่สูงขึ้นช่วงร้อนจัด 4-5 เดือน/ปี ทำให้มะพร้าวขาดคอ เพราะมันไม่ผสมเกสร ดร.วรภัทร แนะนำให้เอาเกสรตัวผู้จากต้นเตี้ยมากรองใส่น้ำแล้วนำไปฉีดพ่นกับเกสรตัวเมีย ก็จะได้ลูกซึ่งอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซสเซียส ทางสมาคมได้เครื่องปรับอุณหภูมิจาก สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยโดย ดร.สุนทร พิพิชแสงจันทร์ อดีตนายกสมาคมมาให้ใช้ปรับอุณหภูมิแต่ละระดับ นอกจากนี้ชาวสวนมะพร้าวน้ำหอมและเกษตรกรในดำเนินสะดวก ได้ใช้เครื่องแรงดันสูงที่เรียกว่า ปั๊มดับเพลิง มาใส่แล้วฉีดพ่นน้ำถึงยอดมะพร้าวก็ปรับอุณหภูมิได้
“ปรับอุณหภูมิให้เย็นช่วยผสมเกสรระหว่างตัวผู้กับตัวเมียได้ดีชาวสวนดำเนินสะดวกรุ่นก๋ง อาม่า เรียกลมร้อนที่พัดมาว่า ลมไซฮวง ทำให้เกสรผลไม้ร่วง จึงต้องใช้น้ำช่วยแต่ผมต้องผสมผสานนวัตกรรมใหม่กับเก่ามาช่วย” กำนันเสน่ห์ให้ความเห็น
กำนันเสน่ห์ ใช้ปุ๋ยอะไรมาช่วยลดต้นทุนในสวนมะพร้าว
เรื่องปุ๋ยก็สำคัญ กำนันเสน่ห์เปิดเผยว่าตนใช้ ขี้นกกระทา แต่เมื่อราคาแพงก็ต้องนำ ขี้ไก่งวง จาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี ที่มี คุณศรีสุนันท์ พวงอินทร์ (คุณปู) เป็นประธานมาใช้
ปรากฏว่ามะพร้าวให้น้ำที่หวานมากขึ้น นอกจากนี้กำนันเสน่ห์ต้องนำปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24
มาใช้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว เพื่อกระตุ้นให้ออกช่อดอก โดยใส่ต้นละครึ่งกิโลกรัม ทุก ๆ 60 วัน
2-3 ครั้งก็พอ
ดังนั้น ขี้ไก่งวง จึงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ 4 แผ่นดิน ชัดเจน
ร่วมเรียนรู้แนวทางปลูกมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ GI กับ
กำนันเสน่ห์ ชูนิตย์ โทร. 089-260-7729
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับ 378 (ต.ค 67)