การใช้ รำละเอียด เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ
รำละเอียด (rice bran) เป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการสีข้าว โดยได้จากการขัดส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวออก ทำให้ข้าวสารมีสีขาวสวย รำละเอียดถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารที่ได้รับความนิยมผสมอาหารสัตว์โดยทั่วไป เพราะเป็นวัตถุดิบอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นทั่วไป มีราคาถูกกว่าปลายข้าว ในขณะที่มีปริมาณโปรตีนมากกว่า การใช้ในสูตรอาหารสัตว์มักทำให้ราคาสูตรอาหารถูกลง อีกทั้งรำละเอียดคุณภาพดี จะมีกลิ่นหอมชวนกินด้วย จึงทำให้มีการใช้รำละเอียดเป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ อย่างแพร่หลาย
เช่นเดียวกันกับปลายข้าว รำละเอียดที่มีขายในท้องตลาดจะมีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
- รำข้าวเจ้า
- รำข้าวเหนียว และ
- รำข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และข้าวนึ่ง ตามลำดับ
คุณค่าทางอาหารของรำละเอียด
รำละเอียดทุกชนิดโดยทั่วไปมีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหารไม่แตกต่างกันมาก โดยมีโปรตีนประมาณ 12% ไขมันประมาณ 12-13% และเยื่อใยประมาณ 13% เช่นกัน และมีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหารอื่นๆ รำละเอียดจึงเป็นวัตถุดิบอาหารที่ให้โปรตีนและไขมันสูงกว่าปลายข้าว ในขณะที่รำละเอียดมักมีราคาถูกกว่าปลายข้าว
การใช้รำละเอียดในสูตรอาหารจึงมักทำให้สูตรอาหารมีราคาถูกลง ไขมันในรำละเอียดเป็นไขมันเหลว มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง โดยเฉพาะกรดลิโนเลอิค (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นสำหรับสัตว์ปีก รำละเอียดจึงเหมาะที่จะใช้เป็นวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก เพื่อใช้เป็นแหล่งให้กรดไขมันจำเป็นในอาหารดังกล่าว อีกทั้งยังเหมาะใช้เลี้ยงสุกรเพื่อเป็นแหล่งให้ไขมันเหลวในสูตรอาหาร ช่วยป้องกันอาการไขมันแข็งในซากสุกรด้วย
รำละเอียดถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานพื้นฐานที่มีการใช้ในสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกชนิดต่างๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยใช้ในระดับสูงสุดไม่เกิน 30% ในสูตรอาหาร และมักใช้ร่วมกับวัตถุดิบอาหารพลังงานอื่นๆ เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือมันสำปะหลัง โดยทั่วไปรำละเอียดมีราคาถูกกว่าปลายข้าว แต่มีระดับโปรตีนสูงกว่า ดังนั้นรำละเอียดมักจะถูกเลือกใช้ในสูตรอาหารสัตว์ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกด้วย เมื่อใช้ในสูตรอาหารแล้วทำให้สูตรอาหารมีราคาถูกลง
อย่างไรก็ตามรำละเอียดเป็นวัตถุดิบอาหารที่มีระดับเยื่อใยอยู่ในเกณฑ์สูง (12-13%) และมีความฟู หรือฟ่ามมาก รำละเอียดจึงควรใช้ในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ไม่เกิน 50% ในสูตรอาหาร หากใช้ในระดับสูงมากกว่านี้จะมีผลทำให้อาหารมีลักษณะฟ่ามมาก ทำให้สัตว์กินอาหารได้น้อย และมีผลทำให้การเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารด้อยลง สัตว์ระยะเล็กที่ต้องการอาหารที่มีระดับเยื่อใยต่ำ จึงทำให้มีการใช้รำละเอียดในสูตรอาหารดังกล่าวในระดับต่ำตามไปด้วย
คุณสมบัติของรำละเอียด
รำละเอียดที่ใช้ควรมีคุณภาพดี ได้แก่ มีความชื้นต่ำ ไม่มีการปนปลอมของแกลบบด ดินขาว หรือหินฝุ่น มีระดับเยื่อใยไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ ไขมันในรำละเอียดยังไม่หืน รำละเอียดไม่ขึ้นรา หรือจับเป็นก้อน ไม่มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง รำละเอียดดังกล่าวจึงจะเป็นวัตถุดิบอาหารที่ดีแก่สัตว์
ไขมันในรำละเอียดเป็นไขมันไม่อิ่มตัว มีโอกาสหืนได้ง่าย และทำให้อายุการเก็บรำละเอียดสั้นลง รำละเอียดที่แห้ง (ความชื้นต่ำ) และเก็บไว้ในกระสอบป่าน ควรใช้ให้หมดภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ารำละเอียดนั้นมีความชื้นสูง จะเกิดการหืนที่เร็วขึ้น ยิ่งทำให้อายุการเก็บรำละเอียดสั้นลงไปอีก
การใช้รำละเอียดจากข้าวนาปรังจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรำละเอียดดังกล่าวมักจะมีความชื้นสูง และเก็บได้ไม่นาน เกิดการหืน และขึ้นราง่าย นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนมาด้วย ถ้าจำเป็นต้องใช้รำละเอียดดังกล่าวควรรีบใช้โดยเร็ว และควรใช้เป็นอาหารของสัตว์ที่มีความทนทานต่อสารพิษสูง เช่น สุกรขุน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงการใช้รำละเอียดคุณภาพต่ำดังกล่าวได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ใช้รำละเอียดนั้นในอาหารสัตว์ รำข้าวนาปรังที่มีความชื้นสูง ไม่แนะนำให้ใช้ในอาหารสัตว์วัยอ่อนและวัยรุ่น รวมทั้งในอาหารสัตว์พ่อแม่พันธุ์ และอาหารไก่ไข่ เพราะสัตว์เหล่านี้มีความไวต่อสารพิษเชื้อรา และสารพิษยาฆ่าแมลง ที่อาจปนเปื้อนมากับรำละเอียด ทำให้เปอร์เซ็นต์การไข่ของไก่ลดลง แม่สุกรเกิดการแท้งลูกได้
การใช้รำละเอียดระดับสูงในสูตรอาหารจะทำให้ไขมันในตัวสัตว์เป็นไขมันเหลว หรือหากไขมันในตัวสัตว์เป็นไขมันแข็งอยู่ (ด้วยเหตุผลใดก็ตาม) และต้องการปรับไขมันในซากให้เป็นไขมันเหลว ก็อาจทำได้โดยการใช้รำละเอียดระดับสูงในสูตรอาหารนั้น ซึ่งจะช่วยทำให้ไขมันในซากสัตว์มีลักษณะอ่อนตัวลง
ในช่วงที่รำละเอียดมีราคาแพง เช่น ในสภาวะมีการสีข้าวน้อย รำละเอียดออกสู่ท้องตลาดน้อย รำละเอียดอาจมีการปนปลอมด้วยรำหยาบ หรือแกลบบดละเอียด ซึ่งมีผลทำให้ระดับเยื่อใยของรำละเอียดสูงขึ้น นอกจากนี้เยื่อใยในแกลบจะมีปริมาณสารไฟติน ซึ่งเป็นสารขัดขวางโภชนะในระดับสูง
รำละเอียดยังมีการปนปลอมด้วยแกลบบดในระดับสูงมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้รำละเอียดนั้นมีระดับเยื่อใยและระดับสารไฟตินสูงมากขึ้นเท่านั้น สารไฟตินเป็นสารขัดขวางโภชนะที่ไปยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ธาตุทองแดง ธาตุสังกะสี และธาตุแมงกานีส ในสูตรอาหาร การใช้รำละเอียดที่มีการปนปลอมด้วยแกลบบดในระดับสูง ทำให้สูตรอาหารมีคุณค่าทางอาหารต่ำลง และตัวสัตว์อาจแสดงอาการขาดธาตุต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะอาการขาดธาตุสังกะสีในเวลาอันรวดเร็ว การซื้อรำละเอียดมาใช้เป็นอาหารสัตว์ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการปนปลอมด้วยแกลบบดเป็นอย่างดีด้วย
รำละเอียดบางพื้นที่อาจมีการปนปลอมด้วยดินขาว หรือหินฝุ่นมาก ทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง อีกทั้งสูตรอาหารจะมีระดับธาตุแคลเซียมสูงเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็น จึงส่งผลไปขัดขวางการใช้ประโยชน์ได้ของธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี และแมงกานีส ทำให้สัตว์แสดงอาการขาดธาตุเหล่านี้ได้เช่นกัน การซื้อรำละเอียดมาเป็นอาหารสัตว์จึงจำเป็นต้องตรวจสอบการปนปลอมด้วยวัสดุเหล่านี้ด้วย
การสกัดน้ำมันรำละเอียด
รำสกัดน้ำมัน (solvent extracted rice bran) เป็นผลพลอยได้จากการสกัด น้ำมันรำละเอียด ด้วยตัวทำละลาย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะได้น้ำมันรำดิบเพื่อนำไปทำให้บริสุทธิ์ และใช้เป็นน้ำมันเพื่อการบริโภค และกากรำ หรือรำสกัดน้ำมัน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ กระบวนการผลิตน้ำมันรำโดยการสกัดด้วยตัวทำละลาย มักเริ่มต้นด้วยการคัด รำละเอียด ที่มีคุณภาพดี มีความสดใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ได้น้ำมันรำที่คุณภาพดี มีการร่อนเอากาก หรือเยื่อใยออกบางส่วน (ส่วนที่เอาออกได้) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันให้สูงขึ้น อีกทั้งทำให้รำสกัดน้ำมันมีระดับเยื่อใยต่ำลง โดยทั่วไปรำสกัดน้ำมันมีโปรตีนสูงขึ้นเป็น 15% และมีระดับกรดอะมิโนจำเป็นในอาหารทุกชนิดสูงกว่า รำละเอียด ตามสัดส่วนของเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่เพิ่มขึ้น แต่มีระดับไขมันและพลังงานใช้ประโยชน์ได้ (พชด.) เท่ากับ 3.7% และ 2.732 กค./กก. ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่า รำละเอียด รำสกัดน้ำมันมีระดับเยื่อใยโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9% ซึ่งต่ำกว่ารำละเอียดเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากในกระบวนการสกัดน้ำมันมีการแยกเอาเยื่อใยบางส่วนใน รำละเอียด ออกไปก่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ตามรำสกัดน้ำมันอาจมีข้อด้อยบางประการสำหรับใช้เป็นอาหารสุกรและสัตว์ปีกดังนี้ คือ
1.เนื่องจากโดยธรรมชาติรำละเอียดมักมีสารแทนนินเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งในกระบวนการสกัดน้ำมันมีการให้ความร้อนแก่รำละเอียด จึงทำให้สารแทนนินทำปฎิกิริยากับโปรตีนบางส่วนในรำละเอียด เกิดเป็นสารเชิงซ้อนที่ร่างกายสัตว์กระเพาะเดี่ยว (เช่น สุกร และสัตว์ปีก) ย่อยได้ยากขึ้น และทำให้การย่อยได้โปรตีนโดยรวมลดลง โดยเฉพาะในสัตว์ระยะเล็ก และรุ่น แต่การย่อยได้จะดีขึ้นในสัตว์ระยะขุน และระยะโตเต็มวัยแล้ว
2.รำสกัดน้ำมันจะยังมีสารไฟติน และสารโพลิแซคคาไรด์ ที่ไม่ใช่แป้ง (non-starch polysacchaedes; NSP) ในระดับสูง และอาจสูงกว่าในรำละเอียด เพราะกระบวนการสกัดน้ำมันมีการดึงเอาไขมันออกไป จึงทำให้สารดังกล่าวในรำสกัดน้ำมันมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิด มีผลไปรบกวนการย่อยได้ของโภชนะในทางเดินอาหารของสัตว์โดยตรง การใช้รำสกัดน้ำมันระดับสูงขึ้นในสูตรอาหารสุกร จะมีผลทำให้การย่อยได้ของอาหาร และประสิทธิภาพการใช้อาหารของสุกรลดลง การใช้รำสกัดน้ำมันในอาหารสุกรและสัตว์ปีกจึงควรใช้ในระดับต่ำ หากใช้ในระดับสูงขึ้นควรจะต้องมีการเสริมน้ำย่อยไฟเตส และน้ำย่อย NSPase ลงไปในอาหารด้วย อุทัย คันโธ และคณะ (2549) ได้ศึกษาการใช้รำสกัดน้ำมันทดแทนรำละเอียดในอาหารสุกรระยะรุ่น-ขุนที่ระดับ 20-30 และ 35% ในสูตรอาหาร ผลจากการศึกษาพบว่าการใช้รำสกัดน้ำมันทดแทน รำละเอียด ที่ใช้ในระดับ 20% ในสูตรอาหาร ไม่มีผลทำให้สมรรถภาพการผลิตของสุกรระยะรุ่น-ขุนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่ประการใด การใช้รำสกัดน้ำมันในระดับสูงขึ้นเป็น 30 และ 35% ในสูตรอาหาร มีผลทำให้สมรรถภาพการผลิตของสุกรระยะรุ่น-ขุนด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อมีการเสริมน้ำย่อยไฟเตส-น้ำย่อย NSPase ลงในสูตรอาหารที่ใช้รำสกัดน้ำมันในระดับสูงดังกล่าว พบว่ามีผลทำให้สมรรถภาพการผลิตของสุกรระยะรุ่น-ขุนดีขึ้น จนไม่แตกต่างจากสูตรอาหารที่ใช้ รำละเอียด แต่ประการใด
3.รำสกัดน้ำมันมีปริมาณไขมันน้อยมาก จึงมีลักษณะเป็นฝุ่นมาก อีกทั้งยังมีลักษณะฟ่ามมากด้วย การใช้รำสกัดน้ำมันในสูตรอาหารสัตว์ในระดับสูง มักมีผลทำให้อาหารมีลักษณะเป็นฝุ่นมากตามไปด้วย ส่งผลไปรบกวนการกินอาหารของสัตว์ ทำให้สัตว์กินอาหารได้น้อยลง มีการกินน้ำมากขึ้น ประสิทธิภาพการย่อยอาหารด้อยลง การเติบโตและการให้ผลผลิตต่างๆ ลดลงด้วย ดังนั้นการใช้รำสกัดน้ำมันระดับสูงในสูตรอาหารจำเป็นต้องแก้ปัญหาการเป็นฝุ่นของอาหารด้วย
รำสกัดน้ำมันแนะนำให้ใช้ในสูตรอาหารสัตว์ที่มีความต้องการ หรือมีความทนทานต่อระดับเยื่อใยสูง เช่น สุกรขุน ไก่สาว แม่สุกรอุ้มท้อง และอาหารเป็ด โดยมีปริมาณการใช้ไม่เกิน 15-20% ในสูตรอาหาร อย่างไรก็ตามหากอาหารนั้นมีลักษณะเป็นฝุ่นมาก และมีผลต่อการกินอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นต้องลดการเป็นฝุ่นของอาหาร ด้วยการเสริมกากน้ำตาล หรือไขมัน ในสูตรอาหารนั้นในระดับ 2-4%ะ หรือจนกว่าลักษณะการเป็นฝุ่นของอาหารดังกล่าวหมดไป การใช้รำสกัดน้ำมันในระดับที่สูงกว่านี้ยิ่งต้องระวังการเป็นฝุ่นของอาหารให้มากขึ้น
ผลการใช้รำสกัดน้ำมันเป็นอาหารสุกรระยะรุ่น-ขุน
สูตรอาหารที่ |
||||||
1 |
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
|
รำละเอียด/รำสกัด (%) |
20/0 |
0/20 |
0/30 |
0/30 |
0/35 |
0/35 |
การเสริมน้ำย่อยสังเคราะห์* |
– |
– |
– |
± |
– |
± |
นน.เริ่มต้น (กก.) |
29.26 |
30.55 |
29.47 |
29.26 |
29.6 |
28.96 |
นน.สิ้นสุด (กก.) |
99.19 |
97.83 |
98.06 |
99.54 |
97.73 |
100.88 |
นน.เพิ่มเฉลี่ย (กก.) |
69.39 |
67.28 |
68.59 |
70.28 |
68.13 |
71.92 |
การเติบโต (กก./ตัว/วัน) |
0.76 |
0.72 |
0.7 |
0.7 |
0.72 |
0.74 |
อาหาร/นน.เพิ่ม |
2.85 |
2.94 |
3.12 |
3 |
3.19 |
2.96 |
ความหนาไขมันสันหลัง (ซม.) |
1.2 |
1.19 |
1.37 |
1.34 |
1.47 |
1.33 |
พท.หน้าตัดเนื้อสัน (ซม.²) |
35.13 |
36.4 |
34.69 |
36.74 |
34.94 |
36.06 |
เปอร์เซ็นต์เนื้อแดง |
54.13 |
54.8 |
53.19 |
54.34 |
53.21 |
54.22 |
*น้ำย่อยไฟเตส + NSPase
แสดงที่มา : ดร. อุทัย คันโธ และคณะ (2549)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ดร.อุทัย คันโธ และคณะ (2549)