เพราะพบเจอกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรชาวไร่ได้ผันตัวมาเลี้ยงไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง หรือระบบประกันราคา กับ บริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ตามคำแนะนำของเพื่อนบ้าน ต้องยอมรับว่าธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อเป็นที่น่าพึงพอใจ และเป็นธุรกิจที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและต่อยอดสู่อนาคตได้ ลงทุนเลี้ยงไก่เนื้อ
จุดเริ่มต้น ลงทุนเลี้ยงไก่เนื้อ
นิตยสารสัตว์บกได้มีโอกาสมาพูดคุยกับ คุณวิเชียร สิงห์สร เจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ “วิเชียรฟาร์ม” อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เดิมคุณวิเชียรทำการเกษตร ทำนา ทำไร่อ้อย มาก่อน แต่เจอปัญหาเรื่องสภาพอากาศ ฝนไม่ดี น้ำแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตปีละครั้ง จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่แทน เพราะไม่ค่อยมีผลกระทบ
“ก่อนมาเลี้ยงไก่ เคยรับจ้างจับไก่มาประมาณ 2-3 ปี ตอนที่เลิกทำไร่อ้อย แล้วเห็นว่าอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อน่าสนใจดี เลี้ยงให้ได้น้ำหนักตามบริษัทกำหนด ก็สามารถจับขายได้เลย และสภาพอากาศไม่ค่อยมีผลต่อการเลี้ยง เพราะเราเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ไม่เหมือนตอนที่ทำไร่ ทำนา ที่สภาพอากาศค่อนข้างมีผล” คุณวิเชียรเปิดเผย
โดยเริ่มเลี้ยงไก่เนื้อทั้งหมด 2 โรงเรือนๆ ละ 2 หมื่นตัว แต่ก็แล้วแต่ทางบริษัทว่ามีไก่มาส่งกี่ตัว คุณวิเชียรได้ให้เหตุผลที่เลี้ยงแบบคอนแทรคว่า“เริ่มเลี้ยงกับทางบริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ เพราะมีเพื่อนบ้านที่เลี้ยงเขาแนะนำมา ซึ่งทางบริษัทจะมีสัตวบาลส่งเสริมมาคอยช่วยดูแลแนะนำ และจะมีคนติดต่อเรื่องเอกสารให้ เราไม่ต้องทำอะไรเลย มีหน้าที่เลี้ยงอย่างเดียว ส่วนเรื่องลูกไก่ อาหาร ทางบริษัทก็จัดหามาให้”
โรงเรือนที่ใช้เลี้ยงจะเป็นระบบ EVAP หลักการทำงานของระบบ คือ การปล่อยกระแสลมไหลผ่านตัวกลางที่มีน้ำไหลผ่าน เรียกว่า คูลลิ่งแพด (Cooling pad) จะช่วยลดอุณหภูมิได้ถึง 5-6 องศา ในวันที่อุณหภูมิสูงก็ไม่ส่งผลต่อการเลี้ยง ทำให้การจัดการง่ายขึ้น ส่วนพื้นที่โดยรอบโรงเรือนมีรั้วรอบขอบชิดเพื่อป้องกันสัตว์พาหะต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม และมีจุดการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม พ่นฆ่าเชื้อรถขนส่งก่อนเข้ามาส่ง-จับไก่
อุปกรณ์ภายในโรงเรือนที่ใช้ของ บริษัท การุณบราเธอร์สฯ และ บริษัท เดลต้า เวตฯ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ตอนสร้างโรงเรือนครั้งแรก และในปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้มีคุณภาพดี ทนทาน และเป็นบริษัทที่มีอุปกรณ์ครบวงจร
การบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อ
ทางฟาร์มจะมีการพักเล้าประมาณ 1 เดือน เพื่อทำความสะอาดโรงเรือน โดยการเก็บเศษแกลบอันเก่า และพวกมูลไก่ ออกจากโรงเรือน เพื่อเป็นการกำจัดกลิ่น และการสะสมของเชื้อโรค จากนั้นทำความสะอาดพวกอุปกรณ์ และพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณพื้น หลังคา และทุกซอกทุกมุมของโรงเรือน ก่อนจะนำลูกไก่รุ่นต่อไปมาเลี้ยง
ก่อนที่ลูกไก่จะมาถึงต้องมีการหาวัสดุปูรอง หรือแกลบมาปูเตรียมไว้ ให้มีความหนาประมาณ 3-4 นิ้ว เกลี่ยแกลบให้เต็มพื้นที่โรงเรือน และเตรียมอุปกรณ์การเลี้ยงที่ทำความสะอาดแล้วให้พร้อม
เมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์มจะนำไปชั่งน้ำหนัก ตรวจดูสภาพลูกไก่ ให้อาหาร ให้น้ำ ในช่วงที่ลูกไก่ลงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดกว่าปกติ ที่ฟาร์มจะกกทั้งหมด 7 วัน ในช่วง 3 วันแรก จะใช้อุณหภูมิกก 40 องศา ต่อมาจะเป็น 38-39 องศา แล้วก็ลดมาเหลือ 36 องศา และ 33 องศา จนถึงวันจับไก่ หรือปรับตามสภาพอากาศให้เหมาะสม
สายพันธุ์ที่เลี้ยงจะแล้วแต่สายพันธุ์ที่ทางบริษัทส่งมาให้ แต่ส่วนมากจะเป็นพันธุ์อาร์เบอร์ เอเคอร์ และพันธุ์คอบบ์ จะใช้เวลาเลี้ยง 42 วันเต็มที่ จะให้อาหารที่ทางบริษัทจัดหามาให้ จะมีทั้งหมด 3 เบอร์ แต่ละเบอร์จะมีสูตรอาหารที่แตกต่างกันออกไป ตามช่วงอายุของไก่ จะให้ตามโปรแกรมของบริษัท
ที่ฟาร์มจะมีการดูแลอย่างดี ให้อาหาร 2 เวลา เช้า-เย็น โดยใช้ระบบออโต้ฟีด และมีการเดินตรวจดูในโรงเรือน 3 เวลา เช้า กลางวัน และตอนเย็น ดูสุขภาพไก่ เพื่อคัดแยกสัตว์ป่วย และไก่ที่แตกไซซ์ โดยจะจับแยกไปดูแลเป็นพิเศษ และมีการสุ่มจับชั่งน้ำหนักทุกสัปดาห์
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มไก่เนื้อ
ส่วนการให้วัคซีนนั้นจะให้ตามโปรแกรมวัคซีนสำหรับไก่เนื้อ ช่วงที่เป็นลูกไก่จะจ้างคนมาทำวัคซีนให้ ที่ฟาร์มจะให้เป็นแบบหยอด เมื่อไก่โตขึ้นจะให้เป็นแบบผสมละลายน้ำให้ไก่กิน จะต้องล้างท่อน้ำให้สะอาดไม่ให้มีการปนเปื้อน และทำการอดน้ำไก่ 3 ชม. ก่อนให้วัคซีน และในช่วงสามวันแรกจะมีการให้ยาตัดหวัด และพวกวิตามิน ตามที่หมอแนะนำให้
แต่ละฟาร์มอาจมีโปรแกรมวัคซีนต่างกัน เนื่องจากสภาพการจัดการต่างกัน ต่างพื้นที่กัน มีปัญหาโรคต่างกัน ดังนั้นโปรแกรมวัคซีนอาจต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม สำหรับฟาร์มแต่ละฟาร์ม
ข้อควรคำนึงก่อนจะทำวัคซีนไก่
1.สุขภาพไก่ ต้องสมบูรณ์แข็งแรง จึงจะตอบสนองต่อวัคซีนได้ดีที่สุด
2.คุณภาพของวัคซีน ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามฉลาก ทั้งก่อนทำ และขณะกำลังทำวัคซีน
3.บุคลากรที่ทำวัคซีน ไม่ควรเข้าเกินหนึ่งเล้า เพื่อกันไม่ให้เป็นพาหะนำโรคไปเล้าอื่น
4.สภาพแวดล้อม ทำวัคซีนไก่ช่วงอากาศเย็นสบาย และไม่มีลมโกรก เพื่อไม่ให้ไก่เกิดความเครียด
โปรแกรมวัคซีนสำหรับไก่เนื้อ
- มีวัคซีนป้องกันโรค 3 โรค ในไก่เนื้อ คือ นิวคาสเซิล หลอดลมอักเสบติดต่อ และกัมโบโร
- โรคที่ทุกฟาร์มต้องป้องกัน คือ นิวคาสเซิล
- โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ และกัมโบโร มีทั้งฟาร์มที่ทำ และไม่ทำวัคซีน ตามความจำเป็น
- เนื่องจากการเลี้ยงไก่เนื้อระยะสั้น การให้วัคซีนน้อยชนิด และน้อยครั้งจะดีที่สุด เช่น
- อายุ 1 วัน ให้วัคซีนหลอดลมอักเสบติดต่อร่วมกับวัคซีนนิวคาสเซิลเชื้อตาย
- อายุ 7 – 12 วัน วัคซีนนิวคาสเซิลชนิดเชื้อเป็น หรืออาจให้เป็นวัคซีนรวม (นิวคาสเซิล+หลอดลม)
อายุ 2 สัปดาห์ วัคซีนกัมโบโร แต่ถ้าฟาร์มที่มีปัญหาโรคกัมโบโรอาจจำเป็นต้องให้วัคซีนเร็วขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาให้เมื่อไก่อายุ 5-7 วัน หรือถ้าจำเป็นมากอาจให้ 2-3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 5-10 วัน
ที่มา : หนังสือโรคสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์
เมื่อเลี้ยงได้น้ำหนักตามที่บริษัทกำหนด เมื่อถึงเวลาจับไก่ ที่ฟาร์มจะทำการอดอาหารประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยจะยกรางอาหารขึ้น แต่ให้กินน้ำตามปกติ การอดอาหารก่อนถึงโรงชำแหละเพื่อไม่ให้มีอาหารตกค้างในระบบทางเดินอาหาร ลดการปนเปื้อนมูลระหว่างการขนส่ง และในโรงชำแหละ และลดแสงภายในโรงเรือน เพื่อให้ไก่สงบ
อาจจะมีปัญหาในช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ แต่ตอนนี้ก็ไม่ค่อยเจอปัญหาแล้ว เพราะจะมีสัตวบาลของบริษัทมาคอยดูแลจัดการให้ตลอดเวลามีปัญหา และการเลี้ยงระบบคอนแทรกก็มีตลาดที่แน่นอน เลี้ยงน้ำหนักได้ตามกำหนดก็สามารถจับขายได้
รายได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อ
จากวันนั้นถึงปัจจุบันคุณวิเชียรได้เลี้ยงไก่เนื้อมานานกว่า 10 ปีแล้ว และยืนยันว่าการเลี้ยงไก่เนื้อระบบคอนแทรกให้ผลผลิตและสามารถสร้างรายได้ดีกว่าตอนทำไร่อ้อย เพราะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ เลี้ยงง่าย เพียงดูแลจัดการตามระบบที่บริษัทจัดวางไว้ให้ และศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เข้าอบรมการเลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ เพียงแค่นี้ก็สามารถสร้างอาชีพ และมีรายได้เลี้ยงครอบครัว
“การทำฟาร์มไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ถือว่าเป็นอีกอาชีพที่สามารถสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ต้องมากังวลเรื่องสภาพอากาศ ฝนฟ้า เหมือนตอนที่ทำไร่อ้อย และเลี้ยงในระบบคอนแทรค ทางบริษัทก็จะมีคำแนะนำให้ตลอด มีสัตวบาลมาคอยดูแลเวลามีปัญหา มีอาหารและวัคซีนจัดหามาให้ เพียงแค่เลี้ยงตามโปรแกรมที่วางไว้
แต่ก็อยู่ที่ต้นทุนของเราด้วย ถ้าเรามีที่ดินอยู่แล้ว การลงทุนก็ไม่ค่อยเยอะ ถ้าไม่มีที่ดินหรือเงินลงทุน อาจจะต้องมีการกู้ยืมเงิน อยากให้เกษตรกรลองศึกษาดูก่อนให้ละเอียด ก่อนจะกู้เงินมาทำอะไร ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ให้ดีก่อน ถ้ามั่นใจว่าทำได้ค่อยเริ่มลงมือทำ เพราะมันก็ค่อนข้างใช้ต้นทุนสูง” คุณวิเชียรกล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณวิเชียร สิงห์สร ที่อยู่ 96/1 ม.6 ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี 72250