อาชีพการเลี้ยงสุกรเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สามารถเริ่มจากการเลี้ยงเพียงไม่กี่ตัวก็ได้ ตลอดจนเลี้ยงเป็นระบบฟาร์มใหญ่ๆ ที่มีสุกรจำนวนมาก เพราะมีวิธีการเลี้ยงและการจัดการไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร รวมถึงผลจากการประกอบการที่ให้ผลกำไรดี และค่าตอบแทนสูง ลดต้นทุนเลี้ยงหมู
การบริโภค “เนื้อสุกร” ยังเป็นที่นิยม และมีความต้องการของตลาดสูง ทั้งในระดับท้องถิ่น และภาคการส่งออก เห็นได้ว่ามีการส่งออกเนื้อสุกรจากประเทศไทยไปประเทศรัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีสภาพคล่องมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น
คนหนุ่มไฟแรงชาวจังหวัดนครปฐม ใช้ชีวิตคลุกคลีกับการทำฟาร์มเลี้ยงสุกรมาตั้งแต่เล็ก คอยช่วยเหลือทางบ้านมโดยตลอด พอเรียนจบปริญญาตรีเข้ามาบริหารและพัฒนา จากการเลี้ยงสุกรเพื่อขายจำหน่ายลูกสุกร เป็นการเลี้ยงสุกรเพื่อขุนป้อนตลาดโรงเชือดในเขตพื้นที่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากที่กล่าวมาข้างต้นทางทีมงานนิตยสารสัตว์บก เราขอนำท่านมารู้จักกับการทำฟาร์มของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดและมุมมองในการทำธุรกิจอย่างไร
คุณปิยะพงษ์ หนูเล็ก เจ้าของฟาร์ม อายุ 25 ปี เข้ามาบริหารและดูแลฟาร์มเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก คุณสังเวย หนูเล็ก ซึ่งเป็นบิดา ที่ได้เริ่มบุกเบิกอาชีพการทำฟาร์มเลี้ยงหมู โดยเริ่มจากการเลี้ยงทีละ 1 ตัว จากนั้นจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนวิธีการเลี้ยงในสมัยก่อนไม่ได้ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน บางครั้งผูกไว้กับต้นก็สามารถทำได้ตลอด
การทำฟาร์มเลี้ยงหมูมากว่า 30 ปี บนเนื้อที่ 30 กว่าไร่ เริ่มเป็นรูปร่างมากขึ้น เมื่อปี 2537 ตอนนั้นเลี้ยงแม่พันธุ์ประมาณ 100 ตัว เพาะพันธุ์ลูกหมูขายมาโดยตลอด เนื่องจากทางฟาร์มเล็งเห็นว่ามีฟาร์มที่เลี้ยงในลักษณะเดียวกันมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับตลาดทางด้านการขายเฉพาะลูกหมูเกิดการแข่งขันสูง ราคาไม่สูงมากนัก แต่ต้นทุนในการเลี้ยงสูง จึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแบบเดิม และบุกเบิกตลาดใหม่ โดยการเลี้ยงหมูขุนเพื่อจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน
ลดต้นทุนเลี้ยงหมู
คุณปิยะพงษ์เล่าว่า เดิมทีเป็นคนไม่ชอบอาชีพนี้เลย เพราะว่าเหนื่อย และมีกลิ่นเหม็น แต่พอเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ประกอบกับทางครอบครัวทำอาชีพเลี้ยงหมูตั้งแต่ตัวเองยังไม่เกิด และยังคลุกคลี คอยช่วยเหลือทางบ้านอยู่ตลอด
แต่พอเข้ามาดูแลแทนพ่อ การดูแลและการจัดการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร อีกอย่างจะต้องรับผิดชอบมากขึ้นในด้านการบริหาร และอีกหนึ่งเหตุผลในการทำธุรกิจ คือ ราคาหมูที่สูงขึ้น ทำให้มีกำไรจากการทำฟาร์ม จึงเกิดความชอบขึ้นมาตามลำดับ
สายพันธุ์หมู
การเลี้ยงหมูขุนของทางฟาร์มจากเมื่อก่อนหมูคลอดลูกออกมาแล้วจะนำไปจำหน่ายเลย แต่ปัจจุบันจะขุนให้ได้น้ำหนักที่ต้องการเพื่อไปจำหน่าย โดยพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้จะนำเข้าจาก ชินรัตน์ฟาร์ม ส่วนพันธุ์ที่ใช้ส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะเลือกใช้พันธุ์ลาร์จไวท์ (Large white) พันธุ์แลนด์เรซ (Landrace) ส่วนพ่อพันธุ์ที่ใช้พันธุ์ดูร็อค (Doroc) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดี เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย
ข้อแตกต่างสำหรับการเลี้ยงหมูขุนกับการเลี้ยงแม่พันธุ์อยู่ที่การจัดการและต้นทุน จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงหมูขุนจะเลี้ยงง่ายกว่า แต่ต้นทุนการเลี้ยงจะสูงกว่า เพราะเลี้ยงแม่พันธุ์จะให้กินอาหารในปริมาณจำกัด
โรงเรือนเลี้ยงหมู
เนื่องจากทางฟาร์มใช้หมูพ่อพันธุ์จากชินรัตน์ฟาร์มเข้ามาผสมพันธุ์กันเองภายในฟาร์ม ในรูปแบบการผสมเทียม ปัจจุบันมีแม่พันธุ์ 150 กว่าตัว มีโรงเรือนรองรับ แบ่งเป็นโรงเรือนหมูขุน 2 หลัง และโรงเรือนที่เป็นในส่วนของลูกหมูอนุบาลจำนวนอีก 3 หลัง โดยเป็นระบบโรงเรือนเปิดโล่ง ขนาดโรงเรือนของหมูขุนอยู่ที่ประมาณความยาว 56 เมตรx ความกว้าง 15 เมตร สามารถบรรจุหมูขุนได้ถึง 500 กว่าตัว ส่วนโรงเรือนหมูอนุบาลมีขนาดเล็กกว่า
“ในการเลี้ยงหมู สายพันธุ์ อาหาร และการจับสัด เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำฟาร์มเลี้ยงหมูอยู่ได้หรือไม่ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงในด้านต่างๆ เช่น อัตราการสูญเสีย และเปอร์เซ็นต์การผสมพันธุ์ติด โดยทางฟาร์มมีอัตราการให้ลูกอยู่ที่ 30 ตัว/แม่/ปี หรือประมาณ 2 ท้องครึ่ง/ปี” คุณปิยะพงษ์ได้ให้เหตุผล
ส่วนแม่พันธุ์จะใช้เพียง 7 ครอก เท่านั้น เพราะหากมากกว่านี้ลูกที่ออกมาจะไม่แข็งแรง ไม่เสมอกัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แล้วจึงค่อยปลดระวาง โดยจะมีลูกค้าประจำมารับซื้อที่ฟาร์มเฉลี่ยเพียง 5-6 ตัว/ครั้ง
การให้อาหารและน้ำหมู
วัตถุดิบสำหรับใช้ในการเลี้ยงหมูประกอบไปด้วยข้าว รำ ปลาป่น และข้าวโพด นำมาผสมเองตามสูตรที่ทางฟาร์มกำหนด ซึ่งในแต่ละสูตรจะมีอัตราการผสมแตกต่างกัน อย่างเช่น เล้าหมูอนุบาลจะมีส่วนผสมของหัวเชื้อ หัวอาหาร ข้าว 500 กิโลกรัม ถั่วอบ 30 กิโลกรัม รำ 30 กิโลกรัม ปลาป่น 40 กิโลกรัม นม 2 ถุง เป็นต้น
โดยการผสมอาหารในแต่ละครั้งจะต้องคำนึงถึงจำนวนตัวของหมูให้ได้ในปริมาณพอเหมาะ และต้องคำนึงในแต่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรด้วย เพราะบางช่วงราคาอาจมีความแตกต่างกันมาก เช่น หากข้าวโพดมีราคาแพงสามารถหาวัตถุดิบอย่างอื่นทดแทนได้ ข้าวจึงเป็นส่วนผสมสำคัญในการผสมอาหาร โดยใช้สลับกันกับข้าวโพดแล้วแต่ฤดูและราคา ส่วนระยะเวลาในการเลี้ยงหากนับตั้งแต่วันคลอดจะเลี้ยงประมาณ 5 เดือน น้ำหนักอยู่ที่ 100 กว่ากิโลกรัม ก็สามารถจับออกขายได้
ส่วนในเรื่องของน้ำที่ใช้ภายในฟาร์มจะเจาะบ่อบาดาล วางระบบประปา โดยทางฟาร์มจะส่งตรวจทุกปีเพื่อตรวจเช็คเชื้อพวกอีโคไล และในช่วงฤดูฝนจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีโรคเท้าปาก โรคกีบ และโรค PRRS ระบาด ทางฟาร์มจะต้องเข้มงวดในการนำสัตว์และบุคคลเข้า-ออก
การบริหารจัดการโรงเรือนหมู
ด้านวัคซีนจะทำตามโปรแกรม ตั้งแต่สุกรแรกคลอด ตลอดจนแม่พันธุ์หลักๆ จะเป็นวัคซีนอหิวาต์สุกร เป็นต้น
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในฟาร์มมีความสำคัญมาก เพราะอาจส่งผลกระทบในเรื่องของกลิ่นและแมลงวัน แก่แหล่งชุมชน การกำจัดมูลและของเสียจากฟาร์มจึงต้องมีการจัดการที่ดี การล้างโรงเรือนของเสียทั้งหมดจะใช้วิธีการสูบน้ำที่เป็นสิ่งปฎิกูลจากฟาร์มเอาไปใส่แปลงไร่อ้อยที่มีประมาณ 30 กว่าไร่ ลดการใช้ปุ๋ยได้เป็นอย่างดี
อีกส่วนที่เป็นขี้หมูจะให้คนงานเก็บแล้วนำไปตากแห้งบรรจุใส่ถุงจำหน่าย ในส่วนนี้จะเป็นรายได้ของคนงาน ทางฟาร์มจะไม่เข้าไปยุ่ง เพียงแค่กำชับว่าทำความสะอาดให้เรียบร้อย ซึ่งคนงานก็เต็มใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ด้านแรงงาน จะมีพนักงาน 3-4 คน โดยแบ่งให้ผู้ชายดูแลในส่วนของโรงเรือนหมูขุน และผู้หญิงให้ดูแลโรงเรือนแม่พันธุ์ ดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น โดยทางฟาร์มมีที่พักให้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฟรี ทั้งหมดถือเป็นสวัสดิการของทางฟาร์ม
“แต่ปัญหาด้านแรงงานยังมีให้เห็นในการบริหารฟาร์ม เป็นปัจจัยหลักเลยก็ว่าได้ เพราะการรักษาให้แรงงานอยู่กับฟาร์มนานๆ ซึ่งทำได้ยากมาก นานสุดก็ 7-8 ปี เพราะฉะนั้นเมื่อแรงงานขาดจะต้องรับพนักงานใหม่ สอนงานใหม่ กว่าจะรู้ กว่าจะเป็นงาน ต้องใช้เวลา จึงต้องพยายามสร้างแรงจูงใจให้เขาอยู่ได้ และงานของทางฟาร์มเดินต่อไปได้ด้วย” คุณปิยะพงษ์กล่าว
ด้านตลาดหมู
เมื่อทางฟาร์มเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจากการขายลูกหมูมาเลี้ยงหมูขุนป้อนตลาด เพราะเล็งเห็นว่าน่าจะสดใสกว่า ราคาดีกว่า เห็นกำไรจากการค้าขาย โดยมีลูกค้าประจำที่เชื่อมั่นในคุณภาพ และเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ไว้วางใจกันมานาน เพราะใน 1 เดือน ทางฟาร์มจะจับเดือนละ 8 ครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 200 กว่าตัว
ราคาจะอิงราคากลางที่ประกาศ แต่เนื่องจากทางฟาร์มมีหมูที่สวย คุณภาพซากดี เป็นที่ต้องการของลูกค้า จึงไม่กังวลในด้านการตลาด เพราะในแต่ละปีมีการวางแผนค่อนข้างดี ทั้งในเรื่องการนำหมูเข้า-ออก จำนวนหมู และการตลาด ดูภาวะตลาด อย่างถ้าหมูมีราคาถูกทางฟาร์มจะเพิ่มจำนวนหมูขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าราคาหมูขยับสูงขึ้น ทางฟาร์มจะลดจำนวนหมูลง เป็นไปตามกลไกของตลาด
หากมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสุกรโดยตรง สังเกตได้จากการบริโภคของประชาชนลดลง กำลังการซื้อลดลงตามไปด้วย จากเคยซื้อหมูเป็นกิโลกรัมก็อาจซื้อแค่ครึ่งกิโลกรัม ประหยัดมากขึ้น ทำให้ตลาดขาดเงินหมุนเวียนในระบบ เป็นต้น
การวางแผนในอนาคต
ในอนาคตทางฟาร์มมีการวางแผนเพิ่มจำนวนหมูขุนอีก 1,000 ตัว โดยสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือ คือ การก่อสร้างโรงเรือนเพิ่มเติม และระบบการจัดการต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จอีกภายใน 2 ปี แต่ปัจจุบันรอดูราคาของสุกรว่าจะไปในทิศทางใด และราคาของลูกหมูด้วยว่าจะถูกลงกว่านี้หรือไม่
แนวทางในการทำให้บรรลุเป้าหมาย คุณปิยะพงษ์กล่าวว่า “การเลี้ยงสิ่งมีชีวิตจะต้องดูแลเอาใจใส่ให้มากๆ รักในอาชีพ และสิ่งที่สำคัญที่สุด เงินทุน ซึ่งในขณะนี้ได้เพียงเฝ้าดูจังหวะ เพราะต้องดูให้ละเอียด รอบคอบ ดูในระยะยาว บางทีอาจเจอปัญหาเรื่องโรค ส่งผลให้ราคาหมูแพงขึ้น และอีกอย่างเรื่องของพนักงานจะต้องหาเพิ่มเพื่อสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง”
จุดเด่นของฟาร์ม
หากมองจุดเด่นของฟาร์มที่ได้เปรียบคู่แข่ง คือ หมูซากสวย เนื้อเยอะ การเจริญเติบโตเร็ว และที่สำคัญปลอดภัยเรื่องโรค เพราะทางฟาร์มจะไม่นำหมูจากที่อื่นที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด ทางฟาร์มมองว่าอาจส่งผลดีกับเกษตรกรรายย่อย เพราะอาจมีตลาดที่ใหญ่ขึ้น ความต้องการของตลาดมีมากขึ้น อาจทำให้ราคาขยับสูงขึ้น แต่ก็คงเฝ้าระวังและเตรียมรับมือไว้ เพราะอาจมีทิศทางของตลาดยังไม่แน่นอน คงต้องรอดูกันต่อไป
“การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คนเลี้ยงจะต้องมีความเอาใจใส่ดูแล เพราะสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต โดยการเริ่มเลี้ยงทีละน้อยก็ได้ เพื่อความมั่นคง และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะประสบการณ์จะสอนคุณเอง ที่สำคัญควรศึกษาให้รอบคอบก่อนลงมือทำ เนื่องจากเงินทุนไม่สามารถหาได้ง่ายๆ เพราะลงทุนค่อนข้างสูง” คุณปิยะพงษ์ได้ฝากถึงผู้อ่าน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายปิยะพงษ์ หนูเล็ก 4 หมู่ 5 ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140 Tel.089-545-7398