ลินดาฟาร์ม จัดมาตรฐานการเลี้ยงไก่ยอมรับ แอร์โร่ฟอยล์ ช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้จริงอำเภอพัฒนานิคมมีการเลี้ยงไก่เนื้อถึง 33 ล้านตัว เป็นอำเภอที่มีไก่เนื้อเยอะที่สุดของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมไก่เนื้อแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การผลิตลูกไก่เนื้อ การผลิตฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ การฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ การแปรรูปเนื้อไก่ และการผลิตอาหารสัตว์
แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศในหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิสูง แม้การเลี้ยงในโรงเรือนระบบอีแวป (Evap) ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนได้ แต่ในวันที่อุณหภูมิสูงมากๆ ก็อาจทำให้การควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
จุดเริ่มต้นเลี้ยงไก่เนื้อ
นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพามารู้จักกับ “ลินดาฟาร์ม” ร่วมพูดคุยกับ คุณวินัย เทิดสุทธิรณภูมิ และ คุณลินดา มุสิกสวัสดิ์ เพื่อค้นหาเทคนิคการดูแลจัดการฟาร์ม และตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้อุณหภูมิในโรงเรือนลดลงได้ ทำให้การดูแลจัดการง่ายขึ้น และไก่สามารถเจริญเติบโตได้ดี
ลินดาฟาร์ม มีการดำเนินธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อมานานเกือบ 20 ปี ครั้งแรกที่เริ่มเลี้ยงคุณวินัยเผยว่าไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้เลย เพราะส่วนตัวคุณวินัยเองจบปริญญาโทด้านบริหาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เพราะเลี้ยงในระบบคอนแทรค จึงมีสัตวแพทย์ สัตวบาล ของบริษัท มาแนะนำให้ความรู้
“จริงๆ แล้วผมไม่เคยคิดจะเลี้ยงไก่ เดิมทีบ้านผม พ่อ แม่ ทำโรงสี จริงๆ ผมจบมาอยากจะมาทำโรงสี แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ยุ่งยาก จึงตัดสินใจมาเลี้ยงไก่เนื้อ และที่ผมเคยทำงานด้านคอมพิวเตอร์และเรียนบริหารมา จึงอยากนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมเลี้ยงไก่” คุณวินัยกล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของการเลี้ยงไก่
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
ในปี 2546 เริ่มเลี้ยงครั้งแรก 25,000 ตัว 1 โรงเรือน แต่ในการลงทุนครั้งแรกของลินดาฟาร์มไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเจอปัญหาเรื่องไข้หวัดนก ทำให้คุณวินัยต้องประกาศขายฟาร์ม แต่ไม่สำเร็จ จึงกลับมาสู้ และลงทุนเลี้ยงต่อจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 โรงเรือน จำนวนของไก่ที่จะลงนั้นจะแล้วแต่ข้อกำหนดของบริษัทที่เลือกคอนแทรคด้วย เพราะบางบริษัทมีขนาดของไก่ที่จะจับแตกต่างกัน บางที่สามารถเลี้ยงได้ถึงโรงเรือนละ 30,000 ตัว แต่ถ้าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25,000 ตัว
ปัจจุบันลินดาฟาร์มเลือกเลี้ยงไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกไก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นำเข้าไก่เนื้อสายพันธุ์คอบบ์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อสูงสุด มีการเลี้ยงดูในระบบที่ทันสมัย และมีระบบควบคุมสภาพอากาศ
การบริหารจัดการในฟาร์มไก่เนื้อ
ส่วนอุปกรณ์คุณวินัยเลือกของ บริษัท Big Dutchman ซึ่งคุณวินัยได้เผยว่า “ถ้าให้พูดถึงอุปกรณ์ที่ดี ก็คือ ยี่ห้อบิ๊ก ดัชแมน แม้ราคาจะสูง แต่มีคุณภาพดี แข็งแรง คุ้มค่าแก่การลงทุน ที่ฟาร์มเลือกใช้เป็นตัวถังไซโล และระบบออโต้ฟีด”
สำหรับการดูแลจัดการฟาร์มจะมีคนงานดูแลประจำโรงเรือนละ 2 คน โดยทางคุณวินัยจะมีรูปแบบการดูแลในแต่ละขั้นตอน คอยสอนคนงาน เพื่อให้การจัดการในแต่ละโรงเรือนเป็นไปตามรูปแบบเดียวกันทั้งหมด และเมื่อจับไก่เรียบร้อยแล้ว ก็จัดการมูลไก่และของเสียให้เรียบร้อย มูลไก่จะมีเกษตรกรมารับซื้อ เมื่อขนมูลไก่ออกเรียบร้อยแล้ว ทำการล้างโรงเรือนให้สะอาด ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ โรยปูนขาว จากนั้นลงแกลบ และพ่นยาฆ่าเชื้ออีกรอบเพื่อกำจัดสัตว์พาหะ
หลังจากนั้นจัดเตรียมกระปุกน้ำ และถาดอาหาร ให้เพียงพอต่อจำนวนไก่ที่จะลง โดยทางฟาร์มจะมีรูปแบบการจัดวางกระปุกน้ำและถาดอาหารที่เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งฟาร์ม ส่วนการเลี้ยงไก่เรื่องแกลบก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้ชื้นจนเกินไป เพราะค่าแอมโมเนียจะสูง และส่งผลกระทบต่อตัวไก่ ต้องคอยกลับแกลบเป็นประจำ สังเกตบริเวณที่เปียกชื้นอาจเติมหรือตักออกแล้วนำแกลบใหม่มาเปลี่ยน และเวลากลับแกลบควรมีไม้ไว้ไล่ไก่ด้วย เพื่อป้องกันไม้กลับแกลบไปชนตัวไก่ ซึ่งอาจทำให้ไก่บาดเจ็บ หรือขาเสียได้
เรื่องอาหารจะเป็นทางบริษัทที่คอนแทรคด้วยจัดหามาให้ ส่วนวัคซีนทำตามโปรแกรมการให้วัคซีนไก่เนื้อ ระยะการขุนไก่นั้นคุณวินัยได้เผยว่าแล้วแต่บริษัทที่คอนแทรคด้วยว่าต้องการไก่ตัวขนาดกี่กิโลกรัม และทางฟาร์มจะมีตารางน้ำหนักว่าในแต่ละช่วงอายุควรเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนักเท่าไหร่เป็นค่ามาตรฐาน ซึ่งคนงานที่ฟาร์มต้องเลี้ยงให้ได้น้ำหนักตามมาตรฐาน
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มไก่เนื้อ
นอกจากนี้คุณวินัยได้แนะนำวิธีการป้องกันสัตว์พาหะ อย่าง แมลงวัน โดยการนำมุ้งมาล้อมรอบโรงเรือน เพื่อป้องกันแมลงวันเข้าภายในโรงเรือน เมื่อทางฟาร์มเตรียมเล้าเรียบร้อยแล้ว ไม่มีแมลงวันภายในโรงเรือนก็ปิดมุ้งลงเพื่อป้องกันแมลงจากภายนอก และไม่ให้แมลงวันออกจากฟาร์มไปรบกวนชาวบ้านแถวนั้น
เมื่อถามถึงปัญหาการทำฟาร์ม คุณวินัยได้เผยว่า “มีปัญหาการขาดแหล่งน้ำ เพราะพัฒนานิคมเป็นอำเภอที่ไม่มีบ่อน้ำ คลองหรือลำธาร จึงต้องเจาะน้ำบาดาลลึกมากกว่าจะเจอแหล่งน้ำ และไม่ใช่ทุกที่ที่เจาะแล้วจะเจอ และน้ำบาดาลมีปัญหาในคูลลิ่งแพด คือ เป็นหินปูน แต่ไม่มีปัญหาในไก่ เพราะไก่มีกระเพาะย่อย การใช้น้ำบาดาลจึงไม่มีปัญหาในการเลี้ยงไก่”
คุณสมบัติของแอร์โร่ฟอยล์ ตัวช่วยในการลดอุณหภูมิในโรงเรือน
คุณวินัยได้เผยว่าจังหวัดลพบุรีเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน อากาศจะร้อนมาก การควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนอาจลดได้ต่ำกว่าภายนอกได้เล็กน้อย แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ “แอร์โร่ฟอยล์” ของ บริษัท เด่นใหญ่ ซึ่งคุณวินัยเผยว่า “เมื่อเปลี่ยนมาใช้แอร์โร่ฟอยล์แล้วช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้ 3-4 องศาเซลเซียส ช่วยให้ภายในโรงเรือนไม่ร้อน ไก่จึงกินอาหารได้ดี ได้ผลผลิตดี ไม่มีปัญหาเรื่องรอยรั่วเหมือนผ้าใบ ทำให้ไม่ต้องคอยเปลี่ยนหรือซ่อม ทำให้การดูแลจัดการง่ายขึ้น ถือได้ว่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำฟาร์มไก่เนื้อ”
หัวใจสำคัญของแอร์โร่ฟอยล์ คือ ไม่รั่ว ทำให้ไม่มีลมร้อนเข้าโรงเรือน ถ้าพูดถึงอายุการใช้งานอยู่ได้นานกว่าผ้าใบแน่นอน เพราะมีความเหนียว และความคงทนกว่า เมื่อเปรียบเทียบดูแล้วการใช้แอร์โร่ฟอยล์มีความคุ้มค่ากว่าใช้ผ้าใบ และเมทัลชีท เพราะมีความคงทนกว่า และติดตั้งได้ง่ายกว่าแผ่นเมทัลชีท
และคุณวินัยได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าทำไมเมทัลชีทไม่ควรนำมาเป็นอุปกรณ์ทำฝ้า เพราะ “เมทัลชีทไม่เหมาะที่จะนำมาทำฝ้า อุปกรณ์ที่จะนำมาทำฝ้าไม่ควรเป็นโลหะ ซึ่งตัวเมทัลชีทมีส่วนผสมของอลูมิเนียมกับเหล็กผสมกัน โดยปกติโลหะเมื่อโดนความร้อนอุณหภูมิจะสูงขึ้น และบริเวณโดยรอบร้อน จึงไม่ควรนำมาทำฝ้า”
ด้วยคุณสมบัติพิเศษของแอร์โร่ฟอยล์ ที่ผลิตจากแผ่นสะท้อนความร้อน (Heat reflective sheet) ชนิดอลูมิเนียมฟอยล์บริสุทธิ์ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งสามารถสะท้อนความร้อนได้สูงถึง 95% ไม่อมความร้อน ไม่ลามไฟ และกันความชื้นได้ดี เหมาะกับงานฟาร์ม ทนทาน ไม่ขาดง่าย อายุการใช้งานยาวนาน ไม่หดตัว 100% และรับประกันการใช้งานนานกว่า 5 ปี
ข้อดีของแอร์โร่ฟอยล์
สุดท้ายคุณแป้ง ผู้จัดการฟาร์ม ได้ให้ความเห็นหลังเปลี่ยนมาใช้แอร์โร่ฟอยล์ว่า “ก่อนที่จะมาใช้อลูมิเนียมฟอยล์ ทางฟาร์มจะมีปัญหา คือ ผ้าใบดำจะขาดบ่อยมาก และต้องซื้อกาวซ่อมแทบทุกรุ่น ระหว่างเลี้ยงแล้วผ้าใบขาดก็ทำให้ลมร้อนเข้ามาในเล้า ความร้อนในเล้าก็สูงขึ้น แต่พอเปลี่ยนมาใช้ฟอยล์มันเก็บความเย็นได้ดีกว่า และรอยรั่วไม่ค่อยมี ทำให้ในเล้าเย็นขึ้น แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบกับผ้าใบดำแล้วที่ต้องเสียค่ากาว ค่าคนงานมาซ่อม ค่าเสียเวลา ก็ถือว่าแอร์โร่ฟอยล์คุ้มค่ากว่า”
ด้วยคุณสมบัติที่คุ้มค่าแก่การลงทุน ทำให้ปัจจุบันลินดาฟาร์มได้เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์เป็นผ้าแทนผ้าใบดำ 100%
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณวินัย เทอดสุทธิรณภูมิ คุณลินดา มุสิกสวัสดิ์ 5 หมู่ 5 ตำบลพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี